บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

10 บทเรียนของการมีความสุขเล็กๆ ในบั้นปลายของชีวิต

หากเปรียบคนสูงวัยเป็นบทเพลง พวกเขาเหล่านั้นคงเป็นบทเพลงจากอดีตที่ยังคงก้องกังวานด้วยความไพเราะเสมอยามที่บรรเลงขึ้นมา และหากเงี่ยหูฟังดีๆ เราจะได้ยินรายละเอียดน่าสนใจมากมายที่ถูกซุกซ่อนไว้ให้ได้ทึ่งเต็มไปหมด

        a day BULLETIN มีโอกาสได้พานพบและพูดคุยกับคนสูงวัยที่น่าสนใจในหลากหลายสาขาอาชีพ ตลอดปี 2019 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการงานอาชีพแล้ว สิ่งที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้ผ่านผู้สูงวัยเหล่านั้นคือประสบการณ์จากชีวิตที่ผ่านมา ทั้งสุข ทุกข์ ความเจ็บปวด ความเปลี่ยนแปลง ที่ส่งผลต่อมุมมองชีวิต ความเข้าใจโลก การปล่อยวาง และเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ค้นพบนิยามของ ‘ชีวิตที่ดี’ ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ทั้งเป็นบทเรียนที่ไม่ว่าคนวัยไหนก็สามารถเก็บเกี่ยวไปประกอบใช้ในชีวิตได้

 

บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

01 | การมีเป้าหมายสำคัญต่อการมีชีวิต 

‘ป้าแป๋ว’ – กาญจนา พันธุเตชะ, นักเดินทาง เจ้าของเพจ ‘ป้าแบ็คแพ็ค’  

        “ทุกคนควรจะมีเป้าหมายนะ แต่ต้องมานั่งคิดว่าเราจะมีเป้าหมายในเรื่องอะไรบ้าง อย่างวัยทำงานควรจะคิดว่าเป้าหมายชีวิตเราอยากจะเป็นอะไร ป้าว่าเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกวัย อย่างป้าในวัยนี้มีเป้าหมายเรื่องการเดินทาง อย่างอื่นไม่มี เพราะผ่านมาหมดแล้ว การเดินทางเป็นความหมายที่ทำให้เราอยากมีชีวิตอยู่ ทำให้เรามีเป้าหมายว่าเราต้องไปที่นั่นที่นี่ ช่วงนั้นช่วงนี้ ทำให้เราได้คิดวางแผนว่าต้องทำอะไรบ้าง มันทำให้เราไม่เคว้ง”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่: http://bit.ly/2slhAH9 

 

บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

02 | ความตายไม่ใช่ศัตรู

คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์, นักธุรกิจผู้ขับเคลื่อนทางสังคม 

        “ถ้าเลือกได้ก็อยากตายที่บ้าน ป้าทำ Living Will ไว้แล้ว เราไม่รู้หรอกว่าจะมีสติดีพอขณะที่ต้องเผชิญกับความตายจริงๆ ไหม และเราทุกคนก็ต้องอยู่กับความไม่รู้นี้ไป ที่ทำได้คือฝึกฝนใคร่ครวญให้ใจมันยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ การยอมรับไม่ใช่เรื่องของการพ่ายแพ้หรือเอาชนะ แต่เป็นเรื่องของการเข้าใจธรรมชาติของชีวิตอย่างแท้จริง”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่: http://bit.ly/356pLUW 

 

บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

03 | มนุษย์ควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับธรรมชาติ 

ดร. เกริก มีมุ่งกิจ, ผู้ก่อตั้งโครงการคนกล้าคืนถิ่น   

        “ไม่ต้องถึงกับต้องละทิ้งเงินไป ความจริงแล้วการที่อยู่กับธรรมชาตินั่นคือเราจะอยู่กับธรรมชาติอย่างไร หลักการก็คือต้องปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติมากที่สุด เพราะมนุษย์คือธรรมชาติ เราไม่ได้ถูกโคลนขึ้นมา เราไม่ได้เป็นหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร มนุษย์เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราต้องฝึกอยู่กับธรรมชาติกันหน่อย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะมีเงินไม่ได้ เงินมีบ้างไม่ต้องมีมากก็ได้ เราไม่ต้องเอาเงินมาเป็นปัจจัยหลักในการมุ่งหาเงิน”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่: http://bit.ly/2Q10h78

 

บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

04 | การอยากเป็นเหมือนคนอื่นคือสิ่งที่เป็นอันตรายต่อชีวิต 

เดชา ศิริภัทร, ประธานมูลนิธิขวัญข้าว  

        “ความไม่รู้เท่าทันทำให้เกิดปัญหา คนเราเอาความสะดวกเป็นตัวตั้ง ไม่ได้คิดว่าอะไรควรหรือไม่ควรจะทำ ผู้คนถูกกระแสพาไปได้ง่ายๆ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่า ต้องสร้างบ้านเอง ต้องปลูกข้าวกินเอง แต่กำลังจะสื่อว่าเราต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลง เราไม่ได้ต่อต้านและเราต้องรู้เท่าทัน และทำทุกอย่างโดยทางสายกลาง พอดิบพอดี ยังเป็นตัวของตัวเองได้และเหมาะกับตัวเอง ซึ่งทั้งหมดต้องนำแนวคิดไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทของตัวเอง เพื่อไม่ให้ไหลไปกระแสที่ต้องมี ต้องเป็น ต้องเหมือนคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตรายต่อการใช้ชีวิต”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่: http://bit.ly/2rQqEn2 

 

บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

05 | Learn – Unlearn – Relearn 

นพ. วิจารณ์ พานิช, ผู้สนใจด้านการศึกษาและการจัดการความรู้  

        “โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้คนต้องเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา เหมือนที่เขาบอกกันว่ารูปแบบของการเรียนรู้ในปัจจุบันประกอบด้วยคำสามคำคือ Learn – Unlearn – Relearn หมายถึงว่าต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และเปิดรับวิธีการใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมถึงไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา เพราะการยึดติดจะปิดกั้นไม่ให้เราเกิดการเรียนรู้ในมุมมองใหม่ๆ

        “โลกตอนนี้แตกต่างจากโลกเมื่อหลายสิบปีที่แล้วอย่างมหาศาล ถามว่าเราจะฝึกให้คนมีทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร ผมคิดว่าสิ่งแรกคือเราต้องฝึกให้คนรู้จักตั้งคำถามและหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง เมื่อไหร่ที่ตั้งคำถามแล้วมีคนมาบอกคำตอบให้แก่คุณ ถ้าคุณเป็นคนที่มีทักษะ Lifelong Learning คุณจะเชื่อแค่ครึ่งเดียว แล้วไปหาคำตอบในส่วนที่เหลือด้วยตนเอง”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่: http://bit.ly/2u65QIQ 

 

บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

06 | เมื่อไหร่ที่เราค้นพบความหมายแห่งชีวิต เราจะพบความมหัศจรรย์ของชีวิตนี้ 

ประมวล เพ็งจันทร์, นักเขียน  

        “เราจะเห็นว่าโลกที่เราอยู่อาศัยนี้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โลกมีฤดูกาล ไม่ว่าเราจะรับรู้หรือไม่ก็ตาม มนุษย์ตื่นเต้นเสมอเมื่อค้นพบความจริงใหม่ๆ แต่ผมเชื่อว่าความเป็นจริงของโลกใบนี้ ไม่มหัศจรรย์เท่ากับการค้นพบความจริงที่อยู่ข้างในตัวเราเอง นี่คือหัวใจสำคัญที่ผมบอกว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราค้นพบความหมายแห่งชีวิต ซึ่งมีความรักเป็นแก่นแกน เราจะพบความมหัศจรรย์ของชีวิตนี้”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่: http://bit.ly/35cMgYh 

 

บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

07 | ก้าวเดินด้วยความกล้าหาญ

‘ป๋าตึก’ – ภูษิก พัฒนปราการ

        “พอถึงวัยนี้แล้วก็ไม่เคยกลัวว่าตัวเองจะแก่นะ ต้องมีแรงบันดาลใจที่รุนแรงเหมือนกัน กูอายุ 60 ก็ยังไปสักอยู่เลย ความคลุ้มคลั่งของเรามันไม่มีวันหมด จะไปโดดร่ม เป็นโรบินฮู้ด ทำอะไรก็ได้ 40 ยังเป็นโรบินฮูดไหวเลย ขนาดพ่ออายุ 70 กว่า ยังส่งพ่อไปล้างจานที่อเมริกาเลยว่ะ ให้เอาตัวรอด ตอนแรกก็คิดว่าไม่ไหว ปรากฏถ่ายรูปใส่เสื้อหนาวแฮปปี้ เก๋ไปอีก”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่: http://bit.ly/2GzxZvz

 

บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

08 | คุณค่าแห่งชีวิต

สุชาดี มณีวงศ์, ผู้กำเนินรายการ ไชโย โอป้า

        “คนเราจะรู้สึกมีคุณค่าก็เมื่อได้ทำในสิ่งซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งกับตัวเอง ลูกน้อง สังคม และประเทศ ทำไปเถอะ ใครไม่เห็นก็ช่างเขาเถอะ เพราะเราทำแล้วก็ได้ของเราเอง แล้วไม่ต้องเอาหน้า ปิดทองหลังพระไป พระเจ้าอยู่หัว ร.9 ท่านเคยตรัสเรื่องนี้ไว้แล้วนี่ ปิดไปเถอะ แล้วเดี๋ยวสักวันมันจะล้นมาข้างหน้าเอง”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่: http://bit.ly/2ZT6k13

 

บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

09 | ภารกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด

รตยา จันทรเทียร, ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรคนแรก

        “งานอนุรักษ์มันเป็นงานที่ไม่มีวันจบ เพราะว่ามนุษย์ไม่ว่าใครๆ ก็ต้องการอยากได้ แล้วคนที่คิดว่าอยากได้มันมากกว่าคนที่คิดจะรักษา งานอนุรักษ์จึงต้องดำเนินไปไม่มีวันจบไม่มีวันสิ้น”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่: http://bit.ly/2md9HQm

 

บทเรียนในบั้นปลายชีวิต

10 | ชีวิตต้องง่าย

โจน จันใด

        “ชีวิตสบายในแบบที่ทุนนิยมพยายามสอนให้ทุกคนเชื่อคือ ชีวิตที่ไม่ต้องทำอะไร สั่งอย่างเดียว ซื้ออย่างเดียว ซึ่งในความเป็นจริงมันตรงกันข้าม เพราะการใช้เงินซื้ออาจได้สิ่งที่ต้องการรวดเร็ว แต่เราต้องสูญเสียชีวิตขณะขวนขวายเพื่อเงินไปเยอะมาก ชีวิตเร่งรีบจึงเป็นชีวิตที่เชื่องช้าและยาวนาน”

อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มที่: http://bit.ly/2GK3W4z