เป็นธรรมดาที่เวลาเราเห็นสิ่งปกติเกิดขึ้นกับคนใกล้ชิด สิ่งแรกที่มักจะถามเขาหรือเธอ คือ “เจ็บปวดตรงไหนเหรอ” แต่ ‘อาจารย์เอ๋’ – ดร. กุลวดี ทองไพบูลย์ นักจิตวิทยาคลินิก และอาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มาร่วมพูดคุยกับเราในรายการ Live With adB ในครั้งที่แล้ว ในประเด็นเรื่อง ‘เยียวยาบาดแผลทางใจอย่างไรให้ไขว่คว้าความสุขมาได้’ กล่าวกับเราว่าสำหรับบาดแผลทางใจ (trauma) นั้น “แทนที่เราจะถามว่า ‘คุณผิดปกติตรงไหน’ แต่ให้ลองตั้งคำถามดูใหม่ว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกับคุณ’ เพื่อเราจะได้ทำความเข้าใจ แล้วนำพาเขาไปสู่กระบวนการเยียวยาได้”
นั่นทำให้เราเห็นถึงความแตกต่างระหว่างบาดแผลทั่วไปภายนอก กับบาดแผลภายในจิตใจ สำหรับบาดแผลภายนอกเราอาจเดาได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง แต่สำหรับบาดแผลทางใจนั้น แม้คนที่กำลังเจ็บปวดอยู่หลายคนก็อาจไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นอะไร ดังนั้น การถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับคุณ อาจเป็นการเริ่มต้นหาคำตอบที่ดีกว่า รวมถึงการย้อนถามตัวเองกลับด้วยเช่นกัน
ดร. กุลวดี ทองไพบูลย์
นักจิตวิทยาคลินิก และอาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
‘Trauma’ อาจไม่ใช่แค่ ‘เหตุการณ์’ แต่เป็น ‘อะไรก็ตามที่เข้ามากระทบใจ’
• นิยามของคำว่า trauma อธิบายง่ายๆ นั้นหมายถึง ‘เหตุการณ์ใดก็ตาม’ ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลกระทบทำให้เรารู้สึกถูกคุกคามถึงชีวิต หรือรู้สึกว่าเป็นอันตราย ส่งผลทางจิตใจ และจะมีผลระยะยาวต่อการใช้ชีวิตของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม อารมณ์ หรือจิตวิญญาณ
• แต่ปัจจุบันอาจารย์กุลวดีเชื่อว่า trauma อาจจะไม่ใช่เหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง แต่อาจจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทางจิตใจกับบุคคลหลังจากเหตุการณ์ที่เคยผ่านพบมา
• โดย trauma เกิดได้หลายรูปแบบ ทั้งประสบการณ์ตรงที่ประสบกับตัวเอง เช่น เราประสบกับเหตุการณ์สึนามิด้วยตัวเอง หรือบางครั้งอาจจะแค่ได้ยินได้ฟังมาหรือเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ก็ได้ ซึ่งคนคนคนนั้นได้รับรายละเอียดที่สะเทือนใจมาเยอะมากเขาก็สามารถเกิด trauma ได้เช่นกัน แต่การที่คนสองคนประสบเหตุการณ์เดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเกิด trauma ในใจ ความรู้สึกนี้ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลด้วย
• เราจะมองว่า trauma มี 2 แบบ คือ แบบ Big T กับ Small T ในชีวิตของเราทุกคนจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิด trauma อยู่แล้ว ซึ่ง Small T อาจจะเป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำอย่างเช่น การถูกให้ออกจากกลุ่มก็เกิดเป็นบาดแผลทางใจได้ ส่วน Big T อาจจะเป็นเหตุการณ์ใหญ่อย่างภัยพิบัติ การถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงกว่า เป็นต้น
Trauma ส่งผลต่อความคิด อารมณ์ พฤติกรรม และปฏิกิริยาทางกาย
• ด้านความคิด อาจจะเกิดความคิดที่โทษว่าเป็นความผิดของตัวเอง อาจจะมีฝันร้าย เหมือนเกิดเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ หรือในเชิงกระบวนการรู้คิดจะส่งผลกระทบต่อสมาธิ เคยมีเคสที่เด็กผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ พออยู่ที่บ้านเธอรู้สึกว่าที่บ้านไม่ปลอดภัยจะรู้สึกตื่นตระหนกตลอดเวลา ไม่สามารถนอนหลับได้ พอไปโรงเรียนจึงทำให้เธอไม่มีสมาธิ หรือเด็กบางคนรู้สึกว่าโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย (safe place) สำหรับเขา จึงอาจจะเผลอหลับที่โรงเรียน ซึ่งถ้าใครไม่เข้าใจเรื่อง trauma ก็จะเข้าใจว่าเด็กคนนี้ขี้เกียจ ไม่ตั้งใจเรียน
• ด้านของอารมณ์ อาจจะเกิดความรู้สึกกลัว ความวิตกกังวล มีความโกรธ รู้สึกผิด
• ด้านพฤติกรรม อาจจะเกิดการแยกตัว หลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่กระตุ้นให้คิดถึงเหตุการณ์ที่เกิด trauma บางคนอาจจะหันไปพึ่งพาเหล้า ยาเสพติด เพื่อที่จะบรรเทาอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น และที่เราค่อนข้างเห็นบ่อยคือ เขาอาจจะรู้สึกว่าโลกนี้ไม่ปลอดภัย มีความระแวดระวังมากขึ้น ถ้าเราไปแตะนิดเดียวก็สะดุ้ง ทางร่างกายอาจเกิดอาการนอนไม่หลับ การกินการนอนที่เปลี่ยนไป มีความเหนื่อยล้า ตึงเครียด
• อีกเรื่องหนึ่งคืออาการ ‘ความทรงจำย้อนกลับ’ (flashback) เวลาที่เราดูหนังที่เกิด trauma ตัวละครจะระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต หรือทหารผ่านศึกเวลาไปสู้รบจะเจอกับเสียงระเบิด แต่เมื่อกลับมาใช้ชีวิตปกติแล้วเขาได้ยินเสียงที่คล้ายระเบิด ก็จะทำให้เขาระลึกถึงเหตุการณ์นั้นได้
• ปฏิกิริยาต่างๆ นี้เป็นระบบกลไกที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้เขามีชีวิตอยู่รอด (survivor stand) จึงอยากให้มองว่า ผลกระทบจาก trauma ส่งผลต่อพฤติกรรมของเราด้วย ในด้านที่ช่วยให้เราอยู่รอดในสถานการณ์ที่ยากลำบากมากๆ ซึ่งปฏิกิริยาของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
จะสู้ หรือจะหนี
• Fight or Flight Response คือกลไกการตอบสนองเมื่อต้องรับมือกับอันตราย
• คนที่มีลักษณะ ‘สู้’ (Fight Mode) เวลาที่มีคนมาทำอะไรกับเขา เขาก็จะค่อนข้างเถียงกลับ จะเป็นคนไม่ยอมคน ในสายตาคนภายนอกก็จะมองว่าเขาเป็นคนที่ต่อต้าน ก้าวร้าว หรือบางคนมีลักษณะ ‘หลบหนี’ (Flight Mode) เวลาที่มีคนมาชวนคุยด้วย หรืออย่างบางกรณีจะยอมทุกอย่าง
• บางทีก็เป็นปฏิกิริยาตอบกลับโดยที่เราไม่รู้ตัว บางสิ่งบางอย่างเป็นไปโดยอารมณ์บางอย่าง ซึ่งอารมณ์ ความคิดเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้อยู่แล้ว แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้เพื่อให้มีทักษะ หรือว่าวิธีการที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดเหตุการณ์ หรือถูกกระตุ้น (trigger) ด้วยอะไรบางอย่างแล้วทำให้เรานึกถึง trauma นั้นได้
• ดังนั้น ถ้าเรามองว่าเขาผิดปกติก็จะมองเห็นแต่ในด้านที่ผิดปกติ อาจารย์จึงอยากแนะนำว่าเวลาที่พูดถึงเรื่องบาดแผลทางใจ (trauma) แทนที่เราจะถามว่า ‘คุณผิดปกติตรงไหน’ แต่ให้ลองตั้งคำถามดูใหม่ว่า ‘เกิดอะไรขึ้นกับคุณ’ เพื่อจะได้ทำความเข้าใจ แล้วนำพาเขาไปสู่กระบวนการเยียวยาได้
ความแตกต่างของอาการ PTSD กับ PTED
• PTSD (Post-Traumatic Stress Disorder) หรือ โรคเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ เป็นกลุ่มอากการที่เกิดหลังมี trauma อย่างที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น
• ส่วน PTED (Posttraumatic embitterment disorder) คำว่า embitterment เป็นความเจ็บช้ำที่ฝังลึกอยู่ในใจไม่รู้ลืม สิ่งที่มากระตุ้น PTED อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน แต่เป็นเหตุการณ์ในเชิงลบ เช่น ถูกไล่ออกจากงาน แล้วสิ่งนี้ไปเป็นตัวกระตุ้นให้รู้สึกไม่ดี รู้สึกว่ากำลังถูกสบประมาทจนทำให้รู้สึกว่า ‘ต้องเอาคืน’
Grief and Bereavement ความโศกเศร้าจากการสูญเสีย
• Grief and Bereavement หมายถึง ความโศกเศร้าจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก
• เวลาที่เราเกิดการสูญเสีย จะมีกระบวนการ 5 ระยะด้วยกัน เริ่มต้นที่การปฏิเสธ ซึ่งเกิดจากความเจ็บปวดที่เยอะมากจนเกินที่เราจะรับไหว ระยะที่สองคือมีอารมณ์โกรธตามมา อย่างที่บอกว่าเวลาที่เราสูญเสียใครสักคนหนึ่งสภาวะอารมณ์สามารถเกิดได้หลากหลาย และอารมณ์โกรธเป็นอารมณ์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่จริงๆ แล้วจะมีอารมณ์อื่นร่วมด้วย เช่นความผิดหวัง เสียใจ ระยะที่สามคือ การเจรจาต่อรอง เนื่องจากรู้สึกเมื่อไม่มีทางออก ไม่รู้จะไปทางไหน จึงหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยอาจจะไปขอร้องต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หลังจากอาจจะเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าด้วยก็ได้ ระยะที่สี่คือการเริ่มตระหนักรู้ถึงความสูญเสีย ก็จะมีความเศร้าโศกเสียใจ และท้ายที่สุดในระยะที่ห้า ถึงจะเข้าสู่ภาวะการยอมรับ
อนุญาตให้ตัวเองได้รับรู้ความรู้สึก และอย่าตัดสินตัวเอง
• ถ้าพูดถึงการสูญเสีย วิธีการที่เราควรจะรับมืออย่างแรกคือ อนุญาตให้ตัวเองได้รับรู้ความรู้สึกนั้น บางคนพยายามที่จะเลี่ยงไม่อยากรับรู้ ปฏิเสธว่าเราไม่ได้รับรู้ความรู้สึกนั้น แต่ว่าในภาวะสูญเสียอาจจะมีหลายอารมณ์มาก นอกจากเสียใจแล้วก็ยังมีอารมณ์โกรธ มีความสับสน ดังนั้น อยากให้อนุญาตให้ตัวเองได้รับรู้ความรู้สึกนั้น
• อย่าตัดสินตัวเอง ตอนนี้เราอาจจะโกรธจากเหตุการณ์ที่เราสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก เราก็โกรธกับระบบ โกรธกับอะไรก็แล้วแต่ บางคนอาจจะมีความคิดว่าไม่ได้ เราจะโกรธไม่ได้ ถ้าโกรธเราจะเป็นคนไม่ดี เราต้องไปรู้สึกแบบนี้ อาจารย์อยากจะบอกว่าอย่าพยายามตัดสินความรู้สึกตัวเอง เพราะเรามีสิทธิ์ที่จะรู้สึกแบบนั้น อนุญาตให้ตัวเองได้รับรู้อารมณ์นั้น เพื่อที่จะนำไปสู่กระบวนการเยียวยาได้
• เพราะการสูญเสียต้องใช้เวลาในการจะก้าวข้ามผ่านภาวะตรงนี้ไปได้ ในระหว่างนี้ก็อยากจะแนะนำว่าเราอาจต้องอยู่กับคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด อย่าพยายามแยกตัว ให้พยายามมีปฏิสัมพันธ์กับคนนั้นคนนี้ อย่างน้อยที่สุดเราจะได้รู้สึกว่ายังมีคนอื่นที่อยู่ในภาวะเดียวกับเรา เราอาจจะแชร์ข้อมูลหรือว่าพูดคุยกันได้สนับสนุนกันและกัน
วิธีการรับมือกับ 5 ระยะของการสูญเสีย
• ให้รับรู้ความรู้สึกตัวเอง ตระหนักรู้ว่าตัวเองกำลังมีความรู้สึกนี้อยู่ ไม่จำเป็นต้องปฏิเสธความรู้สึก อย่าตัดสินตัวเองเวลาตัวเองมีความรู้สึกแบบนี้
• หลังจากนั้นจะนำไปสู่การรับมือที่แตกต่างกันออกไป อย่างเช่น การเพิ่มอารมณ์ทางบวก หาวิธีจัดการกับอารมณ์ความโกรธ วิธีการที่ทำให้เราใจเย็นลง ไม่มีอารมณ์ว้าวุ่น อย่างกรณีของ trauma รู้สึกตื่นตระหนก ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ก็จะมีวิธีการที่ทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน ด้วยวิธี Butterfly Hug หรือ อ้อมกอดผีเสื้อ
• ทำการปลอบประโลมด้วย Butterfly Hug คือการทำมือให้เหมือนกับผีเสื้อแล้ววางลงบนหน้าอก ตบเบาๆ เป็นจังหวะทีละข้าง และจินตนาการถึงสถานที่ที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ให้ตัวเองรับรู้ถึงสัมผัสบรรยากาศในจินตนาการนั้น
• นอกจากนี้ยังมีเทคนิคการผ่อนคลายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการหายใจให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ด้วยการหายใจให้ถึงท้อง หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟบ หายใจเข้าทางจมูก ออกทางปาก แล้วก็จะมีวิธีการนับหายใจคือ หายใจเข้ารับ 4 แล้วก็ปล่อยออก 8 ถ้าใครอยากจะส่งเรื่องการหายใจก็อยากจะฝึกให้เป็นกิจวัตรอาจจะเริ่มสัก 5-6 ครั้งก่อนแล้วค่อยเพิ่มจำนวน หรืออาจจะเลือกทำตอนเช้าหรือก่อนนอนจนเป็นนิสัยที่เราสามารถดึงเอามาใช้ได้
• คุณอาจจะมี ‘coping box’ คือ กล่องที่มีทุกอย่างที่เรารู้สึกว่าสามารถเยียวยาจิตใจของเราได้ สมมุติว่าถ้าเราเกิดอารมณ์เจ็บปวดขึ้นมาเราจะวิ่งไปที่กล่องนี้แล้วในกล่องก็จะมีสิ่งที่ตอบสนองประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่างแรกก็คือสายตา ภาพที่เราเห็นแล้วรู้สึกสบายตา สบายใจ เสียงที่ฟังแล้วรู้สึกสบายใจ กลิ่นที่เราชอบ หรือการสัมผัสก็เป็นสิ่งที่เราสัมผัสแล้วรู้สึกสบายใจ เช่น ตุ๊กตา ของชิ้นโปรด หรือเอาเท้าไปสัมผัสพื้นหญ้าก็ได้
นักเรียนนักศึกษา ก็อาจเกิด trauma จากการเรียนออนไลน์ได้
• ถ้าย้อนกลับไปดูนิยามของ trauma คือการที่เรารู้สึกว่ามีอันตราย การถูกคุกคามต่อร่างกาย อารมณ์ สังคม ก็อาจสามารถตีความได้ว่าผลกระทบจากการเรียนออนไลน์อาจจะทำให้เกิด trauma กับหลายคนได้ เพราะว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
• บางคนก็ต้องกลับไปเรียนหนังสือที่บ้าน ซึ่งก็จะมีประเด็นของการอยู่ร่วมกัน หลายๆ คนต้องกลับมาอยู่ที่เดียวกัน และในบ้านก็ไม่ได้มีพื้นที่เพียงพอต่อความเป็นส่วนตัวของแต่ละคน จึงต้องหาวิธีการปรับตัวเข้าหากันจะทำอย่างไร เพื่อให้เราอยู่ร่วมกันได้
• อย่างที่เห็นได้ชัดเลยคือ ‘สังคม’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ หลายสิ่งหลายอย่างเขาเรียนรู้ผ่านการเล่น ไม่ว่าจะเป็นทักษะทางสังคมต่างๆ การรู้จักที่จะรอคอย พอสังคมในส่วนนี้หายไป สิ่งที่เด็กมีปฏิสัมพันธ์ตอนนี้คือออนไลน์ ไม่มีโอกาสให้เด็กจะได้ปฏิสัมพันธ์กันต่อหน้าเลย
• อาจารย์คิดว่าในส่วนนี้อาจจะเป็นผลกระทบ หรืออาจเป็นผลเสียในเรื่องของทักษะทางสังคม โอกาสที่เด็กจะได้เติบโตตามธรรมชาติของเขา ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ก็ทำให้ช่วงเวลา และการเรียนรู้จากสังคมหายไปจากชีวิตเขา โอกาสที่เขาจะได้พัฒนาการที่พัฒนาตามวัยในเชิงของสังคม เชิงอารมณ์ ก็จะขาดหายไป
• แต่เราก็ต้องยอมรับว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอาจารย์มองว่าในอนาคตสถานที่ที่เป็นมหาวิทยาลัยอาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะคุณสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ผ่านออนไลน์ แต่พอมีเหตุการณ์โควิด-19 เข้ามาก็คล้ายกับเป็นการบังคับให้เราต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่ท้าทายมากทำให้เราต้องลองผิดลองถูก
• เด็กบางคนที่เพิกเฉยต่อการเรียน ฉันไม่แคร์อะไรแล้ว อาจจะเป็นปฏิกิริยาของเขาที่มีต่อ trauma ที่เกิดขึ้น ซึ่งสิ่งที่ผู้สอนทำได้คือให้ใช้แนวทางของการดูแลบาดแผลทางใจ (Trauma Informed Care) เพื่อให้รู้ว่าที่มาที่ไปคืออะไร แล้วจะสามารถช่วยนักเรียนได้อย่างไร
• หลักการของการดูแลบาดแผลทางใจ อย่างแรกก็คือเรื่องของ การสร้างพลัง (Empowerment) ทำอย่างไรให้เรารู้สึกว่าได้เสริมพลังให้เขารู้สึกว่าเขามีทางเลือก อย่างเช่น การทำงานกลุ่มก็เปิดเซ็คชันย่อยให้เขาสามารถพูดคุยกับเพื่อนได้บ้าง หรือหาวิธีการใดก็ตามที่ทำให้เขามีส่วนร่วม
Trauma จากการเรียนออนไลน์บรรเทาได้ด้วยการปรับวิธีการสอน
• สังคมขณะนี้ก็มีหลายๆ อย่างที่ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย แล้วก็ไม่มั่นคงด้วย มีความไม่แน่นอนสูง และหลายสิ่งหลายอย่างเราก็ควบคุมไม่ได้ ทำให้เรารู้สึกว่าชีวิตเรากำลังแขวนอยู่กับสิ่งพวกนี้ที่ไม่รู้ว่าจะยาวนานอีกแค่ไหนก็จะอาจทำให้รู้สึกว่าเราไม่ปลอดภัย
• ในฐานะที่เป็นผู้สอน อาจารย์จะทำอย่างไรได้บ้างให้พวกเขารู้สึกว่าพื้นที่ของเราตรงนี้ปลอดภัย ให้พวกเขาสามารถแชร์ความคิดเห็นได้ อย่างในกรณีของอาจารย์เองก็อยากให้นักศึกษาได้พูดหรือว่ามีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน และคิดว่าการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างก็มาจากการตั้งคำถาม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แต่ผู้สอนต้องสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขาได้ ให้พวกเขากล้าพอที่จะแสดงออกแชร์ความคิดเห็นของตัวเอง
• ดังนั้น อาจารย์พยายามปรับตัวให้นักเรียนได้มีทางเลือก มีสิทธิ์มีเสียงในการที่จะตัดสินใจให้เขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง ให้เขารู้สึกว่าคลาสเรียนนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้
การปรับตัวของผู้ปกครองเพื่อป้องกัน trauma
• ผู้ปกครองบางท่านอาจจะมีข้อจำกัด บางคนอาจจะต้องทำงานของตัวเอง แล้วก็นั่งประกบลูก ซึ่งผู้ปกครองจะเครียดมากจากการบริหารจัดการหลายๆอย่าง ซึ่งสิ่งที่ผู้ปกครองพอจะทำได้บ้างในแต่ละวันคือ กำหนดให้เด็กมีกิจวัตรประจำวันเป็นของตัวเอง ตื่น เข้าเรียน ตามตารางเวลาของเขา ก็จะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถบริหารจัดการเวลาได้มากขึ้น
• อาจารย์จะบอกกับผู้ปกครองเสมอว่าเด็กไม่ได้มาพร้อมกับคู่มือ แต่ผู้ปกครองก็จะมีความคาดหวังกับตัวเอง เพราะทุกคนอยากจะเป็นผู้ปกครองที่ดี เพราะฉะนั้น ในภาวะอย่างนี้อยากให้ทุกคนใจดีกับตัวเอง
• อีกอย่างเราก็มีความคาดหวังกับตัวเองมาก อะไรผิดพลาดนิดหน่อยก็จะพาลโมโหตัวเอง อาจารย์ก็ไม่อยากให้ผู้ปกครองตัดสินตัวเอง ก็อยากให้รู้ว่าหลายๆ อย่างในตอนนี้ไม่ใช่ภาวะที่ปกติ เราก็ย่อมมีการทำพลาดบ้าง
• สำหรับพ่อแม่หลายๆ คนถ้าวันนี้เครียดมากจนเผลอขึ้นเสียงใส่ลูก ก็อยากจะให้คิดว่าพรุ่งนี้เราก็ยังสามารถเป็นพ่อแม่ที่ดีได้ เส้นทางเป็นพ่อแม่ที่ดีนั้นไม่มีวันสิ้นสุดเราสามารถเป็นได้ทุกวัน แล้วก็อยากให้ผู้ปกครองหลายๆ คนรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองด้วย เพราะว่าเราเองก็ต้องจัดการกับตัวเอง มีเวลาพักผ่อนบ้าง คือต้องมีการดูแลตัวเอง (Self Care) และการเมตตาต่อตนเอง (Self Compassion)
เพียงกล่าว ‘คำขอโทษ’ ให้เป็น ก็ลดความเสี่ยงที่จะเกิด ‘trauma’ ได้
• พ่อแม่บางคิดว่าการพูดขอโทษลูกตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่ยาก และไม่ใช่แค่เฉพาะบริบทของพ่อแม่ สำหรับหลายๆ คนการพูดขอโทษก็ยากเช่นกัน แต่อาจารย์เห็นด้วยมากๆ ที่พ่อแม่ควรจะเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูก ถ้าพ่อแม่กล้าที่จะขอโทษเมื่อตัวเองผิด ลูกๆ ก็จะได้เรียนรู้ในเรื่องนี้ด้วย เวลาที่อาจารย์ได้พูดคุยกับผู้ปกครองก็มักจะบอกเสมอว่าการพูดขอโทษ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ดี หรือไม่ได้เป็นผู้ปกครองที่ไม่ดี
• เพราะความจริงแล้ว การพูดขอโทษเป็นการพูดเพื่อที่ให้เราได้รักษาความสัมพันธ์ เนื่องจากเขาคนนั้นสำคัญกับเรา เราถึงอยากจะขอโทษเขา ให้เขาได้รู้ว่าเราเสียใจ เพราะฉะนั้น การขอโทษก็เป็นการสื่อสารเพื่อให้ลูกรู้ว่าลูกสำคัญกับพ่อแม่ เด็กเขาก็จะได้รู้สึกว่าเขาได้รับการเยียวยาเหมือนกัน
คนเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกว่า
• สิ่งหนึ่งที่อาจารย์เชื่อคือ คนเราเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับในเรื่องของทัศนคติ วิธีการ ผู้ปกครองก็อาจจะมีต้นแบบบุคลิกภาพของเขาเอง อาจารย์เชื่อว่าถ้าเราตั้งใจด้วยเจตนาที่ดีเราก็สามารถที่จะปรับพฤติกรรม หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราได้เพื่อประโยชน์ที่ดีกว่า หรือเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกว่า
• อย่างแรกเราต้องตระหนักรู้ในตัวเองก่อน ผู้ปกครองเองก็ต้องสังเกต รู้เท่าทันความคิด ความรู้สึกของตัวเอง ต้องยอมรับกับตัวเองว่านี่คือสิ่งที่เราเป็น ทั้งสิ่งที่เห็นและความรู้สึก บางครั้งเราจะปัดความรู้สึกของเราทิ้ง อย่างเช่น เราโกรธใครสักคนหนึ่งเพราะเขามาถามว่าโกรธเขาหรือเปล่า เราตอบกลับไปว่าไม่ได้โกรธ ไม่ได้คิดอะไร บางทีเราก็ไม่ยอมรับความรู้สึกที่เรามีกับตัวเอง
• โดยส่วนตัวเชื่อว่าคนเราจะเริ่มกระบวนการจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้นั้น คุณจะต้องยอมรับกับตัวเองก่อนว่าคุณมีอารมณ์ความรู้สึกนั้น ถ้าคุณไม่ยอมรับความรู้สึกนั้นตั้งแต่แรกว่าคุณเป็นอะไร ก็จะไม่สามารถจัดการกับอารมณ์นั้นได้
• สิ่งที่จะแนะนำให้กับผู้ปกครองก็คือ การจัดการอารมณ์ที่จะส่งผลต่อพฤติกรรม เวลาผู้ปกครองอารมณ์ฉุนเฉียว คับข้องใจ ก็จะเกิดพฤติกรรมที่เสียงดัง พาลตำหนิลูก ให้ผู้ปกครองลองสังเกตตัวเองอาจจะเริ่มสังเกตจากปฏิกิริยาในร่างกายก่อน ยังอารมณ์โกรธก็จะมีภาวะหัวใจเต้นแรง หน้าร้อนผ่าว ก็จะช่วยให้เราจะอารมณ์ตัวเองได้เร็วขึ้น เพราะเราเริ่มสังเกตเห็นแล้วเราก็จะมีวิธีจัดการ ก่อนที่จะแสดงอะไรออกไป หรือพูดอะไรออกไปแล้วจะเสียใจภายหลัง
เราทุกคนต้องดูแลตัวเองก่อนเราถึงจะไปดูแลบุคคลอื่นได้
• บางครั้งเราพูดถึงคอนเซปต์การใจดีกับตัวเอง ก็จะมีคนถามว่า นี่ก็เหมือนเป็นการเป็นข้อแก้ตัวให้กับตัวเองหรือเปล่า จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย แต่เป็นการจัดการตัวเองด้วยการยอมรับว่าเรานั้นผิดพลาด แต่อาจจะมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากตัวเราร่วมด้วย ไม่ได้เป็นการตัดสินตัวเอง หรือว่าตำหนิตัวเองจนเราอารมณ์ดิ่ง แต่เป็นการยอมรับว่าคนเรานั้นผิดพลาดกันได้ เวลาผิดพลาดก็ทำให้เราเชื่อมโยงกับมนุษยชาติได้หมายความว่ามนุษย์ทุกคนผิดพลาดได้อยู่แล้ว เป็นการตระหนักรู้กับตัวเองเพื่อไม่ให้มีความรู้สึกลบๆ เกิดขึ้น
• อาจารย์เชื่อว่าโดยส่วนตัวอารมณ์เป็นของเรา ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะรู้สึกอย่างที่เรารู้สึก แต่การแสดงออกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เราโกรธ โกรธได้แต่ไม่ใช่ว่าเอาความโกรธของตัวเองไปทำร้ายคนอื่น พอเรารับรู้อารมณ์นั้นแล้วเราต้องหาวิธีจัดการกับอารมณ์นั้นต่อ
• มีคำพูดหนึ่งที่อาจารย์ใช้กับตัวเองตลอดเวลาคือ ‘เราทุกคนต้องดูแลตัวเองก่อนเราถึงจะไปดูแลบุคคลอื่นได้’ Self Care ไม่ได้หมายความว่า Me First ไม่ได้หมายความว่าฉันต้องมาก่อน แต่ Self Care หมายความว่า Me Too คือฉันก็สำคัญด้วยเหมือนกัน การที่เราดูแลตัวเองนั่นก็หมายความว่าเราก็เป็นบุคคลสำคัญเหมือนกัน บุคคลสำคัญคนหนึ่งที่ต้องได้รับการดูแลด้วย เวลาดูแลตัวเองก็คือเรื่องของสุขภาพกาย สุขภาพใจ วิธีจัดการกับความเครียด มีขอบเขตบ้าง ถึงแม้ว่าจะยากลำบากก็ตาม อาจจะมีการจัดขอบเขตให้ตัวเอง รู้จักปฏิเสธบ้าง ไม่จำเป็นต้อง Say Yes ทุกอย่าง แต่ในขณะเดียวกันเราก็ต้องรู้ว่าจะขอความช่วยเหลือเมื่อไหร่ ก็ช่วยบรรเทาภาวะในขณะนี้ไปได้บ้าง
- การดูแลจิตวิญญาณก็เช่นกัน เพื่อช่วยให้หล่อเลี้ยงจิตใจของเราอย่างเช่น อาจจะอ่านหนังสือสร้างแรงบันดาลใจ ก็เป็นการเยียวยาตัวเองอย่างหนึ่งเหมือนกัน ซึ่ง Self Care เป็นเรื่องที่เราทำก่อนที่เราจะเกิดความเครียดในเชิงป้องกัน ซึ่งจะต่างกับการรับมือกับความเครียด เมื่อเรามีความเครียดแล้วค่อยมาหาวิธีการรับมือ แต่ Self Careเป็นสิ่งที่เราทำได้ทุกๆ วัน
เวลาไหนที่เราควรจะขอความช่วยเหลือจากจิตแพทย์
• เริ่มต้นจากการสังเกตตัวเองก่อน อาจจะมีสัญญาณต่างๆ ที่บ่งบอกว่าเราน่าจะต้องเข้าไปพบจิตแพทย์แล้ว โดยให้สังเกตว่าเวลามีเหตุการณ์ หรือมีอะไรที่มากระทบจิตใจ แล้วความรู้สึก หรือพฤติกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรา อย่างเช่น ตื่นไม่ไหว ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่สามารถทำงานได้ ไม่สามารถเข้าเรียนได้ หรือแม้กระทั่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับคนรอบตัวของเรา ก็จะเป็นจุดที่เราอาจจะต้องพิจารณาว่าจะต้องเข้าพบจิตแพทย์ไหม
ภาพ: Getty Images, Unsplash