คุณคิดว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่สาธารณะมากพอสำหรับ ‘การมีชีวิต’ ของคุณหรือเปล่า?
ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล เคยพูดไว้ในงาน TEDxChulalongkorn ในหัวข้อ ‘เมืองของเรา เรื่องของเรา’ ไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราใช้ชีวิตครึ่งหนึ่งนอกบ้าน แล้วครึ่งหนึ่งของชีวิตนอกบ้านคือชีวิตในพื้นที่สาธารณะ สมัยนี้เราเกิดที่โรงพยาบาล ขึ้นรถสาธารณะไปทำงาน เรียนหนังสือ ซื้อของที่ตลาด วิ่งออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ ป่วยก็ไปโรงพยาบาล ตายไปก็เผาที่เมรุร่วมกับคนอื่น หรือฝังในสุสานร่วมกับผีอื่นๆ”
ดังนั้น ‘พื้นที่สาธารณะ’ จึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ยิ่งคนเข้ามาอยู่ในเมืองมากเท่าไหร่ พื้นที่ที่คนต้อง ‘ใช้ร่วมกัน’ ก็ยิ่งสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ตลอดชีวิตของคนเมือง เราล้วนเกี่ยวข้องและเข้าไปใช้งานพื้นที่สาธารณะไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ทุกคนได้ใช้พื้นที่สาธารณะทั้งนั้น บทบาทของพื้นที่สาธารณะจึงไม่ใช่แค่สถานที่ หรือพื้นที่สีเขียวเพียงอย่างเดียว แต่รวมทุกพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน
adB อยากพาคุณไปดูตัวอย่างพื้นที่สาธารณะสุดเจ๋งจากทั่วโลก ว่ามีการออกแบบภายใต้โจทย์อะไร และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชาวเมืองนั้นๆ ได้อย่างไรบ้าง รวมถึงเป็น ‘ห้องรับแขก’ ด้วยนั้น มีที่ไหนบ้าง
Amsterdam, Netherlands
ดร. กชกร วรอาคม ภูมิสถาปนิกแห่งบริษัท Landprocess ได้ยกตัวอย่างที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมืองโมเดิร์นที่ยังคงอนุรักษ์คลองสายเก่าระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ให้เป็นทางสัญจรและขนส่งสินค้า แต่ในอดีต รัฐบาลก็เคยมีแผนที่จะถมคลองให้เป็นถนน เพราะไม่เห็นประโยชน์ของคลอง แต่นักวิชาการ ศิลปินและชาวเมืองต่อต้านอย่างหนัก พวกเขามองว่าคลองนี้เป็นเอกลักษณ์ของเมือง ทั้งยังสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวทางเรือเป็นอันดับหนึ่งของเมือง
“เพราะทุกคนหันหน้าเข้าหาคลอง ต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ คน เมืองและทุกสิ่งทุกอย่างร่วมกัน ท้ายสุดเมืองก็สวย ตึกรามบ้านช่องโบราณสองฝั่งคลองก็ยังคงอยู่ เป็นที่น่าเสียดายที่ในกรุงเทพฯ ไม่เก็บคลอง และไม่เห็นความสำคัญ เราหันหลังให้คลอง เปลี่ยนคลองให้เป็นถนน คิดว่าคลองคือท่อระบายน้ำ หลงลืมไปว่า คลองเป็นแหล่งชีวิตที่มีความสำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่ เราจึงคิดว่า อัมสเตอร์ดัม เป็นตัวอย่างของพื้นที่สาธารณะที่มีคลองเป็นพื้นฐานของชีวิตคนและเมืองได้ดี”
Cheonggyecheon Stream : Seoul, South Korea
อีกมุมหนึ่งของโลกอย่างโซล ประเทศเกาหลีใต้ ในอดีตก็เคยเจอปัญหาเรื่องคลองแบบเดียวกัน โดยเฉพาะชองกเยชอน คลองโบราณอายุกว่า 600 ปี ที่มีระยะทางเกือบ 6 กิโลเมตร ในอดีต ที่นี่เคยถูกถมทำเป็นถนนและทางด่วน เกิดตึกสูงมากมาย จนคลองเน่าเสียและเต็มไปด้วยชุมชนแออัด จนเมื่อปี 2003 ได้มีโครงการฟื้นฟูคลองอีกครั้ง เป้าหมายคือเปลี่ยนให้เป็นคลองที่มีลำธารไหลยาว และฟื้นฟูธรรมชาติสองฝั่งคลอง ในขณะเดียวกันยังปรับภูมิทัศน์ให้สวยงาม เกิดเป็น Cheonggye Plaza ที่มีทางเดินเลียบคลอง และสะพานกว่า 22 แห่ง พร้อมให้ชาวเกาหลีในเมืองจำนวนมากได้ใช้ประโยชน์อย่างอิสระตั้งแต่ปี 2005 จนถึงทุกวันนี้
Time Square: New York, US
นอกจากนี้การพัฒนาเมืองยังก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ชาวเมืองได้ใช้พื้นที่อย่างอิสระ ผ่านวิธีการออกแบบที่สร้างสรรค์และคิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ผู้คนหมู่มากอย่างไทม์สแควร์ นิวยอร์กซิตี
ตอนหนึ่งของบทสัมภาษณ์ รองศาสตราจารย์ ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากเว็บไซต์ The Urbanis เขาเล่าฟังว่า “Michael Bloomberg มหาเศรษฐีเจ้าของสำนักข่าว Bloomberg (ปัจจุบันเป็นผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในปีนี้) กระซิบบอก Janette Sadik-Khan อดีตกรรมาธิการของ New York City Department of Transportation เมื่อเข้ามารับตำแหน่งว่า ‘อย่าทำพังนะ เพราะมันสเกลใหญ่มาก’ แต่เธอก็ทำได้ ซึ่งเธอขอแค่กระป๋องสีกับแปรงสำหรับการเปลี่ยนนิวยอร์กให้ดีขึ้น ด้วยการทาสีบริเวณที่ว่าง และจัดให้เป็นที่จอดรถ ส่งเสริมให้ใช้จักรยาน พร้อมสั่งปิดถนน เพราะบริเวณไทม์สแคว์ รถหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ตอนนั้นมีกระแสต่อต้านจากคนเมืองก็จริง แต่ท้ายสุดก็ได้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ให้ทุกคนเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ และเมืองก็ดีขึ้นจริงๆ”
The High Line : Manhattan , US
ส่วนที่แมนฮัตตันก็มีพื้นที่สาธารณะที่เกิดจากการพัฒนาเมือง ด้วยวิธีการนำกลับมาใช้ใหม่ อย่างสวนสาธารณะลอยฟ้า (Elevated) ที่มีความยาว 2.33 กิโลเมตร ดัดแปลงมาจากทางรถไฟเก่า (The New York Central Railroad Line) ซึ่งตั้งอยู่ทาง Lower East Side ของแมนฮัตตัน ในอดีตทางรถไฟนี้ ใช้เป็นเส้นทางส่งอาหารสดมายังย่านอุตสาหกรรมและโรงงานที่ใหญ่ที่สุดในแมนฮัตตัน แต่ก็เป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเช่นกัน ต่อมารัฐบาลเมืองนิวยอร์กจึงได้มีโครงการปรับปรุงพื้นที่และยกทางรถไฟขึ้นเพื่อความปลอดภัย พร้อมตั้งชื่อว่า The High Line แต่แล้วมันก็ถูกทิ้งร้างนานกว่า 20 ปี ก่อนจะมีกลุ่มคนชี้ให้รัฐบาลเห็นว่า ควรปรับเป็นพื้นที่สาธารณะ กระทั้งปี 2006 สวนธารณะลอยฟ้าก็ได้เริ่มสร้าง และเปิดใช้ในปี 2009 เป็นต้นมา
Oil Tank Culture Park: Seoul, South Korea
เมื่อพูดถึงการนำโครงสร้างเดิมกลับมาทำให้ใหม่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ที่โซลเองก็มีสถานที่ที่น่าสนใจอย่าง Oil Tank Culture Park ที่มีขนาดใหญ่ 140,022 ตารางเมตร เทียบเท่า 22 สนามฟุตบอล เดิมทีเป็นคลังเก็บน้ำมันสำรอง และปิดตัวในปี 2000 ด้วยเหตุผลทางด้านความปลอดภัยของประชาชน ก่อนจะถูกทิ้งร้างเป็นเวลาเกือบ 10 ปี ต่อมาทาง Seoul Metropolitan Government ได้ปรับปรุงและพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็น Culture Park ที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญและประชาชนทั่วไป ช่วยกันวางแผนและเสนอไอเดีย เพื่อให้ทุกคนใช้งานตามที่ต้องการได้จริงๆ กระทั่งปี 2013 ก็เริ่มปรับกระบวนการรีโนเวทและจัดการปรับพื้นที่ อีก 4 ปีต่อมาจึงเปิดอย่างเป็นทางการ สามารถดึงดูดผู้คนได้มากมาย
Underground Parking Katwijk aan Zee : KATWIJK, THE NETHERLANDS
อีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะโฉมใหม่ที่เปลี่ยนความเข้าใจไปอย่างสิ้นเชิง กับโรงจอดรถใต้ดิน Katwijk aan Zee ที่เมืองชายฝั่งของจังหวัดเซาท์ฮอลแลนด์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่นี่เป็นส่วนหนึ่งโครงการปกป้องแนวชายฝั่งบนพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นเนินทรายที่มนุษย์สร้างขึ้น และเพื่อรักษาภูมิทัศน์โดยรอบ ทีมออกแบบจึงซ่อนโรงจอดรถทั้ง 633 แห่งไว้ใต้เนินทรายตลอดแนวชายฝั่ง ส่วนภายในเนินจะมีทางเดิน สามารถปั่นจักรยานได้ และมีที่นั่งให้กินลมชมวิวทะเล หรือวิวท้องถนน Katwijk ที่มีความงดงาม ทำให้ที่นี่โดดเด่น จนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำเมือง เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้เข้ามาชมได้เป็นอย่างดี
Pit Terrace: Ichikawamisato, Japan
ร้านตัดผมแห่งหนึ่งในเมืองอิชิกาวะมิซาโตะ ประเทศญี่ปุ่น เขาพยายามแก้ปัญหาเรื่องปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนที่นับวันจะน้อยลงเรื่อยๆ ด้วยการสร้างพื้นที่สาธารณะบนพื้นที่ส่วนหนึ่งของลานจอดรถ สร้างเป็นระเบียงไม้สีขาวไม่กี่ตารางเมตร ทำหน้าที่เป็นทั้งม้านั่ง โต๊ะ และสวนเล็กๆ เพื่อให้เด็กๆ และชาวเมืองมาร่วมปลูกต้นไม้ในวันเปิดเวิร์กช็อป และแน่นอนพื้นที่นี้เปิดให้ทุกคนได้เข้ามาใช้ และนับตั้งแต่การก่อสร้าง ที่นี่ได้กระตุ้นชาวเมืองให้หันมาติดตั้งพื้นที่กึ่งสาธารณะในพื้นที่บริเวณลานจอดรถของหน้าบ้านตัวเอง จนทุกวันนี้ที่นี่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวเมืองนี้ไปโดยปริยาย
Open Air Library , MAGDEBURG, GERMANY
เปลี่ยนสถานที่รกร้างให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะในรูปแบบของห้องสมุดกลางแจ้ง ที่ที่ผู้คนในชุมชนของเมือง Magdeburg ประเทศเยอรมนีร่วมมือกับ KARO Architecten เนรมิตขึ้นมาตั้งแต่ปี 2005 อาคารแห่งนี้สร้างขึ้นจากวัสดุรีไซเคิลที่ได้จากการนำผนังของโกดังเก่าที่สร้างตั้งแต่ปี 1966 มาประกอบขึ้นใหม่ โดยการนำมาวางเรียงคล้ายแนวกำแพง และเปิดพื้นที่ส่วนใหญ่ให้กลายเป็นลานสาธารณะที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้ตลอดเวลา มีหนังสือดีๆ กว่าสองหมื่นเล่มให้อ่าน ทุกคนสามารถเข้ามาใช้บริการได้โดยไม่ต้องเจอกับบรรณารักษ์ ทุกอย่างเป็นกันเองและมีชีวิตชีวา ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ที่นี่ก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่เห็นประโยชน์จากพื้นที่ผืนนี้จนถึงทุกวันนี้
OMOKEN Park: KUMAMOTO, JAPAN
พื้นที่สาธารณะในรูปแบบของอาคารต้นทุนต่ำขนาดเล็กเพียง 100 ตารางเมตรระหว่างซอกตึก ที่นี่เป็นโครงการฟื้นชีวิตตึกที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในจังหวัดคุมาโมโตะเมื่อปี 2016 วัตถุประสงค์ของสถาปนิกไม่ใช่รายได้จากค่าเช่าพื้นที่ แต่คือการมีปฏิสัมพันธ์กันของผู้คนในท้องถิ่น จึงทำให้ที่นี่มีพื้นที่สาธารณะบริเวณลานอเนกประสงค์ชั้นดาดฟ้า เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าร้านค้าใกล้เคียง รวมทั้งลูกค้าต่างๆ ได้มาพบปะเข้ากลุ่มทำกิจกรรมท้องถิ่นร่วมกัน ส่วนด้านหน้าคือร้านกาแฟที่เปิดขึ้นเพื่อเชิญชวนให้ผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่และเพื่อให้มีรายได้มาดูแลพื้นที่แห่งนี้ต่อไป
SKATEPARK: MOSCOW, RUSSIA
ทางรัฐบาลของกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย มีนโยบายฟื้นฟูพื้นที่ใต้ทางยกระดับบริเวณ Garden Ring หรือถนนวงแหวบรอบๆ ใจกลางกรุงมอสโกให้กลายเป็นลานสำหรับเล่นสเก็ตบอร์ดสาธารณะ เพราะเดิมที่นี่เคยเป็นที่จอดรถ มีที่ทำเลดี ใกล้กับสวนสาธารณะ สถานีรถไฟใต้ดิน Park Kultury และสะพานลอย Krymsky ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางเดินเท้ เพื่อไปยังสถานที่ต่างๆ ได้หลายเส้นทาง ดังนั้น ทาง Strelka KB, สถาปนิก STRELKA และ Snøhetta จึงได้ร่วมมือกับสหพันธ์สเก็ตบอร์ด และ Tsekh บริษัทผลิตและทดสอบอุปกรณ์สำหรับ skateparks ออกแบบและสร้างที่นี่ขึ้น พร้อมสร้างตาข่ายนิรภัยกั้นทั้งสองด้านเพื่อความปลอดภัย ปัจจุบันที่นี่ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตหนุ่มสาวชาวสเก็ตบอร์ดประจำกรุงมอสโกไปโดยปริยาย