ไม่เคยคิดว่าชีวิตนี้จะได้มายูเครน ไม่ใช่เพราะมันไปยาก อยู่ไกล หนาว หรือน่ากลัวอะไรหรอก แต่แค่มันไม่เคยอยู่ในลิสต์ประเทศในฝันตอนเด็ก ไม่เคยปรากฏชื่ออยู่ในตำราประวัติศาสตร์ ไม่อยู่ในเพจรีวิวท่องเที่ยว หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ นอกจากข่าวสงครามเมื่อสามสี่ปีที่แล้ว ยูเครนเป็นประเทศแสนลึกลับจนเราแทบไม่เคยได้ยินชื่อมันเลยต่างหาก
“ยูเครนอยู่ที่ไหนวะ” เพื่อนหลายคนของเราถามขึ้น เมื่อเราเล่าให้ฟังว่าจะไปใช้เวลาวันหยุดยาวของปีนี้ที่นั่น
เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยรู้จักประเทศยูเครนเหมือนกัน จนกระทั่งได้ทำความรู้จักหนุ่มยูเครนคนหนึ่ง
เขาเป็นหนุ่มผมบลอนด์วัย 20 กว่าๆ ที่ไม่ได้กลับประเทศตัวเองมาพักใหญ่ และหลายครั้งเขาก็มักเล่าเรื่องความทรงจำวัยเด็กในเมืองเล็กๆ ฝั่งตะวันตกของที่นี่ให้ฟัง เป็นสถานที่ที่ผู้คนใช้ชีวิตอย่างเนิบช้า ทำอาหารแบบสโลว์คุก ปักผ้าในฤดูหนาวที่ยาวนาน ส่วนฤดูร้อนก็จะวิ่งวุ่นกับการหาเมล็ดพันธุ์ดอกไม้มาปลูกที่สวนหน้าบ้าน ขัดกับภาพสงครามที่เราเคยเห็นในข่าวจนน่าตกใจ
“ไม่ได้กลับบ้านมาตั้ง 4 ปี พ่อแม่ไม่คิดถึงแย่เหรอ” เราถามออกไปเล่นๆ เผื่อว่าหนุ่มยูเครนพลัดถิ่นคนนี้จะนึกครึ้มอยากกลับไปย้อนวันวานบ้าง
“จริงๆ ก็อยากไปนะ” เขาเว้นจังหวะและพูดต่อ “ไปด้วยกันไหมล่ะ”
ประโยคสั้นๆ ในวันนั้น ทำให้การเดินทางของเราสองคนเริ่มต้นขึ้น เป็นทริปที่แม้เราจะไปด้วยกัน แต่ก็ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง คนหนึ่งกลับไปหาสถานที่เก่าๆ และคนหน้าเดิมๆ ที่แสนเคยคุ้น ส่วนอีกคนได้พาตัวเองออกไปสู่โลกที่แปลกใหม่ แปลกตา และบางตอนก็เลยเถิดไปถึงขั้น ‘แปลกประหลาด’ แต่ก็สวยงามและน่าประทับใจจนต้องพูดประโยคแรกของย่อหน้านี้ซ้ำๆ
ไม่เคยคิดจริงๆ ว่าชีวิตนี้จะได้มายูเครน…
สำหรับใครที่มีคำถามว่า “ยูเครนอยู่ที่ไหนวะ” แบบเพื่อนของเรา ขอเล่าสั้นๆ ก่อนว่ายูเครนเป็นประเทศแถบยุโรปตะวันออก มีพรมแดนติดกับรัสเซีย โรมาเนีย เบลารุส โปแลนด์ สโลวะเกีย ฮังการี และมอลโดวา (เยอะมาก) เป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสองในยุโรป รองจากฝรั่งเศส มีประชากรราว 44 ล้านคน
และแม้จะมีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน แต่ยูเครนในปัจจุบันถือว่าเป็นประเทศใหม่มาก เพราะหลังแยกตัวจากสหภาพโซเวียต ยูเครนก็เหมือนคนที่เพิ่งผ่านวัยเบญจเพสมาหมาดๆ ด้วยอายุของประเทศเพียง 26 ปีเท่านั้น
Lviv
The European Cultural Capital
เราเริ่มต้นเดินทางด้วยการนั่งไฟราวๆ 8 ชั่วโมงจากเคียฟ เมืองหลวง มายัง ‘ลวีฟ’ เมืองใหญ่อายุกว่า 400 ปี ทางด้านตะวันตกของประเทศ ซึ่งในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรออสเตรีย-ฮังการี และต่อมาก็ตกเป็นของโปแลนด์ และโซเวียต ทำให้ลวีฟเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและขึ้นชื่อว่าเป็น ‘เมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมยุโรป’
จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นตึกโบราณสไตล์ออสเตรียตั้งควบคู่กับสุเหร่ายิว โดยถัดออกไปไม่กี่ก้าวก็เป็นโบสถ์ออร์โธด็อกซ์ทรงหอมใหญ่ และร้านเคบับจากตุรกี
‘นาซาร์’ เพื่อนร่วมทางของเรา พาเราไปรู้จักกับ ‘อันดรี’ น้องชายแท้ๆ ของเขา ที่ใจดีเปิดบ้านให้เรามาพักแบบโลคอลใจกลางเมืองลวีฟถึง 4 วัน
ตอนแรกยอมรับว่าตื่นเต้นมาก เพราะดูจากภายนอกแล้วบ้านพักของอันดรี เป็นตึกโบราณสีครีมสไตล์เรอเนซองส์ขนาด 4 ชั้น ที่มีฟาซาดแกะสลักลายก้นหอยสวยงาม ให้ความรู้สึกเหมือนหลุดเข้าไปอยู่ในศตวรรษที่ 18 แต่พอเดินเข้ามาในตึก ความฝันอันสวยงามนั้นก็เริ่มหดหายไปเรื่อยๆ
“เก่าหน่อยนะ ตึกนี้มันอายุ 300 กว่าปีแล้ว” อันดรีบอกเราด้วยสีหน้าเรียบเฉยขณะกำลังไขกุญแจ โดยมีเรายืนงงเป็นไก่ตาแตกว่า สำหรับคนที่นี่ การใช้ชีวิตอยู่ในตึกอายุ 300 กว่าปี เป็นเรื่องปกติใช่ไหม นั่นมันสมัยกรุงศรีอยุธยาเลยนะ…
แน่นอน ภายในห้องอบอวลไปด้วยของกลิ่นของความเก่า มีเตาผิงกระเบื้องตั้งอยู่กลางห้อง ปูด้วยพื้นไม้ที่เหยียบแล้วดังเอี๊ยดอ๊าด บวกกับผนังห้องที่มีรอยดำเป็นปื้น ก็ยิ่งสร้างบรรยากาศแบบหนังสยองขวัญสไตล์พีเรียดที่ทั้งน่ากลัวและมีเสน่ห์ไปพร้อมๆ กัน
“คิดดูสิ แค่เรามานั่งนึกว่าที่ตรงนี้เคยเป็นของใคร เคยเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันก็สนุกแล้ว จริงไหม” อันดรี เจ้าของบ้านเดินมากอดไหล่เราอย่างสนิทสนม
เราจึงถือโอกาสถามถึงสิ่งที่เราสังเกตเห็นตั้งแต่ตอนก้าวเข้ามาในห้องครั้งแรก
“แล้วรอยโหว่ที่พื้นนั้นมันมาจากไหน”
“อ๋อ รอยไฟไหม้น่ะ คนที่ให้เช่าเขาบอกว่าตึกนี้เคยถูกไฟไหม้หนักมาก ก็เลยเป็นรอยดำบนผนังแบบนั้น แล้วเจ้าของคนเดิมก็เสียชีวิตเพราะโดนไฟคลอกด้วย”
โอ้โฮ… อันดรี เราว่ามันชักจะไม่น่าสนุกแล้วนะ
ระยะเวลา 4 วันของเราในลวีฟหมดไปกับการเดิน เดิน และเดิน เนื่องจากเมืองนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยที่โลกยังไม่มีรถยนต์ ถนนหนทางจึงดีไซน์ออกมาให้คนเดินเท้าเป็นหลัก โดยบริเวณใจกลางเมืองจะเป็นทางแคบๆ ปูพื้นด้วยหินคอบเบิล และบางส่วนก็ไม่อนุญาตให้รถยนต์เข้ามา จะมีก็แค่รถรางและรถบัสคันเล็กๆ เท่านั้น
เราเดินลัดเลาะผ่านถนนเส้นหลักมาเจอกับจัตุรัสกลางเมือง ที่ขณะนั้นกำลังมีตลาดนัดเทศกาลอีสเตอร์อยู่พอดี จึงถือโอกาสเดินชิลชมตลาดต่างแดนสักหน่อย สินค้าส่วนใหญ่มักเป็นเสื้อผ้าท้องถิ่นที่จะมีลวดลายคล้ายๆ กับเสื้อปักสไตล์โบฮีเมียน นอกจากนี้ยังมีชีสโฮมเมด แพนเค้ก และไส้กรอกคีโอลบาสซา ที่มีให้เลือกตั้งแต่เนื้อไก่ วัว กระต่าย ไปจนถึงเนื้อม้า
ด้วยความอยากลองของแปลก เราจึงซื้อคีโอลบาสซาเนื้อม้ามาชิม 1 คำ แต่พอกัดเข้าไปก็ค้นพบว่ามันเหนียวมากจนเคี้ยวไม่ไหว แถมมีรสชาติปะแล่มๆ ไม่คุ้นลิ้นคุ้นปาก ก็เลยเปลี่ยนเป็นไส้กรอกหมูกลับบ้านแทน 1 ถุง (ถอนหายใจ)
นอกจากนี้เราก็ได้แวะไปศาลากลางจังหวัด เพื่อเดินขึ้นหอนาฬิกาไปสำรวจเมืองในมุมสูง ไปวังโพท็อกกีที่ปัจจุบันกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย และเดินขึ้นเขาไปยังไฮคาสเซิล จุดชมวิวของเมืองที่เคยเป็นปราสาทหลังเก่า และตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะที่ร่มรื่น และมีลมโกรกรอบทิศทาง
บอกไม่ได้เลยว่าส่วนที่สวยที่สุดของเมืองตั้งอยู่ตรงไหน เพราะสำหรับเรา ความสนุกของการเที่ยวเมืองลวีฟมันคือการเดินไปเรื่อยๆ แล้วถูกเซอร์ไพรส์ด้วยซอยแคบๆ เล็กๆ มีร้านรวงน่ารัก น่าค้นหา หรือบางซอยก็แสนจะแปลกตาด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่ที่แทบจะหาดูที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
“ถามจริงๆ เถอะ ทำไมคนยูเครนถึงพอใจที่จะอยู่กับความเก่าแก่แบบนี้” เราถามอันดรี ในฐานะคนกรุงเทพฯ เมืองที่พร้อมจะสร้างตึกสูงๆ และอาคารหลังใหม่ตลอดเวลา
“It’s not the place. It’s the atmosphere” เขาตอบ พร้อมขยายความว่า บางทีคนเราก็ไม่ได้เลือกที่จะอยู่ในสถานที่ที่สวยที่สุด แต่เป็นที่ที่มีบรรยากาศที่ดีที่สุดต่างหาก
ความเก่ามันเป็นส่วนหนึ่งของบรรยากาศ เป็นตัวที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวและประสบการณ์ของสถานที่นั้นๆ ซึ่งเราว่าลวีฟมันมีบรรยากาศที่มีเอกลักษณ์ และเหมาะกับเรามากเลย
Zhvyrka
The Boy is Home
จากเมืองลวีฟ เราและนาซาร์นั่งรถบัสต่อมาอีกราวๆ 2 ชั่วโมง เพื่อเข้าสู่หมู่บ้านซวิลร์กา หมู่บ้านขนาดเล็กในชนบท บ้านเกิดของเพื่อนร่วมทริปคนนี้ของเรา
“ตอนเจอหน้าแม่จะพูดว่าอะไร” เราเอ่ยถามนาซาร์ในฐานะเด็กชายชาวยูเครนที่ได้กลับบ้านครั้งแรกในรอบ 4 ปี
“ไม่รู้สิ ต่อให้ไม่พูดอะไรแม่ก็ต้องร้องไห้แน่ๆ”
แล้วก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ เราสองคนเดินมาหยุดอยู่ที่บ้านหลังสีเขียวสดใส ด้านหน้ามีสวนดอกไม้ที่กำลังบานรับฤดูร้อน ถัดออกไปเป็นพ่อและแม่ของนาซาร์ ที่นั่งรอลูกชายอย่างใจจดจ่อ พร้อมกับรอยยิ้มและน้ำตาที่รื้นขึ้นมาช้าๆ
ทั้งสองให้การต้อนรับเราอย่างดี พร้อมกับพูดติดตลกว่า “เรามั่นใจว่าเธอเป็นคนเอเชียคนแรกที่เข้ามาในหมู่บ้านนี้”
เนื่องจากหมู่บ้านซวิลร์กามีขนาดเล็กมาก พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นทุ่งนาและไร่มันฝรั่ง จนแม้กระทั่งคนยูเครนเองก็แทบจะไม่รู้จักเลย
Kiev
The Center of Hope
สองวันสุดท้ายก่อนกลับ เราเลือกที่จะไปสำรวจเคียฟ เมืองหลวงที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนานของยูเครน
หลักๆ แล้วเราเดินทางในเคียฟโดยใช้รถไฟใต้ดิน เนื่องจากสะดวกและราคาถูกมาก (เที่ยวละ 5 UAH ตลอดสาย ตกเป็นเงินไทยราวๆ 7 บาทเท่านั้น) โดยสถานที่แรกที่เราเลือกไปคือ Independence Monument ตั้งอยู่ใจกลางเมือง และเป็นสถานที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ เนื่องจากการปฏิวัติครั้งสำคัญเมื่อ 4 ปีก่อน
ปัจจุบันอนุสาวรีย์ได้รับการซ่อมแซมจนกลับมามีชีวิตชีวาเหมือนเดิม แต่ก็ยังเหลือร่องรอยของความสูญเสียจากตึกรามโดยรอบ โดยเฉพาะอาคารฝั่งตรงข้ามที่ยังคงถูกคลุมด้วยผืนผ้าใบ และเขียนข้อความขนาดใหญ่ไว้ว่า Freedom is our Religion
“ตอนนี้สถานการณ์ในยูเครนไม่น่ากลัวแล้ว จะมีก็แค่ส่วนของไครเมียที่ยังขัดแย้งอยู่” นาซาร์บอกกับเราด้วยน้ำเสียงราบเรียบก่อนที่จะพาเราไปสำรวจส่วนอื่นๆ ของเมือง
เราค่อยๆ เดินเลียบแม่น้ำนีเปอร์ ผ่านอาคารรัฐสภา สวนสาธารณะ และข้ามสะพานเพื่อตั้งใจไปเก็บภาพแสงสุดท้ายของวัน หากเปรียบเทียบกับลวีฟ เคียฟดูจะเป็นเมืองที่มีความเคร่งขรึมและดุดันในสไตล์รัสเซียมากกว่า มีป้ายประกาศเชิงการเมืองมากมายติดอยู่ตามเสาและฝาผนังของพื้นที่สาธารณะ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีกลิ่นอายความน่ารักขี้เล่นของร้านรวงและตึกแถวเล็กๆ แทรกอยู่ตามตรอกซอกซอยของเมือง
“ดีใจจังที่ได้กลับบ้าน” นาซาร์พูดขึ้นก่อนที่เขาจะต้องจากบ้านตัวเองอีกครั้ง
“งั้นอยู่ที่นี่ต่อเลยดีไหม”
“ไม่ล่ะ คิดถึงข้าวมันไก่ทอด” ดูท่าคนพลัดถิ่นจะมีบ้านอีกหลังหนึ่งเสียแล้ว
Take a Taste!
สิ่งที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดจากการตีเนียนมาอาศัยอยู่กับชาวยูเครนแท้ๆ อยู่หลายวันก็คือ คนยูเครนเป็นชนชาติที่มีวัฒนธรรมการรับประทานอาหารที่ละเอียดและซับซ้อนไม่ต่างจากชาวฝรั่งเศสหรืออิตาลี เพราะทุกมื้อจะต้องมีเซตสตาร์ทเตอร์ เมนคอร์ส และของหวานตบท้าย (ย้ำว่าทุกมื้อ เพราะเราโดนบังคับให้กินเค้กตอนเที่ยงคืนมาแล้ว) และยังพิถีพิถันกับการทำอาหารและจัดจานเป็นอย่างมาก
ส่วนอาหารจานเด็ดที่พลาดไม่ได้ก็จะมี ‘บอร์ชต์’ หรือซุปบีตรูต ซึ่งเป็นซุปสีแดงเข้มข้น มีส่วนผสมของเนื้อวัวและผักสมุนไพรกว่า 30 ชนิด ตุ๋นและเคี่ยวเป็นเวลานานจนให้สัมผัสแบบละลายในปาก แม้แต่เราที่ปกติไม่กินบีตรูตยังต้องขอเบิ้ลอีกชาม และอีกจานหนึ่งคือ วาเรนิเกะ ที่มีหน้าตาคล้ายเกี๊ยวซ่า แต่แป้งจะหนาหนุ่มกว่า โดยข้างในก็อาจสอดไส้มันฝรั่ง ชีส หมู หรือกะหล่ำปลี กินคู่กับซาวครีมและหอมทอด
What I love about Ukraine
อาหารถูกมาก – ยูเครนเป็นประเทศยุโรปที่พิซซ่าถาดละ 80 บาท แซนด์วิชชิ้นละ 25 บาท และเบียร์ขวดละ 20 บาท ต่อให้กินจนพุงกางก็ต่อของหวานได้แบบกระเป๋าไม่ฉีก
ขนส่งสาธารณะดีงาม – ในเมืองใหญ่มีรถไฟใต้ดิน รถเมล์ และรถรางวิ่งไปเกือบทุกจุดของเมือง ด้วยราคาค่าโดยสารเฉลี่ยเพียง 5 UAH หรือ 7 บาทเท่านั้น
ห้างน้อย ร้านค้าเยอะ – นักท่องเที่ยวสามารถเดินเล่นในเมืองได้ทั้งวัน