ชัยภูมิ เลย

ชัยภูมิ-เลย | ผจญภัยไปพร้อมกับการเดินทาง ณ พื้นที่ราบสูงทางภาคอีสาน

หยุดสงกรานต์นี้ เราอาสาพาคุณไปเที่ยวสองจังหวัดทางภาคอีสาน ที่อาจไม่ใชจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวของคนส่วนใหญ่ ทั้งที่จริงๆ แล้วเต็มไปด้วยเสน่ห์ของวิถีชีวิตที่อิงกับธรรมชาติอย่างเหนียวแน่น ทั้งที่หมู่บ้านเล็กๆ ขนาด 100 หลังคาเรือน ของชาวญัฮกุร จังหวัดชัยภูมิ และผจญภัยไปพร้อมกับการเดินทาง ที่ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย หนึ่งในชุมชนต้นแบบของโครงการ ‘เที่ยวชุมชนไปกับคน อพท.’ หรือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ชัยภูมิ

ชัยภูมิ เลย

 

     “ยุก่ แต็ยระฮงวร” อบต. แก่น ยี่จัตุรัส ของตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ทักทายเราเป็นภาษาญัฮกุรอย่างแจ่มใส ก่อนจะต้อนรับเราสู่หมู่บ้านชื่อเดียวกัน (อ่านออกเสียงว่ายะกุ้น แบบที่ต้องกระดกลิ้น ร.เรือ ตอนท้าย) หมู่บ้านนี้เป็นที่รวมของประชากรชาติพันธุ์ญัฮกุรประมาณ 100 หลังคาเรือน ที่ยังคงไว้ซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมจากอดีต ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวจากต่างถิ่นได้เรียนรู้ไปกับพวกเขาด้วย

 

ชัยภูมิ เลย

 

     ชาวบ้านที่นี่ร่วมกันปลูกผักสมุนไพรแบบออร์แกนิกเพื่อนำมาทำอาหารอย่าง ‘เมี่ยม’ หรือเมี่ยงคำ เพียงนำผักผลไม้จำพวกใบถั่วพลู มะเขือขน มันเทศ กล้วยน้ำว้า ตะไคร้ มาปรุงรสด้วยเกลือและพริกสด ม้วนห่อด้วยใบขึ้นฉ่าย หรือขนมลิ้นหมาอย่าง ‘คะนมฮึตากชุร’ ที่แม้ชื่อจะดูไม่ค่อยเข้าท่าเท่าไหร่ แต่รสชาติกลับเข้าทีเลยทีเดียว เริ่มจากการนำแป้งข้าวเหนียวไปผสมกับกล้วยน้ำว้า โรยด้วยงา แล้วจึงนำไปทอด รสชาติมันๆ หนึบๆ กินเพลินๆ ดีเหมือนกัน

 

ชัยภูมิ เลย

 

     เมื่อกินอิ่มแล้วก็ถึงเวลาเล่นอะไรสนุกๆ คนที่นี่ใช้ลานโล่งเพื่อจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ ตั้งแต่ชักเย่อของชาวญัฮกุรที่ใช้ไม้แทนเชือก ไปจนถึงการร้องเพลงพื้นบ้านอย่าง ‘ปะเรเร’ ที่คล้ายๆ กับการร้องลำตัด การละเล่นและกิจกรรมเหล่านี้จะคึกคักที่สุดในช่วงเทศกาลสำคัญๆ อย่างวันสงกรานต์ ยิ่งชาวบ้านพากันแต่งกายกันเต็มยศสีสันสดใส ยิ่งทำให้บรรยากาศครื้นเครงขึ้นอีกเป็นเท่าตัว

     หลังจากเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ที่หมู่บ้านแห่งนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณยายชาวญัฮกุรมาผูกข้อมือทำพิธีผูกขวัญ อวยพรให้เราเดินทางปลอดภัย แม้จะฟังไม่เข้าใจ แต่จากน้ำเสียงและสีหน้าก็รู้ว่าท่านหวังดีเป็นแน่

 

ชัยภูมิ เลย

 

     เราจากที่นั่นมาเพื่อไปชมธรรมชาติสวยๆ ต่อที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังอีกแห่งของจังหวัดนี้ ซึ่งจะงดงามมากในฤดูฝนที่ดอกกระเจียวต่างบานสะพรั่ง

 

ชัยภูมิ เลย

เลย

ชัยภูมิ เลย

 

     ท่องเที่ยวอย่างเดียวอาจจะไม่อิ่มอกอิ่มใจเท่ากับได้ผจญภัยไปพร้อมกับการเดินทาง อย่างที่ตำบลปลาบ่า อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย หนึ่งในชุมชนต้นแบบของโครงการ ‘เที่ยวชุมชนไปกับคน อพท.’ หรือองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งส่งเสริมการทำกิจกรรมเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต ที่อิงกับธรรมชาติอย่างเหนียวแน่น ของชาวบ้านบนภูบักได

 

ชัยภูมิ เลย

 

     อากาศเย็นสบายภายใต้ฟ้าสีหม่นเพราะปกคลุมไปด้วยหมอกขาว เข้ากันดีกับสีเขียวชอุ่มของขุนเขาที่โอบล้อมอยู่ไกลๆ มองเห็นพืชสวนพืชไร่ ทั้งยางพารา ข้าวโพด มันสำปะหลัง สับปะรด ปลูกลดหลั่นไล่ระดับกันอย่างเป็นระเบียบ บนพื้นที่ในความดูแลของชาวบ้านตำบลปลาบ่ากว่า 5,000 ไร่ คือผืนป่าที่นักท่องเที่ยวสามารถทำกิจกรรมปลูกกล้าไม้ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และรักษาระบบนิเวศร่วมกับชาวบ้านได้ในช่วงฤดูฝน หากมาในหน้าร้อนนักท่องเที่ยว จะได้ลองทำแนวกันไฟป้องกันไฟป่าแทน

 

ชัยภูมิ เลย

 

     เราได้ลองปลูกข้าวไร่บนดินภูเขา ซึ่งอาศัยน้ำฝนที่ตกลงมาหล่อเลี้ยงให้ต้นข้าวงอกงามได้ โดยไม่ต้องปลูกบนที่ราบลุ่มน้ำเหมือนนาทั่วไป ซึ่งมีวิธีการแปลกใหม่คือการใช้ท่อนไม้ไผ่เจาะรูที่หัวและท้าย ผู้ชายเจาะดิน ส่วนผู้หญิงหยอดเมล็ดข้าว เป็นการร่วมด้วยช่วยกันสานสัมพันธ์ในชุมชน หากมาในหน้าหนาวนักท่องเที่ยวจะได้เก็บเกี่ยวข้าวไร่ที่ขึ้นรวงพอดิบพอดี ไม่ได้มาแค่สูดอากาศดีๆ แล้วกลับไป แต่ยังได้ช่วยอนุรักษ์ไว้ซึ่งธรรมชาติและวิถีชีวิตของที่นี่ด้วย

 

ชัยภูมิ เลย

ชัยภูมิ เลย

 

     นอกจากนี้เรายังได้ไปเยี่ยม ‘ไร่แมคคาเดเมียวิมุตติสุข’ ทำให้รู้ว่าแมคคาเดเมียซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของประเทศออสเตรเลีย สามารถปลูกและเจริญเติบโตได้ดีบนพื้นที่สูงๆ และอากาศเย็นตลอดปีแบบที่ภูเรือแห่งนี้ และไม่ได้มีแค่เมล็ดแมคคาเดเมียเท่านั้น แต่ผลิตภัณฑ์ของไร่วิมุตติสุขยังต่อยอดเป็นคุกกี้ สแน็กบาร์เคลือบคาราเมลหวานๆ หนำซ้ำเปลือกและกะลาจากการกะเทาะยังแปรรูปเป็นสบู่ถ่านแมคคาเดเมีย เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตได้อย่างไม่รู้จบ

     นับเป็นอีกประสบการณ์สนุกสนานผ่านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยคนในชุมชน ได้ใกล้ชิดธรรมชาติ และพบเจอภาพที่แสนดีต่อใจ บนเมืองแห่งภูเขากว้างใหญ่อย่าง ‘เลย’