นิทรรศกี: นิทรรศการสำรวจความเจ็บปวดของผู้มีประจำเดือน

“เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนไม่สามารถอยู่ได้ภายใต้การถูกกดขี่ เพราะมันผิดธรรมชาติ  เรามีความเชื่อว่าธรรมชาติของคนเกิดมาพร้อมกับเสรีภาพที่เรามีสิทธิ์ที่จะเลือก” -นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย วัยรุ่นเดือนตุลาฯ

        แล้วทำไมเราถึงจะเลือกเรียงร้องสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขอนามัยที่ดีให้กับผู้มีประจำเดือนทุกคนไม่ได้? ตอนเด็กๆ เราเคยสงสัย 

        “ทำไมเราต้องแอบผ้าอนามัยไม่ให้ใครเห็น” 

        “ทำไมเราห้ามให้เพื่อนผู้ชายรู้ว่าตัวเองมีประจำเดือน” 

        “ทำไมการเป็นประจำเดือนถึงต้องโดนล้อ” 

        ผู้ใหญ่หลายคนบอกแค่ว่า “เลือดประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอาย” แล้วเราก็ทำตามโดยเก็บความสงสัยไว้ภายในใจลึกๆ กระทั่งเติบโตขึ้นมาพร้อมการมองโลกที่เปิดกว้างขึ้น จึงรู้ว่าสิ่งที่ถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก เป็นส่วนหนึ่งของมายาคติทางสังคมที่กดขี่ผู้หญิงให้รู้สึกอับอาย เพียงเพราะมีเลือดออกมาจากอวัยวะเพศ แต่ในเมื่อสังคมดำเนินมาถึงยุคสมัยใหม่ที่ทุกอย่างล้วนเปิดกว้างขึ้น ดังนั้น มายาคติที่กดทับเรื่องเพศใดๆ จึงควรถูกเปลี่ยนเสียใหม่ได้เสียที 

        นิทรรศการ นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมสำหรับผู้มีประจำเดือนทุกคน เราจึงพาทุกคนเดินเข้ากี่เพื่อไปสำรวจความเจ็บปวดของผู้มีประจำเดือน รวมถึงแนวทางปฏิบัติการเยียวยาความเจ็บปวดนี้ด้วยกัน 

        รีบมาชมก่อนหมดเวลา สำหรับการจัดนิทรรศการสัปดาห์สุดท้ายของ ‘นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ เปิดให้เข้าชมได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 บริเวณ ThinkLab Creative Space & Cafe พรรคเพื่อไทย ทุกวันทำการ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์และเสาร์อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น.

        เมื่อแหวกผ่าน “ประตูกี” (ประตูผ้าที่ออกแบบให้คล้ายกับอวัยวะเพศหญิง ถือเป็นอีกหนึ่งการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์) เข้ามา เราจะพบกับโถงนิทรรศการขนาดย่อม เต็มไปด้วยบิลบอร์ดซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญของการรณรงค์ถึงความจำเป็นต่อการผลักดันให้นโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้าได้เกิดขึ้นจริง

        โดยพรรคเพื่อไทยเลือกโอกาสในวันสตรีสากลปีนี้ ขับเคลื่อนแคมเปญ #breakthebias หรือการทำลายอคติ ตั้งแต่มายาคติเรื่องเพศ การเหมารวม (stereotype) การเลือกปฏิบัติ และอื่นๆ ที่มาพร้อมกับอคติทางเพศ และ #IWD2022 ปักหมุดประกาศศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า จัดนิทรรศการเรื่องผ้าอนามัย จิ๋ม และความเป็นผู้หญิง เพื่อศึกษานโยบายที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ของผู้หญิง และฝ่าอคติทางเพศไปพร้อมกัน

        นิทรรศการนี้ ไม่ใช่แค่ความพยายามฝ่าอคติทางเพศเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการนำเสนอเรื่อง ‘ค่าใช้จ่ายที่เลี่ยงไม่ได้ของผู้มีประจำเดือน’ 

        “หากค่าแรงขั้นต่ำเรายังอยู่ที่ราว 331 บาท/วัน แต่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคกลับสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น ค่าใช้จ่ายประจำเดือนของผู้หญิงอย่าง ‘ผ้าอนามัย’ จะตกอยู่ที่ 350-400 บาท/เดือน ซึ่งตัวเลขนี้คำนวณจากจำนวนผ้าอนามัยที่ควรเปลี่ยนทุก 4 ชั่วโมง และผู้หญิงเป็นประจำเดือนที่ 3-7 วัน นั่นหมายความว่า ผู้หญิงจะต้องทำงานเพิ่มอีก 1 วัน เพื่อให้มีค่าแรงต่อเดือนเท่ากับผู้ชาย และหากบวกค่าใช้จ่ายผ้าอนามัยทั้งชีวิต คนวัยประจำเดือน (ระหว่าง 10-50 ปี) จะต้องสูญเสียเงินออมสูงถึง 192,000 บาท ทำให้ผู้หญิงที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัย เป็นปัญหาปากท้องรุนแรง หรือที่เราเรียกกันว่า Period Poverty” 

        ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลาย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงปัญหาในเชิงลูกโซ่หากเราไม่ผลักดันนโยบายดังกล่าว

        ถือเป็นโชคดีของเราที่เดินทางมาชมนิทรรศการตรงกับวันที่มีการจัดเสวนาประเด็นเรื่อง ‘จากวัยรุ่นเดือนตุลาฯ ถึงวัยรุ่นยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา บทบาทผู้หญิงในฐานะนักต่อสู้’ 

        ร่วมเสวนาโดย ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส. เชียงใหม่, มีมี่ feminist FooFoo เยาวชนนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน, อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน และ นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย วัยรุ่นเดือนตุลาฯ 

        แขกรับเชิญทั้ง 4 คน ต่างบอกเล่าประสบการณ์การต่อสู้ต่อความอยุติธรรมที่ตัวเองต้องเจอในฐานะเพศหญิง ไม่ว่าจะเป็นด้านการโดนถูกกล่าวหา การกลั่นแกล้งทางกฎหมาย การโดนดูถูกเหยียดหยาม และการถูกใส่ร้ายป้ายสี แต่เพื่อสิทธิอันชอบธรรมในฐานะมนุษย์ และพลเมือง และที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อความถูกต้อง พวกเธอยังคงสู้ต่อไปเพื่อให้ได้ในสิ่งนั้นมา แม้ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดเท่าไหร่ก็ตาม

        “มันไม่ใช่แค่เสรีภาพที่เสียไป แต่มันคือจิตใจของเรา และคนรอบข้างด้วย” -ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ส.ส.เชียงใหม่ 

        ผู้เคยถูกพาตัวไปปรับทัศนคติในปี 2557 เนื่องจากถูกอ้างว่าปลุกปั่น ยุยงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เธอเล่าถึงประสบการณ์ และความเจ็บปวดที่ได้รับจากเหตุการณ์นั้น ไม่ใช่แค่การถูกกล่าวหาโดยไม่ชอบธรรม แต่ได้สร้างความเจ็บปวดให้กับครอบครัว และคนรอบข้างไปทั้งชีวิต เมื่อการทำสิ่งที่ชอบธรรมกลายเป็นความไม่ถูกใจของคนบางกลุ่ม

        “เราจะกลัวก็ได้ แต่ความฝันที่จะทำตามในสิ่งที่เราเชื่อ มันยิ่งใหญ่กว่า เพราะฉะนั้น กลัวแค่ไหน หรือรู้สึกตกใจแค่ไหน ก็ไม่สามารถเอาชนะสิ่งที่เราคิดว่าเรากำลังทำเพื่อความถูกต้อง” – นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ สมาชิกพรรคเพื่อไทย 

        ในอดีต เธอเป็นหนึ่งในวัยรุ่นเดือนตุลาฯ ที่ยังคงต่อสู้เพื่อความถูกต้องมาจนถึงวันนี้ นิธินันท์ได้เล่าให้ฟังถึงอีกมุมหนึ่งในฐานะนักศึกษาที่อยู่ในเหตุการณ์ขณะนั้น รวมถึงย้อนรอยไปถึงการเกิดขึ้นของขับเคลื่อนกลุ่มเฟมินิสต์ในประเทศไทยที่มีความเปลี่ยนแปลง การแตกแขนง รวมถึงการพัฒนาแนวคิดและการต่อสู้มาโดยตลอด 

        “เรารู้สึกว่าความเป็นเฟมินิสต์อยู่ในตัวเราเองมาตั้งนานแล้ว ต่อให้พ่อจะปลูกฝังเรื่องการต่อสู้ เรื่องประชาธิปไตยมาตั้งแต่เด็ก แต่เรามองว่าเรื่องเพศหรือความไม่เท่าเทียมตรงนี้ คือสิ่งที่ติดตัวเรามาตลอด” – มีมี่ feminist FooFoo เยาวชนนักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชน

        มีมี่เป็นเยาวรุ่นนักกิจกรรมเยาวชนผู้ตัดสินใจโกนผม จุดประสงค์เพื่อประท้วงและกดดันให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง เธอเติบโตมาในครอบครัวที่เปิดกว้างเรื่องสิทธิ และเสรีภาพ ทำให้กล้าที่จะคิด พูด และทำในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง และกลายมาเป็นนักกิจกรรมเยาวชน รวมทั้งนักเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมทางเพศอย่างเต็มตัว 

        เธอเสริมว่า ในสังคมที่ทุกคนบอกว่าเรามีสิทธิเท่าเทียมกันแล้ว แต่เรายังไม่มีผ้าอนามัยฟรีใช้เลย ทำไมประเทศเราถึงล้าหลังขนาดนี้  เพราะผ้าอนามัยฟรีเป็นนโยบายที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วมานานมาก

        รีบมาชมก่อนจะหมดเวลา สำหรับการจัดนิทรรศการสัปดาห์สุดท้ายของ ‘นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ เปิดให้เข้าชมได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 บริเวณ ThinkLab Creative Space & Cafe พรรคเพื่อไทย ทุกวันทำการไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์และเสาร์อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น.

        ผลงานศิลปะของ ‘ป่าน’ – ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา หรือ juli baker and summer ที่มาร่วมแสดงในงาน สามารถอ่านบทสนทนาของเธอในฐานะอดีตคอลัมน์นิตย์ Nowhere Girl ที่เธอเคยเขียนให้กับ a day ถึงการส่งเสียงของเธอในฐานะผู้หญิงได้ที่: https://adaybulletin.com/talk-drink-with-adb-juli-baker-and-summer/61511

        นอกจากจะให้ความรู้เรื่องรายละเอียดของค่าใช้จ่ายรายเดือนที่ผู้มีประจำเดือนจำเป็นต้องแบกรับแล้ว พรรคเพื่อไทยยังแสดงข้อมูลผ่านบิลบอร์ดที่อธิบายถึงการศึกษาวิถีการใช้ชีวิตของผู้มีประจำเดือน รวมถึงรายละเอียดโครงการที่จะส่งเสริมให้มีผ้าอนามัยแจกฟรีให้กับผู้มีประจำเดือนทุกคน โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงผ้าอนามัยให้สามารถเข้าถึงได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนเกิน

        “ทุกคนเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองได้ในแบบที่คุณเลือก บางทีเราก็มองว่าหลายคนด้อยค่าการเป็นนักรบทวิตเตอร์น้อยเกินไป เพราะเราเชื่อว่าประเด็นต่างๆ เมื่อถูกส่งผ่านการรับรู้แล้ว ไม่มีหรอกที่ใครจะพิเศษเพราะเป็นนักแสดงและเป็นนักกิจกรรม” 

        “เราเชื่อว่าทุกคนพิเศษเท่ากันหมดในแบบของตัวเขาเอง ทำมากทำน้อยอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทุกคนเป็นได้โดยไม่จำเป็นต้องเช็กบล็อก หนึ่ง สอง สาม สี่ หรือต้องมีคดีติดตัวเหมือนพวกเรา ไม่เกี่ยวเลย” 

        ‘ทราย’ – อินทิรา เจริญปุระ นักแสดงและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน เธอเล่าถึงประสบการณ์การยืนหยัดในอุดมการณ์ของตัวเองท่ามกลางสังคมรอบข้างที่มีความเชื่อในขั้วตรงข้าม แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้ความเชื่อของตัวเองสั่นคลอน เธอยังคงยืนหยัดในแนวคิดของตัวเอง อดทน และเจ็บมาเยอะกว่าจะได้เห็นมิตรภาพของผู้คนที่คิดเช่นเดียวกัน รวมทั้งยังคงร่วมสู้ไปด้วยกันเพื่อประชาธิปไตย และความเท่าเทียมทางเพศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

        ตัวอย่างจุดแจกผ้าอนามัยฟรี กล่องมีลักษณะใสมองเห็นง่าย ไม่ต้องอายในการหยิบใช้ มีหลายขนาดตามความจำเป็น ทางพรรคแจกเป็นผ้าอนามัยออแกนิกที่เป็นมิตรกับอวัยวะเพศของผู้มีประจำเดือนทุกคนเพื่อสุขอนามัยที่ดียิ่งขึ้น เนื่องจากมีหลายกรณีที่ผิวแพ้ง่าย

        อีกหนึ่งจุดที่สามารถรับผ้าอนามัยได้ฟรี คือก่อนและหลังรับชมนิทรรศการจบแล้ว โดยผ้าอนามัยมิโดริเป็นอีกหนึ่งแบรนด์เพื่อคนไทยที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย

        รีบมาชมก่อนจะหมดเวลา สำหรับการจัดนิทรรศการสัปดาห์สุดท้ายของ ‘นิทรรศกี: เพื่อผ้าอนามัยฟรีถ้วนหน้า’ เปิดให้เข้าชมได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 บริเวณ ThinkLab Creative Space & Cafe พรรคเพื่อไทย ทุกวันทำการไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์และเสาร์อาทิตย์ เวลา 10.00-18.00 น.


เรื่อง: adB Team | ภาพ: แพรวา ชัยแสงจันทร์