คลองสาน

คลองสาน | ตามรอยเส้นทางการค้าอันรุ่งเรืองในอดีตริมฝั่งเจ้าพระยา และศูนย์รวมชุมชน 3 ศาสนา

ช่วงสายที่แสงแดดส่องทำมุมทแยงกับศีรษะ อากาศที่เริ่มอบอ้าวขึ้นบ่งบอกให้รู้ว่าฤดูร้อนกำลังใกล้เข้ามา เรามีนัดกับกลุ่ม GoodWalk Thailand บริเวณย่านคลองสานฝั่งธนบุรี ซึ่งเป็นโครงการที่ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Urban Design and Development Center: UddC) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินการตั้งแต่กลางปี 2557 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินของผู้คนในพื้นที่เมืองในชีวิตประจำวัน ด้วยแนวความคิดที่ว่า ‘การเดิน’ เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่จะสามารถช่วยเปลี่ยนแปลงและยกระดับคุณภาพชีวิตคนในเมืองให้ดีขึ้นได้

  เช่นกันกับทุกครั้งที่เรามีโอกาสข้ามจากฝั่งพระนครมาสู่ฝั่งธน เรามักมีความรู้สึกราวกับได้เดินทางย้อนวันวาน ด้วยลักษณะเมืองและชุมชนของย่านฝั่งธนที่ยังคงร่องรอยความเป็นอดีตไว้ในหลายพื้นที่ แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงแทรกเข้ามาตามยุคสมัย แต่ทว่าความกลมกลืนระหว่างสิ่งเก่าและสิ่งใหม่ยังผสานไปด้วยกันได้

  หากกล่าวในเชิงข้อมูล ย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นย่านประวัติศาสตร์ริมแม่น้ำเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ยังมีลมหายใจของวันวานหลงเหลืออยู่ ที่นี่ถูกค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงที่เมืองขยับฐานะขึ้นเป็นศูนย์กลางการปกครอง ย่านทั้งสองก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้าขายทางน้ำ บรรดาพ่อค้าจากต่างชาติเริ่มเข้ามาตั้งบ้านเรือนและร้านค้า จึงเกิดเป็นชุมชนหลากศาสนาหลายวัฒนธรรมขึ้นทั้งแขก จีน ลาว โปรตุเกส

  แต่ถึงแม้เวลาล่วงเลยผ่านมาหลายทศวรรษ ภาพของย่านกะดีจีน-คลองสานก็ยังคงมนต์เสน่ห์ความคลาสสิกไม่เสื่อมคลาย อาคาร สถานที่ ผู้คน มรดกทางวัฒนธรรมต่างๆ แม้จะทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังคงตระหง่านอยู่ที่เดิมให้คนรุ่นเก่าได้หวนคิดถึง และให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ บนพื้นที่แห่งสังคมพหุลักษณ์ที่ผสมผสานหลากความเชื่อเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนไม่ต่างจากในวันวาน

  เส้นทางที่กลุ่ม GoodWalk Thailand พาลัดเลาะไปวันนี้เป็นเส้นทางที่จะนำเราไปสัมผัสกับความแตกต่างของชุมชน 3 ศาสนา และตามรอยเส้นทางการค้าในวันวานของย่านคลองสานริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่การค้ารุ่งเรืองมาจนถึงวันนี้ ที่ร่องรอยของการค้าในอดีตยังคงปรากฏให้เราโหยหาเพื่อสร้างความเข้าใจ

  “ตอนนี้ทางกลุ่มเรากำลังทำการสำรวจพื้นที่นำร่อง 3 ย่าน เพื่อออกแบบสู่เมืองเดินได้-เมืองเดินดี คือย่านกะดีจีน-คลองสาน, อารีย์-ประดิพัทธ์ และทองหล่อ-เอกมัย ทั้ง 3 ย่านนี้มีจุดร่วมคือเป็นย่านที่มี high accessibility สามารถเข้าถึงจุดหมายต่างๆ ในชีวิตประจำวันโดยการเดิน มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลักดันได้ในโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี หนึ่งคือมีศักยภาพในเรื่องของพื้นที่ มีจุดหมายปลายทางสำหรับการเดินเท้า สองคือมีพาร์ตเนอร์ที่พร้อมจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน”

  ‘ต่อ’ – อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และผู้จัดการโครงการเมืองเดินได้-เมืองเดินดี หนึ่งในสมาชิกของ UddC และ GoodWalk Thailand ซึ่งรับหน้าที่เป็นไกด์เฉพาะกิจกับเราในวันนี้อธิบายถึงโครงการ

  “วันนี้แดดดี แต่อาจจะร้อนหน่อยนะครับ” เมื่อเขาพูดจบ เราและทีมงาน GoodWalk Thailand ก็กระชับเป้สะพายและเริ่มออกเดิน

คลองสาน


  เราเริ่มออกเดินจากมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน ลัดเลาะไปตามชุมชนที่ใช้ชีวิตประจำวันกันอย่างสงบเรียบง่ายเหมือนคาแร็กเตอร์ของย่านฝั่งธนที่เรามักนึกถึง เราสงสัยว่าทำไมทางกลุ่มถึงเลือกย่านกะดีจีน-คลองสานเป็นหมุดหมายของการเดินในวันนี้

  “เพราะย่านคลองสานดูเป็นย่านที่อยู่อาศัยครับ ไม่ค่อยมีย่านอย่างนี้ในกรุงเทพฯ แล้วนะ เป็นย่านที่ยังหลงเหลืออยู่ เราอยากให้มาดูทั้งในเรื่องของ GoodWalk ก็ดี เรื่องมรดกวัฒนธรรมและความเป็นชุมชนด้วยก็ดี

  “อย่างอารีย์ก็จะเป็นย่านมิกซ์ยูสที่เต็มไปด้วยร้านกาแฟและคาเฟ่ต่างๆ ส่วนทองหล่อ-เอกมัยจะมีความเป็น nightlife มากกว่า daylight ก็จะเป็นอีกคาแร็กเตอร์หนึ่ง ส่วนย่านนี้จะสะท้อนการเป็นตัวแทนย่านที่อยู่อาศัย เป็นชุมชนในกรุงเทพมหานคร โดยแบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ดิน ที่สำคัญคือมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เพราะมี 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ถือเป็นจุดเด่นของย่านนี้เลย เขาสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม”

  ราวกับเดินอยู่ในโลเกชันสำหรับถ่ายภาพยนตร์ที่มีถนนสายเล็กๆ อาคาร ร้านค้า บ้านหลังน้อย ผู้คนอาศัยการเดินเท้าไปมาในบรรยากาศแบบชุมชน เราเดินผ่านซุ้มประตูแขกเป็นที่แรก ซึ่งเป็นทางเข้าออกหมู่บ้านแขก ซุ้มแห่งนี้สร้างขึ้นโดยประดับตราพระอาทิตย์เหนือปีที่สร้าง 1913 และอักษร R B M C O และ ซึ่งมีความหมายถึงกลุ่มพ่อค้าชาวอินเดียที่เดินทางมาจากเมืองแรนเดอร์ แคว้นสุรัต ประเทศอินเดีย โดยตัวอักษรย่อมาจากคำว่า RANDER BARAMAGAN COMPANY ที่แปลความหมายได้ว่า บริษัทที่ดำเนินกิจการอันยิ่งใหญ่ของชาวแรนเดอร์

คลองสาน


  “เหมือนอยู่ในกองถ่ายภาพยนตร์เลยนะครับ”

  “ความจริงย่านนี้เคยใช้ถ่ายภาพยนตร์เมื่อนานมาแล้วนะครับ น่าจะสมัยที่คุณแม่พวกเรายังเด็กยังสาวด้วยซ้ำ แต่โชคไม่ดี เราลืมไปแล้วว่าเรื่องอะไร” พวกเขาตอบพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ

  “อย่างที่เห็น ตรงนี้เป็นกลุ่มเรือนแถวไม้ชั้นเดียว มุงหลังคาด้วยกระเบื้องซีเมนต์ ซึ่งเรียงรายต่อเนื่องไปตามแนวถนนข้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่า บ่งบอกถึงวัฒนธรรมการอยู่อาศัยของผู้คนย่านนี้ในอดีต ถึงตอนนี้จะดูทรุดโทรมไปบ้าง แต่ผู้คนก็มีความพยายามที่จะรักษาด้วยการแต้มสีเพิ่มความสดใส ซึ่งช่วยสร้างเสน่ห์ให้กับชุมชนย่านนี้” ตรงหน้าเรามีอาคารบ้านเรือนเก่าๆ ที่มีการเพนต์สีเป็นลวดลายต่างๆ เพิ่มสีสันและชีวิตชีวาให้กับที่อยู่อาศัยขึ้นมา

คลองสาน
คลองสาน

  นอกจากนั้น เรายังสังเกตเห็นภาพสตรีทอาร์ตทั้งบนกำแพงและพื้นอยู่เป็นระยะๆ ทั้งรูปสัตว์ ดอกไม้ หรือตัวการ์ตูนต่างๆ ซึ่งใครที่มาเดินเล่นย่านนี้คงไม่พลาดที่จะถ่ายรูปอัพลงโซเชียลฯ เป็นแน่

  “แล้วพวกภาพสตรีทอาร์ตเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ยังไง?”

  “สตรีทอาร์ตพวกนี้เป็นผลมาจากงาน Eat in Soi ที่ผ่านมา มีการเชิญศิลปินมาเพนต์และสร้างงาน Art Installation ในชุมชน เช่น ตีนแมวแบล็กไลต์ที่แปะอยู่ตามถนน พอตกกลางคืนจะเห็นเป็นรอยเท้าแมวเรืองแสง เหมือนให้เดินตามรอยเท้าแมวไป สวยงามเลยล่ะครับ” พวกเขาชี้ชวนให้มองดูรอยเท้าเจ้าเหมียวที่ติดอยู่ตามจุดต่างๆ ทำเอาเราอยากเห็นรอยเท้าแมวเรืองแสงในยามค่ำคืนขึ้นมา

  แม้ชุมชนแห่งนี้แทบไม่มีทางเท้าให้เห็น แต่ผู้คนก็ยังเลือกสัญจรบนถนน ทั้งการเดิน การปั่นจักรยาน หรือกระทั่งใช้มอเตอร์ไซค์ ทั้งหมดสามารถอยู่ร่วมกันโดยไม่เห็นถึงความวุ่นวายเหมือนถนนหรือพื้นที่ชุมชนใหญ่ๆ ในเมือง

  “ความจริงสิ่งที่น่าเดินของย่านที่อยู่อาศัยคือตรอกซอกซอยแบบนี้แหละครับ จะเห็นว่าแม้ไม่มีทางเท้า แต่คนสามารถเดินได้ คนกับรถจะรู้สึกเท่าๆ กันเลย เวลารถมาก็จะชะลอให้เรา เราเดินบนถนนได้แบบไม่ต้องรู้สึกว่าต้องการทางเท้า เพราะว่าย่านที่อยู่อาศัยแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมีทางเท้าก็ได้ เพียงแต่รถก็ต้องเข้าใจว่านี่เป็นย่านที่อยู่อาศัย ต้องไม่ขับรถเร็ว ต้องให้เกียรติคนเดินเท้าด้วย สิ่งนี้ก็เป็นคาแร็กเตอร์ของย่านที่อยู่อาศัย

  “ก่อนหน้านี้เราเคยทำโครงการกรุงเทพฯ 250 ตรงย่านคลองสาน เป็นพื้นที่นำร่องของโครงการที่ส่งเสริมเรื่องการปรับปรุงทางเท้าต่างๆ ในย่าน ทีนี้เราก็ได้ทางเดินเท้าที่เรียกว่าตรอกดิลกจันทร์มาปรับปรุง พอไม่ใช่ถนนซีเมนต์ก็มีปัญหาเรื่องความลื่น แต่หลังๆ มาก็ดีขึ้น อาจจะลื่นสำหรับรถ แต่กับคนไม่ค่อยมีปัญหาครับ”

  “ถือเป็นเสน่ห์หลักที่ดึงดูดให้คนมาเดินย่านนี้เลยใช่ไหม”

  “ใช่เลยครับ มันเหมือนจะเดินหลงนะ แต่ความจริงคือมีเส้นทางที่ตัดทะลุให้เดินลัดกันได้ มาจากโจทย์ที่ว่า ถ้าสร้างเส้นทางเชื่อมแล้วให้คนเดินทะลุได้ก็จะเป็นการดึงดูดให้คนเดินมากขึ้นด้วย แต่ถ้าพื้นที่ไหนที่เดินแล้วรู้สึกจะหลงหรือเป็นซอยตัน คนก็ไม่กล้าเดินเข้ามา ถูกไหมครับ คนก็จะเลือกขับรถมากกว่า”

คลองสาน


  ปัจจุบัน หลายย่านในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ยังเดินไม่ได้และเดินไม่ดี สาเหตุหลักๆ เป็นเพราะผังเมืองที่ไม่มีการวางแผน ถนนใยแมงมุมที่ไม่สมประโยชน์ จุดตัดน้อย บล็อกถนนใหญ่ ทำเส้นถนนยาวเพื่อรองรับปริมาณสัญจรของรถเป็นหลัก มีทางเลือกในการเดินน้อย เพราะไม่ค่อยมีจุดตัดของถนนที่จะเชื่อมหลายเส้นทางเข้าด้วยกัน ชุมชนเล็กๆ แบบนี้ทำให้เราเห็นภาพเหล่านั้นชัดเจนยิ่งขึ้น

  ระหว่างทาง เราเดินสวนกับนักท่องเที่ยวที่มาเดินเล่นในย่านนี้เช่นกัน หลายคนสะพายกล้อง มีรอยยิ้มแต้มบนใบหน้า ยกกล้องขึ้นถ่ายมุมนั้นมุมนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยิ้มต้อนรับ เราคิดว่าพวกเขาก็คงจะเริ่มชินกับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวแล้ว

  “ชุมชนคลองสานก็เป็นย่านน่าเดินที่ตอบโจทย์สองอย่าง หนึ่ง คือการเดินในชีวิตประจำวัน สอง คือการเดินเที่ยว แต่จะไม่เกิดการเดินเร่งรีบเหมือนการเดินในย่านเศรษฐกิจอย่าง สาธร-สีลม หรือเดินย่านอารีย์ในตอนเช้าที่ต้องรีบไปทำงาน

  “การเดินที่คลองสานจะเป็นอีกอารมณ์หนึ่ง สามารถใช้เวลาในการเสพบรรยากาศข้างทาง ไม่ต้องรีบร้อนมาก เพราะวัตถุประสงค์การเดินที่นี่คือการเดินในชีวิตประจำวัน เช่น เดินมาเจอร้านค้า ร้านอาหาร แล้วอีกกลุ่มก็จะเป็นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเดินลัดเลาะตามกิจกรรมต่างๆ หรือมาเดินเที่ยวเฉยๆ พอเราสร้างการรับรู้ไปในสื่อเยอะๆ คนทั่วไปก็เริ่มรู้จักย่านนี้มากขึ้น”

คลองสาน


  “คนที่อยู่ที่นี่ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่มาตั้งแต่อดีตใช่ไหมครับ”

  “ใช่ครับ นี่คือเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของที่นี่ ดังนั้น คนในพื้นที่นี้เลยมีความรู้สึกเหมือนเป็นถิ่นที่ของเขา ความเป็นพลเมืองยังคงอยู่ อย่างพวกเราเหมือนเป็นประชากรแฝง แต่สำหรับคนที่นี่มันคือบ้าน เขาก็อยากจะทำอะไรที่ทำให้บ้านของเขาน่าอยู่ขึ้น ดังนั้น ก็เลยมีเรื่องราวตั้งแต่อดีตสั่งสมมาถึงรุ่นลูกรุ่นหลานที่ยังอยู่ที่นี่” เขาอธิบายในตอนที่เรายืนหลบแดดอยู่ใต้ร่มเงาของหลังคาบ้านหลังหนึ่ง

  “อย่างที่บอก คลองสานจะแบ่งเป็นย่านตาม 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ ก็แบ่งไปตามศูนย์รวม ศูนย์รวมในสมัยก่อนคือใช้หลักการ ‘บวร’ คือบ้าน วัด โรงเรียน แต่วัดตรงนี้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปตามศาสนา เช่น บ้าน มัสยิด โรงเรียน ฉะนั้นในนี้ก็จะเป็นชุมชนที่อยู่โดยรอบศาสนสถานที่เหมือนเป็นศูนย์รวม ยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็มีทั้งวัด โบสถ์คริสต์ และมัสยิด”

  หลังออกเดินมาไม่ไกลเราก็พบกับศาลเจ้าพ่อเสือ บริบทของแถวนี้เป็นชุมชนไทยพุทธที่มีความเชื่อจีน ศาลเจ้าแห่งนี้จึงเสมือนศาลเจ้าท้องถิ่นของผู้คนชาวจีนที่อาศัยในบริเวณนี้ มีความผูกโยงกับความเป็นหลักบ้านของชุมชน เป็นศูนย์รวมจิตใจ โดยศาลนี้เป็นศาลหลังใหม่ที่สร้างขึ้นทดแทนหลังเก่าที่สูญเสียไปในเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งใหญ่ย่านตลาดสมเด็จเมื่อหลายสิบปีก่อน

คลองสาน

 
เราออกเดินต่อมาจนถึงจุดศูนย์รวมอีกแห่งของชุมชน อย่างอุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าอุทยานสมเด็จย่า ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาได้จัดสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2536 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จย่าของปวงชนชาวไทย ซึ่งเติบโตและดำเนินชีวิตวัยเยาว์ในย่านคลองสาน

  ภายในสวนร่มรื่นด้วยแมกไม้น้อยใหญ่และเสียงนกร้อง มีผู้คนเดินออกกำลังกาย บ้างจับกลุ่มนั่งคุยกันใต้ร่มไม้ ราวกับที่นี่เป็นปอดของชุมชน และเป็นแหล่งพักผ่อนนอกเหนือจากบ้านของตน 

  “ตรงนี้ก็ถือเป็นพื้นที่สาธารณะของย่าน เป็นจุดรวมของผู้คนที่เดินเข้ามา อย่างคนแก่ๆ ตอนเย็นก็จะมีรำไทเก๊กด้วย ประชาชนทั่วไปก็จะมาเดินออกกำลังกาย หรือบางทีก็เป็นพื้นที่สำหรับแก๊งนักวาดภาพในเมือง หรือกลุ่ม Urban Sketcher ก็มานั่งวาดที่นี่”

  เรานึกถึงช่วงก่อนหน้านี้ที่กรุงเทพฯ ประสบปัญหาฝุ่นควันในเมืองและส่งผลกระทบต่อประชาชน แน่นอนว่าประเด็นนั้นย่อมส่งผลต่อผู้คนที่ใช้การสัญจรในพื้นที่โล่งโดยเฉพาะการเดินเท้า จักรยาน หรือมอเตอร์ไซค์

  “ช่วงที่มีปัญหาฝุ่นควันหนักๆ มันส่งผลต่อคนในชุมชนบ้างไหม”

  “ก็ต้องมีอยู่แล้วครับ แต่เขาก็ยังต้องใช้ชีวิตประจำวันต่อไป” เขาหยุดไปครู่หนึ่งก่อนอธิบายต่อ

  “อย่างวันที่มีฝุ่น เราก็รู้สึกว่าหายใจไม่ค่อยสะดวก ความจริงไม่ใช่แค่ที่กรุงเทพฯ เพราะก่อนหน้านี้เราไปที่เชียงใหม่มา ก็ได้ไปคุยกับอาจารย์ที่ทำเรื่องฝุ่นควันที่เชียงใหม่ เขาบอกว่าเวลาเจอฝุ่นควันที่กรุงเทพฯ กับเชียงใหม่มันต่างกันนะ เวลาอยู่เชียงใหม่เขายังรู้สึกหายใจได้ ไม่แสบคอแสบจมูกเหมือนที่กรุงเทพฯ เพราะปัญหาที่เกิดจากรถยนต์นี่แหละ อย่างที่ทราบกัน 47% ของปัญหาฝุ่นควันในกรุงเทพมหานครเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์จากท่อไอเสีย แต่อย่างเชียงใหม่เป็นฝุ่นที่เกิดจากการเผาไร่ เผาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร มันจึงต่างกัน นั่นคือ pm 2.5 จริงๆ แต่ว่าในกรุงเทพฯ จะมีสารพิษตัวอื่นปนอยู่

  “ดังนั้น บริบทของเมืองถึงแม้จะมีฝุ่นควันเหมือนกัน แต่ที่นั่นยังหายใจได้ เพราะมีต้นไม้คอยช่วยดูดซับ สิ่งที่กรุงเทพฯ เผชิญไม่ใช่แค่ pm 2.5 แต่ยังมีสารพิษปะปนอยู่ในอากาศ ซึ่งนั่นแหละคือสาเหตุของการแสบคอแสบจมูก”

คลองสาน


  เราเดินทะลุตรอกซอกซอยในชุมชนเรื่อยๆ ลมเย็นๆ พัดพากลิ่นต้นไม้และแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ไม่ไกลโชยมาเป็นระลอก บางช่วงที่พระอาทิตย์ถูกก้อนเมฆลอยบดบังสาดร่มเงาลงมาระหว่างเดิน เราจะมีความรู้สึกเหมือนเดินอยู่ในอดีต ภาพฝันเก่าลอยคลุ้งอยู่ตามบ้านเรือน ถนนหนทาง และผู้คน ราวกับวันเวลาได้ถูกแช่แข็งไว้

  “ตรงนี้เป็นโรงเกลือเก่าครับ” เขาอธิบายขึ้นมา เมื่อเห็นเราสนใจอาคารไม้หลังใหญ่ที่อยู่ข้างทาง และมีป้ายแปะบอกว่าชื่อโกดังเกลือแหลมทอง ที่นี่เป็นเสมือนร่องรอยของย่านการค้าเก่าแก่ กิตติ มคะปุณโญ เจ้าของโกดังโรงเกลือแห่งนี้เคยเล่าว่า สมัยก่อนคลองสานมีโรงเกลืออยู่ 3 แห่ง เกลือที่เข้าโรงเกลือนำมาจากสมุทรสาครและสมุทรสงคราม บรรทุกเรือกระแชงล่องมาทางคลองด่าน เข้าคลองคะนอง ออกแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนมาขึ้นที่หน้าโรงเกลือ และนำมาเก็บสต็อกไว้ในโกดัง

  “สมัยก่อนแถวนี้เป็นย่านธุรกิจ อยู่ตรงข้ามกับฝั่งเยาวราชเลย ทั้งสองฝั่งก็จะส่งของขายกันผ่านทางเรือ ส่วนปัจจุบันไม่มีการดำเนินกิจการแล้ว แต่ยังคงร่องรอยการค้าขายในอดีตไว้เช่นเดิม ก่อนหน้านี้ก็มีการจัดกิจกรรมฉายหนังข้างในนี้ ก็ได้บรรยากาศได้อารมณ์ไปอีกแบบ”

คลองสาน

 
    ไม่ไกลจากโกดังโรงเกลือ เป็นโกดังเซ่งกี่ โรงฟอกหนังวัวหนังควายของชาวจีนในอดีต ร่องรอยปริแตกและฝ้าที่เกิดจากหยาดฝนบนตัวอาคารบ่งบอกการผ่านเรื่องราวและกาลเวลาได้เป็นอย่างดี อาคารสองแถวที่ยาวขนานหันหน้าออกสู่แม่น้ำใกล้กับท่าน้ำดินแดง ด้านบนอาคารเขียนว่า S.K. BULDING สถานที่แห่งนี้เป็นของชาวจีนที่เข้ามาซื้อที่ดินของกลุ่มแขก และจัดตั้งเป็นโกดังค้าหนังวัวหนังควาย ซึ่งเป็นกิจการค้าที่รุ่งเรืองอย่างมากของชาวจีนเมื่อ 80 กว่าปีก่อน ทุกวันนี้ก็ยังมีบางส่วนที่ใช้สำหรับเก็บยาจีน

คลองสาน


  ตรงกันข้ามเป็นโกดังสินค้าของพ่อค้าแขกค้าน้ำตาลทรายที่เรียกว่า M.V. ปาเต็น ในสภาพชำรุดทรุดโทรม เห็นโครงอาคารที่เป็นอิฐและปูน เราหยุดยืนฟังความเงียบและหลับตาจินตนาการถึงเสียงเซ็งแซ่จากความคึกคักในอดีต ราวกับจะมีภาพต่างๆ ผุดขึ้นในห้วงสำนึก

  เดินต่ออีกไม่ไกลก็มาถึงบริเวณทางเดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาอันเงียบสงบ มีเสียงเรือโดยสารขับผ่านไปมาเป็นระยะ ส่งระลอกคลื่นซัดสาดริมฝั่งและกลิ่นความชื้นในมวลอากาศ บริเวณทางเดินมีที่นั่งพักเป็นจุด และมีความร่มรื่นของต้นไม้ที่ปลูกไว้ริมทางให้ได้หลบแสงแดดที่ส่องลงมา บางช่วงเราเห็นชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีอายุนั่งพัก บ้างก็ตกปลา ยืนจับกลุ่มพูดคุยกัน

  “คนที่นี่ หรือเศรษฐกิจของที่นี่เป็นอย่างไร เขาทำอะไรกันบ้าง”

  “ส่วนใหญ่ก็เป็นการค้าขาย ความจริงเป็นย่านเหมือนเยาวราชเก่า เขาก็จะทำมาค้าขายกันในพื้นที่เล็กๆ ถ้าเป็นเจ้าของที่ดินใหญ่ๆ ก็จะเป็นระดับเจ้าสัวเลย เช่น เจ้าของโรงเกลือ หรือเจ้าของที่ดินริมน้ำสมัยก่อน อย่างล้ง 1919 ที่เคยเป็นที่เก็บข้าวสารสมัยก่อน อันนั้นก็จะเป็นระดับศักดินาที่มีฐานะไปเลย ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นชาวบ้านที่ค้าขายทั่วไปครับ”

  “แล้วการเข้ามาของกลุ่มต่างๆ ที่พยายามจะมาจัดกิจกรรมช่วยยกระดับชุมชน มีความยากง่ายอย่างไร”

  “ความจริงถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนนะครับ ถ้าเราจัดอะไรโดยที่ไม่บอกเขา เขาจะรู้สึกว่าเรามารุกราน เพราะว่าเขามีบ้านอยู่ที่นี่ ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ ดังนั้น การพัฒนาหรือการสร้างย่านท่องเที่ยว ความจริงแล้วมันยากมาก คือชาวบ้านต้องเอาด้วย ถ้าไม่เอาด้วยก็จะกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนที่มาทำอะไรบนพื้นที่กับคนใน ดังนั้น ต้องประสานประโยชน์ระหว่างคนนอกกับคนในในการที่จะทำอะไรก็ตาม”

  “กระบวนการสร้างความเข้าใจน่าจะเป็นเรื่องยากมากเลยใช่ไหมครับ”

  “ใช่ อย่างงานกิจกรรมตลาดที่ผ่านมาก็จะมีการว่าจ้างชาวบ้านที่ค้าขายอยู่แล้ว เราให้เขามีสิทธิ์ในการที่จะมาขายของในพื้นที่ก่อนคนข้างนอก ถือว่าโอเคนะ เพราะเราทำงานร่วมกับเขา ทำงานร่วมกับประธานชุมชน หรือกับกลุ่มที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ เช่น กลุ่มคนที่เป็นเฮียต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ พอเราคุยกับเฮียเข้าใจแล้ว เขาก็จะไปคุยกับชาวบ้านให้ ดังนั้น ก็จะไม่ค่อยมีปัญหา นอกจากชาวบ้านแล้ว เจ้าบ้านที่เป็นทางการก็ต้องประสาน เช่น สำนักงานเขต สำนักงานเทศกิจ ตำรวจ ก็ต้องแจ้งให้ทราบทั้งหมดครับ”

คลองสาน


  ระหว่างเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เขาชี้ชวนให้เราดูสถานที่สำคัญอีกแห่งคือมัสยิดเซฟี หรือมัสยิดตึกขาวของพวกโบห์รา กลุ่มพ่อค้าชาวอินเดียจากกุจราต ที่เดินทางมาค้าขายในสยามหลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง ทำการค้าผ้าแพรพรรณ ดิ้นเงินดิ้นทอง เพชรพลอย เครื่องเทศ สมุนไพร เครื่องหอม น้ำอบ และอื่นๆ ตัวอาคารแม้จะมองจากจุดที่อยู่ไกลก็สามารถเห็นความสวยงามของสถาปัตยกรรมได้

  “ปกติหากจะเข้าไปชมต้องติดต่อทางมัสยิดล่วงหน้า แต่วันนี้น่าจะมีกิจกรรมของทางมัสยิดอยู่ เราเลยไม่ได้เข้าไป”

  “ถามจริงๆ ว่าพวกคุณชอบอะไรที่สุดในย่านนี้” เราโยนคำถามระหว่างเดิน

  “คิดว่าเป็นทั้งสถานที่และผู้คนรวมๆ กันครับ คือพอเป็นย่านเก่าที่ยังมีคนอยู่จริงๆ  ก็เลยมีชีวิตชีวา เปรียบเทียบกับย่านที่เราอยู่ คนแทบไม่รู้จักกันนะ ไม่เหมือนอยู่ต่างจังหวัด บ้านใกล้กันก็รู้จักกัน แต่ย่านอื่นๆ ไม่เป็นอย่างนั้น เราอยู่คอนโดฯ แค่ห้องข้างกันเราก็ไม่รู้จักกันแล้ว” เราฟังและเห็นด้วยกับคำตอบของเขา

คลองสาน
คลองสาน


  หลังจากเสื้อเริ่มชุ่มเหงื่อ เราเดินย้อนกลับมาเส้นทางเดิม ลมเย็นๆ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาช่วยพาอากาศร้อนไปได้บ้าง ขามาเราพยายามจดจ่อและตั้งใจฟังสิ่งที่เขาชี้ชวนให้ดู แต่ขากลับ เราเริ่มรู้สึกสนใจในความเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาในย่านนี้ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ช้าไม่นาน ทุกการพัฒนาจะต้องนำมาซึ่งผู้คน เศรษฐกิจ และความเจริญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายชุมชนในเมืองที่เป็นย่านเก่าพยายามปรับตัว แต่บางทีความเจริญที่เข้ามาอย่างรวดเร็วก็ทำให้บางคนปรับตามไม่ทันและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หรือบางย่านที่มีความเปลี่ยนแปลงมากเกินไปก็นำมาซึ่งการสูญเสียอัตลักษณ์แห่งชุมชนที่น่าเสียดาย

  “เรื่องนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่เรากังวลและระมัดระวังอยู่แล้ว ความจริงก็กับทุกเรื่องนะ เช่น การเข้ามาของห้างใหญ่ๆ ที่มีผลกระทบทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับรากหญ้า ซึ่งความจริงแล้วเป็นการพัฒนาที่จะทำให้คนแถวนี้ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ไม่ได้รับการพัฒนาต่อไป

  “เพียงแต่ว่ามันจะไม่เกิดกระบวนการนั้นขึ้นเพราะเรามีกลไกของมูลนิธิ มีกลไกของการหารือกันก่อน ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลายๆ อย่างชาวย่านจะรู้หมด แล้วก็เขามีส่วนในการที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย อันไหนที่คิดว่าเราจะเสียประโยชน์ ก็ต้องสร้างกลไกอะไรบางอย่างมารองรับให้สมประโยชน์ เพราะว่าท้ายที่สุด มันต้องเป็นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้หลังข้างหลัง แต่ต้องผ่านกระบวนการอย่างที่ว่า

  “GoodWalk ไม่ใช่โครงการแรกที่เข้ามา มันมีโครงการก่อนหน้านั้นที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ตั้งแต่ 7-8 ปีก่อนแล้ว ดังนั้น ชุมชนก็จะรู้ว่าเรามาทำอะไร เขาจะรู้ว่าเราจะมาช่วยทำให้ชุมชนเขาดีขึ้น เขาเชื่อมั่นแบบนั้น”

คลองสาน


  พอทะลุออกจากชุมชน เราเริ่มเห็นร้านค้ามากขึ้น บางแห่งเป็นคาเฟ่เล็กๆ ที่เพิ่งเปิด ความเจริญเริ่มเข้ามาให้เห็นบ้างประปราย เรายังนึกภาพย่านนี้ในอนาคตสักสิบปีข้างหน้าไม่ออก หากวันหนึ่งที่ความเปลี่ยนแปลงเข้ามาอย่างเต็มรูปแบบ นั่นคงเป็นโจทย์ที่ชุมชนและกลุ่มผู้พัฒนาต้องหาจุดร่วมกันอย่างลงตัวให้ได้

  “ตอนนี้ก็มีพวกร้านกาแฟบ้าง แต่ว่ายังไม่ค่อยเยอะ ชุมชนยังไม่ถูกปรับพื้นที่มาก เพราะอย่างที่เล่าให้ฟัง ชุมชนค่อนข้างจะมีความยึดโยงกับพื้นที่ ดังนั้น เขาไม่เปลี่ยน ก็เป็นบ้านเขา เขาไม่จำเป็นต้องทำอะไร ถ้าจะมีอะไรเปลี่ยน เขาก็จะเปลี่ยนตัวเอง ก็จะเป็นลักษณะแบบคนที่อยู่ที่นี่แล้วเปลี่ยนตัวเองเป็นร้านกาแฟ แต่จะไม่ใช่เป็นการปรับพื้นที่แบบเปลี่ยนหมดทั้งคน ทั้งสถานที่ ตรงนี้ถือว่าชุมชนเขายังหนักแน่น”

  “แล้วจากการลงพื้นที่ ชาวบ้านเขาสามารถยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเข้ามาในระดับไหน” เราสงสัยเมื่อหันไปเห็นแผงหาบเร่ของคนชราที่อยู่ใกล้กับคาเฟ่แห่งหนึ่ง

  “เขาก็ยอมรับนะ ไม่มีใครปฏิเสธว่ามันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน อย่างตอนทำกิจกรรม Eat in Soi ก็จะมีกิจกรรมให้คนมาประกวดภาพเก่า จริงๆ แล้วก็เหมือนการได้หวนคืนไปสู่อดีตอีกครั้งจากภาพ เขาก็เอาภาพมาเล่าว่าคืออะไร ได้นึกถึงความหลัง นึกถึงบ้านเกิดของเขา ดังนั้น ก็นจะไม่ได้รู้สึกว่ากระทบกับการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามา แต่ว่าเขาอยู่ในทุกสถานะของการเปลี่ยนผ่าน แล้วก็เรียนรู้ที่จะยอมรับและอยู่ร่วมกับมันมากกว่า

  “ถ้าย่านไหนที่รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงเข้ามาแล้วอยู่ไม่ได้ ก็มีโอกาสที่จะหายไป แต่ชุมชนที่นี่เขาเข้าใจการปรับตัวเปลี่ยนผ่าน ถึงแม้จะมี 7-Eleven เข้ามา เขาก็พยายามปรับตัว บางร้านจากขายของชำอย่างเดียว ก็ขายเครื่องดื่ม ขายกาแฟเพิ่มด้วย”

คลองสาน


  หลังเสร็จสิ้นการเดิน เรากลับมาที่บริเวณหน้าสำนักงานของมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสานอีกครั้ง เบื้องหลังของเรายังคงเป็นชุมชนในย่านคลองสานที่ดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนเช่นเคย ผู้คนยังทำมาหากินเป็นปกติ ใต้หลังคาบ้านเรือนมีหลากชีวิตที่ยังหายใจ อาคาร สถานที่ ยังคงตระหง่านอยู่ตรงนั้นมาแต่โบราณกาล เสียงลมหายใจแห่งวันวานยังคงกังวาลอยู่ทุกครั้งที่เราได้สัมผัส

  เรานึกภาพที่หากวันหนึ่งความเปลี่ยนแปลงและความเจริญจะรุกล้ำเข้ามาและพาชุมชนแห่งอดีตนี้มุ่งไปสู่อนาคต เรานึกถึงคำที่คุณต่อบอกกับเราระหว่างการเดิน ไม่มีใครปฏิเสธความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ช้าไม่เร็วมันจะมาเคาะประตูร้องเรียก ถึงเราไม่อยากเปิดรับ มันก็หาทางเข้ามาได้อยู่ดี หากเราไม่พยายามหาทางปรับตาม วันหนึ่งเราอาจกลายเป็นเพียงคนที่ไล่ตามความเปลี่ยนแปลงไม่ทันและถูกทิ้งไว้อยู่ข้างหลัง ไม่เว้นแม้ชุมชนที่มีวัฒนธรรมอันเข้มแข็งแห่งนี้

  เพียงแต่ว่ามันคงจะดีกว่า หากชุมชนสามารถหาจุดกึ่งกลางระหว่างความเปลี่ยนแปลงและความดั้งเดิมที่เป็นอัตลักษณ์ไว้ได้ นั่นเป็นเพราะเราอยากให้การเดินทางข้ามมายังฝั่งธนในอนาคตยังคงมีกลิ่นอายแบบในวันวานคงอยู่เช่นในวันนี้


ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่ม GoodWalk ได้ที่ goodwalk.org