ETC.

ย้อนฟัง 10 เพลงแห่งการเติบโตของ ETC. จากเด็กหนุ่มภาคเหนือสู่ศิลปินแถวหน้าของประเทศไทย

นับเป็นเวลากว่า 16 ปีแล้ว ที่ ETC. วงดนตรีที่เกิดจากนักศึกษาวิชาดนตรีจากเชียงใหม่ อย่าง ‘หนึ่ง’ – อภิวัฒน์ พงษ์วาท (ร้องนำ), ‘โซ่’ – แมนลักษณ์ ทุมกานนท์ (คีย์บอร์ด), ‘บี’ – โสตถินันท์ ไชยลังการณ์ (คีย์บอร์ด), ‘มิ้นท์’ – ปรชญา รามโยธิน (เบส) และ ‘โอเล่’ – ไพโรจน์ ธรรมรส (กีตาร์) ได้เข้ามาวาดลวดลายชั้นเชิงทางดนตรีในกรุงเทพฯ ผลิตเพลงฮิตมากมายที่ทำให้พวกเขาได้มีคอนเสิร์ตใหญ่ เป็นที่ยอมรับทั้งในหมู่นักดนตรี นักฟังเพลงทั่วประเทศ และยังคงยืนหยัดสร้างสรรค์ผลงานอย่างสม่ำเสมอมาจนถึงปัจจุบัน

        ล่าสุด 5 หนุ่ม ETC. ออกเดินทางก้าวใหม่ กับการย้ายมาอยู่ค่าย Muzik Move Records พร้อมปล่อยซิงเกิลรวดสามเพลง ทั้ง กอดได้ไหม, Lies และ เข้าข้างตัวเอง (อีกแล้ว) ที่พวกเขาบอกว่าเป็นเสมือน ‘จุดที่เป็นทิศทางใหม่ๆ ให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจมากขึ้นในการทำเพลง’

        แน่นอนว่าการทำเพลงในวงการดนตรีมาอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลายาวนานไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับยุคปัจจุบันที่แวดวงดนตรีมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก น่าสนใจว่าในแต่ละยุคพวกเขามีเส้นทางเดินอย่างไรก่อนจะมาถึงวันนี้ adB จึงขอพาทุกคนย้อนกลับไปฟังเรื่องราวจากอดีตจนถึงปัจจุบันผ่าน 10 บทเพลงของวง ETC. ที่ไม่เพียงแต่จะทำให้ได้รู้จักพวกเขามากขึ้น แต่จะทำให้บทเพลงไพเราะยิ่งขึ้นทุกครั้งที่ได้กลับมาฟัง

 

ETC.

1. เจ้าชายนิทรา | อัลบั้ม: etc. (2547)

        คนส่วนใหญ่จะรู้จักเราจากเพลง เจ้าชายนิทรา แต่ความจริงแล้วเพลงนี้เกือบจะไม่อยู่ในอัลบั้มแรกด้วยซ้ำ เพลงนี้คนแต่งคือคุณปิง (จิรวัฒน์ ตันตรานนท์) เป็นสมาชิกคนที่ 6 ของ ETC. ที่ไม่ค่อยออกสื่อเท่าไหร่ ตอนแรกเพลงนี้เป็นเพลงจังหวะมีเดียม ประมาณว่าดีดกีตาร์ในวงเหล้า (หัวเราะ) แต่พอคุณมิ้นท์มือเบสของเราได้ฟัง ก็แนะนำว่าด้วยเนื้อหาเพลงนี้มันเศร้า ให้ลองทำจังหวะช้าลง ปรากฏว่าทำแล้วเข้าท่าดี เลยถูกใส่เป็นเพลงสุดท้ายในอัลบั้มแรก แต่ปรากฏว่ากลายเป็นเพลงที่คนรู้จักมากที่สุด ด้วยความที่เป็นเพลงที่ลงตัวด้วยเนื้อเรื่องและทำนอง ทำนองฟังง่ายเข้าถึงคนได้เยอะ เนื้อหาก็เปรียบเปรยได้ดี เป็นเหมือนคนที่อยากจะหลับตลอดไป เพื่อที่จะมีความสุขอยู่แค่ในฝัน

 

2. โปรดอย่าเคืองผมเลย | อัลบั้ม: etc. (2547)

        โปรดอย่าเคืองผมเลย เป็นแทร็กแรกที่เปิดตัวพวกเราอีทีซี แต่งโดยคุณแม็ค (Acappella7) กับคุณปิง ซึ่งเป็นเพื่อนซี้ที่เรียนด้วยกันมา สองคนนี้เรียกว่าเป็นแขนเป็นขาของอีทีซีเลย ตอนนั้นเรามั่นใจกันมากว่าเพลงนี้โคตรเท่ เพราะว่ามีคอร์ด profession ที่เท่ มีเปลี่ยนคีย์อยู่ในเพลง มีความเป็นแจ๊ซ มีความเป็นเพลงสวิง เป็น shuffle รวมถึงมิวสิคัล ซึ่งเรารู้สึกว่าสไตล์มันเท่เหลือเกิน แต่ว่าด้วยเนื้อหาอาจจะไม่ได้เชื่อมโยงกับคนฟังมาก แล้วเนื้อร้องจะมีท่อนที่ร้องซ้ำๆ กันเยอะ ญาติๆ ที่อยู่บ้านนอกก็จะพูดกันว่า ‘หลานแกทำไมออกอัลบั้มที่ร้องคำเดียวกันซ้ำไปซ้ำมา’ (หัวเราะ) แต่ตอนนั้นพวกเราคิดกันแค่ว่าเพลงมันเท่ อัลบั้มแรกเราเน้นโชว์ดนตรี ส่วนเนื้อร้องถ้าร้องเข้าปากหน่อย เราก็ปล่อยแล้ว (หัวเราะ) ดังนั้น ช่วงอัลบั้มแรกเป็นช่วงที่พวกเรายังเป็นเด็กน้อยเพิ่งเข้าวงการ ยังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ทำเรียกว่าถูกหรือไม่ถูก เพราะไม่เคยผ่านบทเรียนอะไรมา ค่อนข้างรู้สึกว่าสุดปัญญาที่ทำได้วันนั้น ดีที่สุดเท่าที่อายุ 25 จะทำได้ 

 

3. เปลี่ยน | อัลบั้ม: เปลี่ยน (2550)

        ถ้าอัลบั้มแรกคือช่วงค้นหาตัวเอง อัลบั้มถัดมาก็จะเป็นช่วงที่พบเจอตัวเอง พอพบเจอตัวเองเสร็จก็เป็นช่วงต่อยอดจากความเป็นตัวเอง อัลบั้มแรกของอีทีซีไม่ได้ประสบความสำเร็จ แต่พอมาอัลบั้มที่สองที่ชื่อ เปลี่ยน มันเป็นอัลบั้มที่เปลี่ยนชีวิตของพวกเราไปตลอดกาลตามชื่ออัลบั้มเลย ช่วงนั้นอีทีซีย้ายจาก Grammy มาอยู่ KPN ที่ให้โอกาสพวกเราทำอัลบั้ม พวกเราก็ลุยทำเต็มที่เลย ในที่สุดอีทีซีก็ปล่อยซิงเกิลแรกของอัลบั้มที่สองออกมา คือเพลง เปลี่ยน ซึ่งมีเรื่องเล่านิดหนึ่ง จริงๆ แล้วเพลงนี้เราทำตั้งแต่สมัยอยู่ที่แกรมมี่ แต่เราต้องแก้บ่อยมาก แก้เนื้อ แก้เมโลดี้ พวกเราเข้าประชุม 6 เดือนกับเพลงเดียว ในขณะที่งานจ้างเราก็ถดถอยน้อยลงเรื่อยๆ เพราะอัลบั้มแรกดังอยู่เพลงเดียวคือ เจ้าชายนิทรา จนสุดท้ายเราก็ไปยกเลิกสัญญา และมาอยู่ KPN อย่างที่เล่าไป ปรากฏว่าพอมาที่ KPN เราได้กลับไปใช้เพลง เปลี่ยน เวอร์ชันแรกที่ไม่ได้แก้อะไร เนื้อร้อง ทำนอง เหมือนเดิมเป๊ะ (หัวเราะ) พอปล่อยออกมาคนก็ชอบมากๆ และเพลงนี้ก็ทำให้วงมีงานจ้างขึ้นมา พวกเราดีใจกันมาก พอนึกย้อนกลับไปก็รู้สึกว่าถูกแล้วที่เราได้มีโอกาสเปลี่ยน

 

4. เธอคือใคร | อัลบั้ม: เปลี่ยน (2550)

        เธอคือใคร คือซิงเกิลที่ต่อมาจากเพลง เปลี่ยน ซึ่งเป็นช่วงที่วงมีโมเมนตัมที่ดีมาก เพราะพอเพลง เปลี่ยน เริ่มมาดี ปรากฏว่าสำเนียงแบบที่เราลองทำในชุดที่สองมันเวิร์ก เพราะฉะนั้น พอเพลง เปลี่ยน เวิร์ก เมื่อ เธอคือใคร ออกมาก็เลยเวิร์กไปด้วย เหมือนสองเพลงนี้เป็นพี่น้องกัน เพลง เธอคือใคร เป็นเพลงที่เกี่ยวกับการตั้งคำถามสุดคลาสสิกว่า เธอคือใครเมื่อไหร่จะเจอสักที แล้วเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบด้วยนะ ปรากฏว่าคนชอบกันมาก แทบจะมากกว่าเพลง เปลี่ยน ด้วยซ้ำ เพราะดนตรีง่ายกว่า เล่นคอร์ด เล่นสตริง คุมไป ง่ายๆ เลย รายละเอียดดนตรีไม่ซับซ้อน อยู่ที่เนื้อร้องและทำนองล้วนๆ ส่วนในพาร์ตร้องก็มีการร้องแบบสไตล์ R&B ผสม มีการใช้เสียงหลบเพิ่มเข้ามา เพลงนี้ติดชาร์ตอันดับหนึ่งทุกที่เลยจนเราตกใจ แถมได้รางวัล Single Hit of the Year ด้วย  

 

5. อย่าถาม | อัลบั้ม: Bring It Back (2551)

        เพลง อย่าถาม อยู่ในอัลบั้มที่สาม ซึ่งเป็นอัลบั้มที่เราค่อนข้างกดดัน เพราะว่าอัลบั้มสองเราประสบความสำเร็จมาก แต่พอปล่อยอัลบั้มสาม ปรากฏว่าได้รางวัลเยอะแยะมากมาย และกลายเป็นอัลบั้มที่น่าจะดีที่สุดของพวกเราจนถึง ณ ตอนนี้เลย เพลงนี้พวกเรานำความรู้และประสบการณ์จากที่ทำมาทั้งสองอัลบั้มมาใช้ มีการใส่คอร์ดที่มีกลิ่นอายของเพลงเกาหลี ปรากฏว่าพอฟังแล้วทุกคนก็ชอบ เลยคิดว่าน่าจะเป็นเพลงเปิดตัวของอัลบั้มที่สาม พอปล่อยไปแล้วก็ขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่งหลายที่ แถมได้กลิ่นอายใหม่ๆ ของอีทีซีเพิ่มเข้ามาอีก อีกอย่างคือความลงตัวของภาพและเสียง คือเพลงมีความบัลลาดในสไตล์อีทีซี บวกกับตัวเอ็มวีที่ได้คุณโบว์มาแสดง ซึ่งตรงกับสถานการณ์จริงของเขาในตอนนั้น คนเลยรู้สึกเชื่อมโยง อัลบั้มนี้ถือเป็นอัลบั้มที่เราทำเร็วที่สุด คือประมาณ 3 เดือน เพราะปกติเราจะทำกันเป็นปี 

 

6. สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าหัวใจ | อัลบั้ม: Bring It Back (2551)

        เพลงนี้พวกเรามีคอนเซ็ปต์ว่าอยากได้เพลงที่อบอุ่นๆ จังหวะปานกลาง ไว้เป็นเพลงสำหรับงานแต่งงาน เพราะอีทีซีไปเล่นงานแต่งงานเยอะมาก เราก็เลยรู้สึกว่าอยากมีเพลงสักเพลงที่เป็นของพวกเราเองที่ใช้ในงานแต่งงาน ตอนนั้นอีทีซีเลยตัดสินใจขับรถจากกรุงเทพฯ ไปแต่งเพลงที่พัทยา จองโรงแรมชั้นบนสุด ดาดฟ้า วิวทะเลสวยงามมาก พักกันหนึ่งคืนก็ได้มาเป็นทำนองและเนื้อคร่าวๆ พอกลับมากรุงเทพฯ ก็ทำดนตรีกันต่อ ส่วนเนื้อเพลง เนื่องจากตอนนั้นพวกเราทำอัลบั้ม จึงมีเพลงที่ทำกันเป็นสิบ เราจึงส่งต่อให้นักเขียนเพลงระดับตำนานอีกท่านหนึ่งคือ คุณสุรักษ์ สุขเสวี เป็นปรมาจารย์เขียนเพลงมาตั้งแต่ยุค พี่เบิร์ด ธงไชย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังเขียนเพลงชั้นเยี่ยมประดับประเทศอยู่ พี่รักษ์ก็รับไอเดียทั้งหมดไปต่อยอดจนจบ เราคุยกับแกว่าเป็นเพลงมู้ดสมหวังกับชีวิต แกเลยมองไปถึงเรื่องของการแต่งงาน ซึ่งตรงกับไอเดียที่เราอยากได้ตั้งแต่แรกพอดี

 

7. นางฟ้า | อัลบั้ม: Bring It Back (2551)

        มีช่วงปีใหม่ปีหนึ่งที่พวกเราไปดู ‘พี่โจ้’ – โจอี้ บอย เล่นคอนเสิร์ต พอเล่นเสร็จก็ชวนกันไปต่อที่ห้องพี่โจ้ ตอนนั้นอีทีซีมีเดโมเพลง นางฟ้า ซึ่งมีดนตรีกับทำนองคร่าวๆ แล้ว ในระหว่างปาร์ตี้กันอยู่ก็เลยเปิดเดโมนี้ให้พี่โจ้ฟัง พอฟังแกก็ฮัมเป็นท่อนฮุกขึ้นมาว่า ‘จะควงเธอไปที่ใดใครคงอิจฉา’ และกลายเป็นท่อนฮุกของเพลงนี้ขึ้นมา ที่สำคัญพี่โจ้ก็แร็ปให้ด้วย อีทีซีเลยได้เพลงคลาสสิกมาหนึ่งเพลงที่มีทั้งท่องร้องและท่อนแร็ป ถือเป็นเพลงที่สนุกมากๆ เล่นคอนเสิร์ตทีไรก็สนุกทุกครั้ง 

        เพลง นางฟ้า มีกิมมิกที่น่าสนใจ เช่น ท่อนบีตบอกซ์ตอนเริ่ม หรือดนตรีตอนขึ้นเพลงที่เหมือนเพลงมาร์ชซึ่งมาจากเพลงปิดสถานีโทรทัศน์สมัยก่อน คือสมัยก่อนโทรทัศน์ไม่ได้เปิด 24 ชั่วโมง แต่จะปิดสถานีตอน 4-5 ทุ่ม และมีทำนองดนตรีนี้เป็นเพลงปิดสถานี ดังนั้น เราจะได้ยินเสียงเพลงนี้ก่อนนอน มันเป็นความทรงจำตอนเด็ก เราเลยเอาทำนองนี้มาใช้ 

 

8. ใครนิยาม | อัลบั้ม: PUSH (2556)

        เราเคยได้ยินนิยามคำว่ารักว่า ถ้าคนที่เรารักมีความสุขเราก็จะมีความสุขไปด้วย แต่เราลองมองในมุมคนที่ต้องเสียคนรักให้กับคนอื่น คือเห็นแฟนเราไปรักกับคนที่คู่ควรกว่าเรา แล้วเราต้องปล่อยเขาไป เราเลยรู้สึกว่ามันเจ็บ เรายอมได้จริงๆ เหรอ นิยามรักที่ว่าเราจะมีความสุขเมื่อเห็นเขามีความสุข มันจริงเหรอ พอมีเนื้อเรื่องเราก็ไปเล่าให้คุณฟองเบียร์ฟัง เขาก็ไปเขียนต่อเป็นเพลง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เราได้ทำงานร่วมกับคุณฟองเบียร์ พอเพลงเสร็จและปล่อยออกไปมันพีกมาก ดังจนติดชาร์ตอันดับหนึ่งทั่วประเทศอยู่นานมาก เป็นเพลงที่ทำให้เราได้จัดคอนเสิร์ตใหญ่ปลายปีที่ชื่อ Back to Basic ถือเป็นอีกเพลงที่เปลี่ยนชีวิตพวกเราอีกหนึ่งรอบ เพราะว่าอยู่ค่ายใหม่ด้วย 

 

9. สักที (2559)

        เพลง สักที เป็นเพลงที่มีการทดลองผสมผสานแนวของอีทีซีกับแนว EDM มีท่อนดร็อป มีท่อนพุ่งๆ เนื้อหาของเพลงก็เป็นเนื้อหาที่ไม่ค่อยได้เขียน คือเกี่ยวกับการตามหาความฝัน ตอนนั้นเราได้ไปเจออาจารย์เฉลิมชัย และขอให้เขามาพูดช่วงท่อนกลางของเพลง ตอนแรกคิดว่าจะเป็นแร็ป แต่เรารู้สึกว่าอยากได้อะไรที่คาดไม่ถึง เราก็เอาเครื่องอัดบันทึกเสียงให้แกพูดแบบสอนชีวิต แล้วก็บิลด์แกขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายก็มีคำว่า ‘ไอ้เหี้ย’ อยู่ในเพลงนี้ด้วย (หัวเราะ) ถึงแม้จะเป็นเพลงที่ไม่ได้ประสบความสำเร็จมาก ตอนที่ทำก็รู้สึกได้ว่ามันเป็นเพลงที่มีคอนเทนต์ที่มีความหมายดี แล้วก็เป็นเพลงที่เราได้ลองทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ด้วย เป็นอีกหนึ่งเพลงที่ทรงพลังมาก อย่างน้อยก็เอาไว้ประดับในหิ้งของอีทีซีว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีอาจารย์เฉลิมชัยมาอยู่ในเพลง

 

10. เข้าข้างตัวเอง(อีกแล้ว) (2563)

        เพลงนี้เป็นเพลงน้องใหม่สุดๆ ความจริงต้องย้อนกลับไปตอนปีที่แล้ว (2562) อีทีซีได้ย้ายมาอยู่บ้านใหม่อีกรอบหนึ่งคือมิวสิคมูฟ (Muzik Move) ก่อนหน้านั้นต้องบอกว่าเป็นช่วงที่อีทีซีต้องปรับตัว ทั้งการบาลานซ์ชีวิต บาลานซ์การเป็นศิลปิน และการหาจุดลงตัวระหว่างดนตรีของเราว่าจะก้าวไปทางไหน จะใหม่หรือจะเก่า พอย้ายมาอยู่มิวสิคมูฟเรคคอร์ดสก็ได้เจอทีมงานใหม่ๆ เก่งๆ ทุกฝ่ายที่มาช่วยต่อยอดไอเดียของเราให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้นที่จะทำเพลง และมั่นใจมากขึ้นที่จะทำเพลงออกมาในสไตล์ของเรา

        เพลงนี้เราได้น้องแอ้ม เป็นนักแต่งเพลงที่เก่งมาก ทำเพลงฮิตมากมายในยุคนี้มาช่วยเขียน พอได้เนื้อหา เนื้อร้อง และทำนองมาก็รู้สึกว่าเพลงนี้น่าสนใจมาก เป็นมุมมองมี่เราไม่เคยทำ เป็นการพูดกับตัวเองว่าเราหยุดสักทีได้ไหมในการเข้าข้างตัวเอง และคอนเทนต์ไม่ได้คาดว่าจะต้องเป็นเพลงสำหรับวัยรุ่น หรือสำหรับคนอายุเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องที่กว้าง แล้วแต่ว่าใครจะไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ตัวเอง พอเราได้เพลงมาก็รู้สึกว่าเพลงนี้พิเศษมากๆ เพลงนี้เป็นครั้งแรกๆ ที่เราเริ่มคิดถึง sound design มีการใช้แอมเบียนซ์ หรือสร้างบรรยากาศเพิ่มให้มันส่งพลังไปถึงเนื้อหาของเพลงนี้ด้วย ทำให้เรารู้สึกว่าเพลงกลมกล่อม และเริ่มเจอจุดที่เป็นทิศทางใหม่ๆ ให้เราก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นใจมากขึ้น