น.น่าน

จังหวะการใช้ชีวิตของ ‘แจ๊ค’ – ภีร์นริศร์ ผ่องหทัยกุล แห่งร้านกาแฟ น.น่าน

ถ้าใครมาจังหวัดน่าน หากใช้รถยนต์หรือเช่ามอเตอร์ไซค์ สิ่งที่ทำให้คนนอกน่านแปลกใจและตกใจ คงหนีไม่พ้นเรื่องของสี่แยกไฟแดงที่ขึ้นสัญญาณไฟเขียวพร้อมกันทีละสองฝั่ง จนไม่รู้ว่าควรไปต่อหรือหยุดรอรถอีกฝั่งกันแน่ แต่สำหรับคนพื้นที่แล้ว สี่แยกไฟแดงคือจังหวะของการประนีประนอมที่ต้องเฝ้าดูถึงจะเข้าใจ นี่คือสิ่งหนึ่งที่ทำให้ ‘แจ๊ค’ – ภีร์นริศร์ ผ่องหทัยกุล เจ้าของร้านกาแฟ น.น่าน ยกให้น่านเป็นที่ที่เขาอยากจะลงหลักปักฐานและทิ้งตัวไว้ตลอดไป

น่านทำให้เราเรียนรู้ว่า การฝืนไม่ดีต่อร่างกายและจิตใจ ควรใช้ชีวิตอย่างที่ให้เวลาไปกับอย่างอื่นด้วย

น.น่าน

HOME SWEET HOME

“เราเกิดที่กรุงเทพฯ แต่มาอยู่น่านตอน 5 ขวบ อยู่ยาวจนกระทั่งไปเรียนมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ เรียนจบก็ไปทำงานเป็นครูสอนไฟฟ้าอยู่ที่เชียงใหม่ 1 ปี” ซึ่งในช่วงนั้นเขาเองก็ไม่เคยคิดว่าน่านจะเป็นจังหวัดที่เขาจะได้กลับไป

“เราคิดว่าอยู่ในเมืองใหญ่ไม่ได้ ทนกับความเครียด ปริมาณรถรา และความรีบเร่งที่บีบรัดจนไม่ไหว จึงกลับมาเป็นครูสอนไฟฟ้าที่อำเภอปัว สอนอยู่สองปี ในระหว่างนั้นราวๆ ปี พ.ศ. 2553 เป็นช่วงที่เมืองน่านกำลังเปิดเมือง และเริ่มมีกาดน่าน เราสนใจที่จะขายของ จึงเริ่มต้นทำแบรนด์ โดยขายเสื้อยืดน่านเป็นอันดับแรก ซึ่งตอนนั้นผลตอบรับดีมาก ก็เลยตัดสินใจลาออกจากงาน และมาลองหาที่ทางเปิดร้านเล็กๆ ค่อยๆ ขยับขยายกิจการให้ใหญ่ขึ้น เปิดเป็นร้านอาหาร เพื่อรองรับปริมาณของนักท่องเที่ยวในช่วงแรกที่ไหลบ่าเข้ามา

น.น่าน

NAN

แม้ว่าน่านจะเป็นสถานที่ที่ทำให้เขาเติบโตทั้งด้านร่างกายและธุรกิจ แต่น่านก็เป็นเมืองที่มีความเปลี่ยนแปลงไปแบบทีละเล็กละน้อยไม่รวดเร็วเหมือนที่ใจคิด เขาจึงกลับมาตั้งสติและเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของน่านอีกครั้ง

“เพราะความคิดใหญ่เกินตัว ถึงขั้นให้ภรรยาออกจากงานประจำมาช่วย จนเราได้รู้ว่าร้านที่มีขนาดใหญ่เกินไปทำให้ยากต่อการควบคุม เราจึงคิดน้อยลงมานิดหนึ่ง” แจ๊คยกมือขึ้นมาทำท่าประกอบ

น.น่าน

SLOW LIVING

เขาเริ่มกลับมาสังเกตผู้คนในน่านอีกครั้ง และพบว่า หากจะขายอาหารและมีกาแฟ เขาจะต้องเอาชนะคนน่านให้ได้เสียก่อน ส่วนกำไรนั้นจะมาจากนักท่องเที่ยว วันหนึ่งเขาพบกับบ้านไม้โบราณสองชั้นอายุกว่า 50 ปี ติดริมถนนทางไปสนามบิน แถมยังมีพื้นที่ใช้สอยรอบบ้าน เขาชอบที่นี่ จึงตัดสินใจเช่าและเริ่มต้นทำการรีโนเวต ปรับชั้นล่างให้เป็นร้านกาแฟ ชั้นบนเป็นที่พัก ด้านนอกเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว เขามัดรวมทุกอย่างเข้าด้วยกัน และกิจการก็ดูว่าจะไปได้ด้วยดี

“น่านทำให้เราเรียนรู้ว่า การฝืนไม่ดีต่อร่างกายและจิตใจ ควรใช้ชีวิตแบบที่ให้เวลาไปกับอย่างอื่นด้วย อีกอย่างเราเห็นแล้วว่าการเติบโตทางธุรกิจที่เร็วเกินไปนั้น ไม่ใช่จังหวะธุรกิจของน่าน แต่เป็นเพราะความเนิบช้า บวกกับความใจดีของเมืองน่านมากกว่าที่ประคองเรามาจนถึงทุกวันนี้”

น.น่านEVERYDAY

ที่นี่ทำให้ชีวิตเขามีจังหวะแบบน่านคือ ตื่นตอนเช้าไปจ่ายตลาด กลับมาเปิดร้าน กินข้าว ชงกาแฟ สลับกับทำงานอย่างอื่น ตกเย็นไปออกกำลังกายกับเพื่อน วันหยุดก็กลับไปหาพ่อแม่ที่บ้าน ที่สำคัญ ยังไม่มีความคิดที่จะโหยหาที่อื่นนอกจากเมืองน่าน และบ้านของตัวเขาเอง

น.น่าน

MY VIEW ON NAN

และนอกจากเรื่องสี่แยกไฟแดงแล้ว สิ่งที่ทำให้แจ๊คหลงเสน่ห์เมืองน่านจริงๆ จังๆ ก็คือความเรียบง่าย อยู่ง่าย ผู้คนเป็นมิตร ไม่รีบร้อน การเดินทางที่ไม่เร่งรีบ โดยเฉพาะเวลาไปสนามบิน หากในกรุงเทพฯ ต้องเผื่อเวลาอย่างน้อย 2 ชั่วโมง แต่เมืองเล็กๆ อย่างน่านใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงก็เพียงพอ

ภาพ : รัตช์ภาคย์ แสงมีสินสกุล