ร่วมสัมผัสเสน่ห์ของความเนิบช้า และแนวคิดในการพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกับชุมชน ณ สองจังหวัดเก่าแก่ของภาคใต้ กับหมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทยอย่าง ‘หมู่บ้านคีรีวง’ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ซึ่งผู้คนหลั่งไหลไปพักหายใจเพื่อ take a break ให้กับชีวิต และตามไปดูความแข็งแรงของชุมชน ณ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บ้านเกิดของนักเขียนรางวัลซีไรต์ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่ซึ่งปลูกฝังนิสัยรักการอ่าน และแนวคิดการพึ่งพาตัวเองผ่านภูมิปัญญาให้กับเด็กๆ และชุมชน
…
นครศรีธรรมราช
เราเชื่อเลยว่าที่แห่งความสงบและวิถีชีวิตแบบเรียบง่ายได้รับการรักษาไว้อย่างเต็มเปี่ยม ณ ‘หมู่บ้านคีรีวง’ ซึ่งเป็นชุมชนที่ตั้งรกรากอยู่ในบริเวณแห่งความอุดมสมบูรณ์ซึ่งยังชอุ่มไปด้วยต้นไม้ใหญ่นับร้อยปีแห่งนี้มาเนิ่นนาน ว่ากันว่าคีรีวงเป็นหมู่บ้านที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทย จึงไม่ต้องแปลกใจหากผู้คนจะหลั่งไหล มารับไอเย็นจากสายลมที่ปราศจากมลพิษ และดื่มด่ำกับการใช้ชีวิตแบบเนิบช้าเพื่อพักหายใจ
สิ่งที่ทำให้หมู่บ้านคีรีวงแตกต่างและโดดเด่น คือความเข้มแข็งและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน ซึ่งพยายามสร้างรายได้อย่างยั่งยืนโดยยึดหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง ด้วยการจัดตั้งกลุ่มอาชีพทางงานฝีมือ และหัตถกรรมต่างๆ เพื่อสร้างรายได้ตลอดปี นอกเหนือจากฤดูเกษตรกรรม ซึ่งมีเพียง 3-4 เดือนใน 1 ปีเท่านั้น
โดยสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ภูมิปัญญาและทำความรู้จักผลิตภัณฑ์ของชุมชน ซึ่งขยายผลจากวัสดุในท้องถิ่น แปรสภาพให้เกิดเป็นมูลค่าที่เพิ่มขึ้น จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในปี 2541 ประเภทเมืองและชุมชน
เราได้ลองทำเทียนเจลบนแก้วทรงสูงที่ ‘บ้านเหนือเทียนหอม’ กลุ่มอาชีพที่นอกจากการขายเทียนหอมและเทียนเจลแล้ว ยังมีกิจกรรมเวิร์กช็อปที่เปิดให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเรียนรู้และลงมือตกแต่งแก้วเทียนของตัวเอง ที่สนุกสนานไม่แพ้กันคือการทำตาข่ายดักฝันของ ‘กลุ่มลูกไม้’ ซึ่งที่มาที่ไปก็แสนเรียบง่าย เกิดจากการได้ไปเจอเมล็ดลูกไม้หลุมพอ และคิดว่าน่าจะสร้างรายได้เพิ่มเติมให้ชุมชน จึงเริ่มสร้างสรรค์งานฝีมือออกมาผลิตขาย
‘กลุ่มลายเทียนผ้าบาติกธรรมชาติ’ เกิดจากความคิดที่จะนำภูมิปัญญาการทำผ้าบาติกท้องถิ่น ซึ่งเป็นการนำสีธรรมชาติมาสร้างลวดลายสวยๆ บนผืนผ้า มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในราคาย่อมเยา และยังเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถมาลองแต่งแต้มสีสันบนผืนผ้าของตัวเอง
สุดท้ายเราไปที่ ‘กลุ่มใบไม้’ ได้ลองมัดย้อมผ้าพันคอผืนยาวจากสีธรรมชาติ เอาผ้าไปต้มสีไม่นาน ก็กลายเป็นผ้ามัดย้อมสีสันสดใสและใช้งานได้จริง เป็นหนึ่งวันที่เต็มอิ่มและประทับใจ
เราปั่นจักรยานเลียบริมธารข้ามแลนด์มาร์กอย่าง ‘สะพานคีรีวง’ ฟังเสียงสายน้ำ แหงนมองท้องฟ้าเห็นปุยเมฆขาว ท่ามกลางผืนป่าธรรมชาติสุดลูกหูลูกตา ที่ไม่ว่าใครก็ต้องหลงรัก เพียงได้มาสัมผัสชีวิตสโลว์ไลฟ์ที่ ‘หมู่บ้านคีรีวง’
…
พัทลุง
พัทลุงอาจไม่ใช่จุดหมายปลายทางในฝันของคนส่วนใหญ่ จังหวัดเล็กๆ ซึ่งค่อยๆ พัฒนาช้าๆ แต่ยั่งยืน เปลี่ยนผันตามยุคสมัยและเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป ใครว่าการเรียนรู้ต้องอยู่แค่ในห้องเรียนเท่านั้น เราอยากชวนคุณมาสัมผัสบรรยากาศการเรียนรู้ผ่านชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติที่บ้านเกิดของนักเขียนรางวัลซีไรต์อย่าง กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ณ อำเภอควนขนุน ซึ่งหลังการจากไปของกนกพงศ์ เหล่าพี่น้องครอบครัว ‘สงสมพันธุ์’ ได้เปิด ‘บ้านนักเขียน ห้องเรียนสีสันศิลปะ’ เพื่อบ่มเพาะนิสัยรักการเขียนอ่านผ่านห้องสมุดของคนในชุมชน
พื้นที่โดยรอบบ้านแบบไทยพื้นถิ่นใต้ของกนกพงศ์รายล้อมไปด้วยต้นตาลสูงใหญ่ เป็นที่ตั้งของ ‘ตลาดใต้โหนด’ ตลาดท้องถิ่นบรรยากาศครึกครื้นที่ชาวบ้านนำผลิตผลทางการเกษตรมาวางขายจนกลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กของพัทลุง ตลาดเปิดทุกวันอาทิตย์เช้าตรู่เรื่อยไป จนบ่ายแก่ๆ
นอกจากอาหารและขนมพื้นถิ่นที่ปรุงกันสดๆ ทั้งข้าวยำ ขนมจีนเส้นข้าวสังข์หยดแล้ว ยังมีสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่นอย่างเสื่อกระจูด เครื่องปั้นดินเผาของขึ้นชื่อ มาวางขายแบบเป็นกันเอง คลอเสียงเพลงสำเนียงใต้จากนักดนตรีที่มาเปิดหมวกร้องเพลงกลางตลาดอีกด้วย และที่สุดของความเก๋ไก๋ในตลาดสไตล์คันทรีแห่งนี้ ก็คือการที่บรรดาร้านรวงจนถึงบรรดาภาชนะ ล้วนสร้างสรรค์มาจากวัสดุธรรมชาติที่ดัดแปลงให้มีความทันสมัย เป็นไม้ไผ่บ้าง ใบตองบ้าง เพื่อลดการใช้โฟมและถุงพลาสติกให้ได้มากที่สุด
จากนั้นไปเรียนรู้กันต่อที่แหล่งผลิตเสื่อกระจูดชื่อดังอย่าง ‘กลุ่มหัตถกรรมกระจูดวรรณี’ ภูมิปัญญาดีๆ ในการนำกระจูดมาถักทอเป็นเสื่อและของใช้ต่างๆ มีมานานนับร้อยปีแล้ว จนถึงปัจจุบันก็เริ่มมีการใส่ความร่วมสมัยผ่ านลวดลายคล้ายการทอผ้า และพัฒนาดัดแปลงรูปทรงและการใช้งาน ให้เป็นผลิตภัณฑ์จากเสื่อที่น่าสนใจ ส่งขายทั้งในห้างสรรพสินค้าและต่างประเทศ
และสุดท้าย ‘ศูนย์รวมหัตถกรรมกะลามะพร้าวเมืองพัทลุง’ ที่ที่เราจะได้เรียนรู้ขั้นตอนการนำเอาเศษกะลาเหลือใช้ สร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านการแปรรูป ทั้งอุปกรณ์เครื่องครัว ของตกแต่งบ้าน เครื่องประดับ เครื่องดนตรี ถือเป็นอีกหนึ่งสถานที่แห่งการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่พลาดไม่ได้ ณ พัทลุง