พัทลุง

พัทลุง | แหลงใต้จ่ายตลาด สัมผัสธรรมชาติเขาป่านาเล ค้นพบเสน่ห์เมืองลุงอย่างแรง

คุณเคยมาเที่ยว ‘พัทลุง’ แล้วหรือยัง? ถ้ายัง ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราขอแนะนำให้คุณรู้จักพัทลุงในมุมมองใหม่ ซึ่งจะพิสูจน์ให้เห็นว่า พัทลุงเป็นจังหวัดที่โดดเด่นและมีเอกลักษณ์สูงมาก (ขอยืนยันว่าไม่ได้กล่าวเกินจริง) และไม่ได้เป็นรองจังหวัดอื่น เพราะที่นี่คือพื้นที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของภาคใต้ ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม วิถีชีวิต โดยเฉพาะธรรมชาติ ความหลากหลายเหล่านี้คือมรดกที่เริ่มต้นสั่งสมจากอดีตและสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ทุกสิ่งอย่างคือส่วนประกอบพิเศษที่ทำให้พัทลุงร่ำรวยเรื่องราวที่รอการบอกเล่า และความสวยงามที่รอเปิดรับทุกคู่สายตา เพื่อสร้างและเติมเต็มประสบการณ์ใหม่ให้กับทุกคนที่พร้อมหยุดจุดหมายปลายทางไว้ ณ พัทลุง

     พัทลุง หรือ เมืองลุง เป็นจังหวัดทางภาคใต้ตอนล่างที่มีประวัติศาสตร์เพราะในอดีตเคยเป็นเมืองเก่ามาก่อน แต่ด้วยลักษณะพื้นที่ที่มีความหลากหลาย คือ เป็นพื้นที่ราบสูงและที่ราบเชิงภูเขาในทิศตะวันตก ส่วนตอนกลางและทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ราบลุ่มและที่เรียบชายฝั่ง เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรมและการประมง จึงทำให้พัทลุงเป็นเหมือนหีบสมบัติใบใหญ่ ภายในเก็บของล้ำค่าไว้สองสิ่งคือ ศิลปะที่มนุษย์สร้าง และธรรมชาติที่เกิดขึ้น ดังคำขวัญประจำจังหวัดที่บอกย้ำไว้อย่างชัดเจนว่า ‘เมืองหนังโนรา อู่นาข้าว พราวน้ำตก แหล่งนกน้ำ ทะเลสาบงาม เขาอกทะลุ น้ำพุร้อน’

     850 กิโลเมตรจากกรุงเทพฯ ไม่ใกล้แต่ก็ไม่ไกลเกินไปถึง และเมื่อเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองพัทลุงแล้ว สิ่งแรกที่ทุกคนจะได้เห็นเด่นแต่ไกลคือ ขุนเขาอกทะลุ หรือเรียกสั้นๆ ว่า เขาอกลุ ซึ่งตั้งตระหง่านคู่ฟ้าสีสดรอต้อนรับผู้มาเยือน ทำให้พัทลุงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งตามขุนเขานี้ว่า เมืองอกทะลุ เพราะชาวพัทลุงเปรียบขุนเขานี้เป็นเสาหลักเมืองและสัญลักษณ์สำคัญของจังหวัด ถึงจุดนี้เราขอแนะนำให้ทุกคนหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายภาพความประทับใจแรกไว้ หรือจะโพสต์บอกให้เพื่อนรู้ก็ไม่ถือว่าผิดกติกา เพราะทริปล่องถิ่นแดนใต้ เยือนเขา ป่า นา เล ยลวิถีเมืองลุง กำลังจะเริ่มต้นขึ้นต่อจากนี้

 

พัทลุง

 

ทะเลน้อย แต่ยิ่งใหญ่และคอยโอบกอดทุกชีวิตด้วยธรรมชาติ

     เพราะพัทลุงมีความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้มีแหล่งธรรมชาติซึ่งมีความสำคัญระดับประเทศจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ผืนป่า ท้องนา และทะเล เมื่อมีโอกาสลงมาเที่ยวปักษ์ใต้หรือด้ามขวานของไทยที่โอบล้อมด้วยน้ำเค็มทั้งที ทะเลจึงกลายเป็นสิ่งที่ต้องห้ามพลาด แต่ถ้าจะให้ไปทะเลชายฝั่งก็ดูจะธรรมดาและดาษดื่นเกินไปสำหรับคนเมืองที่ต้องการค้นหาความแปลกใหม่และแตกต่าง เราจึงขอปักหมุดแนะนำ ทะเลน้อย ซึ่งกลับไม่น้อยและไม่เค็มตามชื่อเรียก เพราะพื้นที่ชุ่มน้ำขนาดกว้างแห่งนี้คือทะเลสาบน้ำจืด เป็นที่อาศัยของนกน้ำหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งนกอพยพ และนกประจำถิ่น รวมถึงเป็นเขตห้ามล่าสัตว์อีกด้วย ทะเลน้อยจึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งของพัทลุงเลยก็ว่าได้

     นอกจากนี้ในหน้าร้อน ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ทะเลน้อยจะเปลี่ยนเป็นสีชมพู เพราะบนผืนน้ำเต็มไปด้วยบัวแดงชูดอกผลิกลีบสีชมพูสดดูสวยงามเหมาะกับการล่องเรือเข้าไปชมใกล้ๆ ในน้ำยังมีพืชน้ำหลายชนิดทั้งสาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายข้าวเหนียวที่คอยออกดอกเล็กๆ สีเหลือง สีม่วง แซมสีดอกของบัวหลวง บัวสาย และบัวเผื่อน ส่วนบริเวณใบบัวเราจะเห็นนกอีโก้งเดินหาอาหารอยู่ สำหรับคนที่ชอบดูนก สามารถขึ้นไปดูนกได้ที่หอชมธรรมชาติซึ่งมีความสูงประมาณ 5 ชั้น วิวข้างบนที่มองเห็นคือทั่วอาณาบริเวณของทะเลน้อย ซึ่งเหมาะสำหรับการศึกษาธรรมชาติอย่างมาก หรือถ้ากลัวความสูงเราแนะนำให้เดินไปที่ศาลาถ่ายรูป เพราะที่ตรงนี้เป็นจุดชมวิวที่สวยงามไม่แพ้กัน

 

พัทลุง

 

     บริเวณใกล้เคียงกับทะเลน้อยยังมีนาข้าวริมทะเลสาบ ซึ่งจะออกรวงสมบูรณ์เป็นสีทองเต็มทุ่งประมาณช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ในท้องนายังมีควายน้ำฝูงใหญ่ยืนเคี้ยวเอื้องอย่างช้าๆ ด้วยความสบายใจ อาจมีบางตัวหนีลงไปลอยคอในน้ำบ้าง เพราะทะเลน้อยเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ทุกชนิดทั้งที่อยู่ประจำถิ่น และที่แวะเวียนมาหา ด้วยบรรยากาศและความสวยงามที่สัมผัสได้ ทำให้เผลอคิดไปว่าถ้าธรรมชาติคือยาวิเศษที่เยี่ยวยาใจเราได้จริง ทะเลน้อยก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ

     สำหรับนักช้อปและนักชิม ทะเลน้อยยังมีตลาดขายของฝีมือชาวพัทลุงให้ได้ลิ้มลองกันด้วย ทั้งไข่ปลาทอดสมุนไพร ส้มตำรากบัว ปลาดุกร้าทอด รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปและตากแห้งจากวัตถุดิบท้องถิ่น ทั้งอาหารทะเลและเครื่องปรุงอย่างกะปิ พุงปลา ก็มีให้เลือกซื้อ เรียกว่าอิ่มตาและอิ่มท้องในที่เดียว

 

พัทลุง

 

แหลงใต้จ่ายตลาด ลองรสชาติต้นตำหรับพัทลุงแท้ๆ ณ ตลาดใต้โหนด

     น้อยครั้งหรือแทบไม่มีโอกาสเลยด้วยซ้ำที่คนเมืองจะได้กินอาหารปักษ์ใต้แท้ๆ มาพัทลุงทั้งทีต้องแวะ ตลาดใต้โหนด หรือเรียกแบบชาวลุงว่า หลาดใต้โหนด หมายถึง ตลาดใต้ต้นตาลโตนด สำหรับความพิเศษของตลาดนี้ก็คือการเปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตเป็นผู้ขายเอง ทำให้มีชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียง ขนเอาของดีที่ผลิตมาจำหน่ายกัน ถือเป็นการส่งเสริมรายได้และเศรษฐกิจระดับครัวเรือนให้คนในพื้นที่

     จุดเริ่มต้นของตลาดใต้โหนด เป็นความตั้งใจที่ต้องการทำให้บ้านคุณกนกพงศ์ สงสมพันธุ์ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2539 เป็นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านศิลปะและสนับสนุนการอ่านหนังสือ คนในพื้นที่จึงช่วยกันทำตลาดท้องถิ่นนี้ขึ้นตามแนวทางที่ตั้งไว้คือ ของใช้ ของกิน งานศิลป์บ้านๆ เพื่อให้ชาวบ้านได้นำสินค้าปลอดสารพิษ อาหารพื้นถิ่น และงานฝีมือมาขาย ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าร้านค้าในตลาดเป็นผลผลิตท้องถิ่นแบบแท้ๆ และดั้งเดิม

 

พัทลุง

 

     เมื่อเข้ามาในตลาดเราจะเห็นร้านค้าขนาดย่อมเป็นเพิงไม้เล็กๆ เรียงรายติดกันยาวทอดออกไป ท่ามกลางบรรยากาศที่ร่มรื่นจากแมกไม้และใบต้นตาลโตนด แม้คนอาจจะหนาตาไปบ้าง แต่ลมเย็นๆ ที่พัดเข้ามากลับทำให้รู้สึกโปร่งสบาย เดินได้เรื่อยๆ เพลิดเพลินไม่มีเบื่อ มีเสียงนกร้อง และเสียงดนตรีบรรเลงให้ฟังกันสดๆ จากศิลปินเมืองลุงทั้งรุ่นเล็ก รุ่นใหญ่ ทั้งมือสมัครเล่นไปจนถึงมืออาชีพ คอยขับกล่อมตลอดเส้นทาง หรือจะเข้ามาชมภาพวาดในบ้านศิลปะก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

 

พัทลุง

พัทลุง

 

     ของที่ขายในตลาดใต้โหนดมีอยู่สองประเภทใหญ่ๆ อย่างแรกคือของกิน ขอเริ่มด้วยของคาวอย่างเต้าคั่ว อาหารเรียกน้ำย่อยมีส่วนประกอบจากของทอดทั้งเต้าหู้ กุ้ง แผ่นเกี๊ยว เส้นหมี่ และผักเคียง จัดใส่ชามวางไข่ต้ม ราดด้วยน้ำตาลโตนดเคี่ยว และพริกน้ำส้มตามชอบ หวานอร่อยมีรสเปรี้ยวตัดกำลังดี ต่อมาคืออาหารที่พลาดไม่ได้อย่างข้าวแกงปักษ์ใต้ มาใต้แล้วไม่กินแกงต้นตำหรับแท้ๆ ก็เหมือนมาไม่ถึง ข้าวแกงเป็นอาหารที่ขายดีมากของที่นี่

     นอกจากนี้ยังมีผักและผลไม้ตามฤดูกาลจากสวนของชาวบ้าน รวมถึงมีพริกแกง กะปิ น้ำตาลโตนด ข้าวสาร และวัตถุดิบท้องถิ่นอื่นๆ อีกมากมาย รับรองว่าซื้อกลับไปปรุงอาหารแล้วจะได้รสชาติถึงเครื่องตามแบบฉบับ สำหรับของหวานก็ไม่น้อยหน้า มีให้เลือกทั้งขนมเทียนสารพัดไส้ ขนมปำ ขนมปำจี ขนมโค ส่วนขนมที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ จำปาดะทอด หวานหอมกรอบกำลังดี ได้ลองกินแล้วขอร้องดังๆ ว่าหรอยอย่างแรง

 

พัทลุง

 

     อย่างที่สองคือของใช้และงานศิลปะพื้นบ้าน ซึ่งเป็นงานหัตถกรรมจากวัสดุท้องถิ่นทั้งงานสานกระจูด แกะหนังตะลุง เครื่องดนตรี เสื้อผ้า และเครื่องประดับ มีให้เลือกชม เลือกลองตามความสนใจ ความสนุกของการจ่ายตลาดจึงอยู่ตรงที่เราได้คุยกับชาวบ้านเกี่ยวกับของที่นำมาขาย ความเป็นกันเองเช่นนี้ไม่ได้มีให้ได้สัมผัสกันบ่อยๆ เพราะตลาดใต้โหนดเปิดทุกวันอาทิตย์วันเดียวเท่านั้น

 

พัทลุง

 

สัมผัสวิถีชาวลุงในผืนนาของบรรพบุรุษ พร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ให้เต็มปอดที่นาโปแก

     จริงๆ ชื่อ นาโปแก เกิดจากคำสามคำ คือคำว่า นา ให้ความหมายตรงตัว หมายถึง ทุ่งนาสำหรับปลูกข้าว ส่วนคำว่า โป เป็นคำท้องถิ่น หมายถึง ปู่ หรือ พ่อแก่ ซึ่งก็คือ พ่อของพ่อ และ แก หมายถึง บรรพบุรุษ ดังนั้น นาโปแกจึงหมายถึง นาของปู่หรือบรรพบุรุษ เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้วิถีการทำนาและการเกษตรแบบชาวใต้ในทุกขั้นตอนและทุกกระบวนการ ซึ่งเกิดขึ้นจากการน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ เพื่อการสร้างงานและอาชีพให้เกิดขึ้น

 

พัทลุง

 

     ด้านหน้ามีป้ายบอกชื่อ นาโปแก และควายตัวใหญ่รอต้อนรับ เมื่อเข้ามาภายใน นาโปแกนั้นกว้างใหญ่มาก เพราะมีพื้นที่รวม 19 ไร่ ทั้งยังมีกิจกรรมมากมายให้ทุกคนได้สัมผัสธรรมชาติของท้องนาสีเขียวขจีนี้อย่างใกล้ชิด และมีส่วนร่วมในการลงมือทำจริงๆ ทั้งการดำนา ลงมือปักต้นกล้า การสีข้าวแบบโบราณ และพิธีบายศรีสู่ขวัญ เป็นความสนุกที่ได้ความรู้ไปพร้อมๆ กัน และถือเป็นการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ในทุ่งนาผืนใหญ่ที่เต็มไปด้วยต้นข้าวหลายสายพันธุ์ หรือจะเดินเล่นชมวิวบนสะพานไม้ที่ทอดยาวไปตามคันนาก็ได้ความรู้สึกที่แตกต่างไปอีกแบบ

 

พัทลุง

 

     นอกจากนี้สำหรับคนที่ตกหลุมรักธรรมชาติและเสพติดอากาศบริสุทธิ์สามารถพักค้างคืนที่นาโปแก เพราะที่นี่มีบ้านพักไว้ให้บริการ เพื่อทำให้รู้จักวิถีชีวิตอย่างเรียบง่ายของการทำนาของคนรุ่นปู่ย่ามากยิ่งขึ้น

     นาโปแกจึงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งสำคัญของพัทลุง ที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตบ้านๆ จากคนรุ่นเก่าที่เก๋าประสบการณ์ ผ่านการลงมือทำด้วยตนเอง เป็นคุณค่าที่สร้างขึ้นจากความรักในสิ่งที่ทำ จนเกิดเป็นความรู้และความเชี่ยวชาญพร้อมส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ได้อย่างน่าสนใจและสมบูรณ์แบบ

     ทุกสิ่งที่กล่าวถึงคือสมบัติเพียงส่วนน้อยในหีบใบใหญ่ที่ชื่อว่าพัทลุง เพราะจังหวัดนี้ยังมีของดีที่รอให้ทุกคนมาค้นหา และสัมผัสด้วยตัวเองสักครั้งในชีวิต แท้จริงแล้วมนต์เสน่ห์บางอย่างก็ไม่สามารถบรรยายเป็นตัวหนังสือได้ครบถ้วนเพราะมันคือความรู้สึกส่วนตัวที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ของคนคนหนึ่งมีต่อสถานที่นั้นๆ ซึ่งเราไม่มีทางรู้ได้เลยหากไม่ได้มาเยื่อน ถึงตรงนี้ขอยืนยันว่าพัทลุงจะเป็นจังหวัดที่ทำให้ทุกคนเข้าใจคำว่า ‘หรอยอย่างแรง’ ในความหมายที่ลึกซ้ำกว่าที่เคย