จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

“จนกว่าพวกเขาจะไม่ต้องการผม” คำสัญญาที่ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ให้กับนักกีฬาพาราลิมปิก

หากใครได้ดูเรื่อง Rising Phoenix พาราลิมปิก จิตวิญญาณแห่งฟีนิกซ์ ซึ่งเป็นภาพยนตร์สารคดีทาง Netflix ที่สร้างขึ้นเพื่อต้อนรับการแข่งกีฬาพาราลิมปิก ปี 2020 หนังพาเราย้อนไปดูต้นกำเนิดกีฬาสำหรับคนพิการ รวมถึงทัศนคติของรัฐบาลเจ้าภาพในปี 2016 ที่มีความเหลื่อมล้ำด้านงบประมาณ นำงบไปทุ่มให้กับกีฬาโอลิมปิกแทบทั้งหมด เกือบทำให้พาราลิมปิกในปีนั้นไม่ได้จัดขึ้น แต่ด้วยเหล่าคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลต้องดิ้นรนจนเฮือกสุดท้าย จนทำให้ให้พาราลิมปิกได้เปิดการแข่งขันต่อไป

        สิ่งที่เราเห็นได้จากภาพยนต์สารคดีเรื่องนี้ นอกจากความมุ่งมั่นตั้งใจพิชิตเป้าหมาย และศักยภาพที่มีแล้ว อีกตัวแปรหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘แรงสนับสนุน’ ที่เราสัมผัสได้อย่างชัดเจนเลยว่าคณะกรรมการพาราลิมปิกสากลเป็นตัวละครสำคัญของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2016 พยายามกันมากแค่ไหนเพื่อให้เหล่านักกีฬาได้ลงสนาม

        สำหรับพาราลิมปิกของประเทศไทยแล้ว เราเชื่อว่า ‘นิดหน่อย’ – จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี ประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย ทุ่มเทให้กับนักกีฬาที่เป็นเพื่อนพ้องของเขาไม้แพ้กัน พาราลิมปิกไทยจึงยังครองแชมป์เป็นที่หนึ่งอาเซียนตลอดมา

        “ผมคิดว่า ‘เราพวกเดียวกัน’ เพราะชีวิตผมคลุกคลีอยู่กับกีฬามาตลอด ทั้งเป็นนักกีฬา เล่นให้โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นโค้ชผู้ฝึกสอน เป็นผู้บริการสมาคมกีฬา และผมก็เริ่มทำงานช่วยเหลือนักกีฬาคนพิการและสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ตั้งแต่พาราลิมปิกยังไม่เป็นที่รู้จักอย่างเช่นทุกวันนี้

        “ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุน ส่งเสริมนักกีฬาและสมาคมกีฬา ตั้งแต่ระดับเยาวชนจนถึงระดับอาชีพ และหนึ่งในสมาคมกีฬาที่ธุรกิจของผมให้การสนับสนุนมาอย่างยาวนานก็คือ ‘สมาคมกีฬาคนพิการฯ’ เราเป็นเอกชนรายแรกๆ ที่เข้ามาสนับสนุนตรงนี้” เขากล่าว 

        ก่อนที่นิดหน่อยจะเข้ารับตำแหน่งประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2552 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการทีมคณะนักกีฬาไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ดูแลนักกีฬาคนพิการในการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ที่ประเทศฟิลิปปินส์ และดูแลอีกหลายรายการเรื่อยมาตั้งแต่ระดับอาเซียนจนถึงพาราลิมปิก โดยทํางานร่วมกับ 5 สมาคมกีฬาคนพิการ คือ สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมกีฬาคนพิการทางสมองแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทย, สมาคมกีฬาคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และสมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย

        “หน้าที่ของคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย คือการส่งเสริมกีฬาในคนพิการ การพัฒนา การเตรียมความพร้อม ไปจนถึงส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ ซึ่งเชื่อมต่อกับเครือข่ายพาราลิมปิกที่มีอยู่ทั่วโลก” เขาอธิบายก่อนจะเล่าต่อถึงประสบการณ์ทำงาน และการเรียนรู้ในฐานะประธานคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

เพราะพวกเขาคือนักกีฬาเหมือนกัน

        • ย้อนกลับในสมัยก่อนนักกีฬาคนพิการจะถูกมองข้าม ได้รับการดูแลแตกต่างจากนักกีฬาปกติ เช่น นักกีฬาปกติซ้อมเก็บตัว 6 เดือน นักกีฬาพาราลิมปิกจะเก็บตัวแค่เดือนเดียว การซ้อมของนักกีฬาพาราลิมปิกก็ใช้สนามเดียวกับนักกีฬาปกติ แต่ต้องรอเขาซ้อมเสร็จก่อนนักกีฬาพาราฯ ถึงจะซ้อมได้ ถ้าเขาซ้อมเสร็จเที่ยง นักกีฬาเราก็ได้ซ้อมเที่ยงตอนแดดร้อนๆ และสนามกีฬาของนักกีฬาปกติจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่คอยช่วยเหลือคนพิการ เช่น ทางลาดสำหรับรถเข็น ห้องน้ำคนพิการ ผมเลยอยากเข้าไปช่วย 

        • ครั้งแรกที่ได้รู้จักกีฬาคนพิการ ผมยังไม่ค่อยเข้าใจถึงความเป็นกีฬาคนพิการเท่าไหร่ แต่พอได้คลุกคลีอยู่ 2-3 ปี ไปดูการซ้อม การเก็บตัว ไปดูการแข่งขัน อยู่ข้างสนาม กินนอนด้วยกัน การที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับนักกีฬา ทําให้ผมรู้จักกีฬาคนพิการมากขึ้น เข้าใจตัวนักกีฬามากขึ้นว่ากว่าที่นักกีฬาพาราลิมปิกจะเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ พวกเขาต้องเสียสละอะไรมาบ้าง ต้องผ่านอะไรมาบ้าง ต้องทุ่มเทฝึกฝนตัวเองมากแค่ไหน ไม่ใช่แค่ฝึกด้านร่างกาย แต่รวมถึงการฝึกจิตใจด้วย พวกเขาไม่ต่างจากนักกีฬาปกติเลย ต้องพยายามมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะเขาเหล่านี้มีความพิการทางร่างกาย บางคนไม่มีขา บางคนไม่มีแขน บางคนพิการทางสายตา

        • การเข้ามาอยู่ตรงนี้ทำให้มองเห็นว่า อะไรคืออุปสรรค และโอกาสในการพัฒนากีฬาคนพิการในบ้านเรา และมองเห็นว่าเราสามารถช่วยอะไรเขาได้บ้าง ซึ่งเราช่วยเขาในทุกเรื่อง ทั้งเรื่องชีวิต ความเป็นอยู่ เรื่องหมอ เรื่องกฎหมาย เรื่องทนาย ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เราดูแลชีวิตของกันและกัน เลยมีความผูกพันกัน นักกีฬารุ่นแรกๆ ที่ผมสนิทด้วยก็เป็นรุ่นบุกเบิกเลย อย่างเช่น สมชาย ดวงแก้ว นักกีฬาว่ายน้ำ (อ่านบทสัมภาษณ์บทบาทใหม่ในฐานะโค้ชของ สมชาย ดวงแก้ว ได้ ที่นี่), ประวัติ วะโฮรัมย์ นักกีฬาวีลแชร์ และ ‘แวว’ – สายสุนีย์ จ๊ะนะ นักกีฬาฟันดาบ

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

ความสำเร็จ 3 มิติ คือเป้าหมายที่ต้องพานักกีฬาพาราลิมปิกไปให้ถึง

        กีฬาพาราลิมปิกมีจุดประสงค์มุ่งเน้นที่การมีส่วนร่วม ไม่ใช่แค่การสร้างสถิติ จึงทำให้ทุกการแข่งขันต้องพยายามปรับเพื่อเพิ่มโอกาสให้นักกีฬามีส่วนร่วมในเกมส์มากขึ้น ดังนั้น ผมจึงมองเป้าหมายของความสำเร็จไว้ 3 มิติ

        • ความสำเร็จด้านผลงาน นักกีฬาพาราฯ ต้องการการสนับสนุนหลายอย่าง เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างผลงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการแข่งขันพาราลิมปิก ซึ่งในปัจจุบันเราเป็นที่หนึ่งของอาเซียน เป็นระดับต้นๆ ของเอเชีย มีกีฬาหลายประเภทที่เราเป็นแชมป์โลก ได้เป็นเจ้าของเหรียญทองพาราลิมปิก แต่มากไปกว่านี้คือการสานต่อความสำเร็จอย่างต่อเนื่องไปยังนักกีฬาคลื่นลูกใหม่ ให้ก้าวขึ้นมาสานต่อความสำเร็จจากที่นักกีฬารุ่นพี่ได้ทำไว้ ส่วนนักกีฬารุ่นพี่ก็นำประสบการณ์ที่มีมาต่อยอดสู่การเป็นโค้ช และดูแลนักกีฬารุ่นต่อไป

        • ความสำเร็จในระดับสังคม เท่าที่ผมสัมผัสนักกีฬามา ผมทราบดีว่าเขาใช้ความพยายามมากขนาดไหน ไม่ใช่เรื่องง่ายที่คนพิการจะประสบความสำเร็จในด้านกีฬา แต่เมื่อพวกเขาทำได้ย่อมต้องการคนในสังคมร่วมชื่นชมยินดีกับความสำเร็จด้วย เพราะความสำเร็จของเขาเป็นมากกว่าความภูมิใจในตัวเอง 

        แต่จะนำมาซึ่งการได้รับการยอมรับจากสังคม และเป็นโอกาสในการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับคนปกติได้ ซึ่งสิ่งนี้มีความหมายกับพวกเขามาก และความสำเร็จของพวกเขานั้นเป็นตัวอย่างที่ดีให้คนพิการอีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคนปกติด้วย เป็นแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นมาสู้กับการดำเนินชีวิต หรือแม้กระทั่งการจะลุกขึ้นมาเล่นกีฬาก็ตาม 

        • ความสำเร็จในด้านการดูแล และตอบแทนจากภาครัฐ ผมคิดว่าความสำเร็จของนักกีฬาคนพิการไม่แตกต่างจากนักกีฬาปกติ และการเดินบนเส้นทางสู่ความสำเร็จก็ต้องการการสนับสนุนดูแลจากภาครัฐไม่น้อยกว่านักกีฬาทั่วไป วันนี้หลายๆ อย่างดีขึ้น เงินอัดฉีดต่อเหรียญรางวัลจากรัฐบาลดีขึ้นกว่าเดิมมาก อยู่ในระดับประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ของนักกีฬาปกติ 

        แต่ผมก็ยังอยากผลักดันให้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับนักกีฬาปกติมากกว่านี้ ถ้ายิ่งอยู่ในระดับเดียวกันได้ยิ่งดี เพราะผมรู้ว่าพวกเขาพยายามอย่างมาก หรือมากกว่านักกีฬาทั่วไปด้วยซ้ำ เนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของร่างกาย กว่าจะมาถึงวันที่ประสบความสำเร็จได้

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

ภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จ

        • ผมมองพวกเขาในฐานะนักกีฬามาตลอด ไม่ได้มองเรื่องความพิการเลย เพราะกว่าที่คนพิการคนหนึ่งจะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงชีวิต ผลักดันตัวเองจนสามารถเป็นนักกีฬาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความกล้า ความเข้มแข็ง กว่าจะฟันฝ่ามาเป็นนักกีฬาเต็มตัวได้ ซึ่งน่านับถือมาก

        • จึงพูดเสมอว่า ผมเข้าใจความรู้สึกของพวกเขา (นักกีฬาพาราลิมปิก) รับรู้ถึงความรู้สึกของชัยชนะ หรือแม้กระทั่งความพ่ายแพ้ของนักกีฬา เขาฝึกหนักและยากเย็นกว่าเรา แต่หัวใจกับความรู้สึกเหมือนกันทุกอย่าง เพราะฉะนั้นอะไรที่ผมช่วยได้ ผมช่วยเต็มที่ จึงทำให้ผมอยากทำงานให้พวกเขา 

        • ทุกวันนี้ผมมองพวกเขาด้วยความภูมิใจ ที่ได้เห็นพวกเขาประสบความสำเร็จ มีชีวิตที่ดีขึ้น ภูมิใจที่เห็นนักกีฬาได้รับการชื่นชมจากสังคม ที่สำคัญคือภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของนักกีฬาทุกคน 

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

Spirit of Mankind

        • ผมมองว่ากีฬาเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยง ‘Spirit of Mankind’ กีฬาไม่ได้สอนให้เราเอาชนะ กีฬาสอนเรามากกว่านั้น สอนให้เราไม่ยอมแพ้ สอนให้มีน้ำใจนักกีฬา นี่เป็นมุมมองที่เติบโตจากการเล่นกีฬา เพราะกีฬาเน้นการมีส่วนร่วม ความเท่าเทียม ยุติธรรม ความกลมเกลียว ไม่ใช่ผลการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกีฬาคนพิการที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วม และการพัฒนาสมรรถภาพร่างกายมากกว่าที่จะเน้นการทําสถิติ 

        • ถ้าโอลิมปิกเป็นการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ของคนปกติ พาราลิมปิกก็เป็นการแข่งขันกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของคนพิการเช่นกัน 

        • หากมองผลทางด้านจิตใจ ผมมองว่าการแข่งขันกีฬาระดับโลกอย่างพาราลิมปิก เหมือนเป็นที่สุดของการแข่งขันกีฬาคนพิการที่ทุกคนอยากไปถึง เป็นเป้าหมายของพวกเขา การได้เข้าร่วมการแข่งขันระดับนี้ ถือเป็นความสําเร็จที่นักกีฬาภูมิใจแล้ว เขาได้พิสูจน์ตัวเอง เอาชนะข้อจํากัดทางด้านร่างกาย ผลักดันตัวเองจากมุมมืด ขึ้นมาเป็นที่รู้จักของสังคมอย่างภาคภูมิใจ ถ้าชนะได้เหรียญกลับมาก็เหมือนเป็นโบนัสที่ได้สร้างความสุขให้พี่น้องคนไทยที่เป็นกําลังใจให้ และนักกีฬาของผมส่วนใหญ่เป็นกําลังหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว จึงเป็นความภูมิใจของครอบครัวด้วย ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นจากเงินอัดฉีดของภาครัฐและเอกชน 

มิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขันโตเกียวพาราลิมปิก 2020

        • ผมประทับใจการเตรียมพร้อมของเจ้าภาพที่แสดงให้เห็นถึงการเป็นครอบครัวเดียวกัน ซึ่งเขาเตรียมตัวมานานมาก เมืองเล็กเมืองน้อยออกมามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพกันหมด ตั้งแต่ก่อนการแข่งขัน 2-3 ปี บริษัทเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นสปอนเซอร์ในมิติของการมีส่วนร่วม ในการต้อนรับและดูแล ซึ่งไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อน 

        • อย่างเช่นเมืองอะกิตะที่ติดต่อเรามา เขาบอกเลยว่ายินดีมากๆ ถ้าสมาคมกีฬาคนพิการทางสมองฯ จะให้ชาวเมืองอะกิตะดูแลฝึกซ้อมก่อนการแข่งขัน จนนักกีฬาของเรากับคนของเขามีความผูกพันกัน กระทั่งช่วงที่มีการแข่งขัน ชาวเมืองอะกิตะก็ทำป้ายเชียร์เป็นภาษาไทยมาเชียร์พวกเรา สิ่งที่เจ้าภาพทำแสดงถึงการให้ความสำคัญกับจิตวิญญาณของพาราลิมปิกฯ ที่สร้างความเป็นเพื่อน สร้างความกลมเกลียวให้แก่กัน

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี

โอกาส และคำสัญญา

        • นักกีฬาคนพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร พวกเขาแค่ต้องการโอกาสที่จะสามารถสร้างชีวิตที่ดีให้ตัวเองได้ เพียงแค่เปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นอย่างปกติ ดูแลตัวเองได้ มีระบบขนส่งที่ดูแลคนพิการได้ มีถนนหนทางที่ผู้พิการสามารถสัญจรได้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่คนพิการสามารถออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านได้ ไม่ต้องอยู่บ้านให้เป็นภาระครอบครัว นี่คือสิ่งที่เขาต้องการ

        • แต่วันนี้เราเห็นแล้วว่า พาราลิมปิกเป็นที่ยอมรับมากขึ้นทั่วโลก ทำให้มีกีฬาใหม่ๆ เกิดขึ้น กฎกติกาก็พัฒนาไป นักกีฬาหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ความสำเร็จจะแพร่กระจายสู่ประเทศต่างๆ เยอะขึ้น 

        • วิวัฒนาการของกีฬา ทั้งการแข่งขันในระดับอาเซียนจะดุเดือดมากขึ้น เพราะทุกประเทศหันมาให้ความสำคัญกับกีฬาคนพิการมากกว่าเมื่อก่อน ดังนั้น การวางแผน การสร้างทีม และการใช้งบประมาณต้องสอดคล้องกัน แล้วใช้ให้ถูกวิธีซึ่งก็ขึ้นอยู่กับฝีมือการบริหารของแต่ละสมาคม 

        • ส่วนผม ผมเคยสัญญากับนักกีฬาพาราลิมปิกว่า ผมจะอยู่เคียงข้างพวกเขาจนกว่าพวกเขาจะไม่ต้องการผม ถ้าสักวันมีคนที่เก่งกว่า ผมยินดีนะ แต่ตราบใดที่นักกีฬายังต้องการผม ผมจะอยู่ตรงนี้ จะอยู่เคียงข้างพวกเขา

        “โฟกัสในสิ่งที่พวกเขามี ไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาขาด” เขาทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม และสายตาอันแน่วแน่ที่มองไปยังจุดหมายต่อไปปารีสพาราลิมปิกเกมส์ 2024 ณ ประเทศฝรั่งเศส 

จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี


ภาพ: จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี