ทำความรู้จักมนุษย์ YOLD และ Late Bloomers ผู้เร็วเกินไปที่จะแก่ และไม่สายเกินไปที่จะแจ้งเกิด!

เร็วเกินไปไหมที่เราจะเรียกพวกเขาว่า ‘สูงวัย’ 

        เมื่อโลกประกาศว่าเรากำลังก้าวเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงวัย’ แต่ละประเทศจึงเตรียมพร้อมรับมือประชากรวัย 60-80 ซึ่งถูกจัดกลุ่มเป็นพลเมืองหลังเกษียณ โดยตามความเชื่อเดิมคือคนกลุ่มนี้ไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และส่วนใหญ่จะมีภาวะเจ็บป่วยตามวัยที่ร่วงโรย เป็นภาระลูกหลานต้องดูแลเลี้ยงดูตลอดไป แต่… เดี๋ยวก่อน ความเชื่อนี้ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป! เพราะปัจจุบันได้เกิดมนุษย์ YOLD (โยลด์) ที่ย่อมาจาก Young Old  คือกลุ่มคนที่แม้อายุมาก แต่ยังมีพลังกายพลังใจเปี่ยมล้นที่จะทำสิ่งต่างๆ อีกมากมาย น่ายินดีที่ชาว Yold ทั่วโลกเพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปี  นั่นย่อมหมายถึง… นับจากนี้โลกหลังวัยเกษียณจะไม่เงียบเหงาอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นความท้าทายครั้งใหม่ของชีวิต

มนุษย์ YOLD
เมื่อชีวิตจริงขับเคลื่อนช้ากว่าอายุปฏิทิน

        สมัยก่อนตัวเลข 60 คืออายุที่ถูกปักหมุดว่าหยุดทำงาน นี่คือวัยเกษียณ ถึงเวลาที่ชีวิตควรหยุดพักเสียที ควรอยู่บ้านเลี้ยงหลาน ว่างๆ ก็ไปวัด และรอวันจากไปอย่างสงบ แต่ในโลกยุคใหม่ที่วิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้า ทำให้คนอายุยืนยาวขึ้น รวมถึงศาสตร์แห่งการชะลอวัย (Anti-aging) ที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายทั้งอวัยวะภายในและภายนอก เพื่อให้ดูหนุ่มสาวกว่าอายุจริง โดยใช้กระบวนการทางการแพทย์เข้ามาช่วยดูแล ทั้งเรื่องอาหาร วิตามินเสริม การปรับฮอร์โมน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การออกกำลังกาย ฯลฯ วิทยาการและความรู้ใหม่ๆ เหล่านี้ส่งเสริมให้คนใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น จึงทำให้คนสูงวัยยุคนี้แข็งแรงกระปรี้กระเปร่ากว่าแต่ก่อน แม้อายุมากขึ้นแต่กลับดูหนุ่มสาวกว่าอายุจริง 

มองโลกมุมใหม่
สังคมสูงวัยไม่ใช่ ‘ภาระ’ แต่คือส่วนหนึ่งของ ‘พลัง’

        หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้ก้าวสู่สังคมสูงวัย (เริ่มนับช่วงจาก พ.ศ. 2558-พ.ศ. 2573) ตัวเลขประชากรไทยปี 2565 ที่มีกว่า 66 ล้านคน มีผู้สูงวัยถึงกว่า 12 ล้านคน โดยมีอายุ 60-69 ปีสูงสุดถึง 6.8 ล้านคน ช่วงอายุ 70-79 ปี 3.5 ล้านคน และอายุ 80 ปีขึ้นไป 1.7 ล้านคน (ข้อมูลจากบริการสถิติข้อมูล กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย)

        ในจำนวนคนสูงวัยทั้งหมด ประเทศไทยไม่ได้มีสถิติรวบรวมว่าเรามีกลุ่ม YOLD ที่ยังมีความสุขกับการทำงานหลังเกษียณมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าน่าจะมีจำนวนมากขึ้นเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ

        จอห์น ปาร์กเกอร์ เขียนไว้ใน The Economist ว่า ปี 2020 ในบรรดาประเทศร่ำรวย ชาว YOLD ที่อายุ 65-74 ปี มีสูงถึง 134 ล้านคน เท่ากับ 11% ของจำนวนประชากร เพิ่มจากเดิม 99 ล้านคน หรือ 8% ในปี 2000 

        คนกลุ่ม YOLD จึงไม่ธรรมดา ทั้งสุขภาพที่แข็งแรงกว่าอายุจริง ทั้งฐานะการเงินที่มั่งคั่งกว่าคนอีกหลายกลุ่ม ชาว YOLD สามารถทำงานหลังเกษียณได้อย่างสบายๆ ที่สำคัญยังมีความรู้ความสามารถริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ ด้วยความฉลาดและความคิดสร้างสรรค์ได้ไม่น้อยหน้าวัยอื่น คนกลุ่มนี้จึงไม่ควรถูกมองว่าเป็น ‘ภาระ’ เพราะมีบางส่วนที่สามารถเป็น ‘พลัง’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เช่นเดียวกับคนวัยทำงานทั่วไป

         ด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้… จึงมีคำถามว่าเร็วเกินไปที่เราจะเรียกพวกเขาว่า ‘คนสูงวัย’

        Iris Apfel แฟชั่นนิสต้าชื่อดัง อายุ 100 ปี ตัวอย่างชาว YOLD ที่โลกต้องจดจำคือคุณยาย Iris Apfel แฟชั่นนิสต้าสุดจี๊ด วัย 100 ปี ชาวอเมริกันที่ยังมีชีวิตอยู่! เธอเป็นทั้งดีไซเนอร์ และนักตกแต่งภายใน ปัจจุบันยังสนุกกับการใช้ชีวิตอย่างมาก สังเกตได้จากเสื้อผ้า หน้า ผม และเอกลักษณ์แว่นตาอันแสนเก๋ไก๋ที่ยังคงจัดเต็มเหนี่ยวสมศักดิ์ศรี YOLD ตัวยาย เรียกว่าสาวๆ เห็นแล้วยังต้องหลบไป คุณยาย Iris Apfel นับเป็นไอดอลของ Young old ที่สมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง 

        เรื่องราวอันโด่งดังของไอริสยังถูกถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ในชื่อ ‘Iris’  ซึ่งสร้างความประทับใจให้ผู้ชมมาแล้วทั่วโลก   

Late Bloomers
ผู้เบ่งบานเนิ่นช้า… เพื่อรอวันงดงามชั่วนิรันดร์

        นอกจากมนุษย์ YOLD ที่ไม่ยอมแก่แล้ว ยังมีคนสูงวัยอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกเรียกขานว่า Late Bloomers ผู้ที่ทำให้คำนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายคือ ริช คาร์ลการ์ด (Rich Karlgaard) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Late Bloomers นั่นเอง และมีผู้นำมาแปลเป็นภาษาไทยแล้วโดยใช้ชื่อว่า ‘สำเร็จได้ไม่เห็นต้องรีบ’ ตัวริชเองก็คือหนึ่งในผู้เบ่งบานช้าเช่นกัน ใจความสำคัญก็คือความสำเร็จที่มาล่าช้าไม่ใช่สิ่งผิดปกติ เพียงแต่บางคนอาจต้องใช้เวลามากกว่าคนปกติแค่นั้นเอง 

         ใครคือ Late Bloomers?

        Late Bloomers แปลตรงตัวว่า ‘ผู้เบ่งบานช้า’ นั่นหมายถึงคนที่กว่าจะค้นพบความสามารถอันโดดเด่นของตัวเอง ค้นพบความสนใจแปลกใหม่ของชีวิต หรือกว่าจะทำสิ่งที่ตัวเองรักจนประสบความสำเร็จ ชีวิตก็ล่วงเลยเวลามานานกว่าปกติ และแม้จะเบ่งบานช้า… แต่การค้นพบความงดงามอันหอมหวานนั้นจะอยู่กับชีวิตจนเป็นนิรันดร์ นับเป็นการรอคอยที่สุดแสนคุ้มค่า

        ตัวอย่าง Late Bloomers ที่ใช้เวลาเบ่งบานช้าสุดๆ คงต้องยกให้ แฮร์รี เบิร์นสตีน (Harry Bernstein) นักเขียนชาวอังกฤษที่เขียนนิยายเรื่องแรก The Invisible Wall ตอนอายุ 93 ปี หลังจากนั้นก็ยังเขียนต่ออีก 3 เล่ม ก่อนเสียชีวิตในวัย 101 ปี 

        ผู้เบ่งบานช้าที่ชาวยูทูเบอร์ทั่วโลกรู้จักดีอีกคนคือ คุณย่าพัคมักเร (Park Makrye) ชาวเกาหลีใต้ ผู้ทำงานหนักมาตลอดชีวิตจนถึงวัย 71 ปี ไม่เคยใช้ชีวิตที่มีสีสันหรือทำสิ่งแปลกใหม่ใดๆ เลย หนำซ้ำคุณหมอยังบอกว่าคุณย่ามีโอกาสเป็นอัลไซเมอร์อีกด้วย หลานสาวคิมยูรา จึงตัดสินใจลาออกจากงานและพาคุณย่าไปท่องเที่ยวเพื่อหยุดยั้งโรคอัลไซเมอร์ พร้อมทั้งถ่ายคลิปคุณย่าลงยูทูบโดยตั้งใจเก็บไว้ดูเล่นๆ แต่ผลปรากฏว่ามีคนดูคลิปนับล้านวิว หลังจากนั้นก็มีคนทั่วโลกกดติดตามดูคุณย่าสูงวัยไปเที่ยวตามที่ต่างๆ จนคุณย่าพัคมักเร คนสูงวัยธรรมดาๆ กลายเป็นยูทูบเบอร์ดังระดับโลก แม้แต่ซีอีโอ Google ยังรู้จักดีและเคยไปเยี่ยมถึงประเทศเกาหลีใต้ คุณย่าค้นพบชีวิตใหม่หลังวัย 71 ปีอย่างแท้จริง ได้ไปเที่ยวทั่วโลกจากอาชีพใหม่ยูทูบเบอร์  ย่ากล่าววว่า “ชีวิตฉันเริ่มต้นตอนนี้แหละ” และประกาศกึกก้องว่าย่าพร้อมพุ่งชนทุกความท้าทายที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต!

        คุณย่าพัคมักเร ยังมีผลงานเขียนหนังสือร่วมกับหลานสาว โดยมีผู้แปลเป็นภาษาไทยว่า ‘ฉันไม่ยอมตายง่ายๆ หรอก’ นับเป็นหนังสือโด่งดังที่ช่วยจุดประกายย่ายายทั้งหลายให้ฟื้นคืนชีพมาค้นหาสิ่งใหม่ๆ ในชีวิตกันอีกครั้ง นี่คือ Late Bloomers วัย 71 ปีที่ทรงพลังมาก

เราจะเป็นคนสูงวัยแบบไหนดี?

        คนสูงวัยสามารถเลือกใช้ชีวิตได้หลายรูปแบบ เราอาจเลือกใช้ชีวิตเงียบๆ อย่างมีความสุขหลังเกษียณ เพราะเหนื่อยกับการทำงานมามากพอแล้ว นั่นย่อมเป็นสิ่งดีที่สุดแล้วสำหรับเรา แต่สำหรับบางคน คุณอาจมีคุณสมบัติของมนุษย์ YOLD ที่ยังมีไฟทำงานที่ไม่เคยมอดดับ หรือคุณอาจเป็น Late Bloomers ที่ค้นพบความสำเร็จในวัยที่ล่วงเลย แต่ความฝันเพิ่งลุกโชนโชติช่วง คุณจะเป็นคนสูงวัยแบบไหนก็ได้ เพราทั้งหมดนี้ไม่มีผิดไม่มีถูก คำตอบมีแค่หนึ่งเดียวคือ จงทำทุกวันของชีวิตให้มีความสุข

        เรายังมีตัวอย่างของผู้หญิงสูงวัยธรรมดาๆ คนหนึ่งที่เป็นทั้ง YOLD และ Late Bloomers ในคนเดียวกัน นี่คือเรื่องราวที่ช่วยจุดประกายความฝันให้กับผู้สูงวัยทุกคนให้ออกไปลองใช้ชีวิตใหม่กันอีกครั้ง

 

นุษยา วงศ์สุวรรณ
ชีวิตและความฝันที่ไม่มีวันหมดอายุ

        ทำความรู้จักคนหลากหลายเชื้อชาติไปแล้ว ลองมาทำความรู้จักคนไทยกันบ้าง

        นี่คือผู้หญิงธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ไม่เคยคิดฝันว่าในวัยที่ใกล้จะขึ้นต้นด้วยเลข 6 จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิต นุษยา วงศ์สุวรรณ เธอคือมนุษย์ YOLD ผู้กล้าพังทลายกำแพงความเชื่อเรื่องอายุ และพาตัวเองข้ามขอบฟ้าออกไปทำสิ่งท้าทายใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต เธอยังคือ Late Bloomers ผู้ค้นพบความฝันของตัวเอง และพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าอายุไม่ใช่อุปสรรคของความฝัน ขอเพียงลงมือทำ ทุกฝันนั้นเป็นจริงได้เสมอ

        ในวัยใกล้เลข 6 เธอตัดสินใจสวมชุดเจ้าสาวเริ่มต้นความรักอีกครั้ง  และย้ายตัวเองไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่สหรัฐอเมริกา นุษยาสมัครทำงานที่ Amazon บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก เธอเริ่มต้นเที่ยวแคมปิ้งแวนผจญภัยครั้งแรกในชีวิต ฝึกทำอาหารด้วยตัวเองจากมือสมัครเล่นจนกลายเป็นแม่ครัวมือโปร และทุกๆ เช้ายังตื่นขึ้นอย่างสดใสเพื่อทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ

จุดพลิกผันครั้งสำคัญในวัยใกล้เลข 6

        การมีชีวิตคู่ที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมานานเกินค่อนชีวิต เราย่อมคาดหวังว่าจะได้อยู่ด้วยกันจนวันสุดท้าย แต่แล้วชีวิตก็เกิดพลิกผันอย่างไม่ทันตั้งตัว ความทุกข์ครั้งใดในชีวิต ก็ไม่เคยมีครั้งไหนทำให้ ‘หัวใจสลาย’ เท่าความทุกข์ครั้งนี้เลย

        “คือเราอยู่กับคนคนหนึ่งมา 26 ปี เราคิดว่าจะอยู่กับเขาไปตลอดชีวิต แล้วอยู่ๆ มันไม่ใช่ ทุกเช้าที่ตื่นขึ้นมา เราคิดว่านี่มันเป็นความฝันหรือความจริง ช่วงนั้นเป็นช่วงเวลาที่แย่ที่สุด แต่ละคืนนอนไม่หลับเลย ตอนนั้นทำงานที่วังน้ำเขียว เวลาขับรถจากวังน้ำเขียวมากรุงเทพฯ ร้องไห้มาตลอดทาง ช่วงนั้นขาดความมั่นใจตัวเองมาก

        “เราฟังทุกคลิปที่ทุกคนบนโลกใบนี้สอนว่าอกหักต้องทำอย่างไร ก็ยังไม่หาย ฟังขนาดเรื่องหลักการทำงานของสมองว่าทำอย่างไรให้ลืมเรื่องหนึ่งได้ ทำหมดทุกอย่างแล้วจริงๆ แต่ลืมไม่ได้เลย สมัยก่อนเราเคยอ่านเจอว่าถ้าเราเป็นอะไรเวลาจะช่วย นี่คือเรื่องจริง ในที่สุดเวลาก็ช่วยได้จริงๆ ค่ะ”

รักแท้ไม่ต้องการเวลาสวมชุดเจ้าสาวอีกครั้งในวัย 57

        แม้โชคชะตาจะพัดพามรสุมลูกใหญ่ถาโถมเข้าใส่ชีวิตชนิดไม่ทันตั้งตัว แต่เมื่อเมฆหมอกแห่งหยาดน้ำตาผ่านพ้นไป ความรักครั้งใหม่ก็ปรากฏขึ้นอย่างไม่คาดฝัน นุษยาตัดสินใจสวมชุดเจ้าสาวอีกครั้งในวัย 57 ปี เป็นบทพิสูจน์ได้ว่ารักแท้ไม่ต้องการเวลา

        “ไม่เคยคิดเลยว่าจะแต่งงานตอนอายุ 57 คือรู้จักกันมาก่อนแล้ว เป็นเพื่อนกันมานาน เขาอยู่อเมริกามาสามสิบกว่าปี เขาชอบถ่ายภาพ ชอบเดินทางท่องเที่ยว เวลาคุยกันก็คุยกันในไลน์ ไม่ได้เจอกัน ไม่เคยเดตกัน เขาก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ที่นี่เป็นยังไง เราก็ไม่รู้ว่าเขาอยู่ที่นั่นเป็นยังไง ตอนแรกต่างคนต่างไม่มั่นใจกัน”

        ความรักที่มาล่าช้า อีกทั้งยังเดินทางมาจากอีกฝั่งขอบฟ้า แต่ทุกอย่างก็ไม่ใช่อุปสรรคหัวใจ

        “คือเราต่างมีความผิดพลาดในชีวิตมาแล้วทั้งคู่ เหมือนซื้อล็อตเตอรี่ ตอนที่ตัดสินใจแต่งงาน คือเขาจะกลับมาเที่ยวเมืองไทยแค่สองอาทิตย์ เขาถามว่าไหนๆ กลับมาแล้วแต่งงานกันเลยไหม? เขาเป็นพ่อม่ายลูกสอง แต่ลูกๆโตกันแล้วและอยู่กับแม่ เราก็โสด คือมีเวลาตัดสินใจแค่ไม่กี่เดือน เขาก็ชวนว่ามาอยู่อเมริกาไหม? ตอนนั้นเราลาออกจากงานมาอยู่กรุงเทพฯ ก็คิดว่าเราอยู่เมืองไทยมา 57 ปี ชีวิตเราก็อยู่ตรงนั้น ถ้าอยู่อเมริกาจะทำอะไร? คือชีวิตไม่เคยทำอะไรเอง ใช้เงินจ้างเขาทำหมด สิ่งที่กลัวตอนมาอยู่อเมริกาคือจะทำงานไหวไหม? เขาก็คงกลัวเหมือนกันว่าจะเลี้ยงเราไหวไหม ต่างคนต่างกลัวกัน ต่างคนต่างยังไม่รู้จักกันดี แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจมาค่ะ” 

เปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่ เริ่มทำทุกสิ่งที่ไม่เคยทำ

        สำนวนไทยที่เราคุ้นหู ‘ไม้แก่ดัดยาก’ นั่นหมายถึงพออายุมากขึ้น คนเราจะเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ยาก แต่ในโลกปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นแล้ว ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้หมด ไม่เกี่ยวข้องกับอายุว่าจะเป็นไม้แก่หรือไม้อ่อน ขอเพียงตัดสินใจแน่วแน่ที่จะ ‘เปลี่ยน’ เราย่อมเปลี่ยนได้เสมอ

        ในวัย 57 ปี นุษยาย้ายถิ่นฐานชีวิตมาอยู่ที่หมู่บ้านเดย์เบรก เมืองเซาท์จอร์แดน รัฐยูทาห์ สหรัฐอเมริกา อย่างถาวร ถือเป็นการเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือต้องปรับตัวแทบทุกอย่าง เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตใหม่หมด สิ่งที่ท้าทายตัวเองที่สุดคือการสมัครทำงานที่บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Amazon

        “ตอนที่ย้ายมาอยู่อเมริกาใหม่ๆ คิดว่าจะทำมาหากินอะไรดี แต่ไม่อยากทำงานที่ต้องเครียดมาก ก็เลยไปสมัครงานที่ Amazon ข้อดีของอเมริกาที่ไม่เหมือนเมืองไทยก็คือที่นี่ไม่มีกำหนดอายุคนทำงาน พี่สมัครทำหน้าที่แพ็กของ มีพนักงานเป็นพันคน ยืนแพ็กของเรียงกันเป็นแถวๆ ยืนแบบรอบหนึ่ง 3 ชั่วโมง พัก 15 นาที แล้วทำรอบต่อไป ตอนนั้นสะบักสะบอมมาก กลับมาบ้านร้องไห้ทุกวัน ไม่ไหวแล้วๆ แรกๆ ทำช้า แต่ตอนหลังเริ่มชินก็ทำได้เร็วเท่าคนอื่น ทำงานที่ Amazon เป็นประสบการณ์ที่ดีมากค่ะ หลังจากนั้นก็ย้ายไปทำงานที่อื่น ซึ่งเขาก็รับทำงานเช่นกัน

        “อายุแบบพี่ถือว่างานนี้หนักมาก แต่ที่อเมริกา ถ้าเราสมัครทำงาน เรื่องอายุ เชื้อชาติ เขาจะห้ามถาม เพื่อไม่ให้เกิดอคติ ถ้าเราทำงานนั้นได้ เขาก็ต้องรับ สิ่งนี้คือความเท่าเทียม อเมริกามีความเท่าเทียมจริงๆ ยกตัวอย่างเรื่องอายุ เด็กอายุ 18 ที่ทำงานกับเรา เขาเรียกเรานุสซี่ เท่ากับไม่ได้เรียกเราว่าพี่ คือเวลาทำงานทุกคนเท่ากัน คนอายุ 18 ก็เท่ากับคนอายุ 60 แล้วสมมติเราต้องยกของหนัก เราจะไม่ยอมยก แล้วเรียกร้องให้ผู้ชายมาช่วยยกก็ไม่ได้ เพราะว่าเราได้เงินเท่ากับเขา มันเป็นความเท่าเทียมอย่างหนึ่ง”

 

เที่ยวแคมปิงแวนครั้งแรกในชีวิต
เปลี่ยนความคิดเรื่องท่องเที่ยวไปตลอดกาล

        การนั่งรถแคมปิงแวนลุยป่าฝ่าดง ไปในที่ไม่มีน้ำไม่มีไฟ ค่ำไหนนอนนั่น ไม่เคยอยู่ในเป้าหมายชีวิต ยิ่งอายุมากขึ้น การท่องเที่ยวควรเน้นความสะดวกสบายที่สุด แต่แล้วความคิดนุษยาก็เปลี่ยนไป เมื่อคนเราอายุมากขึ้น แทนที่จะเที่ยวแบบเดิมๆ ทำไมไม่ลองทำสิ่งท้าทายใหม่ๆ ดูบ้าง การไปเที่ยวแคมปิงแวนจริงจังครั้งแรกจึงเกิดขึ้น และหลังจากนั้นความคิดเรื่องท่องเที่ยวของเธอก็เปลี่ยนไปตลอดกาล

        “แต่ก่อนถ้าไปเที่ยวที่ไหนต้องห้องพักสบาย ห้องน้ำสบาย ไม่สบายไม่เอา แต่พอได้ไปเที่ยวเนชั่นแนลพาร์ก ไม่มีน้ำ ต้องใช้ผ้าเปียก ต้องเข้าส้วมหลุม ตอนแรกเข้าไม่ได้เลย แต่พอได้ไปนอนครั้งเดียว ติดใจมาก คือตื่นขึ้นมามองเห็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์มาก ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมาก มันสวยงามมากเหลือเกิน แม้ต้องแลกกับความไม่สบายในหลายเรื่อง แต่พอไปแล้วมันคุ้มค่าชีวิตจริงๆ ตอนนี้เลยกลายเป็นคนชอบเที่ยวแบบแคมปิงแวนมาก กลายเป็นคนที่นอนในรถได้สบายๆ ทุกวันนี้ไปเที่ยวได้ทุกที่ เข้าส้วมหลุมได้หมด 

        “ด้วยอาชีพของสามีเป็นช่างภาพ เขาก็ต้องไปเที่ยว เพราะต้องการภาพ ต้องการบรรยากาศ เขาต้องถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก คือต้องดักรอภาพ เราจะถ่ายรูปไม่กี่รูปแต่เขาถ่ายเป็นร้อยช็อต รอภาพเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง แต่สิ่งที่ดีคือพอเขาชอบถ่ายรูป เขาก็ต้องไปเที่ยว เราก็ได้ไปเที่ยวด้วย หลังจากนั้นก็ชอบเที่ยวแคมปิงแวนมาตลอดเลย”

ชีวิตยังทำอะไรได้อีกมาก จากคนทำกับข้าวมือสมัครเล่นกลายเป็นแม่ครัวมือโปร

        ก่อนอายุเลข 6 นุษยาไม่ใช่สายทำครัว เคยทำอาหารง่ายๆ ได้ไม่กี่เมนู แต่เมื่อต้องมาใช้ชีวิตที่อเมริกา แม่ครัวสมัครเล่นก็เริ่มสนใจการทำอาหารอย่างจริงจัง เธอเริ่มฝึกทำบ่อยๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นแม่ครัวมือโปร จนทำให้มีอีกหนึ่งความฝันว่าสักวันอยากจะมีแบรนด์อาหารไทยเป็นของตัวเอง เช่น ทำซอสหรือน้ำพริกขาย

        “ก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะทำกับข้าวได้ดี คือตอนอยู่เมืองไทยจะชอบกินของอร่อย เป็นนักกิน เรากินของอร่อยมาเยอะมาก เราจะจำรสชาติได้ พอมาหัดทำกับข้าวอย่างจริงจัง เราจะรู้ว่ารสไหนคืออร่อย เรากลายมาเป็นคนชอบทำกับข้าวเหตุผลหนึ่งก็เพราะไม่มีทางเลือก แต่พอหัดทำแล้วก็มีความสุขกับการทำอาหาร เหมือนเราได้ผ่อนคลายไปด้วย”

        เป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่มาพร้อมอายุเลข 6 ทุกวันนี้นุษยายังคงตื่นขึ้นมาทุกเช้าพร้อมพลังกายเต็มเปี่ยมที่จะทำสิ่งใหม่ๆ ให้สำเร็จ

        “ทุกอย่างอยู่ที่การมองโลก ถ้าอยู่เมืองไทย อายุอาจเป็นอุปสรรค 60-65 คือเกษียณ แต่ที่อเมริกาเราลืมเรื่องอายุไปได้เลย เพราะไม่เคยมีใครพูดถึงเรื่องอายุ แล้วเราก็เจอคนอายุเยอะๆ ยังทำงานกันอยู่ อยากให้ทุกคนมีกำลังใจ อย่าไปคิดว่าเราแก่ เราไม่สวย ให้คิดว่าอายุเท่าเราก็ดูดีได้ เราสวยในแบบของเรา มาอยู่ที่นี่เราเปลี่ยนการมองโลกให้เป็นแง่บวก พยายามบอกตัวเราเองในแง่บวก เพื่อเราจะได้มีแรงลุกขึ้นไปทำงาน เราเป็นคนมีเป้าหมายในชีวิตตลอดเวลา จะคิดว่าวันนี้ต้องทำอะไรให้สำเร็จบ้าง เรื่องเล็กๆ ก็ได้ แม้กระทั่งวันหยุด ยังเขียน To do list ว่าต้องทำอะไรบ้าง สระผม ซักผ้า เอารถไปล้าง เติมน้ำมัน จ่ายตลาด ทำอาหารอะไรบ้าง ทำอะไรก่อนหลัง มีเป้าหมายทุกวันเพื่อกระตุ้นตัวเอง 

        “คิดว่าโชคดีมากที่มีวันนี้ ทุกอย่างที่ผ่านมาเหมือนเป็นสเต็ปที่ให้มาถึงวันนี้ พอใจในชีวิตวันนี้ ก่อนจบบทสนทนา เธอขอส่งกำลังใจให้กับเพื่อนสูงวัยทุกคนว่า

        “ชีวิตเป็นของเราค่ะ อย่ากลัวที่จะต้องเดินออกจากคอมฟอร์ตโซน แต่จงกลัวที่จะไม่ได้ลองสิ่งใหม่ ๆ ในชีวิตมากกว่า และอย่าลืมเขียนอนาคตตัวเอง สำหรับเราเดินทางมาแล้วเกือบทุกทวีปทั่วโลก ทุกวันนี้มีความฝันว่าอยากมีรถบ้าน และอาศัยอยู่ในรถบ้าน เดินทางท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ ค่ะ อยากให้ทุกคนลองถามตัวเองว่าเราอยากมีชีวิตแบบไหน เราวาดแผนที่ชีวิตเราเองได้ แล้วมุ่งหน้าทำตามความฝันของเรา บางคนบอกพูดง่ายแต่ทำยาก ถ้าเราเลือกที่จะคิดแบบนั้นอะไร ๆ ก็ยากหมดล่ะค่ะ”

        ความฝันไม่มีวันหมดอายุ ดังนั้นต่อให้เรามีอายุ เราก็ไม่ควรหมดความฝัน เวลาเป็นแค่เรื่องของปฏิทิน แต่ชีวิตและความฝันเป็นของเราเสมอ


ติดตามเรื่องราวชีวิตของ นุษยา วงศ์สุวรรณ ได้ที่

Facebook: Travel and lifestyle by Nusy Wong

Instagram: Travelandlifestylebynusywong


เรื่อง: กันทิมา ว่องเวียงจันทร์ ภาพ: นพดล วงศ์สุวรรณ