เช่นเดียวกับศิลปะแขนงอื่นๆ Minimalism ในแฟชั่นเกิดจากอิทธิพลของศิลปินยุค 60s ที่แสนจะเบื่อหน่ายกับงาน Abstract ลุ่มลึกของยุคก่อนๆ ด้วยเหตุนี้ดีไซเนอร์ชื่อดัง อย่าง คริสโตบัล บาลองเซียกา, ปาโก้ ราบานน์ และ อองเดร กูร์แรจ จึงเริ่มต้นการสร้างสรรค์ผลงาน ภายใต้แนวคิด ‘Form Over Function’ หรือแปลเป็นภาษาง่ายๆ ว่าเน้นให้ ‘รูปทรง’ และ ‘วัสดุ’ ของเสื้อผ้ามาก่อนหน้าที่การปกปิดร่างกาย
_
Minimalism in Fashion
_
Minimalism ยุคแรกไม่ได้หมายถึงการแต่งตัวน้อยชิ้นน้อยสีแบบที่หลายคนเข้าใจ เป็น Minimalism ก็เยอะได้ ทั้งในแง่วิธีคิดและกระบวนการ แต่ที่สำคัญคือจะต้อง
01 ลดทอนตัวตนของศิลปินลง ลดรูปทรงของเสื้อผ้ามาสู่เส้นสายที่เรียบง่ายที่สุด ผ่านการใช้รูปทรงเรขาคณิต เทคนิค repetition และการนำวัสดุใหม่ๆ มาใช้
02 หลีกหนีออกจากรูปร่างของมนุษย์และการระบุเพศ อย่างชุดของ COMME des GARÇONS SS 1997 โดย เรอิ คาวาคุโบ ที่นิยามความงามขึ้นใหม่ โดยการฉีกกฎของรูปทรงและส่วนเว้าส่วนโค้งแบบเดิมๆ
แนวคิดมินิมอลิสม์ส่งต่อมายังยุค 80s ผ่าน 3 ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น อิซเซ มิยาเกะ, โยจิ ยามาโมโตะ และ เรอิ คาวาคุโบ ที่เป็นผู้นำในการทดลองรูปทรง วัสดุและเทคโนโลยีใหม่ๆ เสมอ
ในช่วงเดียวกันนี้ มาร์ติน มาร์เจลา เริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะดีไซเนอร์ผู้นำแนวคิด Deconstructionism คือการรื้อโครงสร้างเพื่อให้เห็นแก่นแท้ของงานแต่ละชิ้น เสื้อผ้าของเขาเปิดเปลือยถึงขั้นตอนการทำ พร้อมตั้งคำถามกับรูปทรงและหน้าที่ของวัสดุ
อาจกล่าวได้ว่ามินิมอลิสม์มักสะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เห็นได้จากในช่วง 90s ที่ผู้หญิงอเมริกันเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น กระแสของมันกลับมาเขย่าวงการอีกครั้ง พร้อมกับแนวคิดการออกแบบที่เปลี่ยนไป โดยให้เน้นเรือนร่างของผู้หญิง แล้วปรับลดองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งทรง สี และวัสดุให้ดูน้อยและเรียบง่าย เพื่อเอาใจลูกค้ากลุ่มเวิร์กกิ้งวูแมน ยุคนี้มีชื่อของ ดอนนา คาราน (DKNY), จิล แซนเดอร์ และ คาลวิน ไคลน์ เป็นดีไซเนอร์คนสำคัญ
เมื่อเวลาผ่านไป ทอม ฟอร์ด ได้พาโลกแฟชั่นเข้าสู่ปี 2000s อย่างหรูหราตามแบบฉบับของ Gucci จนเมื่อปี 2008 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโหมกระหน่ำ มินิมอลิสม์จึงกลับมาครองรันเวย์อีกครั้ง ความฝืดเคืองนี้ทำให้เงินในกระเป๋าของผู้บริโภคน้อยลง และส่งผลให้สินค้าแฟชั่นขายได้ยาก ทุกชิ้นจึงต้องคุ้มค่าและใช้ซ้ำได้ ผลงานการตัดเย็บคมๆ เรียบๆ ในโทนสีกลางๆ ของดีไซเนอร์อย่าง ฟีบี ฟิโล (Celine), ราฟ ซิมอนส์ (Jil Sander, Dior) และ สเตลลา แมคคาร์ตนีย์ จึงได้รับความนิยม ทั้งยังทำให้ทั้งสามคนมีสาวกแฟชั่นคอยติดตามอยู่ทั่วโลก
คลื่นของมินิมอลิสม์ลูกนี้ยังส่งผลให้เกิดการดิ้นรนเพื่ออยู่รอดของธุรกิจ ในยามที่การผลิตและการบริโภคจำต้องชะลอตัวลง แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นหลายแบรนด์ จึงสวมร่างมินิมอลเพื่อกระตุ้นให้คนซื้อของน้อยแบบ แต่มากชิ้น ซึ่งนับว่าประสบความสำเร็จล้นหลาม จนคนทั่วไปเข้าใจว่านี่แหละมินิมอล แต่หากมองย้อนกลับไปในยุค 60s จะเห็นว่าเรามาไกลจากอดีตอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
อ่านแนวคิด Minimalism in Architecture
อ่านแนวคิด Minimalism in Fine Arts
อ่านแนวคิด Minimalism in Product Design