‘น้อยแต่มาก’ หนึ่งในคำที่มักถูกหยิบยกมาอธิบายแนวคิดแบบ ‘Minimalism’ อยู่เสมอ และเชื่อกันว่าเป็นคำที่สะท้อนแก่นแท้ของปรัชญาของมินิมอลิสม์ออกมาได้ดีที่สุด แต่รู้หรือไม่ความน้อยที่ว่า เกิดขึ้นมาจากการต่อต้านและความเบื่อหน่ายอันสุดจะทนต่อการครอบงำของศิลปะ Abstract Expressionism แห่งยุค 50s ด้วยเหตุนี้ศิลปินยุค 60s จึงพากันวิ่งเข้าหาความเรียบง่าย และแก่นแท้ของธรรมชาติ พร้อมกับตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นในงานออกไปจนหมด
สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ยุคสมัยคำว่า ‘น้อยแต่มาก’ ถูกใช้บ่อยเสียจนหลายคนเริ่มเบ้ปากใส่ จนเทรนด์ของมินิมอลิสม์กำลังจะเงียบหายไปอีกครั้งหนึ่ง แต่ก่อนที่ทุกคนจะต่อต้านและเบื่อหน่ายจนสุดจะทนกับมันไปมากกว่านี้ ในความเป็นจริง มินิมอลิสม์ยังมีประวัติศาสตร์และเรื่องราวน่ารู้อีกมากที่ชวนให้เราย้อนกลับไปทำความเข้าใจ และทำความรู้จักกับมันใหม่อีกครั้งหนึ่ง
_
Minimalism in Fine Arts
_
01
ศิลปะแนวมินิมอลิสม์เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960 จากจุดอิ่มตัวของกระแส Abstract Expressionism แนวคิดศิลปะสุดขั้วที่เน้นการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึกที่ฉับพลันของศิลปิน ซึ่งแนวศิลปะดังกล่าวครอบงำวงการศิลปะในทศวรรษ 1950 จนเกิดการต่อต้านผ่านงานมินิมอลิสม์ขึ้น
02
ลักษณะของศิลปะแนวมินิมอลิสม์จะมุ่งลดทอนรายละเอียด ใช้รูปทรงซ้ำๆ การนำเสนอจะปล่อยให้ธรรมชาติของวัสดุได้ทำงานมากที่สุด วัสดุที่ใช้จะเป็นสิ่งที่พบได้ในชีวิตประจำวันอย่างเหล็ก อะลูมิเนียม ปูน ฯลฯ ซึ่งความเรียบง่ายของทั้งตัวงานและวัสดุ ทำให้บางครั้งถูกตั้งคำถามว่านี่เป็นศิลปะจริงหรือไม่ เพราะใครๆ ก็ทำได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นจุดเด่นของงานแนวมินิมอลิสม์ที่มีอารมณ์ของศิลปินเจือปนน้อยที่สุด และแนวคิดนี้ก็เป็นรากฐานที่แตกกระจายไปสู่วงการอื่นๆ จนถึงปัจจุบัน
03
ก่อนที่จะมีการนิยามคำว่า ‘Minimalism’ ศิลปะแขนงนี้ถูกเรียกในหลายๆ ชื่อมาก่อน เช่น ABC art, Object Art, Primary Structures และ Cool Art ตามลักษณะของชิ้นงานที่เน้นความเรียบง่าย จนกระทั่งคำว่า Minimal ถูกนิยามโดย Rrichard Wollheim นักปรัชญาชาวอังกฤษ ในงานเขียนชื่อ ‘Minimal Art’ ปี 1965
04
แม้ศิลปินในกลุ่มมินิมอลิสม์จะนิยมสร้างผลงานประติมากรรมมากกว่าจิตรกรรม แต่ก็มีศิลปินบางคนที่ทำงานจิตรกรรมโดยใช้แนวคิดแบบมินิมอลิสม์ โดยจิตรกรคนแรกๆ ที่เริ่มทำงานแนวนี้คือ แฟรงก์ สเตลลา ที่ละทิ้งศิลปะแบบ Abstract Expressionism และเริ่มวาดภาพสีที่เรียบง่าย ใช้เส้นและรูปทรงเรขาคณิตในงานเป็นหลัก
05
‘Untitled’ (1969) คือหนึ่งผลงานสุดคลาสสิกของ โดนัลด์ จัดด์ ที่เมื่อพูดถึงศิลปะแนวมินิมอลิสม์ มักจะถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างอยู่เสมอ ประติมากรรมที่สร้างขึ้นจากสเตนเลสผสมกับแผ่นพลาสติกจนมีหน้าตาคล้ายชั้นวางบนผนัง แน่นอน มันถูกตั้งคำถามว่านี่คือศิลปะหรือไม่
06
ความน่าสนใจของงานยุคมินิมอลิสม์คือ ถึงแม้แนวคิดของงานศิลปินจะเป็นไปในทางเดียวกัน เน้นความน้อย แต่ด้วยวัสดุที่ถูกนำหยิบมาใช้ที่แตกต่าง ทำให้งานของแต่ละคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น Dan Flavin ที่ศิลปินคนอื่นในรุ่นเลือกใช้โลหะ ไม้ ปูน แต่เขากลับนำเอาหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์มาจัดวางเป็นรูปทรงเรขาคณิตต่างๆ ได้อย่างแปลกตา
07
‘Tilted Arc’ (1981) คือหนึ่งในผลงานศิลปะสุดอื้อฉาวของยุคมินิมอลิสม์ สร้างขึ้นโดย ริชาร์ด เซอร์รา ที่ใช้แผ่นโลหะขนาดใหญ่ต่อกันเป็นผนังยาว 120 ฟุต หนา 2.5 นิ้ว ตั้งขวางกลางเฟเดอรัล พลาซ่า ในมหานครนิวยอร์ก ซึ่งชาวบ้านที่ผ่านมาผ่านไปไม่ชอบมันมากๆ แต่เขาก็ปฏิเสธที่จะย้ายมันไปที่อื่น จนถึงปี 1989 งานชิ้นนี้จึงถูกรื้อถอนจากการฟ้องคดีความจนได้