บนเส้นทางสูงชัน มุ่งหน้าสู่ Poon Hill ประเทศเนปาล เพื่อพิชิตวิวยอดเขาหิมาลัยที่ตามหา

“หากใครคนใดคนหนึ่งไม่ไหว ขอให้อีกคนขึ้นไปและทำให้สำเร็จแทนอีกคนด้วย” นี่คือข้อตกลงก่อนที่จะเริ่มต้นเทรกกิ้งบนเส้นทางมุ่งหน้าสู่ พูนฮิลล์ (Poon Hill) ในช่วงสองวันแรกของการเดินทาง โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ อันนาปุรณะเบสแคมป์ (A.B.C.) ของสองคู่เพื่อนซี้ ‘เป้’ – นิโลบล หาญพานิช ผู้ที่ไม่เคยเทรกกิ้งแต่ชอบวิ่งออกกำลังกาย และ ‘น้ำ’ – ศรินทร์ รังสิกรรพุม หญิงสาวผู้ชอบอบเบเกอรีแต่ไม่เคยออกกำลังกาย

พวกเธอบอกว่า เส้นทางที่วางไว้อาจจะไม่ได้ยากลำบากเท่าไหร่นัก แต่ทั้งคู่ต่างประเมินร่างกายแล้วพบว่า ครั้งนี้อาจจะหินกว่าที่คิด และอาจจะช้ากว่าที่คาด แต่ความสวยงามของทุกๆ ที่ที่ก้าวเดิน บวกกับมิตรภาพที่หาไม่ได้ตามซูเปอร์มาร์เกต ทำให้ความช้า ความเจ็บปวดหรือความเหนื่อยล้ากลายเป็นความคุ้มค่าเกินราคาที่ทั้งคู่ไม่อาจประเมินได้

 

Nayapul (Birethanti) – Susma – Ghorepani – Poon Hill

 

ตัดจากเมืองโพคาราสู่นายาปุล (Nayapul) เมืองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเดินเทรกกิ้ง ซึ่งต้องลัดเลาะไปตามหมู่บ้าน ก่อนจะพบกับสะพานเหล็กประดับด้วยธงมนตราหลากสีตามความเชื่อของชาวเนปาลี เบื้องล่างคือแม่น้ำโยดีที่เต็มไปด้วยแก่งหินน้อยใหญ่ โอบล้อมด้วยหมู่บ้านที่ลดหลั่นกันไปตามแนวตลิ่ง

ที่ปลายสุดของสะพานนั้นคือหมู่บ้านบิเรธันติ (Birethanti) เป็นจุดตรวจ Trekking Premit เพื่อให้เจ้าหน้าที่นับจำนวนของนักท่องเที่ยวและป้องกันการพลัดหลงไปบนภูเขา จากตรงนี้จะมีให้เลือกเทรกกิ้ง 3 เส้นทาง คือ เส้นทางแรก จุดชมวิวที่พูนฮิลล์ ระยะทาง 5 วัน เส้นทางที่สอง A.B.C. ระยะทางประมาณ 7-10 วัน และเส้นทางสุดท้าย Annapurna Circuit ที่ใช้เวลาเดินไปจนถึงยอดอย่างน้อย 1 เดือน

 

 

“พวกเราเลือกมาแล้วที่จะพิชิต A.B.C. แต่จะอ้อมไปขึ้นไปทางหมู่บ้านโกเรปานี (Ghorapani) เพื่อไปยังพูนฮิลล์ จากนั้นก็จะเดินลงทางหมู่บ้านทาดาปานี (Tadapani) และหมู่บ้านชอมรอง (Chhomrong) ก่อนเลี้ยวซ้ายอีกทีเพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย ทั้งหมดเราใช้เวลา 10 วัน ซึ่งถือว่าช้ามาก” น้ำอธิบายถึงเส้นทางกับเวลาที่เคยใช้

 

The First Effort

 

“เส้นทางนี้เป็นถนนเล็กๆ ตัดผ่านหมู่บ้าน ค่อยๆ เดินลัดเลาะไปตามแม่น้ำสลับกับวิวป่าโปร่ง อากาศเย็นสบาย พวกเราเดินกันสบายๆ ไม่ได้เร่งรีบ อีกอย่างเพราะไม่ได้เดินเพียงลำพังสองคน พวกเราจ้างลูกหาบและไกด์ท้องถิ่นมาด้วย นอกจากเพื่อความอุ่นใจแล้ว เรายังได้เรียนรู้และเข้าใจวิถีของชาวเนปาลีผ่านไกด์ที่ช่างตอบคำถาม พร้อมช่วยเหลือและดูแลเราสองคนจนน้ำถึงกับหลงรักพวกเขา” เป้อธิบาย

“เรามีปัญหาเยอะไง เขาเลยดูแลดี เราล้มหลายที แถมยังเดินช้าอีก วันแรกเดินตามหลังเป้และไกด์ประมาณ 5 เมตรได้ ไหนจะ day pack ที่สะพายหลังอีกราวๆ 5 กิโล เป้เดินสบาย แต่เราเหนื่อยแบบหอบจะตายเอาให้ได้” น้ำยอมรับ
จากจุดเริ่มต้นเดินในวันแรกทั้งคู่ใช้เวลาราว 3-4 ชั่วโมง ก็มาถึงที่หมู่บ้าน Susma และพักค้างคืนในโรงแรมที่พวกเธอบอกว่าเหมือนบ้านพักคนงานมากกว่า แต่ด้วยความเหนื่อยล้าทั้งคู่จึงหลับไปอย่างง่ายดาย

 

Against Gravity

“เพราะพวกเราเดินกันช้ามาก ไกด์จึงต้องปรับเวลาให้เป็นตื่นตี 5 กินข้าว 6 โมง และเริ่มเดินตอน 7 โมง ซึ่งเส้นทางวันที่สอง บอกเลยว่า น่องแทบเป็นตะคริว” เป้เริ่มเล่าเรื่องวันที่สอง “และเป็นวันที่หายนะของแท้มาเยือน เส้นทางสู่โกเรปานีเต็มไปด้วยบันไดหินความชันประมาณ 30 องศา ยิ่งเดินขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งมองไม่เห็นปลายทางและเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด และจากเดิมที่ไกด์เดินไปกับเป้ คุยกันไปตลอดทาง ไกด์ก็เปลี่ยนมาประกบเราเหมือนคอยจี้ตูดให้เร่งความเร็ว
แต่เราก็ใช้เวลากับเส้นทางนี้ไปทั้งหมด 8 ชั่วโมงอยู่ดี” น้ำเสริม

ถึงแม้เส้นทางจะสูงชันจนทำให้ต้องเดินช้า แต่ด้วยความงามของป่าที่อุดมสมบูรณ์ ดอกไม้ดอกหญ้าหลากสีที่ขึ้นระหว่างทาง เสียงกรุ๋งกริ๋งของกระดิ่งม้าแว่วเป็นพักๆ คอยส่งสัญญาณเตือนคนหลบข้างทาง คือหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ช้า
“พอเวลาล่วงไปจนประมาณบ่ายกว่าๆ ยิ่งเดินยิ่งสูง และจู่ๆ หมอกก็ลงจัด อุณหภูมิก็ลดลง ไอหนาวเข้ามาแทนที่ เรามองไม่เห็นความสวย เพราะความเหนื่อยเริ่มเกาะกุม สติเริ่มค่อยๆ หาย ยิ่งสองชั่วโมงหลังก่อนถึงโกเรปานี เราจดไว้ในโทรศัพท์เลยว่า ไม่มีสติ!” น้ำอธิบายชนิดที่เรียกว่าคนไม่ได้ไปยังเหนื่อยแทน

 

 

น้ำและเป้เดินขึ้นมาเรื่อยๆ จนเจอกับซุ้มประตูโกเรปานีพูนฮิลล์ (Ghorepani Poon Hill) และต้องเดินขึ้นไปอีกครึ่งกิโลเนปาลี หรือประมาณชั่วโมงครึ่งของสองสาว และแล้วก็มาจนถึงที่พักก็เกือบสี่โมงเย็น หมอกลงจัดจนมองไม่เห็นวิวรอบด้าน พวกเธอสองคนบอกว่า ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าวิวยอดเขาหิมาลัยที่ตามหาจะอยู่ใกล้แค่นอกหน้าต่างห้องนอน พวกเธอได้เห็นก็เมื่อเช้าวันรุ่งขึ้นมาถึง ซึ่งเป็นโมงยามที่สายหมอกผ่านพ้น และยอดเขาหิมาลัยก็เผยโฉมออกมาให้เห็นจนได้

 

Beyond the Destination

เส้นทางหลังจากนั้นก็ทวีความยาก หลายครั้งที่น้ำเข่าลั่นและล้มลงไปกองกับพื้น ยิ่งทำให้ทุกอย่างรอบตัวเหมือนกับจะหยุดนิ่ง ทุกอย่างเคลื่อนไหวช้าลงเรื่อยๆ แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็สามารถเอาชนะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจนกระทั่งไปยืนอยู่ตรงจุดหมาย และนี่คือบทพิสูจน์ความสำเร็จของการเดินทาง และยังเป็นผ่านบทพิสูจน์ของมิตรภาพที่ดี

“เมื่อย้อนกลับไปมอง พวกเราไม่ได้เห็นปัญหาระหว่างการเดินทางหรือระหว่างเราเลย สำหรับพวกเราแล้ว ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มองว่าเป็นปัญหา แต่มันคือสถานการณ์ที่เราทั้งคู่จะต้องปรับตัว และยอมรับซึ่งกันและกันให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เป้เมาเครื่องบินหนักๆ แล้วไม่อยากกิน ไม่อยากทำอะไร จนต้องบอกเรา ซึ่งเราก็รับรู้และทำสิ่งนั้นให้ หรือตอนที่เราเดินช้าและเหนื่อยหนักๆ หากมองว่าคือปัญหาก็คงทะเลาะกันไปนานแล้ว เพราะมันทำให้การเดินทางช้าลงไปอีก เมื่อเป้รู้ เป้ก็แค่เดินให้ช้าลงเท่านั้นเอง”

 

 

เป้กล่าวเสริมว่า “การเดินทางครั้งนี้ทำให้เราเห็นตัวเองมากขึ้น จากที่เป็นคนขี้หงุดหงิด กลายเป็นคนที่เข้าใจเพื่อนมากขึ้น อย่างเวลาที่น้ำกรนเสียงดังจนเรานอนไม่หลับ เราก็คิดว่า แล้วน้ำล่ะ กว่าจะได้นอนก็ต้องมารอให้เราหลับก่อนเพื่อเราจะได้นอนสบาย จะเสียงดังก็ไม่ได้ เราหูไวตื่นเร็ว นั่นทำให้ความหงุดหงิดของเราทุเลาไปเยอะ ที่สำคัญ เรารับรู้ได้จนหมดใจเลยว่ามีใครอีกคนที่ทนกับเราได้ขนาดนี้ แต่ยังไงก็พวกเราก็ต้องปรับตัวกันไปเรื่อยๆ ตามแต่ละสถานการณ์ที่เจอ และนี่คือมิตรภาพที่แท้จริง”

“และคงเป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้เราอยากจะเที่ยวกับเพื่อนคนนี้ในปีต่อๆ ไป” น้ำยืนยัน

 

FYI