มนุษย์ต้องพบกับความเจ็บปวดตั้งแต่วันแรกที่ลืมตาดูโลก ล้มลุกคลุกคลานตั้งแต่ครั้งที่เริ่มตั้งไข่หัดเดิน ความทุกข์จึงอยู่กับเรามาตลอดจนถึงวันที่หมดลมหายใจ แต่ถ้าจะมาท้อแท้ยอมแพ้ให้กับอุปสรรคที่เป็นอยู่ตอนนี้ ก็เสียดายสิ่งดีๆ อีกมากมายที่รอให้เราไปพบและมีความสุขน่าดู แต่การจะก้าวพ้นความทุกข์นั้นจะทำอย่างไร
เรารวบรวมสิ่งที่สงสัยทั้งหลายไปถามกับ พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต เพื่อขอคำแนะนำจากพระนักเทศน์อารมณ์ดีท่านนี้ โดยหวังว่าคำตอบที่ได้รับกลับมานั้น จะเป็นประโยชน์กับคนอ่าน a day BULLETIN ได้ไม่มากก็น้อย เพราะเชื่อว่าความเจ็บปวด ความเศร้า ความทุกข์ แม้กระทั่งความสุขนั้น ถ้ารู้ว่าทุกสิ่งนั้น เกิดขั้น ตั้งอยู่ และต้องดับไป เราก็จะมองเรื่องต่างๆ ได้อย่างเข้าใจ สามารถก้าวผ่านความผิดหวังที่กัดกร่อนหัวใจเราไปได้อย่างไม่ยากนัก
ปุจฉา: บทเรียนแรกในการตั้งสติ และใช้ชีวิตสำหรับปี 2021 พระอาจารย์คิดว่าเราต้องคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง
วิสัชนา: ต้องทำความเข้าใจพื้นฐานกันก่อนที่มีคนเคยกล่าวว่า พ.ศ. 2263 ประเทศไทยเจอกับกาฬโรค พ.ศ. 2363 ก็เจอกับอหิวาตกโรค พ.ศ. 2463 เราเจอไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ุใหม่ และปี 2563 เป็นโควิด-19 หมายความว่าในทุกหนึ่งร้อยปีจะมีโรคระบาด แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็จะต้องผ่านไปได้ อาตมาจึงอยากให้คนที่อ่านอยู่ตอนนี้เป็นบุคคลที่ผ่านไปได้ เพราะเราต่างก็รักษามาตรการร่วมกันไม่ว่าจะวิธีใดก็แล้วแต่ นี่คือวิธีการรับมือในทางโลกกับสิ่งที่กระทบกับตัวเรา
ปุจฉา: บทเรียนต่อมาที่ต้องคำนึงคือเรื่องไหนบ้าง
วิสัชนา: ส่วนของทางธรรมเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่ดี เราต้องยกระดับจิตใจของตัวเองให้สูงขึ้น เพราะชีวิตของคนเรานั้นสั้นมาก ดังนั้น อย่าเอาเวลาไปคิดหรือทำในสิ่งที่ไม่ดีที่ทำให้เดือดร้อนทั้งตัวเองและผู้อื่นเลย เพราะโรคร้ายนี้มันจะพรากชีวิต พรากสิ่งดีๆ ออกไปจากชีวิตเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ เราจึงควรมีพรหมวิหารธรรมต่อกัน นั่นคือความรักและเมตตาให้ต่อกัน
ดังนั้น ในแง่ของภายในจิตใจก็คือการมีเมตตาหรือมีความรักให้แก่กัน มีความกรุณาคือความสงสารเห็นอกเห็นใจ มีมุทิตา คือการยินดีต่อผู้อื่น และสุดท้ายคืออุเบกขาหรือการวางใจเป็นกลาง เพราะสถานการณ์ที่ยากลำบากจะทำให้เรารู้ถึงจิตใจคน เมื่อทุกอย่างเกิดขึ้นแล้วก็ไม่ควรไปว่าร้ายต่อกัน เราไม่จำเป็นต้องไปคอยว่าร้ายใครต่อใคร
ปุจฉา: ยังมีกิเลสข้อไหนไหมที่พระอาจารย์พยายามเอาชนะมันอยู่
วิสัชนา: อาตมาก็เคยเห็นแก่ตัวที่ครั้งหนึ่งไม่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นอย่างเต็มที่ แต่อาตมากลับได้รับคำขอบคุณจากโยมผู้นั้นอย่างสุดซึ้ง หลังจากนั้นทำให้รู้ว่าต่อไปถ้าเราต้องช่วยใครเราต้องทำให้เต็มที่ เราอาจจะไม่ใช่คนที่ดีที่สุด ระมัดระวังที่สุด แต่ในปีที่ผ่านมาเป็นประสบการณ์ที่สอนให้รู้ว่าถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้อีก เราจะไม่เห็นแก่ตัว ความรักตัวกลัวตายนั้นมีกันทุกคน แต่เราต้องไม่ไปผลักคนอื่นออกไปเพื่อให้แค่ตัวเองรอด โรคภัยไข้เจ็บเหล่านี้บางครั้งมันมาเพื่อทดสอบตัวของเราว่า เราจะเป็นคนแบบไหน และเพื่อทำให้เราพัฒนาจิตใจให้ดีขึ้นสูงขึ้น
ปุจฉา: พระสงฆ์นั้นให้ความหมายของคำว่า ‘มนุษย์’ อย่างไร
วิสัชนา: ความเป็นมนุษย์นั้นอธิบายง่ายๆ ด้วยคำว่า ‘มน’ ซึ่งแปลว่า ใจ ‘อุสฺส’ แปลว่า สูง คือความหมายของมนุษย์นั่นคือผู้มีใจสูง โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่มีการแจกเจลแอลกอฮอล์ มีการเย็บหน้ากากอนามัยส่งต่อให้กัน เราจะเห็นการช่วยเหลือของเหล่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเอง ทำให้อาตมาได้เห็นความเป็นพระโพธิสัตว์ในตัวของคนแต่ละคนมากขึ้น ท่าน ว.วชิรเมธี เคยกล่าวไว้ว่าพระโพธิสัตว์ คือคนที่ทนไม่ได้เมื่อเห็นคนเดือดร้อนจึงเกิดความรู้สึกที่อยากช่วยเหลือ ดังนั้น ที่กล่าวมาคือผู้มีลักษณะของพระโพธิสัตว์ โดยเฉพาะสถานการณ์ตอนนี้ เราจะเห็นความเป็นพระโพธิสัตว์เยอะมากจากการแบ่งปัน ช่วยเหลือช่วยกันคิดแก้ปัญหา นี่คือมุมมองของพระที่มองมนุษย์ นี่แหละคือความเป็นมนุษย์ที่มีใจสูงจะแสดงออกมาตอนนี้
ปุจฉา: พระอาจารย์เอาเรื่องทางโลกมาคิด วิเคราะห์ จนเป็นความรู้ใหม่ให้ตัวเองอย่างไร
วิสัชนา: ครั้งหนึ่งอาตมาเดินทางไปประเทศอังกฤษ เป็นช่วงที่ไวรัสยังไม่ระบาดมาก ชาวต่างชาติไม่นิยมใส่หน้ากากเพราเขาคิดว่าคนที่ใส่หน้ากากคือคนไม่สบาย คนที่ออกมาข้างนอกได้คือคนที่แข็งแรง ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด ดังนั้น ในบางมุมชาวต่างชาติเขายังต้องมาเลียนแบบเรา หรือดูเราเป็นกรณีศึกษา อย่าไปมองว่าประเทศไหนเจริญกว่ากันเลย
มีเรื่องขำๆ ที่เขาแซวกันว่าทำไมฝรั่งติดโควิด-19 มากกว่าเอเชีย คุณลองดูหนังสิ ถ้าเป็นพวกนินจาฝั่งเอเชียเขาใส่หน้ากากปิดปากปิดจมูก แต่ฝรั่งอย่างแบตแมนกลับปิดตาปิดหัวแต่เปิดปากเปิดจมูก มุมหนึ่งก็ขำแต่อีกมุมหนึ่งเขาก็คิดแบบนั้นจริงๆ ที่ว่าใครไม่สบายคือคนที่ปิดปากปิดจมูก สุดท้ายแล้วประเทศที่ขึ้นชื่อว่าพัฒนาแล้วด้านวัตถุ สังคม ซึ่งเราเชื่อว่าเจริญกว่าทางความคิด โควิด-19 ได้เข้ามาพิสูจน์ตรงนี้ พอย้อนมาดูทางไต้หวันที่มีมาตรการรับมือทั้งเรื่องสุขภาพและทางเศรษฐกิจ การแจกเจลล้างมือ การชดเชยค่าครองชีพ ส่งเสริมการเที่ยวในประเทศ เราจะเห็นความคิดของคนเป็นผู้นำที่คิดอย่างละเอียดรอบด้าน ทั้งๆ ที่ประธานาธิบดีเขาเป็นผู้หญิงด้วยซ้ำ ซึ่งแนวคิดแบบนี้เราก็ควรดูเขาเป็นตัวอย่างด้วย
ปุจฉา: สถานการณ์ที่ส่งผลให้เกิดความคิดต่าง ทำให้คนทั้งสองฝ่ายต่างด่าทอด้วยถ้อยคำรุนแรงและลามไปจนถึงแช่งชักลากให้ไปตายก็มี สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากจิตใจที่เสื่อมถอยลงของคนใช่หรือไม่
วิสัชนา: ถ้าให้อธิบายว่าทำไมคนที่เห็นต่างจึงมองคนอีกฝั่งว่าไม่ใช่คน โดยส่วนตัวอาตมาที่จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งปลูกฝังให้เรารักประชาชน ดังนั้น ความเสมอภาค ความเท่าเทียมจึงอยู่ในดีอ็นเอของเรา อาจจะมีแซวกันบ้าง ทั้งแครอต หัวไชเท้า บร็อกโคลี โดยเฉพาะอาตมาจะเจอคำที่ว่า ‘กิจของสงฆ์หรือเปล่า’ มาตลอด
นักปราชญ์ชาวกรีกคนหนึ่งได้กล่าวว่า ‘คนฉลาดที่ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง จะถูกลงโทษโดยการปกครองด้วยคนโง่’ ย้อนไปตอนเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่มีนักศึกษาถูกจับและช่วงนั้นจะมีนักเขียนที่เขียนข้อความให้คนโกรธเกลียดกันด้วยกระแสของคอมมิวนิสต์ สุดท้ายก็จบด้วยความรุนแรง การที่คนมองเห็นคนไม่ใช่คนโดยไม่รู้สึกผิด การบ่มเพาะการเกลียดชังเหล่านี้อันตรายมาก และจากเหตุการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นมา เราน่าจะเรียนรู้กันว่า ใน 100 ปีที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาตลอด ไม่ว่าจะสงครามต่างๆ ทั้งเอเชียและยุโรป ทุกชาติก็เคยคิดแบบมัจฉาทิฏฐิ (ความเห็นผิดไปจากความเป็นจริง) ด้วยกันทั้งนั้น
ปุจฉา: เราจะนำบทเรียนจากอดีตมาปรับใช้ในปัจจุบันได้แบบไหน
วิสัชนา: หลังจากที่แพ้สงคราม ประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนแปลงนโยบายในประเทศใหม่ โดยมุ่งไปในเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อให้คนใช้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกขึ้น เขาตั้งเป้าหมายนี้ไว้ชัด และผลิตเครื่องไม้เครื่องมือด้วยตัวเอง เราจึงควรต้องมาคิดว่าทำอย่างไรให้คนไทยเรามีชีวิตที่ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และเข้าใจกัน โดยไม่ไปจมอดีตแต่ก็ไม่เห่อปัจจุบันมากจนเกินไป
ปุจฉา: การอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับคนที่คิดดไม่ตรงกันสามารถทำได้จริงๆ อย่างนั้นหรือ
วิสัชนา: ศาสตรตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ท่านบอกว่าเมื่อไฮโดรเจนผสมกับไฮโดรเจนไม่เกิดอะไรใหม่ ออกซิเจนผสมกับออกซิเจนก็ไม่เกิดอะไรใหม่ แต่ถ้าไฮโดรเจนผสมกับออกซิเจนจะเกิดเป็นน้ำ (H2O) ซึ่งมีคุณค่ามหาศาล ดังนั้น ความคิดอนุรักษ์นิยมกับความคิดคนรุ่นใหม่ที่หัวก้าวหน้าอาจจะทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่ดีก็ได้ ซ้ายจัดขวาจัดผสมผสานกันอาจจะดีขึ้นก็ได้ บางอย่างอาจจะต้องช้าบ้างแต่ก็ต้องมีเร็วบ้าง เช่น การต่อยมวยมีช้าบ้างเร็วบ้าง แค่นี้เราก็จะไปด้วยกันได้ เรียนรู้สิ คุยกันสิ เพื่อเรียนรู้ความคิดของเขา แล้วเราจะกลายเป็นกัลยาณมิตรต่อกันก็ได้
ปุจฉา: เราจะเป็นกัลยาณมิตรที่ดีได้อย่างไร และต้องเป็นกับทุกคนเลยไหม
วิสัชนา: อาตมาเป็นเพื่อนที่ดีของหลายคน แต่ก็อาจจะเป็นเพื่อนที่ไม่ดีของอีกหลายคน แต่เราต้องอยู่ในกรอบของพื้นฐานทางศีลธรรม โดยไม่ทำความเดือดร้อนให้ผู้อื่น บางทีบางครั้งชีวิตต้องเดินไปข้างหน้า เช่น พระเพื่อนของอาตมาที่มาด้วยกัน ถึงจุดหนึ่งเขาอาจจะมีเส้นทางของเขา คนไม่รู้อาจจะมองว่าเราทิ้งกัน แต่ท้ายที่สุดทุกชีวิตต้องก้าวไปต่อ ทุกคนมีเส้นทางตัวเอง เราต้องเข้าใจให้ได้ ดังนั้น เราต้องขอโทษคนที่เราไม่ได้ไปต่อไปด้วยกัน เราทุกคนอยากเป็นคนดี ตัวอาตมาเองก็ไม่ได้อยากให้มีคนมาด่า แต่ก็มีคนที่ทั้งชอบและไม่ชอบเรา อาตมาไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้น ไม่ต้องไปมองว่าคนนี้ดีเราถึงคบหรือคนนี้ไม่ดีเราไม่คบ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นหรือไม่เป็นกัลยาณมิตรได้กับทุกคน เหมือนที่คุณโน้ส (อุดม แต้พานิช) เคยบอกว่า “พระอาจารย์ไม่สามารถเปลี่ยนการพูดของพระอาจารย์ได้หรอก เพราะนี่คือตัวตนพระอาจารย์ เราอย่าไปยึดติดกับชื่อเสียง พระอาจารย์ก้าวข้ามชื่อเสียงไปเลยนะครับ บางครั้งสนุกบ้างก็ได้ มีสาระวิชาการก็ได้เพราะพระอาจารย์เป็นพระ เพราะทำก็โดนด่า ไม่ทำก็โดนด่า เลือกทำดีกว่า ขณะที่โดนด่ายังมีอะไรให้ทำ”
จริงๆ แล้วเราทุกคนล้วนปรารถนาให้คนรักเราชอบเราทั้งนั้น พระอาจารย์มีประสบการณ์ที่ทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่ทำนั้นดี นั่นคือเมื่อตอนอาตมาอายุ 29 ปี อาตมามีโอกาสได้ไปบรรยายที่บริษัทหนึ่งที่ล้วนแล้วแต่มีระดับผู้บริหารและอายุมากกว่าอาตมา แล้วมีคนบอกว่า ถ้าคนยอมฟัง 15 นาทีแรกจะยังไม่รู้สึกอะไร ถ้าฟังได้ 30 นาทีคือยอมรับ แต่ถ้าฟังได้ 1 ชั่วโมงคือนับถือเป็นอาจารย์ แต่วันนั้นอาตมาบรรยายไป 2 ชั่วโมงรวด เจ้าของบริษัทจึงเดินมาบอกอาตมาว่า ผมนับถือพระอาจารย์ครับ ทั้งที่ตอนแรกไม่มีความเชื่อมั่นในตัวพระอาจารย์เลย และผมคงไม่ตัดสินและดูถูกใครอีกแล้ว
สิ่งเหล่านี้ทำให้อาตมาดีใจที่สามารถทำเขาไม่ดูถูกใครอีกได้ อาตมาจึงนำเรื่องนี้มาเป็นกำลังใจให้ตัวเองเสมอ และขอเป็นกำใจให้กับทุกคน เราต้องมั่นใจในการทำดีของเราเสมอ
ปุจฉา: สำหรับคนที่เผชิญกับทุกข์อยู่ตอนนี้ จะรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร
วิสัชนา: การรับมือกับทุกข์ในตอนนี้ ต้องเริ่มต้นจากผู้ที่เผชิญกับโรคระบาดก่อนเลย ตอนเกิดการระบาดรอบแรกเราตกใจกันมาก ตื่นตระหนกกลัวกันมาก เราเห็นในข่าวว่ามีผู้ที่ติดเชื้อแล้วจำนวนไม่น้อยทั้งประชาชนหรือแม้กระทั่งคนที่มีชื่อเสียง ดารา นักร้อง นักฟุตบอล แต่เราก็เห็นจากข่าวแล้วว่ามีการรักษาแล้วหายจากโรคนี้ได้ ดังนั้น ตอนนี้ใครที่ติดไวรัสให้คิดเลยว่ามันสามารถหายได้ เราแค่ไปพบหมอแล้วทำการรักษาอย่างถูกวิธี ไม่ต้องตกใจเลย เรารู้วิธีรู้ทางรักษาเยียวยาแล้ว
ถ้าเป็นด้านเศรษฐกิจขอย้อนไปหลายปีก่อนซึ่งอาตมามีโอกาสได้ร่วมบรรยายกับ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ ในห้องประชุมงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ซึ่งคุณวิกรมบอกว่าตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์เกิดขึ้นมาเศรษฐกิจไทยยังไม่เคยตกขนาดนี้เลย และเขาหยิบสัญลักษณ์รูปตัวยูขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจอยู่ก้นตัวยู แล้วหันมาถามว่าอาตมาว่าจะช่วยอะไรเราได้บ้างไหม อาตมาก็ไม่ได้มีความรู้ด้านเศรษฐกิจแต่ก็หยิบตัวยูขึ้นมาแล้วพลิกกลับหัว ทุกคนในที่นั้นจึงเห็นว่าเผลอแป๊บเดียวเศรษฐกิจพุ่งขึ้นสูงทันที ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นวัฏจักร มีขึ้นก็มีลงเสมอ เป็นความจริงเช่นเดียวกับหลักพุทธศาสนาที่บอกว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทุกสิ่งมีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เพียงแค่คนส่วนใหญ่เข้าใจแค่ครึ่งเดียว โดยเฉพาะคนจนจะเข้าใจดีว่าความจนมันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ส่วนคนรวยจะเข้าใจแค่ครึ่งเดียวคือความรวยเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แต่ต้องไม่ดับไป ดับไปไม่ได้ (หัวเราะ) ดังนั้น ไม่ว่ามันจะมีอะไรเกิดขึ้นเราต้องผ่านมันไปให้ได้
ปุจฉา: แต่การจะหลุดออกจากความทุกข์ ความเศร้าหมอง พอเอาเข้าจริงๆ ก็เจ็บปวดจนยากจะทำใจให้เข้มแข็งได้เหมือนกัน
วิสัชนา: วันที่อาตมาเกิด ครอบครัวก็พบกับเหตุการณ์ไฟไหม้บ้าน เวลาไปที่ไหนอาตมาก็เล่าปนมุกขำว่าพ่อแม่อาตมาเล่าว่าอาตมาเกิดมาฮ็อตมากไฟเลยไหม้บ้าน ทุกคนในบ้านขำ แต่ไม่เคยมีใครมาบอกว่าอาตมาเป็นตัวซวยนะ ซึ่งในความเป็นจริงคนที่เคยไฟไหม้บ้าน ทุกครั้งที่พูดถึงเราต้องรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งอยู่แล้ว แต่ปัญหาและความทุกข์มีไว้ให้แก้ ยามเหนื่อยยามท้อ ยามสิ้นหวัง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ปัญหามีไว้ให้แก้ก็อยู่กับความทุกข์สักระยะหนึ่งก่อนแล้วออกมาจากมัน ให้เดินออกมา เหมือนเดินออกไปนอกโลกแล้วมองกลับมา เราจะพบว่าโลกเราเล็กนิดเดียวเอง ปัญหาก็เหมือนกันแค่เราเดินออกจากมันมาซะ แล้วมองกลับมาเราจะพบว่ามันเล็กมากๆ อย่าแบกไว้แค่เหยียบไว้ก็พอ โควิด-19 ระบาด จะทำให้กิจการขาดทุนหรือเจ็บป่วยแล้วจะให้เราหัวเราะดังๆ เลยคงไม่ได้ ก็ค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำ ทำไม่สำเร็จก็ไม่เป็นไร ก็แค่กลับไปจุดที่เริ่มต้นตั้งแต่แรก เมื่อผ่านไปได้ทั้งหมดเราจะนิ่งยิ้มกับสิ่งที่ผ่านไปได้
คุณเคยแข่งขันเกมกินวิบากไหม ที่ด่านแรกต้องกินขนมโก๋ พอกินแล้วก็ติดคออึดอัด ด่านที่สองจะมีน้ำให้กิน ดังนั้น เราต้องไปให้ถึง ถ้าโควิด-19 อยู่ซอยหนึ่ง ธุรกิจล้มละลายอยู่ซอยสอง หายป่วยโควิดอยู่ซอยสาม โรงพยาบาลอยู่ซอยสี่ เราต้องไปให้ถึงทุกซอย ประคับประคองผ่านมันไปให้ได้
ปุจฉา: พระสงม์เองก็ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ในตัว พระอาจารย์เองเคยรู้สึกแย่กับชีวิตบ้างไหม
วิสัชนา: ถ้าเป็นเรื่องใกล้ตัวอาตมาคือเรื่องคอมเมนต์ในโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ทุกวันนี้ยังมีความรู้สึกอยู่ โดยส่วนมากคนจะบอกว่าอาตมาเป็นพระสายฮา จึงมีคนที่บอกว่าตลกขนาดนี้ไปเป็นตลกเลยไหม สึกเลยไหมหรือก็มีคนที่ไม่ชมเราเลย แต่สำหรับพระสงฆ์นั้น เราจะมีหลักการปฏิบัติเหมือนกันคือ ‘ปิดหูซ้ายขวา ปิดตาสองข้าง ปิดปากเสียบ้าง นั่งนอนสบาย’ หมายความว่าเมื่อดูเมื่อฟังแล้วทำให้เครียดก็ปิดเสียบ้าง เรื่องนี้เป็นไปตามหลักจิตวิทยาที่รอให้เรามีจิตใจดีขึ้น ค่อยกลับมาดูมาฟังข้อความเหล่านั้นอีกครั้งนั่นแหละ
อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ เคยบอกไว้ว่า 3 ด มักจะมาด้วยกันคือ เด่น ดัง ด่า สมัยที่เป็นพระมหาสมปองแรกๆ ที่ยังไม่มีคนสนใจ ยังเป็นพระกระจอกพอมีชื่อเสียง เริ่มดัง เริ่มมีคนรู้จัก ก็จะมีคนด่า อันไหนที่จริงเราก็ต้องหันกลับมามองตัวเอง อะไรที่เผลอพูดไปอาจจะกำกวมไป ติดตลกมากไป เราก็ปรับแก้ไข จริงๆ แล้วคนไทยมีสองข้อ หนึ่งขอโทษด้วยความจริงใจ สองคือปรับปรุงแก้ไข ไม่ว่าจะด้วย กาย วาจา ใจ เราก็แค่ขอโทษเมื่อเราผิดพลาดไป อาตมาจึงขออนุญาตไม่อ่านคอมเมนต์ใต้คลิปยูทูบ เพราะช่วงแรกๆ อาตมาก็มีความทุกข์กับคอมเมนต์เหล่านั้น แต่ช่วงหลังอาตมามองเป็นประโยชน์มากกว่า แต่ถ้าจะให้อาตมาเล่าหรือพูดแบบเงียบๆ เข้าวิชาการเลยก็ไม่ใช่ทางสายพระมหาสมปอง ตอนที่เราพูดอะไรที่เสี่ยง อาตมารู้ว่ามีราคาที่ต้องจ่าย ดังนั้น ถ้าทำใจได้เราก็อ่าน แต่ถ้าคอมเมนต์จะส่งผลต่อใจเรามากเราก็ไม่อ่าน
ปุจฉา: ในแวดวงพระสงฆ์ด้วยกันเคยมีการพูดถึงประเด็นนี้ไหม เพราะเรื่องนี้เป็นโลกยุคใหม่ของศาสนาด้วยเช่นกัน
วิสัชนา: มีพระมักจะถามอาตมาว่ารับมือยังไงกับคอมเมนต์ต่างๆ เขาคิดว่าอาตมาจะเตรียมข้อมูลไว้ชี้แจง อาตมาจึงบอกพระท่านนั้นว่าเวลาคนด่าเราแล้วเราชี้แจง เขาจะไม่คิดว่าเราชี้แจง แต่เขาจะคิดว่าเราแก้ตัวหรือแถ ดังนั้น ขอโทษไปเลยดีกว่า ข้อไหนที่เราปรับปรุงแก้ไขได้เราก็ทำไปเลย
พระพุทธเจ้าตรัสถามไว้ว่า “ใบไม้ในมือกับใบไม้ในป่าอันไหนมีมากกว่ากัน” สิ่งที่พรองค์สอนคือใบไม้ในกำมือเราอาจจะคิดว่าเยอะแล้ว แต่ที่จริงในป่านั้นยังมีอะไรอีกมากมาย ดังนั้นการที่อาตมาจะนำสิ่งอื่นนอกจากคำสอนของพระพุทธเจ้ามาพูดมาสอน อาตมาก็จะไม่ได้ใช้สมอง แต่ใช้สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวมาปรับใช้เลย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่สิ่งที่ผิดอะไรเลย เพราะไม่อย่างนั้นศาสนาอื่นที่นำเรื่องของศาสนาอื่นๆไปเล่าไปสอนก็ผิดงั้นหรือ
แม้กระทั่งเรื่องการเชียร์ฟุตบอล หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่อาตมามองว่าเป็นเรื่องเดียวกันถ้ามองในเรื่องความสามัคคี ความรู้แพ้ รู้อภัย เหมือนช่วงสถานการณ์ที่บ้านเมืองแบ่งสีแบ่งฝั่ง สุดท้ายก็เกิดการสูญเสีย ทั้งๆ ท้ายที่สุดเมื่อถอดเสื้อออกก็พบว่าเป็นคนที่เราต่างก็คุ้นเคยกันทั้งนั้น แล้วที่เขาบอกว่ากีฬาแก้กองกิเลส ทำคนให้เป็นคน ธรรมะก็แก้กองกิเลสเช่นกัน ดังนั้นเกิดมาทั้งทีให้อาตมาได้บอกได้เล่าเถอะว่าชอบอะไร อย่าให้ต้องบอกตอนที่เหลือลมหายใจสุดท้ายเลย
ปุจฉา: เราจะทำอย่างไรเพื่อฟื้นฟูจิตใจโดยที่ไม่ต้องจบด้วยการให้พระเป็นที่พึ่งพิงสุดท้ายได้บ้างไหม
วิสัชนา: ทุกครั้งที่มีปัญหา 5 พยางค์ นี้จะทำให้โยมทั้งหลายผ่านมันไปได้คือ เดี๋ยว มัน ก็ ผ่าน ไป ธุรกิจหรือโรคภัยอาจจะต้องใช้เวลาเยี่ยวยาบ้าง ทุกสิ่งตั้งอยู่และเดี๋ยวก็ผ่านไป ประคับปประคอง จิตใจ ความคิด ความอ่านให้ดีอยู่เสมอ เช่นเดียวกับคำสอนในศาสนาอิสลามที่ว่า ทุกปรากฏารณ์ที่เกิดขึ้นดีทั้งนั้น แม้กระทั่งเรื่องที่ไม่ดี เราเอาเป็นบทเรียนสอนใจเรา ไม่คิดผิด พูดผิด ทำผิดแบบนั้นอีก ดังนั้นทุกท่านให้กำลังใจตัวเอง As a man think he is. มนุษย์จะพัฒนาการไปตามสิ่งที่ตนคิด คิดแบบไหนก็ได้เช่นนั้น มองแง่บวกคิดบวกไว้แล้วทุกท่านจะผ่านทุกข์เรื่องราวไปได้แน่นอน เจริญพร