ย้อนไปเมื่อประมาณ 7 ปีที่แล้ว คำว่า ‘กราโนลา’ เริ่มเป็นที่พูดถึงอย่างหนาหูมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองไทย เนื่องจาก ‘Diamond Grains’ เป็น SME สัญชาติไทยแบรนด์แรกที่บุกเบิกกราโนลาในเมืองไทยขึ้นมาแล้วประสบความสำเร็จ จึงทำให้กระแสธัญพืชอบกรอบที่ดีต่อสุขภาพร่างกาย ที่สำคัญคือรับประทานง่าย และอร่อย ด้วยรสชาติที่หลากหลาย กลายเป็นโมเดลให้กับบรรดา SME ธัญพืชอบกรอบแบบถ้วยผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่ารสชาติก็คือทัศนคติ และแนวคิดของ ชนิสรา วงศ์ดีประสิทธิ์ (กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท บรันช์ไทม์ จำกัด)
ยิ่งช่วงหลังมานี้เธอสื่อสารกับลูกค้ามากขึ้น ด้วยคอนเทนต์ที่หลากหลายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง เผยให้เห็นตัวตน ทัศนคติ และชีวิตของเธอมากขึ้น กลายเป็นพลังบวกให้กับบรรดาลูกค้าที่กลายมาเป็นแฟนคลับของเธอเช่นกัน
แต่คงมีน้อยคนนักที่จะรู้และเข้าใจว่าเบื้องหลังรอยยิ้มอันสดใส และพลังงานบวกอันมหาศาลนั้น เต็มไปด้วยลิ้นชักที่เก็บซ่อนปัญหาที่เกิดขึ้นไว้มากมายรอให้เธอแก้ รวมถึงประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา ซึ่งเธอเผยว่า เคยไม่ชอบตัวเองมาก่อน
“เราไม่ใช่เด็กประเภทที่จะโอเคกับอะไรง่ายๆ ถ้าเรารู้สึกว่าสิ่งไหนไม่โอเคเราจะพูดเลย ไม่ใช่เด็กสไตล์ที่คนคิดว่าจะได้เจอ ซึ่งเราก็จะดูเป็นเด็กอวดดีไปหมด ซึ่งเราเคยไม่ชอบตัวเองที่เป็นแบบนั้นเลย แต่เราเกิดมาเป็นแบบนั้นไง อีกอย่าง มันอึดอัดด้วยเวลาที่อยากพูดแล้วไม่ได้พูด”
นับจากวันที่เริ่มต้นเดินทางกับ Diamond Grains จนกระทั่งถึงวันนี้… วันที่เธอผ่านประสบการณ์จากการทำธุรกิจ ผิดหวัง ประสบความสำเร็จ ล้มเหลว เริ่มใหม่ การแสดงออกถึงความเป็นตัวเองจนต้องรับมือกับประเด็นดราม่า คำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จนได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตอันมีคุณค่ากับตัวเองมากมาย จึงทำให้เธอกลับมาชอบ และรู้สึกรักตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม
“ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้เรามองกลับมาที่ตัวเองอีกครั้ง แล้วถ้าคุณไม่เจ็บ คุณจะไม่มีวันได้เรียนรู้เลย”
เราจะเป็นความอุ่นกายอุ่นใจของลูกค้าที่รักษาสุขภาพเสมอ
• เราไม่ได้ผลิตสินค้าขึ้นมาเพื่อเสริมในสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้ทำมาเพื่อแข่งกับใคร แต่ทำมาเพื่อแก้ปัญหาบางอย่างของลูกค้าที่ยังแก้ไม่ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อไอเดียไหนที่คิดขึ้นมาแล้ว ต่อให้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ เทรนด์ใหม่ เราก็ไม่สนใจ ถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เราตัดทิ้งเลย
• อย่าง Diamond Grains คือการแก้ปัญหาความยุ่งยากในตอนเช้า ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาในมิติเดียว แต่ต้องง่ายแล้วเฮลตี้ เฮลตี้แล้วต้องอร่อย ดังนั้น คำว่าแก้ปัญหาในมุมมองของลูกค้าอาจจะมองเป็นแค่สโลแกน แต่แก้ปัญหาในหัวเรามีภาพตั้งแต่ลูกค้าตื่นขึ้นมาแล้วจะมีความรู้สึกแบบไหน อยากเคี้ยวของคาวหรือของหวาน เย็นหรืออุ่น เราต้องจำลองชีวิตเสมือนจริง (Virtual Life) ของลูกค้า แล้วแก้ปัญหาให้ครบวงจร บางทีเราต้องเลือกว่าเราจะแก้อะไรบ้าง จากนั้นจึงค่อยๆ ปรับไปทีละอย่าง
• ส่วนไอเดียของ Home to My Heart บางคนก็คิดว่าเราเปลี่ยนมาทำสายแฟชั่นเหรอ… ไม่ใช่เลย เราแค่ทำบ้านของหัวใจเพื่อปกป้องเจ้าของร่างกาย นี่เป็นการสื่อสารข้อความบางอย่างที่เราอยากให้เกิดขึ้นในสังคม และได้รับการยอมรับอย่างทั่วถึง
• เราจึงรู้สึกดีใจทุกครั้งที่ลูกค้ามีความสุขเวลาเห็นตัวเองในกระจก สโลแกนหรือ วิสัยทัศน์ขององค์กรเราจะมีแค่สิ่งเดียว ไม่ว่าต่อไปจะทำออกมาอีกกี่ร้อยแบรนด์ คือ “เราจะเป็นความอุ่นกายอุ่นใจ ของลูกค้าที่รักษาสุขภาพเสมอ” เพราะฉะนั้น ถ้าแก้ปัญหาให้เขาไม่ได้ เราก็ไม่สามารถทำให้เขาอุ่นกายอุ่นใจได้
• งานของเราที่ยากที่สุดคือการเลือกวัตถุดิบ เพราะวัตถุดิบบนโลกมีเป็นล้านอย่าง ขนมมีล้านสูตร ปริมาณน้ำตาลก็ปรับได้ตั้งศูนย์ถึงล้าน ทุกอย่างปรับได้หมด ดังนั้น ความพอดีระหว่างลูกค้ากับบริษัทจึงยากมาก แต่เพราะค่านิยมองค์กร (Core Value) ของบริษัทที่ทุกคนใช้ร่วมกันคือ เราทำงานด้วยความสนุก เราจึงมีความสุขในการหาวิธีแก้ไขปัญหาให้ลูกค้า
โลกนี้มีสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เข้ามาอยู่ตลอดเวลา
• สำหรับการบริหารงาน หรือการบริหารธุรกิจ ปัญหาทั่วไปค่อนข้างคล้ายกันหมดเลย เช่น ปัญหาไลน์ล่ม กู้ข้อมูลลูกค้าไม่ได้ หรือปัญหาที่เกิดจากตัวเราเองคือ ความเจ็บป่วยทางอารมณ์และจิตใจ (Mental Breakdown) ที่เราอาจจะรับมือกับความกดดันไม่ได้ มีช่วงหนึ่งที่เราก็ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสามารถจัดการกับสิ่งที่สร้างขึ้นมาได้ดีพอเท่าที่มันควรจะเป็นไหม คือมีทั้งปัญหาจากภายนอก และจากภายใน
• เราจึงไม่ได้คาดหวังว่างานต้องราบรื่นทุกวัน เพราะการทำธุรกิจสามารถมีปัญหาเกิดขึ้นได้ทุกวัน ดังนั้น ต้องพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ
• การที่จะมาถึงจุดที่มั่นคงอย่างเช่นทุกวันนี้ได้ ก็ต้องเจอจนชินเท่านั้น เรียกว่าเป็นมิติของการรับมือที่เก่งขึ้นดีกว่า ไม่ใช่ว่าต้องทำทุกอย่างให้ไม่เจอปัญหา เพราะเราไม่ได้ทำงานด้วยความคาดหวังว่าทุกอย่างต้องสมบูรณ์แบบ เราแค่ทำงานเยอะขึ้น แล้วตั้งรับกับปัญหาทุกอย่างที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ภาพที่ออกไปสู่สายตาของลูกค้ามีความสมบูรณ์แบบที่สุด
• ส่วนคนที่อยู่ข้างหลังงานอย่างเราและทีมก็มีหน้าที่รับมือกับผนังที่พร้อมจะถล่มลงมาได้ทุกเมื่อ และเป็นด่านหน้าให้ลูกค้าได้สัมผัสกับความสมบูรณ์แบบที่เราพยายามตอบแทนกลับไป
นำปัญหามาเป็นแรงผลักดันให้เกิดการแก้ไข
• อย่างไรก็ตาม ต่อให้พยายามมากแค่ไหน เราก็จะเจอปัญหาจุกจิกกวนใจอยู่ดี ไม่ว่าจะทั้งเล็กและใหญ่ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะมองแบบใด แต่สำหรับเรา มองว่าทุกเรื่องเท่ากันหมด เรามองทุกอย่างเป็นปัญหา และเราก็ต้องแก้ทุกปัญหาเหมือนกัน แค่ต้องรับมือด้วยอารมณ์ที่ดีเท่านั้นเอง
• จะมีช่วงแรกที่เราทำงานแล้วเราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ เราพยายามตั้งคำถามตลอดเวลา แต่คำว่า ‘ทำไมต้องเป็นแบบนี้’ นำมาใช้แก้ไขปัญหาไม่ได้ ดังนั้น คำถามเดียวที่ต้องถามตัวเองคือ ‘ทำอย่างไรให้หลังจากนี้สามารถเดินหน้าไปต่อได้’
• แต่สุดท้ายสิ่งที่ไม่คาดคิดจะมีเข้ามาตลอดเวลา ดังนั้น สิ่งที่เราทำได้คือ ‘ตั้งสติ’ แน่นอนว่าเราก็ต้องรับมือกับตัวเองให้ได้ในเวลาที่เราไม่สติด้วยนะ เพราะเราก็ยังไม่นิพพาน (หัวเราะ)
• ถ้าเราแก้ปัญหาได้คือจบ แต่ถ้ายังแก้ปัญหาไม่ได้ ต่อให้เต้น TikTok ร้อยเพลงก็จัดการตัวเองไม่ได้หรอก ดังนั้น เราต้องแก้ปัญหาให้ได้ก่อนแล้วค่อยกลับไปเต้นต่อ (หัวเราะ)
• ใครจะคิดว่า ณ จุดหนึ่งตอนตีสอง อยู่ๆ เราก็ร้องไห้ได้ในขณะที่กำลังเกิดเหตุการณ์บางอย่างอยู่ แต่แทนที่จะให้ปัญหานั้นกดตัวเองไว้ ให้แรงกดดันเหล่านั้นบีบให้ตัวเองแก้ปัญหาให้ได้ และในระหว่างนั้นก็เข้าใจไปพร้อมกันว่านี่เป็นเรื่องธรรมชาติดีกว่า
อยู่ตรงกลางให้ได้ ไม่ใช่ว่าแบกปัญหาไว้อยู่แล้ววิ่งออกไปเจอทุกคน
• ปัญหาของเราเยอะไปตามเนื้อผ้า หมายความว่า ตอนนี้นอกจาก Diamond Grains เรามีธุรกิจในเครือทั้งหมด 5 แบรนด์ เท่ากับว่าเราเจอปัญหาคูณ 5 เท่าเลย แล้วมันก็อยู่ตรงนั้น… ข้างหลังนี่คือปัญหาทั้งหมดของเรา แต่เราไม่ได้ถือมันไว้ตลอดเวลา
• ถ้าเราเริ่มรู้สึกว่าปัญหาเริ่มเข้ามาสัมผัสถึงตัวได้ เช่น ก่อกวนเรื่องการทำงานของน้องพนักงานคนอื่น หรือกระทบกับชีวิตประจำวันของเรา ก็จะเข้าไปแก้ไขทีละอย่าง แต่จะไม่พาปัญหาทั้งหมดไปด้วยกันตลอดเวลา จะวางปัญหาให้ได้ก่อน ต่อให้ยังแก้ได้หรือไม่ได้ก็ตาม แต่เราแค่ต้องอยู่ตรงกลางให้ได้ ไม่ใช่ว่าแบกปัญหาไว้อยู่แล้ววิ่งออกไปเจอทุกคน
• เรารู้สึกว่านั้นคือหน้าที่ในฐานะผู้บริหาร เรามีหน้าที่แก้ปัญหาให้ได้ด้วยตัวเราเอง แต่นั่นก็ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องแบกติดตัวไปตลอดเวลา แล้วพอจัดการมันเสร็จก็วางมันลงเหมือนเดิม “ถ้ามองแบบนี้ต่อให้มีปัญหาเยอะแค่ไหน เราก็จะยังเป็นคนแบบเดิมได้”
• ในวันแรกที่เราทำงานเราจำได้ว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เรามีมาตั้งแต่วันแรกๆ ที่ไปเสนอสินค้าแล้วโดนปฏิเสธหนักๆ สิ่งที่เราสองคน (‘แพ็ค’ – วุฒิกานต์ วงศ์ดีประสิทธิ์ สามี และผู้ร่วมก่อตั้ง) จะรับมือร่วมกันคือ เราพยายามแยกปัญหาออกจากตัวเราสองคนไปด้วยกัน ให้มองว่านี่คืองานที่ต้องแก้ แล้วต้องไม่ตำหนิกันเอง และไม่ตำหนิตัวเองด้วย
ชอบตัวเองมากขึ้น ทั้งในแง่การยอมรับตัวเอง และการยอมรับผู้อื่น
• เราเป็นคนชัดเจนมากมาตั้งแต่แรก จนเคยรู้สึกไม่ชอบและรำคาญตัวเองมากๆ ว่า ทำไมเราจะต้องรู้สึกชัดเจนกับทุกๆ อย่างขนาดนี้ ทำไมเราไม่เป็นคนละเอียดอ่อนหรือช้ากว่านี้ หรือที่หลายอย่างผิดพลาดเพราะว่าเราทำอะไรรวดเร็วเกินไป ซึ่งเราเพิ่งมารู้คำตอบทีหลังว่า ความชัดเจนเหล่านั้นเหมือนเป็นสัญชาตญาณ
• เมื่อก่อนที่เกิดความผิดพลาดบ่อย เพราะเป็นไปตามสัญชาตญาณที่ไร้ประสบการณ์ของเรา แต่ปัจจุบันก็ยังใช้สัญชาตญาณเหมือนเดิม แค่มีประสบการณ์มาช่วยในการตัดสินใจมากขึ้น การรับมือกับสัญชาตญาณตัวเองก็เลยฉลาดขึ้น
• ถ้าย้อนกลับไปก็ไม่รู้สึกโกรธตัวเองเหมือนตอนเด็กๆ แล้ว ที่ผิดพลาดเยอะเพราะเราไม่สามารถซื้อประสบการณ์ด้วยเงินได้ เราต้องล้มไปเรื่อยๆ ก่อนถึงจะเรียนรู้ได้
• การทำธุรกิจ คือวิชาที่สอนการใช้ชีวิตเหมือนกันนะ สมมติว่าเราทำงานที่เจอแต่ปัญหาเดิมๆ เจอคนเดิมๆ เจอเหตุการณ์เดิมๆ ทุกวัน เราก็จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการรับมือแบบเดิมๆ แต่เราเป็นคนที่อยู่จุดเดิมไม่ค่อยเก่ง เป็นคนที่ชอบความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีหลายคนมากๆ ที่เกลียดมัน (หัวเราะ) พอเราชอบความเปลี่ยนแปลงมากๆ เราจะเป็นคนที่ชอบวิ่งเข้าหาปัญหา
• สำหรับหลายคนอาจออกไปท่องเที่ยวด้วยร่างกาย ไปสำรวจโลกด้วยการมอง แต่เราสามารถนั่งอยู่ตรงนี้ในห้อง แล้วสมองเราวิ่งออกไปได้ทุกที่เลย เราสามารถจินตนาการได้ไกลและการทำธุรกิจพาเราไปเจอปัญหาเหล่านั้นทางใจ ท้าทายสติเราในทุกๆ วัน
• ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าได้เป็นคนที่อยากเป็นมากขึ้นผ่านการรับมือปัญหาต่างๆ อาจจะเป็นเพราะตอนเด็กๆ เราไม่ได้ชอบตัวเองมาก พอโตขึ้นมาเราเจอปัญหาที่ไม่คิดว่าจะเจอ แล้วเป็นประโยชน์กับคนอื่นด้วย จึงรู้สึกว่าชอบตัวเองมากขึ้น ทั้งในแง่การยอมรับตัวเอง และการยอมรับผู้อื่น
• การทำอะไรบางอย่างให้กับคนที่มีความหมายกับเราสอนตัวเราในแง่ของการใช้ชีวิต เพราะเราไปเจอสิ่งใหม่ๆ ปัญหาใหม่ๆ เยอะขึ้นทุกวัน
• แต่เราจะสอนตัวเองเสมอว่า ‘อย่าสวมตัวเองลงไปในปัญหา’ อย่าสวมความสุขมาเป็นตัวเอง อย่ามองว่าตัวเองเป็นคนรวย เป็นคนเก่ง อย่าติดทั้งดีและไม่ดี อย่าอินเกิน อย่าเสพทุกอย่างเกินไป เพราะเดี๋ยวเราก็ตายแล้ว เราคือร่างกายที่เปล่าเปลือย เราเหนื่อยเกินไปที่เราจะต้องอยู่ในภาพที่ทุกคนอยากให้เราเป็น ก็เลยไม่อยากสวมตัวเองเป็นอะไรเลย
เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่แก้ปัญหาได้ ลูกค้าก็ได้รับในสิ่งที่ควร
• เราชอบในสิ่งที่เราทำ ชอบในสิ่งที่ลูกค้าได้รับ และสิ่งที่บริษัทได้รับ ชอบที่มีความแฟร์เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย ลูกค้าได้สินค้าที่มีมาตรฐานที่ควรจะได้รับ เราได้ทำในสิ่งที่ควรจะทำให้กับลูกค้า ทุกคนในทีมมีงาน มีเงินเดือนในปริมาณที่พวกเขาควรจะได้ และบริษัทเติบโตไปในทิศทางที่ควรจะเป็น
• เรารู้สึกว่าทุกคนได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง เราอยากให้องค์กรของตัวเองเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ วันข้างหน้าสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นก็คือ ในวันที่เราตาย จะต้องมีใครที่ยึดถือคุณค่านี้ต่อจากเราไป
• เราคิดว่าการส่งต่อคุณค่านั้นยากกว่าการขายบริษัทแล้วได้เงินไปใช้ชีวิตเสียอีก เราไม่มีความคิดที่จะลาออกเลย อยากทำจนกว่าจะมีคนเข้ามาบริหารได้ดีกว่าตัวเอง นี่คือเป้าหมาย
Diamond Grains ตั้งใจเจียระไนเพชรให้ออกมาดีที่สุด
• ไม่ใช่แค่กับผลิตภัณฑ์อย่างเดียว แต่หมายถึงทีมงานของเราด้วย เพราะไม่มีใครเกิดมาสวยที่สุดตั้งแต่เกิด ไม่มีคนไหนเก่งที่สุดตั้งแต่แรก ไม่มีวัตถุดิบหรือสินค้าตัวไหนที่สมบูรณ์แบบและพร้อมตั้งแต่แรกเช่นกัน
• ดังนั้น Diamond Grains จะเจียระไนเพชรให้ลูกค้า แล้วก็เจียระไนลูกค้าให้เป็นเพชร รวมถึงเจียระไนคนในทีมของเราเองด้วยพวกเราจะโตไปด้วยกัน ถ้าลูกค้ารักตัวเองแบบที่เรารักผลิตภัณฑ์เรา นั่นคือสำคัญยิ่งกว่าการขายของได้เยอะเลย