ฟิล์มสไลด์

เรื่องราวความเก๋าของฟิล์มสไลด์ และการทรานสเฟอร์ฟิล์มสไลด์สู่ไฟล์ดิจิตอล

นับตั้งแต่วันที่กล้องถ่ายรูปได้นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยครั้งแรกโดย จอห์น ทอมสัน ชาวอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2408 หรือในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสน่ห์ของการบันทึกภาพก็ได้เริ่มต้นขึ้น โดยสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างต่อเนื่องคือกระบวนการทำงานของกล้อง จากระบบแอนะล็อก ใช้ฟิล์มกระจก ฟิล์มสไลด์ ฟิล์มเนกาทีฟ สู่ระบบดิจิตอลอย่างเต็มรูปแบบในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่ว่ารูปแบบจะเปลี่ยนไปอย่างไร ความทรงจำอันงดงามของภาพถ่ายก็ยังคงมีคุณค่าต่อคนถ่ายเสมอ โดยเฉพาะภาพที่เก็บไว้ในฟิล์มสไลด์ ซึ่งรอใครสักคนมาชุบชีวิต ด้วยการค้นหาวิธีจัดเก็บและโอนถ่ายรูปภาพเหล่านั้นให้อยู่ในรูปแบบของไฟล์ดิจิตอล เพื่อให้เรื่องราวและความงดงามในอดีตถูกเปิดเผยขึ้นอีกครั้ง

ฟิล์มสไลด์

At The Beginning

The Secret Life of Walter Mitty ภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2013 เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนมากในการเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของภาพถ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ควบคู่กับสื่อสิ่งพิมพ์มาอย่างยาวนาน

แน่นอนว่าเมื่อทุกอย่างถูกโอนถ่ายเข้าสู่โลกของดิจิตอลอย่างเต็มตัว เทคนิคและกระบวนการในแบบเก่าของสื่อทั้งสองแบบนี้ย่อมปรับเปลี่ยนตาม แม้ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

“ในสมัยก่อนการถ่ายงานสารคดีต้องใช้ฟิล์มสไลด์ เพราะตอนนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดของการบันทึกภาพ แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยน ผมก็ต้องปรับและเปลี่ยน แม้ว่าผมยังคงทำงานกับสื่อสิ่งพิมพ์ หากผมยังใช้ฟิล์มสไลด์ถ่ายรูปเหมือนเมื่อก่อน ตอนที่ส่งรูปไปให้สำนักพิมพ์ เขาคงนำไปใช้ไม่ได้ เพราะตอนนี้เครื่องสแกนฟิล์มสไลด์ไม่มีแล้ว ผมจึงต้องใช้กล้องดิจิตอลและส่งรูปภาพในแบบที่เขาจะนำไปใช้ต่อได้ทันที” หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่าคนสำคัญของเมืองไทย กล่าวถึงการทำงานในอดีตที่มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ก่อนที่จะเล่าถึงข้อดีของฟิล์มสไลด์ที่ตัวเขาชื่นชอบ

ฟิล์มสไลด์

BE THE CHANGE 

แน่นอนว่าเมื่อมีสิ่งใหม่เข้ามาก็ต้องถูกนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่มีอยู่ กล้องฟิล์มในยุคสุดท้ายกับการเกิดขึ้นของกล้องดิจิตอลก็เป็นเรื่องที่ใครต่อใครต่างจับตามองอยู่เป็นระยะ

“สมัยนั้นเอาฟิล์มสไลด์มาฉายขึ้นจอคู่กับไฟล์รูปจากกล้องดิจิตอลจะเห็นเลยว่าฝ่ายหลังนั้นกากมาก”

หม่อมหลวงปริญญากรกล่าวอย่างติดตลก แต่ถ้ามองลึกไปถึงที่รายละเอียด ช่างภาพมือเก๋าคนนี้บอกกับเราว่า จริงๆ การถ่ายภาพด้วยกล้องแบบไหนก็ตามเรากำลังกลับไปสู่กระบวนการแบบดั้งเดิมด้วยซ้ำ เพราะถ้าต้องการรูปที่มีคุณภาพ เราต้องมีพื้นฐานในการถ่ายภาพ รู้จักอุณหภูมิแสง ยังไงเราก็ต้องตื่นตั้งแต่ตี 3 เพื่อไปรอพระอาทิตย์ขึ้นเหมือนๆ กัน เพียงแค่เปลี่ยนฟอร์แมตเป็นดิจิตอลเท่านั้น

“สิ่งที่หายไปคือ ความอดทน และทักษะของคนถ่าย ผมคิดว่าอย่างนั้น” หม่อมหลวงปริญญากรย้ำ

ฟิล์มสไลด์

LOST AND FOUND

เมื่อมาถึงคราวที่จะต้องเปลี่ยนภาพสวยๆ ที่อยู่ในฟิล์มสไลด์ให้กลายเป็นไฟล์ดิจิตอลเพื่อรวบรวมทำเป็นโฟโต้บุ๊ก หนังสือภาพสัตว์ป่า เอ้’ – พลพิชญ์ คมสัน และ ‘มีน’ – ชุตินันท์ โมรา สองช่างภาพสารคดีใต้น้ำภายใต้ทีม Digitalay จึงคิดถึงการทำหนังสือในสมัยก่อนขึ้นมา โดยเฉพาะวิธีทรานสเฟอร์จากฟิล์มสไลด์ด้วยวิธียิงสไลด์ลงเพลต แต่ก็มาคิดอีกว่า สมัยตอนใช้ฟิล์มเนกาทีฟ ใช้วิธียิงสไลด์ผ่านดรัมสแกน (Drum Scan) คือการสแกนด้วยความละเอียดสูง ออกมาเป็นไฟล์ TIF ซึ่งเป็นรูปแบบที่ยังมีอยู่ในทุกวันนี้ แต่ในเมืองไทยเครื่องนี้หายาก หากมีก็แพงมหาศาล หากจะดรัมสแกนจริง อาจจะต้องส่งไปต่างประเทศ

ฟิล์มสไลด์

BRINGING BACK TO THE DUP SLIDE FILM

ทั้งสองคนคิดทบทวนอีกครั้ง แล้วพบว่าประสิทธิภาพของกล้องดิจิตอลที่มี resolution สูงๆ อย่าง CANON 5DSR บวกเลนส์มาโครอีกตัวที่พวกเขาคุ้นเคย พร้อมกระบวนการคัดลอกฟิล์มแบบดั้งเดิมอย่างการดูปสไลด์ (Dup Slide) คือการถ่ายฟิล์มสไลด์ด้วยสไลด์ เมื่อรู้วิธีก็ถึงเวลาที่จะต้องออกตามอุปกรณ์ต่างๆ ให้ครบ ซึ่งมีนเล่าว่า

“เมื่อมีกล้อง มีเลนส์ เราต้องมีไลต์บอร์ด อุปกรณ์ชิ้นแรกที่ให้แสงอย่างเป็นธรรมชาติ และช่วยไม่ให้แสงส่วนอื่นเข้ามาทำให้ฟิล์มสไลด์สีเพี้ยน แม้ว่าเราสามารถคัดลอกออกมาในรูปแบบไฟล์ RAW ซึ่งแก้ไขในโปรแกรมได้ก็ตาม เราก็อยากให้ออกมาตรงกับแสงเดิมของฟิล์มมากที่สุด

“จากนั้นก็เป็นเครื่องจับกล้อง ซึ่งเป็นแท่นขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรงสามารถรองรับน้ำหนักของกล้อง DSLR ได้ โดยทั้งสองชิ้นเราบังเอิญเจอที่ฟอร์จูน ซึ่งเป็นร้านบรรยากาศยุคฟิล์มโบราณของคุณน้าชายหญิงคู่หนึ่ง เราเข้าไปถามหาอุปกรณ์เหล่านี้ เขาตื่นเต้นดีใจมากที่มีคนมาถามหาของที่หาไม่ได้อีกแล้ว อีกอย่างร้านเดิมของคุณน้าอยู่ที่พลับพลาไชย สมัยก่อนเรียกว่าเป็นเมืองหลวงของกล้อง แต่เมื่อยุคเปลี่ยนไปก็ต้องมาเช่าพื้นที่อื่นแทน สุดท้ายเราได้ของชิ้นใหม่ส่งตรงถึงบ้าน ซึ่งในวันนั้นหากพวกเราไม่เจอคุณน้าทั้งสอง พวกเรายังคิดว่าคงต้องสั่งจากเยอรมนีแล้วด้วยซ้ำ” (หัวเราะ)

ฟิล์มสไลด์

FINALLY

“จากนั้นพวกเราก็ลองผิดลองถูกบนพื้นฐานที่พลาดไม่ได้ เพราะฟิล์มสไลด์มีแค่อันเดียว และเพราะพลาดไม่ได้นี่แหละ ทำให้เราต้องพิถีพิถันกับสิ่งที่ทำมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะเดียวกันก็ต้องสร้างอุปกรณ์แบบแฮนด์เมดบางอย่างมาใช้ร่วมด้วย เช่น การใช้กระดาษสีดำเพื่อป้องกันการกระเจิงของแสง ด้วยการปิดทั้งบริเวณบอร์ดเหลือเพียงช่องวางสไลด์ และอีกชิ้นก็ครอบไปกับเลนส์และไลต์บอร์ดอีกที จากนั้นก็ถอดสไลด์ออกจากเมาต์ (กรอบพลาสติก) แล้ววางแนบไปกับไลต์บอร์ด ก่อนจะกดชัตเตอร์ แล้วก็เข้าสู่คอมพิวเตอร์ต่อไป” เอ้อธิบายจนครบกระบวนการ

“ทั้งหมดมันคือความสุขที่ได้เห็นภาพสไลด์นี้ก่อนใคร (หัวเราะ) เป็นความสนุกของการทำงาน พวกเราจริงจังและพิถีพิถันกับมันมาก อีกอย่างเรารู้สึกว่า อยากให้สิ่งที่วางไว้เฉยๆ กึ่งๆ เกือบตาย มีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง” มีนกล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้ม

ฟิล์มสไลด์

ฟิล์มสไลด์

อนุเคราะห์ภาพจากฟิล์มสไลด์ : หม่อมหลวงปริญญากร วรวรรณ