“เยาวราชในความหมายของคุณคืออะไร?”
เมื่อผมลองถามคำถามเดียวกันนี้กับตัวเอง พบว่ามีคำตอบเพียงไม่กี่อย่างที่วนเวียนอยู่ในหัว นั่นคือทองและของกิน เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามันคือภาพชัดที่สุดของเยาวราช เป็นความหมายในมุมมองของคนต่างย่านผู้มาเยือนเช่นผม ซึ่งอาจจะเป็นความหมายเดียวกันกับสิ่งที่คุณคิดไว้
“แต่สำหรับคนที่ใช้ชีวิตและเติบโตในเยาวราช ความหมายของเขาคืออะไรกัน?”
บางทีเยาวราชอาจไม่ได้เป็นเพียงชื่อเรียกถนนที่ขนาบห้างร้าน หรือแหล่งทำมาหากินที่สำคัญของคนไทยเชื้อสายจีนอย่างที่เราเข้าใจ ภาพชินตาที่ปรากฏให้เห็นเบื้องหน้า ทั้งตัวอาคาร ร้านค้าเก่าแก่ หลายชีวิตผู้คอยขับเคลื่อนและสืบทอดกิจการครอบครัวให้ดำเนินมาถึงปัจจุบัน น่าจะมีเรื่องราวและความหมายอันลึกซึ้งซ่อนอยู่
ความเข้าใจเดิมๆ จากการมองและคิดตรงๆ อย่างตื้นเขินจึงพาผมเดินทางมาพบกับ อาเจ็กสมชัย กวางทองพานิชย์ เจ้าของกิจการขายเชือกผู้เกิดและเติบโตมาในเยาวราช รวมทั้งมีความสนใจในประวัติศาสตร์จีนและถิ่นที่อยู่ ทำให้อาเจ็กใช้เวลาว่างศึกษาค้นคว้าถึงความเป็นมาของเยาวราช จนเกิดเป็นคลังข้อมูลและความรู้ที่น้อยคนนักจะบันทึกไว้ เพื่อทำความเข้าใจและเข้าถึงความหมายที่แท้จริงของเยาวราชท่ามกลางบริบทที่กำลังจะเปลี่ยนแปลง
บ่ายวันธรรมดาวันหนึ่ง ผมเดินเท้าจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง มุ่งหน้ามายังถนนเยาวราชโดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที เมื่อถึงร้านน้ำชา Double Dogs Tea Room อาเจ็กสมชัยกำลังเดินมาจากอีกด้านหนึ่งพอดี และเดินนำเข้าภายในร้าน พร้อมพูดว่า “นั่งดื่มน้ำชากันก่อนแล้วค่อยไปเดินดูกัน เยาวราชมีเสน่ห์ได้ก็เพราะร้านเหล่านี้แหละ”
ร้านที่เก็บความรู้สึกเหมือนอยู่ในวันวานหรอครับ – ผมถามขึ้นพลางทอดสายตาออกไปข้างนอกตัวร้าน
“เยาวราชกำลังเปลี่ยนแปลง แต่คาแร็กเตอร์ของเยาวราชจริงๆ ยังมีให้เห็นอยู่นะ ต้องช่างสังเกตสักหน่อย โดยเฉพาะคนฮ่องกงเขาจะชื่นชมมาก เพราะที่นี่ทำให้นึกถึงบ้านเมืองในอดีตของเขา ขณะที่บ้านเราไม่ค่อยมีคนสนใจว่าตรงนี้เคยเป็นอะไร เพราะคนที่เข้ามาส่วนมากคือฮ่องกง หมูแผ่น หมูหย็องฝีมือคนฮ่องกงทั้งนั้น”
ชุดน้ำชาถูกนำมาเสิร์ฟพอดีกับจังหวะพูดจบลง อาเจ็กหยิบการินน้ำร้อนชงชาทิกวนอิมให้แก้วต่อแก้ว ก่อนอธิบายต่อ
“วันนี้เจ็กจะพาไปรู้จักกับร้านที่คงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นจิตวิญญาณของเยาวราชแท้ๆ โดยมีคนพื้นที่ยืนยัน คือของแบบนี้ต้องสวยด้วยตัวมันเอง พอคนอื่นได้เห็นก็จะรู้สึกว่าใช่จริงๆ เพราะสถานที่มันพูดได้”
แล้วเยาวราชพูดกับอาเจ็กว่าอะไรบ้าง?
“เยาวราช คือ East Meets West ซอยวานิช 1 หรือสำเพ็ง คือถนนเส้นแรก มีความเป็นจีนอพยพ ต่อมามีการตัดถนนเจริญกรุง เพื่อให้ฝรั่งนั่งรถม้าเข้าเมืองได้ เยาวราชเกิดขึ้นมาตรงกลาง เป็นถนนที่เชื่อมระหว่างตะวันตกและตะวันออก เพราะฝรั่งเอาของไปขายให้คนจีนไม่ได้ ต้องมีคนจีนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นตัวกลาง ซึ่งมีความรู้ พูดภาษาอังกฤษได้ มีความสัมพันธ์กับตะวันตกหรือฮ่องกงมาก่อน คอยช่วยสะท้อนวัฒนธรรมให้ทั้งสองฝ่าย
“อีกอย่างคาแร็กเตอร์ที่แท้จริงของเยาวราชคือตึกและสิ่งปลูกสร้าง เยาวราชเป็น Modern Chinese มีลักษณะที่พยายามจะทำให้คล้ายกับที่ฮ่องกงหรือเซี่ยงไฮ้เป็น แต่ไม่ได้ทำเหมือนเป๊ะ เจ็กคิดว่าเป็นเพราะพื้นดินทำให้ไม่สามารถสร้างอาคารสูงมากๆ ได้ ผลก็เลยเป็นแบบที่เห็น”
เมื่อชาในแก้วหมดลง คล้ายเป็นสัญญาณให้อาเจ็กลุกขึ้นยืนและเดินนำสำรวจถนนเยาวราชตามความตั้งใจที่วางแผนไว้ คือ พาไปชมร้านค้าเก่าแก่ที่อยู่คู่เยาวราชมานานแสนนาน โดยเริ่มต้นที่ร้านแรก คือ ตั้งกวงคี่เฮียง
“ตั้งคือชื่อแซ่ กวงคือกว้าง คี่คือมหัศจรรย์ เฮียงคือกลิ่นหอม ตั้งกวงคี่เฮียงจึงหมายถึง กลิ่นหอมมหัศจรรย์กว้างไกลไปทั่ว ร้านนี้ทำกุนเชียงขาย เป็นร้านเล็กๆ ตื้นๆ ตั้งแต่เจ็กจำความได้ที่นี่ก็ไม่เคยเปลี่ยน ดูแนวตะขอที่ใช้แขวนได้เลย ฝุ่นจับก็ส่วนหนึ่ง (หัวเราะ) แต่เทคนิคการทำตัวแขวนแบบนี้จะไม่เห็นที่อื่น ทุกอย่างสร้างขึ้นในแบบเฉพาะ หรือตู้ไม้บานกระจกหน้าร้านก็เหมือนกัน”
เจ้ครับที่นี่เปิดมากี่ปีแล้ว – อาเจ็กถามเจ้าของร้าน
“80 ปีได้ เจ้เป็นรุ่นที่สามแล้ว เริ่มมาจากปู่ทำเป็นคนแรก กุนเชียงที่ทำเป็นสูตรโบราณจากกวางตุ้ง แต่คนส่วนมากสนใจตับแก้ว เป็นตับหมูสอดไส้มันไว้ตรงกลาง หากินยากเพราะคนไม่ค่อยทำกัน แล้วก็มีหมูสามชั้นตากแห้ง และน่องเป็ดไว้ทำข้าวอบ”
เอกลักษณ์ของตั้งกวงคี่เฮียงสามารถสังเกตได้ง่าย จากพวงกุนเชียงที่แขวนห้อยอย่างเป็นระเบียบกับตะขอเหล็กตรงด้านบนของร้านและในตู้ไม้บานกระจกซึ่งลดหลั่นลงมาเป็นชั้นๆ คล้ายกับระย้าดูแปลกตาแต่สวยงาม
“ร้านต่อไปเป็นร้านที่ใหญ่ที่สุด กว้างที่สุด และประตูสูงที่สุดของเยาวราช เมื่อก่อนเป็นร้านทองที่ใหญ่มาก ปัจจุบันที่นี่เหมือนถูกซ่อนไว้ นั่นคือ ห้างขายทองเซ่งเฮงหลี ถ้าเปรียบเทียบกับร้านทองอื่นๆ ร้านนี้อาจจะไม่ได้รุ่งเรืองที่สุด แต่สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่แสดงว่าเคยรุ่งเรืองที่สุดมาก่อน ดูจากขนาดอาคารจะเห็นว่าเป็นตึกเดียวที่ตั้งใจสร้างขึ้นมา ทั้งขนาด ความสูงของประตู ความกว้างของหน้าร้าน ไม่มีใครในเยาวราชดีไปกว่ามันอีกแล้ว ไม่มีจริงๆ ถ้าจะดูให้ลึกขึ้นไปอีก ให้สังเกตเหล็กดัดและบล็อกแก้วของตัวอาคาร ในอดีตเป็นของมีราคาสูง คิดดูนะทุกสิ่งที่ดีที่สุด ทันสมัยที่สุด ห้างขายทองเซ่งเฮงหลีมีครบทั้งหมด”
อาเจ็กพาข้ามมาอีกฝั่งของถนนเพื่อให้เห็นภาพรวมของร้านและอาคารที่แม้ว่าจะเก่าลงตามเวลา แต่กลับคงความยิ่งใหญ่ไว้ไม่เปลี่ยนแปลง
“ที่ต่อไป คือ แมวดำ เปิดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 เป็นห้างสรรพสินค้าตั้งอยู่ตรงหัวมุมพอดี เมื่อก่อนที่ยังไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ต ก็มีแต่ร้านพวกนี้แหละ เป็นห้างขายสินค้ายุโรป รูปแบบของแมวดำเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เดิม ร้านนี้ปรากฏในภาพเก่าทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเยอะมาก บานกระจกหน้าร้านแมวดำที่เป็นดิสเพลย์ก็เป็นแบบนี้มาตลอด มีหุ่นใส่เสื้อผ้าตั้งโชว์ เข้ามาข้างในจะเห็นว่ามีของโบราณๆ ขายอยู่ โบราณในที่นี้ไม่ใช่ของเก่าเก็บ แต่หมายถึงของใช้ที่มีมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงตอนนี้ก็ยังผลิตและจำหน่ายอยู่เหมือนเดิม ของที่ผู้ใหญ่ใช้กัน อย่าง 4711 เป็นน้ำหอมไว้ใส่ผ้าเย็นเวลาตัดผม ต้องกลิ่นนี้เท่านั้นนะ พ่ออาเจ็กใช้มอร์แกน ปอมเมดแก้ผมขาว และใช้ตันโจ ปอมเมดแต่งทรง เมื่อก่อนมีตันโจติ๊กเป็นแท่งๆ ตอนนี้ไม่มีแล้ว รุ่นคุณไม่รู้จักแล้วล่ะ (หัวเราะ) เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ใช้น้ำมันใส่ผม แต่ผู้ใหญ่หรือคนรุ่นก่อนจะนิยมใส่กัน”
“แมวดำรวมของใช้ในวันวานไว้ เป็นสุดยอดของเยาวราชเลยก็ว่าได้ ผู้ใหญ่ส่วนมากมักต้องการของใช้ที่เขาคุ้นชิน เจ็กเองก็ต้องมาที่นี่ เพราะมีครบทุกอย่าง นึกถึงตอนเด็กๆ เหมือนกันนะ เจ็กจะมาซื้อของเล่นที่นี่ช่วงตรุษจีน หรือจะเป็นเสื้อผ้านำเข้ายี่ห้อมองตากูต์ ที่นี่ก็มี สมัยก่อนแพงมากตัวละ 200-300 บาท เพราะทองราคาบาทละ 700-800 บาท”
ใช่อย่างที่อาเจ็กบอกจริงๆ ทั่วทั้งร้านรายรอบไปด้วยของโบราณที่ยังคงคุณค่า สำหรับผู้ใหญ่และคนรุ่นก่อนร้านแมวดำคงมีความหมายกับพวกเขาอย่างมากทีเดียว และความน่ารักของร้านนี้ที่เชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาจะสัมผัสได้คือหัวใจแห่งบริการจากคุณป้าและคุณลุงพนักงาน ที่สำคัญภายในร้านยังมี free Wi-Fi ให้ใช้อีกด้วย
“ร้านต่อไปคือ ลิ่มงี่เฮียง ร้านขายหมูแผ่นที่มีหน้าร้านสวยที่สุด เพราะออกแบบและตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมจีน ตรงกลางร้านมีเทพเจ้าตั่วเหล่าเอี๊ย และฮก ลก ซิ่ว เมื่อเข้ามาในร้านลองสังเกตอย่างละเอียดจะเห็นว่าด้านล่างของร้านประดับด้วยไม้แกะสลักเป็นลายหก หมายถึงโชคลาภวาสนา และรูปค้างคาวเป็นตัวแทนของความร่ำรวยและสิ่งมงคล ส่วนด้านบนเป็นตัวอักษรจีน หมายความว่า เป็นร้านแรกที่ขายหมูแผ่นในประเทศไทย และมีชื่อเสียงทั่วเอเชีย”
“ใช่เลย เฒ่าแก่หรืออากงทำเป็นเจ้าแรก ป้ายเหล่านี้เขียนขึ้นตอนร้านเปิดมาแล้ว 60 ปี แต่ถึงวันนี้ร้านทำมา 4 รุ่นมีอายุ 104 ปี ส่วนคนเขียนอากงเชิญมาจากฮ่องกงเป็นมือหนึ่งของประเทศ เป็นสุดยอดฝีมือของยุคนั้นเลย” อาเจ้เจ้าของร้านกล่าวเสริมขึ้นด้วยรอยยิ้ม
“ถ้าสังเกตดีๆ calligraphy หรือลักษณะเขียนตัวหนังสือไม่เหมือนกันด้วย เพราะอาจารย์แต่ละท่านที่มาเขียนมีความถนัดเป็นของตัวเอง ร้านนี้ถือว่ารวมศิลปะจีนสวยๆ ไว้ครบเลย ตั้งแต่เด็กจนโตร้านนี้สวยที่สุดในเยาวราช สวยไม่เคยเปลี่ยน ไม่มีร้านไหนตั้งใจตกแต่งร้านด้วยงานศิลปะแบบนี้ เป็นความสวยที่หาไม่ได้แล้ว”
อาเจ็กใช้เวลาอยู่ในร้านลิ่มงี่เฮียงนานพอสมควร เพราะต้องการชื่นชมความงาม และสนทนากับอาเจ้ถึงเรื่องราวความเป็นมา บางเรื่องยังคงชัดเจน บางเรื่องเลือนรางจนจำไม่ได้ แต่ไม่ถือเป็นอุปสรรคหรือขัดจังหวะบทสนทนาระหว่างอาเจ้กับอาเจ็กได้
“ดูการวาดลายลงบนคานไม้สิ เขาให้ความใส่ใจทุกระเบียบนิ้วจริงๆ ต้นเสาก็เขียนไว้ว่าไม่มีหมูชิ้นไหนไม่สด ทุกชิ้นใหม่เสมือนล่ามาสดๆ ลิ่มงี่เฮียง คือผู้ดีจีนที่แท้จริง ทุกอย่างต้องตีความถึงจะเข้าใจ แม้ข้อความที่เขียนก็เป็นภาษากวี ถ้าคุณเข้าใจคุณจะรู้ว่าทำไมเจ็กถึงไม่สนใจร้านใหม่ๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้น เพราะร้านเหล่านี้แฝงอะไรบางอย่างแบบนี้ไว้ เขาแสดงออกถึงภูมิความรู้ที่มี ถึงแม้จะเป็นพ่อค้าแม่ค้าก็ตาม นี่คือคาแร็กเตอร์แบบจีนที่ไม่ได้ป่าวประกาศ แต่สะท้อนออกมาผ่านการให้เกียรติคนที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นเขียนป้าย หรือให้คนอื่นกล่าวชมเอง”
“ร้านต่อไปคือร้านขายยาที่ชื่อว่า ไฮว่ยิ้ง ร้านนี้เป็นร้านเดียวในเยาวราชที่มีชื่อร้านจริงๆ ตรงตามที่พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตร ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราชบันทึกไว้ ใช้อ้างอิงตัวเองได้ถึงปี พ.ศ. 2500 เพราะร้านอื่นเปลี่ยนแปลงกันไปหมดแล้ว”
เมื่อเดินครบรอบถนนเยาวราช อาเจ็กพาเดินเข้าซอยขนาดเล็กลัดเลาะผ่านบ้านคนและร้านรวงก่อนทะลุออกมาสู่ถนนแปลงนาม ทำให้พบร้านขายยาอีกร้านชื่อว่า ลิ้มฮุ่นแซ อาเจ็กจึงชวนหยุดพักเหนื่อยด้วยการดื่มน้ำสมุนไพรแช่เย็น
“ที่เรากำลังดื่มกันอยู่คือแช่เช่าหรือน้ำจับเลี้ยงที่ทำมาจากสมุนไพรสด ร้านขายยาที่อื่นส่วนมากเป็นสมุนไพรแห้ง แต่ที่นี่ต้มสดๆ เป็นสูตรแต้จิ๋วโบราณ และที่เห็นป้ายกระจกใหญ่ๆ ภายในไม่ใช่ชื่อร้านนะ แต่คือป้ายขอบคุณ”
“สมัยก่อนนิยมทำกัน เราจะทำป้ายขอบคุณให้หมอที่รักษาเราหาย ป้ายในร้านนี้มีอายุเป็นร้อยปีได้ เขียนโดยคนที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น เมื่อเขียนเสร็จแล้วเขาจะลงชื่อกำกับไว้ด้วย” อาเจ้ผู้ดูแลร้านให้ข้อมูล บทสนทนาเหล่านี้เผยรายละเอียดที่ทำให้ความดั้งเดิมของเยาวราชชัดเจนมากขึ้น
ระหว่างเดินกลับร้านน้ำชา ช่างภาพถามขึ้นว่า – ในเยาวราชอาเจ็กชอบตรงไหนเป็นพิเศษ
“หัวใจเจ็กตกลงตรงนี้ ซอยเยาวพานิชย์ อย่างที่คนสมัยนี้พูดกันว่า sense of place คนแต่ละรุ่น sense of place ก็ไม่เหมือนกัน เพราะความทรงจำในวัยเด็กมันต่างกัน น้อยคนจะเข้าใจเรื่องนี้ เดิมที่ด้านข้างของอาคารหัวมุมคือทางเข้าโรงหนัง ชื่อ เทียนกัวเทียน เดินมาถึงตรงนี้แอร์เริ่มออกมากระทบให้รู้สึกเย็น เข้าไปข้างในมีร้านขายเทปเพลง และหนังสือจากฮ่องกง เป็นการ์ตูนจีนเล่มละ 3-4 บาท มีการ์ตูนสีโดราเอมอนที่ก๊อบฯ ญี่ปุ่นมาอีกที ตอนนั้นเจ็กประมาณประถม-มัธยม แต่อ่านภาษาจีนได้ เกรงใจก็ซื้อ ไม่เกรงใจก็อ่านฟรีไป เล่มไหนศัพท์ง่ายอ่านทันก็ไม่ซื้อ ออกมาข้างนอกมีร้านขายน้ำ ตรงนี้คนเยอะ คนเข้าออกโรงหนังตลอด ตรงข้ามเป็นโรงงิ้ว เจ็กชอบมาเดินเล่น”
“ถัดจากตรงนี้ไปอีกหน่อย เป็นร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นครั้งแรกที่มีทีวีสีมาลงที่เยาวราช เชื่อไหมว่าครั้งแรกที่เปิดให้คนดู คือการ์ตูนทอมแอนด์เจรี่ คนมุงหน้าร้านจนเต็ม บางคนถึงกับต้องข้ามถนนไปมุงฝั่งตรงข้ามด้วย ทุกคนแห่กันมาดูว่ามันเป็นยังไง น่าจะประมาณปี พ.ศ. 2510 กว่าๆ และเป็นร้านแรกด้วยที่เอาวิดีโองิ้วมาเปิด คนก็มุ่งแบบเดียวกันแต่ไม่เยอะเท่าทีวีสี”
ถึงร้านน้ำชาพอดี อาเจ็กนั่งลงที่โต๊ะไม้ตัวเดิม ชุดน้ำชาถูกนำมาเสิร์ฟเหมือนเดิม เมื่อแน่ใจว่าหายเหนื่อย ผมจึงเริ่มถามอาเจ็กอีกครั้ง – เยาวราชในวัยเด็กของอาเจ็กเป็นอย่างไรบ้าง
“ยุคนั้นไม่ได้เป็นยุคที่เยาวราชเจริญสูงสุด แต่มีความเจริญด้านความบันเทิง มีโรงหนังหกโรง มีโรงงิ้วสี่โรง กลับมาจากโรงเรียนก็เดินกับเพื่อนตามถนนทะลุโรงหนัง โรงงิ้ว ครบทุกโรงก็ครบรอบถนนพอดี แต่เยาวราชเปลี่ยนเร็วมาก 10 ปีหลังจากนั้น วิดีโอเริ่มเข้ามาประมาณ พ.ศ. 2525 คนดูหนังน้อยลง ทำให้โรงหนังเริ่มฉายหนังควบ เจ็กจบ ม. 3 หนังจีนก็หายไป หมดยุคโรงหนัง จากนั้นเยาวราชเริ่มมีชื่อเสียงเรื่องการค้าและอาหาร เยาวราชได้รับการส่งเสริมจริงๆ จังๆ ตอนสร้างประตูจีน กลายเป็นถนนมังกร เยาวราชถึงค่อยๆ เติบโตจนเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบัน”
อะไรทำให้อาเจ็กสนใจประวัติศาสตร์ของเยาวราช?
“เจ็กใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ เจ็กไปไหนไม่ได้ (หัวเราะ) เลยคิดว่าต้องสนุกกับที่นี่ให้ได้ ต้องรักให้ได้ เจ็กก็ชอบนะ ด้วยความที่ไม่รู้จะทำอะไร ก็ค่อยๆ ศึกษาซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ บางอย่างเมื่อเริ่มมีอายุจะเข้าใจเอง อย่างป้ายหน้าร้านนี่สะท้อนนิสัยของร้านได้ดีมากๆ เจ็กจับนิสัยแต่ละคนผ่านตัวอักษรได้ เช่น ลิ่มงี่เฮียง เป็นคนละเอียดอ่อน ตัวหนังสือเน้นความสวยงาม ไม่เน้นขนาด อวดภูมิผ่านเรื่องราวและศิลปะที่ตัวเองมี ขณะที่บางร้านเขียนตัวหนังสือขนาดเบ้อเร่อ แสดงถึงความกร่าง ให้อารมณ์ตะโกนใส่ เมื่อดูป้ายส่วนมากจะเห็นความเจียมตัว ระวังตัวไม่ให้เกินหน้ากัน แต่บางคนก็ไม่ใช่ ยิ่งสมัยนี้บางร้านชอบเอามังกรมาตั้งด้านหน้า ถ้าให้เจ็กตีความนะ อันตราย คนพวกนี้ทะนงตัว เพราะสมัยโบราณใครเอามังกรตั้งแบบนี้รับรองตายสถานเดียว เพราะเทียบเท่ากษัตริย์ เขาไม่ทำกัน”
แล้วสมัยอาเจ็กยังเป็นเด็ก กับตอนนี้ ชีวิตหนึ่งวันในเยาวราชแตกต่างกันมากแค่ไหน
“จริงๆ เจ็กไม่ได้สังเกตนะ แต่ชีวิตในหนึ่งวันต่างกันแน่ๆ เมื่อก่อนเดินบ่อยมาก เพราะต้องไปธนาคารดูการโอนเงินจากลูกค้าว่าเขาโอนมาสำเร็จไหม ถ้าลูกค้าไม่มีธนาคารนี้ก็ต้องไปธนาคารอื่น เพราะสมัยก่อนต่างจังหวัดมีธนาคารน้อยมากและไม่หลากหลาย แต่ที่ที่สะดวกที่สุดคือสี่แยกราชวงศ์ มีธนาคารถึง 7 แห่ง คิดดูนะในยุคหนึ่งถ้าเราต้องการโอนเงินระหว่างธนาคาร เราสามารถถือเงินจากธนาคารนี้ข้ามไปอีกธนาคารได้เลย ปัจจุบันทุกอย่างง่ายขึ้น แต่กว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ใช้เวลาเกือบ 20 ปี 20 ปีที่ลูกค้าในจังหวัดชลบุรี ถ้าเรียกเก็บเงินเป็นธนาคารนครหลวงไทย ซึ่งเจ๊งไปแล้ว ต้องใช้เวลา 15 วัน ฟังดูเป็นเรื่องตลก แต่นี่คือเร็วที่สุดแล้ว เพราะมันไม่มีสาขาชลบุรี เป็นเรื่องโง่ๆ ที่เกิดขึ้นในยุคหนึ่ง ถึงวันนี้ทุกอย่างจบไปหมดแล้ว
“พอระบบเปลี่ยนไป จากที่เคยใช้ชีวิตประจำวันแบบนั้น ก็กลายเป็นง่ายขึ้น เรามีเวลาขึ้น แต่ความน่าสนใจกลับน้อยลง สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือคนชอบพูดว่าโรงงิ้วหายไปเพราะคนแก่ๆ หมดรุ่นไป เด็กรุ่นใหม่ไม่ดู ไม่เกี่ยวหรอก ทีวีคุณยังไม่ดูเลย เพราะทุกอย่างสะดวกขึ้น เราดูสิ่งที่เราอยากดู แล้วจะไปโทษว่างิ้วหายเพราะไม่มีใครสืบทอดน่ะ ปัญญาอ่อน
“แล้วบ้านเมืองเราก็เป็นแบบนี้ ผู้ใหญ่พยายามเอาสิ่งเหล่านี้บรรจุให้เด็กได้เรียนเพราะกลัวหาย อย่างมัธยมต้นเจ็กถูกบังคับให้เรียนกระบี่กระบอง ก้าว ชิด ยก จ่วง แล้วได้อะไร (หัวเราะ) ปัญหาคือสิ่งที่ทำอยู่เกิดประโยชน์อะไร สวยงามตรงไหน เลิกฝากไว้กับเด็กได้แล้ว ถ้าคิดว่าสิ่งใดมีประโยชน์ก็ทำให้เขาดูเป็นตัวอย่าง ให้เห็นว่ามันมีประโยชน์อย่างไร แต่บ้านเราไม่ทำกัน หลังจากเจ็กพูดไปแล้ว เจ็กก็ต้องมาคิดเหมือนกัน ทำแบบที่มันเกิดประโยชน์ ทำให้คนรุ่นต่อๆ ไปดู ไม่ได้หวังผลอะไร แค่คุณไปดูไปฟังกับเจ็กแล้วสนุกแค่นี้ก็พอแล้ว มันอาจจะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณไปทำแบบนี้กับที่อยู่ของคุณก็ได้”
พูดถึงการเปลี่ยนแปลง จากวันนี้ถึงอนาคต อาเจ็กคิดว่าเยาวราชกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน
“เจ็กยอมรับการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว แต่เปลี่ยนเป็นอะไรมากกว่าที่เรากลัว แล้วจะต้องแลกหรือเสียอะไรไปบ้าง สมมติว่ามีโรงแรมเข้ามาแทนที่โรงงิ้ว เจ็กคงเลือกโรงแรมเพราะคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากกว่า แต่ถ้ามีร้านสะดวกซื้อเข้ามาแทนแมวดำ เจ็กคงเสียใจ เพราะร้านสะดวกซื้อมีเต็มไปหมด ต้องดูว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นคืออะไร”
“ในวันข้างหน้าการคมนาคมจะสะดวกมากขึ้น ทำให้คนเข้าถึงเยาวราชได้ง่าย แต่คำถามคือเยาวราชสามารถรองรับไหวหรือเปล่า ถามว่าจะขายดีขึ้นไหม ทุกวันนี้ก็เข้าแถวกันอยู่แล้ว แถวก็จะยาวขึ้น แต่อาหารก็จะแย่ลงไปอีก จริงๆ น่าจะคิดกลับว่าในพื้นที่ที่มีการปรับเปลี่ยน ทางการต้องหาอะไรมาชดเชยหรือตอบโจทย์ให้ได้ คนเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่ยังเท่าเดิม แล้วจะมีประโยชน์อะไร ไม่มีใครปฏิเสธความเจริญหรอก เพียงแต่จะดีกว่าไหมถ้ามีพื้นที่สำหรับวัฒนธรรมยังคงอยู่”
ดังนั้นการได้รู้ความเป็นมาและเรื่องราวในอดีตอาจทำให้ก้าวไปในอนาคตข้างหน้าได้อย่างถูกทิศถูกทางมากกว่า
“เยาวราชคือชีวิตของเจ็ก ที่เจ็กทำทั้งหมดคนชอบถามว่าทำเพื่ออะไร การเรียนรู้อดีตทำให้เจ็กรู้ว่าทิศทางของเยาวราชกำลังไปทางไหน ในมุมหนึ่งไม่ได้คิดว่ามันเจริญขึ้น แต่ที่เจ็กทำเพราะอยากรู้จักตัวเอง ทำไมเป็นคนแบบนี้ ทำไมพูดจีนได้บางส่วน อ๋อ เพราะติดต่อกับคนจีน ทำไมชอบดูหนังจีน อ๋อ ไม่ได้ชอบหรอก แต่ไม่มีหนังอื่นให้ดู (หัวเราะ) ทำไมต้องพูดภาษาอังกฤษ เพราะที่นี่มีความหลากหลาย ทำไมชอบดูงิ้ว เพราะจะได้กินช็อกโกแลตที่โรงงิ้วเมื่อมากับแม่ ทำไมชื่นชมหมูแผ่น เพราะเป็นของกินที่ดีที่สุดในยุคหนึ่ง วันไหนได้กินวันนั้นโชคดีมาก
“เข้าใจไหม เจ็กค้นพบตัวเองได้ เจ็กสนุกกับมัน เรียนรู้มัน มีความทรงจำกับมัน เจ็กที่เดินไปพร้อมกับภาพซ้อนอีกชุดหนึ่งในหัว จำได้ว่าตรงนี้เคยเป็นร้านอะไรมาก่อน อย่างร้านนี้เคยเป็นร้านขายขนมเปี๊ยะเจี่ยน่ำเฮง แต่วันนี้กลายเป็นร้านน้ำชาที่เรานั่งคุยกัน
“สุดท้ายมันสนุกมาก เราใช้ชีวิตอย่างที่เราเป็น รู้ความเป็นมาของเรา ทำไมเราเป็นคนแบบนี้ ชอบไม่ชอบเพราะอะไร พอคุณค้นพบตัวคุณเองได้เมื่อไหร่ คุณจะสนุกไปกับมัน มีวิถีชีวิตที่สนุก เวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน แพลตฟอร์มเปลี่ยน ชุดความคิดเปลี่ยน เราจะคิดแบบเดิมไม่ได้ แต่ต้องคิดตอบโจทย์คนรุ่นต่อไป”
ไม่ว่าใครก็ตามถ้าได้ฟังและคิดตาม เชื่อได้เลยว่าเรื่องเล่าจากประสบการณ์และความรู้ของอาเจ็ก ทำให้รับรู้ได้ถึงความลุ่มลึกของเยาวราชที่ซุกซ่อนอยู่
“เจ็กเชื่อว่าสถานที่ทุกแห่งพูดได้ และเยาวราชพูดกับเจ็กแบบนี้ แต่น้อยคนที่จะสนใจ ทั้งๆ ที่มันสะท้อนสังคมในยุคนั้นได้ ทุกร้านที่เจ็กพาไปคือจิตวิญญาณของเยาวราชที่ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็น Somewhere in Time ดูแต่ละตึกสิ เห็นลวดลายไหม โคตรฟู่ฟ่าเลย และมันกำลังพูดกับเรา ทำให้เราระลึกถึงอดีต อย่างที่บอกไปเจ็กมีภาพจำคู่ขนานอยู่
“เจ็กเรียนรู้อดีต เรียนรู้ความล้มเหลว เพื่อเรียนรู้อนาคต และมองเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ เป็นบทเรียนที่เจ็กคิดว่าบ้านเราไม่มี ถ้าไม่รู้อดีตเราจะไม่รู้ว่าอนาคตเป็นอย่างไร แล้วความผิดพลาดก็จะเกิดขึ้นซ้ำๆ อยู่เรื่อยๆ ท้ายที่สุดทุกอย่างในเยาวราชพร้อมจะหายไปเมื่อไหร่ก็ได้นะ สิ่งที่ยึดโยงกับเยาวราชคืออะไรกันแน่ ขนมปังปิ้งหรอ อาหารทะเลเผาหรอ เมื่อรากฐานไม่ชัดเจน จุดที่คนให้ความสนใจกับตัวตนที่เป็นจริงๆ ก็ไม่ตรงตำแหน่งกัน”
ฟ้าเปลี่ยนเป็นสีส้มนวล ดวงอาทิตย์กำลังลาลับ แต่ชีวิตในเยาวราชยังคงดำเนินไปและไม่เคยหยุดนิ่ง ผู้คนหลากหลายเดินกันขวักไขว่ รถราแล่นผ่านส่งเสียงเครื่องยนต์จอแจ
การได้มารับความรู้จากอาเจ็กวันนี้ คือการเปิดมุมมองที่กว้างแต่ลึกซึ้ง
เมื่อสถานที่บางแห่งยังไม่ถูกแทนที่ด้วยสิ่งใหม่ และเวลาอาจพาเอาความเก่าเข้าครอบครองทุกสิ่งได้ก็จริง สีที่เคยสดอาจซีดจางไปบ้าง ฝุ่นและหยากไย่อาจเข้าปกคลุม แต่ไม่อาจปิดบังคุณค่าของสิ่งนั้นในสายตาของคนที่เข้าใจเบื้องหลังความเป็นมาได้
นี่คือเสน่ห์ของเยาวราชที่คงอยู่ท่ามกลางความแปรเปลี่ยนของชีวิตและสังคมที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ผ่านเรื่องราวทั้งหมดที่อาเจ็กตั้งใจถ่ายทอดให้คนต่างรุ่นอย่างผมและคุณได้รู้ บางทีการมาเยาวราชครั้งต่อไปของเราอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป