สงครามโลกครั้งที่ 2

ออกเดินทางสู่ยุโรปเยือนสถานที่จริงแห่งความเจ็บปวดของมนุษยชาติในสงครามโลกครั้งที่ 2

     จากข้อเท็จจริง สู่การเดินทางไปยังสถานที่จริงในอดีตที่เกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 และสถานที่ต่อไปนี้คือหมุดหมายสำคัญ ซึ่งเราแนะนำว่าต้องหาโอกาสไปเรียนรู้อดีตที่เจ็บปวดของมนุษยชาติให้ได้

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

Munich Documentation Centre for the History of National Socialism | เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี

     อดีตที่ทำการใหญ่ของพรรคนาซี แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เล่าเรื่องราวทุกอย่างผ่านรูปภาพเหตุการณ์จริง เอกสารสำคัญ รวมทั้งบทความจากหน้าหนังสือพิมพ์ ทุกคนสามารถมาสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับเมืองมิวนิกในช่วงก่อนสงครามโลกได้ ซึมซับเรื่องราวความเจริญก้าวหน้าของเมืองมิวนิกในอดีต รับฟังเสียงสะท้อนของเมืองและผู้คนที่มีต่อฮิตเลอร์ อ่านเรื่องราวของกลุ่มคนที่พยายามต่อต้านแนวคิดของฮิตเลอร์ รวมทั้งเรื่องราวหลังจากสิ้นสงครามได้ด้วยเก้าอี้พกพาตัวเล็กๆ สามารถหิ้วไปนั่งได้อ่านข้อมูลหรือดูรูปภาพได้ทุกจุด

 

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

FYI

ค่าเข้าชม: 5 ยูโรต่อคน หรือประมาณ 190 บาท นักเรียนชาวเยอรมันอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือกลุ่มทัศนศึกษา ไม่เสียค่าเข้าชม สามารถอ่านรายละเอียดอื่นๆ ได้ทาง www.ns-dokuzentrum-muenchen.de

วันเวลาเปิด-ปิด: วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. (หยุดวันจันทร์)

การเดินทาง: นั่งรถไฟใต้ดินมิวนิกสายสีแดง U2 ขึ้นที่สถานี Konigsplatz ทางออก B / นั่งรถบัสสาย 100 ลงป้าย Konigsplatz

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

Auschwitz-Birkenau Memorial and Museum | เมืองคราครูฟ ประเทศโปแลนด์     

     ค่ายกักกันเอาชวิตซ์-เบียร์เคเนา เป็นค่ายกักกันที่ใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 มีคนตายกว่าสองล้านคน ไฮไลต์จุดแรกอยู่ที่เหนือประตูทางเข้าค่ายทำจากเหล็กดัดเป็นภาษาเยอรมัน เขียนว่า ‘Arbeit Macht Frei’ แปลว่า การทำงานจะนำไปสู่อิสรภาพ แต่ไม่เป็นความจริง ส่วนจุดที่ชวนโศกเศร้ามากที่สุดคงเป็นบริเวณชานชาลารถไฟที่เหล่านักโทษจะถูกหมอของนาซีแยกออกเป็น 2 กลุ่มโดยกลุ่มหนึ่งคือชายฉกรรจ์ที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงพอจะทำงาน กับอีกกลุ่มหนึ่งคือเด็ก สตรี คนชรา หรือคนอ่อนแอ ที่จะถูกแยกออกเพื่อให้ไปอาบน้ำและโดนรมแก๊สพิษจนตาย

 

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

     ส่วนใหญ่ค่ายทั้งสองยังคงสภาพเดิม ทำให้เห็นร่องรอยความจริงในอดีต ไม่ว่าจะห้องที่เต็มไปด้วยรองเท้า กระเป๋า หรือเส้นผมของชาวยิว ห้องที่มีกระป๋องแก๊สสำหรับฆ่าคน มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่นาซีพยายามทำลายเพื่อปกปิดร่องรอยของความโหดร้ายที่ได้กระทำไว้โดยไม่ต้องการให้ผู้คนทั้งโลกได้รู้ แต่ก็ช้ากว่าโซเวียตที่เข้ามายึดครองได้สำเร็จ

 

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

FYI

ค่าเข้าชม: สามารถจองทัวร์เพื่อเข้าร่วมไกด์ทัวร์ได้ล่วงหน้า ทัวร์ที่สั้นที่สุดใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่ง ราคา 45 ซวอตือโปแลนด์ต่อคน หรือประมาณ 405 บาท และมีรถรับส่งฟรี ระหว่างสองค่ายฯ ที่บริเวณหน้าค่ายทั้งสอง

วันเวลาเปิด-ปิด: ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 7.30 น. เวลาปิดจะปรับเปลี่ยนไปในแต่ละเดือน สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ทาง http://auschwitz.org/en/visiting/guides

การเดินทาง: โดยรถบัส ใช้เวลาเดินทางประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ราคาค่ารถบัส 14 ซวอตือโปแลนด์ หรือประมาณ 129 บาท

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

Rise of the Third Reich Tour | กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน

     การเดิมชมเมืองแบบย้อนรอยประวัติศาสตร์สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นไฮไลต์อย่างหนึ่งที่นักท่องเที่ยวหลายคนตั้งใจมาที่เบอร์ลิน ทัวร์เดินนี้จะให้เวลาเต็มอิ่มกับหลากหลายสถานที่สำคัญๆ โดยใช้เวลาเดินประมาณ 3 ชั่วโมงก็จะครบ

 

Reichstag (อาคารไรชส์ทาค)

     ไปทำความรู้จักจุดเริ่มต้นของยุคที่เรียกกันว่า ‘นาซีเยอรมัน’ กันที่อาคารแห่งนี้ ซึ่งเป็นรัฐสภาของเยอรมนี ที่นี่เคยถูกวางเพลิงเมื่อปี ค.ศ. 1933 เหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นแรงสนับสนุนสำคัญให้มีการออกกฎหมาย Enabling Act of 1933 ที่เปิดช่องให้มีการการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จแก่นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็คือฮิตเลอร์ ให้สามารถจัดการภัยของชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ จนกลายสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นระบบเผด็จการในเยอรมนี

 

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

Holocaust Memorial

     อนุสรณ์ระลึกถึงชาวยิวกว่า 6 ล้านคนที่ถูกสังหารโดยนาซีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  ลานกว้างที่มีแท่งคอนกรีตสี่เหลี่ยมดูคล้ายโลงศพเรียงรายอยู่เป็นจำนวนมาก สถานที่แห่งนี้ประกอบด้วยแท่งคอนกรีตจำนวน 2,711 แท่ง หลากหลายขนาด วางเรียงกันอย่างค่อนข้างเป็นระเบียบ แต่ความหมายของตัวเลขนั้น ทุกวันนี้ยังคงเป็นปริศนา

 

Fuhrerbunker (ฟือเรอร์บุงเคอร์)

     บังเกอร์แห่งนี้อยู่ลึกจากพื้นดินประมาณ 8.5 เมตร มีห้อง 30 ห้อง ถูกสร้างขึ้นปี ค.ศ. 1936 เพื่อเป็นฐานบัญชาการทัพจากใต้ดินและที่หลบระเบิดจากการถูกโจมตีในช่วงท้ายสงคราม ส่วนฮิตเลอร์ลงไปอยู่ในนั้นเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1945 ในอีก 4 เดือนถัดมาเขาก็ยิงตัวตาย ปัจจุบันฟือเรอร์บุงเคอร์ก็ยังคงอยู่ เพียงแต่ไม่อนุญาตให้เข้าชม และคาดว่าจุดเผาศพของฮิตเลอร์ก็คือบริเวณสนามเด็กเล่นธรรมดาๆ เหนือบังเกอร์แห่งนี้นี่เอง

 

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

Bebelplatz (เบเบลพลัตซ์)

     อนุสรณ์การเผาหนังสือของนาซี หรือ The Empty Library ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของมหาวิทยาลัยฮุมโบลด์ตแห่งเบอร์ลิน ที่แห่งนี้มีหนังสือถูกเผามากกว่า 25,000 เล่ม เนื่องจากฮิตเลอร์ต้องการขจัดองค์ความรู้ที่ไม่ใช่เยอรมัน เช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยฮุมโบลด์ต ในขณะที่ผลงานของนักเขียนชาวเยอรมันหลายคนก็ยังไม่รอด เช่น โทมัส มันน์, ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ด้วยข้ออ้างในการทำลายงานเขียนดังกล่าวก็คือเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับค่านิยมของชาติ และเป็นอันตรายกับการสร้างชาติในยุคใหม่ ปัจจุบันลานกว้างแห่งนี้ได้มีส่วนที่เป็นเพียงหลุมใต้ดินที่เต็มไปด้วยชั้นหนังสือสีขาว แต่ไม่มีหนังสือสักเล่ม

 

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

FYI

ค่าทัวร์: มีหลายบริษัททัวร์ เช่น NEW Europe Tours ราคาคนละ 15 ยูโรต่อคน หรือประมาณ 564 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 13  ปีไม่เสียค่าใช้จ่าย  

วันเวลาเปิด-ปิด: เริ่มทัวร์เวลา 14.30 น. บริเวณด้านหน้าของเสาพระแม่มารี ณ ลานกว้างของจัตุรัสมาเรียน ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมืองเบอร์ลิน

รายละเอียดเพิ่มเติม: www.neweuropetours.eu

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

House of Terror Museum | กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี

     อดีตคุกใต้ดิน ที่นี่นำเสนอเรื่องราวผ่านห้องต่างๆ อาทิ ห้องแรกที่เล่าถึงประวัติคร่าวๆ ของตึกที่ตั้งพิพิธภัณฑ์ รวมถึงที่มาของ Arrow Cross รัฐบาลฟาสซิสต์ของฮังการีที่สนับสนุนนโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวของนาซี ห้องที่เล่าเรื่องค่ายใช้แรงงาน (Gulag) ที่ถูกจัดตั้งขึ้นหลายแห่งเพื่อรองรับนักโทษการเมืองกว่า 700,000 คน และห้องอื่นๆ อีกมากมาย

     ไฮไลต์อยู่ที่ชั้นใต้ดิน เป็นคุกที่มีขนาดกว้างประมาณ 1 x 4 เมตร ภายในห้องจะมีรูปถ่ายขาวดำของอดีตผู้ต้องหา พร้อมร่องรอยขีดนับจำนวนวันที่อยู่ในนั้น การมาเยือนที่นี่จะทำให้รู้ว่า ฮังการีก็เป็นประเทศหนึ่งที่ยอมรับความผิดพลาดและพร้อมเปิดเผยประวัติศาสตร์ เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิมเช่นกัน

 

สงครามโลกครั้งที่ 2

 

FYI

ค่าเข้าชม: Full-price ticket 3,000 โฟรินต์ฮังการีต่อคน หรือประมาณ 348 บาท สามารถเช่า Audio Guide ภาษาอังกฤษได้ คนละ 1,500 โฟรินต์ฮังการี หรือประมาณ 174 บาท

วันเวลาเปิด-ปิด: วันอังคาร-วันอาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น. (หยุดวันจันทร์) และสามารถตรวจสอบวันหยุดได้ทาง www.terrorhaza.hu/en/visitor-information

การเดินทาง: นั่งรถไฟใต้ดิน Millennium underground (M1) ไปยังสถานี Vorosmarty หรือนั่งรถราง 4 / 6 ไปลงที่ป้ายรถ Oktogon แล้วเดินต่อไปอีกไม่ไกล

 


The Sun Still Shines

     อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมของชีวิตหลังรั้วลวดหนามที่จะทำให้เราเห็นคุณค่าของชีวิตที่ได้อยู่ข้างนอก รับรู้ความเศร้าของชั้นหนังสือที่ว่างเปล่าและเปลวไฟที่เผาหนังสือหลายหมื่นเล่มที่เคยเกิดขึ้นในยุคสงครามโลกของยุโรปตะวันออกใน ยุโรปมืด The Sun Still Shines จากสำนักพิมพ์ a book (ราคา 310 บาท) ส่งซื้อได้ทาง https://godaypoets.com

 

สงครามโลก

ขอบคุณภาพถ่าย: พีรพัฒน์ ตัณฑวณิช