bruce lee

บรูซ ลี: จากไอ้หนุ่มซินตึ๊งสู่นักปราชญ์แห่งวงการศิลปะการต่อสู้

“นักสู้ที่ยอดเยี่ยมที่สุดหาใช่นักสู้ที่เชี่ยวชาญมวยหมัด คาราเต้ หรือยูโด แต่คือคนที่สามารถหลอมรวมวิชาการต่อสู้หลากหลายรูปแบบมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับตัวเอง นักสู้ที่เก่งที่สุดคือคนที่รู้จักเหวี่ยงลูกเตะใส่นักมวยหมัด จับนักคาราเต้ทุ่มลงพื้น และขว้างหมัดที่ดีเกินไปสำหรับนักยูโด”

        ‘หลี เสี่ยวหลง’ หรือที่รู้จักกันดีในนาม ‘บรูซ ลี’ ตำนานนักแสดงชาวจีนและผู้เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้

        การปรากฏตัวของเจ้าของสมญา ‘ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง’ ในโลกภาพยนตร์ช่วงปี 1970 นับว่ามีอิทธิพลต่อวงการศิลปะการต่อสู้อย่างแท้จริง ด้วยผลงานภาพยนต์แอ็กชันชื่อดังเรื่องต่างๆ และฝีมือวิชาหมัดมวยที่เป็นเลิศ ลีลาแพรวพราวมีเอกลักษณ์…

        ที่สำคัญ เขาคือคนที่แนะนำให้คนทั้งโลกรู้จักกับศิลปะการต่อสู้ในแบบจีนที่เรียกกันว่า ‘กังฟู’! 

        สำหรับผู้ที่ศึกษาและเชี่ยวชาญในศิลปะการต่อสู้แขนงใดแขนงหนึ่ง เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องถูกทำให้เชื่อว่ารูปแบบการต่อสู้แขนงที่พวกเขาใช้คือรูปแบบที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการต่อสู้ระยะประชิดตัว นักคาราเต้ย่อมเชื่อว่าคาราเต้คือศิลปะการต่อสู้ที่ดีที่สุด นักมวยไทย นักมวยปล้ำ นักมวยกังฟู หรือนักมวยสากลต่างเชื่อว่าศิลปะการต่อสู้ของตัวเองเยี่ยมยุทธ์ที่สุด

        แต่ บรูซ ลี มิได้เชื่อเช่นนั้น เขาเสนอแนวคิดใหม่ที่ขัดแย้งกับปรมาจารย์และผู้เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้แขนงต่างๆ ในยุคนั้น อาจเริ่มต้นด้วยการที่เขาได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของปรมาจารย์ผู้เลิศยุทธ์หลายศาสตร์หลายสำนัก เริ่มฝึกฝนกังฟูในฮ่องกง ก่อนที่จะย้ายถิ่นฐานไปถึงสหรัฐฯ และได้ฝึกฝนศิลปะการต่อสู้ในอีกหลายแขนง เขาจึงริเริ่มการผสมผสานสไตล์การต่อสู้ที่เป็นจุดเด่นของแต่ละแขนงเข้าด้วยกัน จดบันทึกรวบรวมเป็นหนังสือทั้งหมด 3 เล่ม

        หนึ่งในสามนั้นคือ ‘Tao of Jeet Kune Do’ ซึ่งเป็นเล่มที่ บรูซ ลี ริเริ่มคิดค้นศิลปะการต่อสู้แบบใหม่เป็นของตัวเอง

        ในหนังสือแนะนำไว้ว่าวิชา ‘จีทคุนโด้’ เป็นงานเขียนเกี่ยวกับศิลปะการต่อสู้ของ บรูซ ลี ที่แฝงไปด้วยแนวคิดระดับปรัชญา เขาได้ให้คำนิยามกับรูปแบบการต่อสู้ในวิชาจีทคุนโด้ของเขาว่าเป็น ‘รูปแบบที่ไร้รูปแบบ’ (style without style)

        สำหรับ บรูซ ลี ไม่มีศิลปะการต่อสู้รูปแบบใดที่ถือว่าดีที่สุด เขาไม่เชื่อ และไม่ยึดติดกับคำว่า ‘รูปแบบ’ (style) เพราะเห็นว่ามนุษย์มีแขนขาอย่างละ 2 ข้าง เหตุใดจึงใช้แค่หมัด 2 กำปั้น หรือเพียงการจับทุ่มโดยลำพัง เขาเห็นว่าหากยึดติดกับรูปแบบ รูปแบบจะเปลี่ยนเป็น ‘กฎเกณฑ์’ จากนั้นภายในไม่ช้า ตัวเราก็จะกลายเป็นทาสของกฎเกณฑ์นั้น อุทิศตนฝึกฝนตามกระบวนการอย่างมี ‘แบบแผน’ ยึดมั่นถือมั่นอยู่กับมัน ท้ายที่สุดตัวเราก็จะกลายเป็นดั่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นในโรงงาน เป็นผู้ถูกศิลปะการต่อสู้ใช้งาน แทนที่จะเป็นผู้ใช้งานศิลปะการต่อสู้

        กล่าวโดยสรุปได้ว่า บรูซ ลี พยายามที่จะหยิบยกจุดเด่นของศิลปะการต่อสู้ทุกแขนงมารวมเข้าด้วยกัน โดยไม่สนว่าการกระทำของเขาได้ท้าทายกรอบความคิดเก่าในวงการศิลปะการต่อสู้ เพื่อเป้าหมายที่จะยุติข้อโต้แย้งว่าศิลปะการต่อสู้รูปแบบไหนดีที่สุด แต่การผสมผสานทุกรูปแบบเข้าด้วยกันคือรูปแบบที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการต่อสู้ระยะประชิด

        น่าเสียดายที่ชีวิตของ บรูซ ลี นั้นแสนสั้นนัก เขาลาโลกไปในวัยเพียง 32 ปี แต่มรดกที่ทิ้งไว้นั้นแสนยิ่งใหญ่ และทรงคุณค่าต่อวงการศิลปะการต่อสู้หาใดเปรียบ

        บรูซ ลี อาจถือได้ว่าเป็นบรรพบุรุษหรือผู้ให้กำเนิดกีฬา MMA หรือ Mixed Martial Arts แปลเป็นไทยได้ว่าศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสาน เพราะจากแนวคิดพื้นฐานของเขา ทำให้เกิดรายการแข่งขัน MMA ขึ้น และได้รับความนิยมแพร่หลายอย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสให้นักสู้แต่ละคนใช้ศิลปะการต่อสู้ในแบบที่ตนเองถนัด ไม่ว่าจะเป็นคาราเต้ ยิวยิตสู มวยไทย หรือกระทั่งมวยสากล หรือ boxing ขึ้นประลองกับคู่ต่อสู้ โดยทัวร์นาเมนต์แข่งขัน MMA ที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุคปัจจุบันเห็นจะเป็น UFC หรือ Ultimate Fighting Championship ที่ผมเป็นแฟนตัวยง

        ที่เราเห็น บรูซ ลี ในภาพยนต์แอ็กชันมีลีลาการต่อสู้ที่ร้ายกาจ แข็งแกร่ง หาตัวจับยาก เป็นพระเอกยอดนิยม เหล่านี้ล้วนเป็นเพียงภาพภายนอกเท่านั้น แท้จริงแล้วเขามีดีมากกว่านั้น…

        บรูซ ลี เป็นนักปราชญ์!

        ปรัชญา บรูซ ลี มิเพียงใช้ได้ในการฝึกวิทยายุทธ์ หากแต่สามารถนำมาปรับใช้เป็นปรัชญาชีวิตในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการไม่ยึดติดกับ ‘รูปแบบ’ หากแค่คือการปลดปล่อยให้ความคิดเราเป็นอิสระ ไร้ซึ่งรูปร่าง บิดพลิ้ว เป็นดั่งสายน้ำ…

        “Be like water, my friend.”

        “จงเป็นดั่งสายน้ำ มีอยู่ สัมผัสได้ แต่คว้าเอาไว้ไม่ได้

        ปล่อยใจให้ว่าง ไร้ซึ่งรูปร่าง ไม่มีรูปแบบ เหมือนน้ำ

        พอเราเอาน้ำไปใส่ในแก้ว น้ำกลายเป็นแก้ว

        ใส่น้ำลงไปในขวด น้ำกลายเป็นขวด

        ใส่ลงไปในกาน้ำชา น้ำกลายเป็นกาน้ำชา

        น้ำสามารถลื่นไหล

        ฤๅจะสามารถพุ่งชน

        จงเป็นดั่งสายน้ำเถิด เพื่อนเอ๋ย”

        ประโยคสุดคลาสสิคกล่าวโดย ‘บรู๊ซ ลี’ นักปราชญ์แห่งวงการศิลปะการต่อสู้