‘แม่บ้านคีโม’ กับแกงจืดกะเพรา การอยู่ต่อเพื่อฝันของคนที่จากไป

เมื่อไหร่ที่ชีวิตมีเป้าหมาย การอยู่อย่างแสนยากสำหรับคนบางคนอาจไม่ใช่เรื่องรันทดเท่าการที่คนอื่นคิดแทน 

        หากคนคนนั้นเลือกที่จะเข้าใจและรู้ตัวเองว่าจะอยู่อย่างไร เพื่อให้วันเวลาที่เรียกว่า ‘ระหว่างการเดินทาง’ นั้นมีความหมายมากกว่าการอยู่เพื่อรอปลายทางไปวันๆ 

        น้ำซุปกำลังเดือดพล่านในหม้อแกงสองหูแบบที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก ครัวของแม่ต่อให้มีหม้อด้ามจับแบบสมัยนิยม แต่หม้อสองหูคือตัวเลือกเบอร์หนึ่งเสมอเวลาจะทำกับข้าว ครัวของ ‘แม่บ้านคีโม’ ซึ่งเป็นหญิงสาวร่างเล็กวัย 38 ก็เป็นแบบนั้น

        “โบมีเมนูนี้เพราะมันเป็นตัวแทนของแม่ ตอนที่โบป่วยเป็นมะเร็งรอบแรก แม่เป็นคนดูแลโบ วันไหนที่เรากินข้าวไม่ได้แม่จะต้มกุ้งแกะเปลือกใส่จาน เหยาะน้ำปลาบนข้าว มีน้ำซุปเป็นแกงจืดหมูสับใบกะเพรา เท่านี้โบก็กินข้าวได้แล้ว บางวันแม่เปลี่ยนจากหมูเป็นปลาเป็นกุ้ง เป็นอะไรก็ตาม แต่ยังไงก็ต้องมีใบกะเพราเป็นหลัก” เสาวณิช ผิวขาว แม่บ้านคีโม ผู้เคยก้าวผ่านการเป็นมะเร็งเต้านมรอบแรก และกำลังอยู่ร่วมกับมะเร็งกระดูกเป็นรอบที่สอง บอกกับเราเสียงใสขณะกำลังกวนซุปในหม้อ เธอเทหมูสับที่มีเทกซ์เจอร์เป็นชิ้นเป็นอันมากกว่าหมูบดสำเร็จรูปลงไป ก่อนจะตามด้วยใบกะเพราสดกำมือใหญ่ เรานึกไม่ออกจริงๆ ว่ารสชาติจะเป็นอย่างไร กระทั่งได้ลองชิม

        ซุปแกงจืดมีรสชาติหวานจากผักที่ตุ๋นจนเปื่อย โบบอกว่าเธอทำเก็บไว้พร้อมใช้ตลอด และเป็นของฝากที่ติดมือไปให้คนชอบพออยู่เป็นประจำ เคล็ดลับของมันไม่มีอะไรมากนอกจากผักอะไรก็ได้ที่หาได้ใกล้ตัวอย่างกะหล่ำปลี ผักกาดขาว หัวไชเท้า แครอต ขึ้นฉ่าย หรืออื่นๆ

        “ผักทุกชนิดมีรสหวานอยู่ในตัว ไม่ต้องใช้ผักราคาแพง หิ้วไปฝากใครทุกคนก็ชอบมาก” รสชาติที่เธอเล่านั้นสมราคาคุย กลิ่นหอมของกะเพรากลืนอยู่ในน้ำซุปอร่อยแปลกไปจากที่เคยกิน ซดได้คล่องคอและไม่เผ็ดร้อนอย่างที่คิด “คนที่ให้คีโมมาภายในจะเหมือนถูกทำลาย บางทีก็ท้องผูกท้องเสีย ทรมานมาก แม่ก็คิดเองตามภูมิปัญญาชาวบ้านว่ากินกะเพรามันช่วยขับลม เลยทำให้ลูกกิน แล้วโบกินได้ ผายลมโล่ง บางทีก็ใส่ขิงในแกงจืดเราก็ขับถ่ายได้ เลยเป็นเมนูประจำตัว แม่จากไปแล้วโบก็ยังทำเมนูนี้ทาน และทำให้เพื่อนทานด้วย เขาชิมก็บอกทำขายเลย มันไม่เคยมีใครทำเพราะไม่มีใครรู้จักเมนูนี้” เธอเล่าอย่างไม่หวงสูตร หากใครจะลองทำแล้วช่วยให้กินข้าวได้ดีขึ้นเวลารู้สึกป่วยๆ 

        น่าเสียดายที่แม่ของโบไม่มีโอกาสได้ชิมเมนูนี้จากเธอ เพราะเมื่อถึงวันที่แม่ป่วยด้วยมะเร็งถุงน้ำดีนั้น เธอก็ยังโขยกตัวบนไม้เท้าให้แม่เกาะเดิน และขับรถเองเพื่อพาแม่ไปรักษาตัวข้ามจังหวัด เวลาเพียงหนึ่งเดือนที่แม่ตรวจพบและรักษาตัวนั้นสั้นเกินไป เพราะกว่ามะเร็งของแม่จะออกอาการก็ถึงระยะสุดท้าย ที่อย่าว่าแต่แม่จะทานอะไรได้เลย แม่จำโบไม่ได้ด้วยซ้ำ “แม่ตัวเหลืองเหมือนเอาขมิ้นมาทา สมองถูกทำลายด้วยเชื้อมะเร็ง โบก็ยังป่วย ก็เตี้ยอุ้มค่อมกันไป”

        “ตอนแรกโบไม่คิดจะรักษาแล้ว บ้านโบมีกันสี่คน พ่อเสียไปนานแล้ว พี่ชายเสียด้วยอุบัติเหตุ หลังจากนั้นห้าเดือนแม่ก็เสีย เราไม่รู้จะอยู่เพื่อใครหรือจะรักษาตัวไปเพื่ออะไร ไม่มีเป้าหมาย แต่มีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้โบฉุกคิดขึ้นมาว่า เราจะปล่อยให้ร่างเราเป็นแบบนี้ไม่ได้นะ เพราะแทนที่เราจะต้องไปเป็นคนแรกกลับเป็นทั้งพี่ชายและแม่ไปก่อน เหมือนเขาเสียสละเพื่อให้เราอยู่แทนเขา เราจะต้องอยู่ต่อเพื่อเป็นสะพานบุญให้คนที่จากไป ตั้งแต่นั้นเลยอุทิศตัวเองว่าจะทำอะไรที่เป็นกุศล”

        บุญที่โบส่งต่อไปถึงคนที่รัก นอกจากการทำบุญตามหลักทางพุทธ คือบุญจากการอุทิศตนทำประโยชน์ เธอเขียนคอลัมน์ ‘แม่บ้านคีโม’ ให้เพจชมรมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมแห่งประเทศไทย เป็นสูตรอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เธอชวนให้ผู้ป่วยลุกขึ้นมาทำอาหารด้วยตัวเองเพื่อจะได้กินรสชาติแห่งความภาคภูมิใจ อย่างน้อยก็เป็นการบำบัดไม่ให้จ่อมอยู่กับความกังวลว่าจะเป็นภาระให้คนอื่น ให้ร่างกายได้ขยับเหมือนออกกำลังกาย และเธอยังทำหน้าที่เป็นจิตอาสาพูดคุยกับผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ในขณะที่ตัวเธอเองก็ยังอยู่ระหว่างการให้คีโมเพื่อรักษามะเร็งเป็นรอบที่สอง และคราวนี้เล่นงานเธอหนักเพราะก่อตัวอยู่กับแกนกระดูกสันหลัง

        “โบไม่เคยกลัว เราเคยผ่านมาแล้วรอบหนึ่ง เราเคยชนะมะเร็งเต้านมมาได้ เคยก้าวข้ามมาแล้ว ครั้งนี้เราก็จะก้าวข้ามมันไปได้แน่ๆ แต่ถ้าก้าวข้ามไม่ได้ ระหว่างทางที่เราเดินไปแล้วเราเกิดสะดุดล้ม เรามีความสุขมากนะ เราไม่ได้รู้สึกเสียใจเลยถ้าเราจะข้ามขอนไม้นี้ไปไม่ได้ เพราะเราทำเต็มที่แล้ว ไม่ได้กลัวปลายทาง มันมีเป้าที่เรารู้ว่าเราอยู่เพื่ออะไร”

        เป้าหมายหนึ่งที่เธอบอกเรา ก็คือการเปิดครัวทำอาหารเช่นที่ทำอยู่ตอนนี้ เพราะว่า “โบอยากสานฝันของแม่ แม่เคยอยากให้โบกลับไปทำร้านอาหารต่อจากแม่ที่จังหวัดตราด แต่ตอนนั้นโบทำงานประจำเป็นรองผู้จัดการฝ่ายประชาสัมพันธ์โรงแรมเอเชีย และรับงานไกด์ทัวร์ด้วย สิ้นเดือนเราก็ได้เงินแล้ว ถ้ากลับไปทำร้านอาหารมันเหนื่อยนะ”

        ร้านของแม่โบมีชื่อเสียงอยู่ในอำเภอเมืองตราด รสชาติถูกปากติดใจลูกค้าถึงขั้นมีลูกค้ามาต่อคิวรอซื้อทุกวัน “ชื่อร้าน ‘เหนื่อยนักพักบ้านป้าแว่น’ ทุกคนรู้จักป้าแว่น แม่เป็นคนอารมณ์ดี เป็นคนโบราณที่เป๊ะเรื่องเวลาและอาหาร เขาบอกว่าทำอาหารเนี่ยต้องใช้ใจทำ แม้แต่เวลาหนึ่งหรือสองนาทีก็ทำให้รสชาติเปลี่ยนได้

        “โบทำอาหารเป็นเพราะโดนบังคับ ตอนเด็กๆ ตั้งแต่ ป.4 โรงเรียนเลิกต้องรีบกลับบ้านมาแล่เป็ดเป็นตัวๆ เพราะร้านแม่เป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ดและขายข้าวแกงด้วย แม่เคยพยายามจะดึงให้โบกลับไปรับช่วงต่อที่ร้านแต่เราไม่อยากทำ เพราะยังมีช่องทางทำมาหากินอื่น ป่วยมะเร็งรอบแรกฟื้นตัวก็กลับมากรุงเทพฯ มาทำงานได้ จนแม่เสียแล้วโบกลับมาป่วยรอบสอง มันทำให้ความคิดหลายอย่างย้อนกลับมาว่า ถ้าโบเชื่อแม่ตั้งแต่ตอนนั้น โบคงไม่ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่ เรายังมีเหนื่อยนักพักบ้านป้าแว่นเหมือนเดิม …แต่มันผ่านไปแล้ว ไม่เป็นไร เราเริ่มต้นใหม่ได้” เธอฮึบพร้อมกับส่งยิ้มมาให้ ก่อนเฉลยว่าเธอได้ขายบ้านซึ่งเป็นร้านป้าแว่นไปแล้วด้วยหลายเหตุผล และเธอกำลังตั้งต้นกับร้านใหม่ในฐานะลูกสาวป้าแว่น

        ความคิดถึงบ้านและรสมือแม่ ถูกถ่ายเทลงเมนูของ ‘แม่บ้านคีโม’ ในสูตรอาหารที่เธอแบ่งปันสู่ผู้ป่วยมะเร็งเป็นเมนูที่หลากหลายด้วยเหตุผลว่าผู้ป่วยไม่ควรกินอาหารซ้ำๆ เดิมๆ และจะปรุงยังไงถึงจะดีกับผู้ป่วย ส่วนเมนูที่ขายในร้านเป็นเมนูภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเมนูบ้านเกิดและคุ้นชินแต่อ้อนแต่ออก

        “ถึงจะเป็นเมนูสำหรับคนปกติแต่เราก็ต้องนึกถึงสุขภาพ เพราะที่สุดแล้วคนที่ต้องกินก่อนคือโบ ซึ่งร่างกายเราเซนสิทีฟกับอาหาร ถ้ามีอะไรเราเป็นด่านหน้าที่โดนก่อน วัตถุดิบส่วนใหญ่ของเราที่เป็นอาหารทะเลจะมาจากตราด เพราะโบมั่นใจว่าไม่มีฟอร์มาลีนแน่ๆ โบใช้วิธีเดินหาเองด้วยการไปที่สะพานปลา เขามีประมงเรือเล็กที่ออกเรือเช้ากลับเย็น หรือออกเย็นกลับเช้า เราไปถึงแหล่งแล้วชี้เลยว่าจะเอาอะไร แล้วต้องตั้งชื่อให้เข้าใจตรงกันเพราะบางคนเรียกไม่เหมือนกัน อย่างก้ามปูบางคนเรียกนิ้ว แล้วเอาไซซ์ไหน จากนั้นก็โทร.สั่งกัน เพราะเขาไม่ใช้ไลน์ (หัวเราะ) เวลาเขาเอาขึ้นจากเรือก็นึ่งแล้วแกะ อัดน้ำแข็งส่งห้องเย็นมาถึงเราเลย ไม่ผ่านตลาด ส่วนหมูเนื้อไก่เราตอบได้ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อไรที่ได้ไปนครปฐมเขามีหมูหลุมที่เลี้ยงแบบปลอดสารเราก็จะซื้อกลับมา 

        “โบว่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญ เรามีหมอเบอร์หนึ่งคือหมอที่ดูแลเรา เราเองก็ต้องเป็นหมอที่ดูแลร่างกายตัวเองด้วย อาหารเป็นยามากนะคะ อย่างเป็นไข้เรารู้เลยว่าควรกินน้ำใบย่านางหรือน้ำใบบัวบกเพื่อให้ฤทธิ์เย็นไปดักความร้อนในร่างกาย ถ้าไม่ดีขึ้นค่อยไปกินยาปัจจุบัน ท้องผูกก็ต้มน้ำขิง ในเมนูอาหารของโบเป็นยาทั้งนั้น อย่างเกี่ยมบ๊วยที่เราใส่ขิงเพราะทำให้เลือดลมและระบบขับถ่ายดี ในแกงป่าเรามี ‘เร่ว’ เป็นสมุนไพรเฉพาะถิ่นของจังหวัดตราด มาตำใส่เครื่องแกงป่าที่มีไพล ขิง ข่า รวมกับวัตถุดิบเครื่องแกงอื่นๆ แกงส้มเราก็จะไม่ใส่น้ำตาลเลย หรือเมนูผัดที่ต้องใส่น้ำตาลเราก็ใช้น้ำตาลไม่ฟอกสี”

        ข้าวคลุกพริกเกลือที่เคียงมากับกุ้ง กั้ง ปู หมึก เมนูท้องถิ่นที่เราสั่งมาคู่กับแกงจืดหมูสับใบกะเพรา คือข้าวคลุกน้ำจิ้มซีฟู้ดแบบไทยแต่ชาวตราดเรียกพริกเกลือ และของแท้ๆ จะต้องไม่ใส่น้ำตาล แต่เมื่อคนสั่งส่วนใหญ่เป็นคนกรุงจึงต้องปรับสูตรไปตามรสที่ลิ้นเคยชิน แต่สิ่งหนึ่งที่เธอไม่ปรับแน่ๆ คือการตำด้วยครกให้ได้แหลกแบบหยาบๆ ไม่อย่างนั้นคือไม่ใช่ 

        “เพื่อนบอกเหมือนกันว่าโบควรจะวางระบบใหม่ ให้มีชั่งตวงวัดแบบที่เชฟเขาทำกัน แต่โบไม่ใช่เชฟ โบเป็นแม่ครัว แล้วโบยังอยากมีความเป็นโลคัล อยากทำทุกอย่างแบบแม่ที่ไม่เคยต้องชั่งตวงวัด ซึ่งการทำแบบนี้ก็มีปัญหาเหมือนกันเพราะช่วงไหนที่โบทำคีโมโบต้องปิดร้านห้าวัน ลิ้นเราจะรับรสไม่ได้ ทำอาหารขายไม่ได้ กว่าจะกลับมาขายได้โบจะต้องทำให้คนที่รู้รสมือเราชิมก่อน ถ้าเขาว่าใช่แล้ว ลิ้นกลับมาปกติแล้ว ถึงจะเปิดขายใหม่ ข้อดีคือถ้ามีสูตรเรามีตัวตายตัวแทน แต่โบยังติดที่คำว่า ‘รสมือ’ เลยยังตอบไม่ได้ว่าโบจะทำระบบจริงจังแบบนั้นมั้ย”

        กว่าสองชั่วโมงที่อยู่ด้วยกัน ไม่มีตรงไหนที่เรารู้สึกว่าเธอเป็นคนป่วย น้ำเสียงเธอยังร่าเริง ยังลุกเข้าครัวได้กระฉับกระเฉงเมื่อมีไรเดอร์มารับอาหารตามที่ลูกค้าสั่ง 

        “ถ้าวันไหนป่วย เหนื่อย ท้อ ปวดแกนหลัง โบจะอยู่นิ่งๆ ทุกวันนี้ก็ยังปวดเป็นบางที แต่ตอนนี้ก็มีข่าวดีขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยปวดยาวลงไปทั้งหลัง เดี๋ยวนี้ปวดเป็นจุดๆ ก็เป็นการรักษาที่มาถูกทาง แต่อนาคตมะเร็งคงไปที่อื่นอีกแน่ๆ ก็คุยกับคุณหมอว่ามันเป็นเรื่องของอนาคต อะไรที่ยังมาไม่ถึงโบยังไม่คิดถึงมัน ไว้มาถึงก็ค่อยแก้ไปทีละจุด

        “กำลังใจของโบคือแม่ ร้านนี้เป็นสิ่งที่เราอยากทำให้แม่ แม้ว่าแม่จะไม่ได้เห็นแล้วก็ตาม”

        โบบอกเราทิ้งท้าย พอดีกับที่มือถือของเธอร้องบอกว่ามีออร์เดอร์เข้ามา และครัวเล็กๆ นั้นกำลังรอเธอกลับไปประจำการ


ต้องการชิมรสมือแม่บ้านคีโม สามารถสั่งผ่านแพลตฟอร์ม Robinhood หรือติดตามเมนูพิเศษได้ทางเพจ แม่บ้านคีโม เมนูเจ๋งๆ ที่มาไม่ประจำเพราะขึ้นกับวัตถุดิบที่หามาได้ในวันนั้น