การเดินทางไปด้วยกัน คือวิธีที่ดีที่สุดในการทำความรู้จักใครสักคน
ประโยคนี้ลอยขึ้นมาให้หัวเมื่อพบว่าในมือของตัวเองกำลังถือ Asus ZenBook 13 แล็ปท็อปที่มีหน้าจอขนาด 13 นิ้ว ซึ่งเล็กพอๆ กับกระดาษ A4 และน้ำหนักที่เบาจนเหลือเชื่อ (ประมาณ 1.22 กิโลกรัม) ผมพลิกซ้ายพลิกขวาชื่นชมความสวยงามภายนอกของมันอย่างช้าๆ เพราะแล็ปท็อปของ ASUS ในตระกูล Zenbook นั้นขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องของความสวยงามแบบมินิมอล ฝาครอบเครื่องเป็นอะลูมิเนียมอัลลอยสีเงินเงางาม (ซึ่งมีสีน้ำเงินให้เป็นตัวเลือกด้วย) และแฝงลายวงกลมที่มีลักษณะเคลื่อนที่เข้าสู่จุดศูนย์กลางที่เป็นเอกลักษณ์ของเซน
“งั้นเราลองไปทำความรู้จักกันดู” ผมคิดในใจขึ้นมาแบบนี้จริงๆ เพราะอีกไม่กี่วันจากนั้นผมต้องเดินทางไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่นหลายวัน และก็ตัดสินใจแล้วว่าจะใช้ Asus ZenBook 13 เครื่องนี้ เป็นคอมพิวเตอร์พกพาตัวหลักในการใช้ทำงานระหว่างเดินทาง เพื่อให้เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันอย่างแท้จริง
เรียนรู้ขั้นต้น: ทำความรู้จักกันในขั้นพื้นฐาน
Asus New ZenBook 13 เป็นแล็ปท็อปที่มาพร้อมระบบปฏิบัติการ Windows 10 Home เมื่อเปิดฝาขึ้นมาจะพบหน้าจอขนาด 13.3 นิ้ว สีสันสดใส จอมีความสว่างมากจนเราอาจต้องปรับลดแสงลงเมื่อใช้ในที่มืด และที่รู้สึกทึ่งก็คือ ScreenPad 2.0 ซึ่งเป็นจอทัชสกรีนขนาด 5.65 นิ้ว ที่ได้รับการปรับปรุงซอฟต์แวร์ ScreenXpert ให้ใช้งานได้ดีขึ้น เมื่อปรับเป็นฟังก์ชันของทัชแพดสามารถใช้งานได้อย่างลื่นไหลไม่มีสะดุด ระบบสัมผัสและการกดตัวสรีนลงไปเพื่อใช้แทนการคลิกเมาส์นั้นทำออกมาได้อย่างดี เมื่อเปลี่ยนเป็นจอทัชสกรีนก็มีฟังก์ชันการใช้งานอย่างเครื่องคิดเลข การเขียนตัวหนังสือด้วยลายมือ หรือใช้เลือกโปรแกรมต่างๆ และเขาก็บอกด้วยว่า ScreenPad 2.0 นี้ ประหยัดไฟขึ้นกว่ารุ่นก่อนเกือบ 2.5 เท่า
สารภาพเลยว่าเราสนุกกับการเรียนรู้วิธีใช้งานจอทัชสกรีนและหน้าจอที่สวยงามของ Asus ZenBook 13 ตัวนี้มาก โดยเฉพาะการดาวน์โหลดธีมสวยๆ ของวินโดว์มาใช้งาน เพราะสามารถเปลี่ยนรูปภาพทั้งจอหลักและจอรองให้แตกต่างกันได้ เพลินจนเกือบลืมเก็บกระเป๋าเดินทางกันเลย
เรียนรู้จากการเดินทาง
ด้วยน้ำหนักแค่หนึ่งกิโลกรัมนิดๆ หลังจากที่เก็บของเพื่อออกเดินทางเรียบร้อย เมื่อเดินทางไปสนามบินก็ไม่ได้รู้สึกว่ากระเป๋าที่มีทั้งแล็ปท็อป กล้องถ่ายรูป และของใช้จิปาถะอื่นๆ ที่กำลังสะพายอยู่นี้หนักและหนาจนเกะกะเลย เพราะขนาดตัวเครื่องที่พอๆ กับกระดาษ A4 ทำให้เรามีที่ว่างในกระเป๋าเพิ่มขึ้นกว่าเดิม และขนาดของตัวเครื่องก็สามารถวางบนถาดรองอาหารบนที่นั่งของเครื่องบินได้อย่างลงตัว (มีที่เหลือพอให้วางแก้วน้ำด้วย)
เนื่องจากต้องใช้เวลาอยู่บนเครื่องบินนานกว่าหกชั่วโมง ผมจึงได้ทำการดาวน์โหลดหนังและรายการจาก Netflix มาไว้ที่เครื่อง เพื่อดูสลับระหว่างนั่งทำงานไปด้วย และที่เขาบอกว่า Asus ZenBook 13 เครื่องนี้สามารถใช้งานได้ตลอดทั้งวันเพียงแค่ชาร์จครั้งเดียวก็เป็นความจริง เพราะหลังจากที่เราใช้งานด้วยการดูหนังและพิมพ์งานบนเครื่องรวมๆ แล้วประมาณ 4 ชั่วโมง ก็พบว่าแบตเตอรี่ลดไปเพียงแค่ 40% เท่านั้น
แป้นพิมพ์ของ Asus ZenBook 13 ออกแบบมาอย่างดี ระบบสัมผัสในการพิมพ์งานนั้นให้ความรู้สึกที่ดีมากๆ แต่ก็มีข้อสังเกตอยู่ตรงที่เนื่องจากตัวเครื่องมีขนาดเล็ก การวางเลย์เอาต์ของแป้นพิมพ์จึงจำเป็นต้องมีขนาดเล็กและชิดติดกันพอสมควร คนที่นิ้วมือใหญ่ๆ อย่างเราต้องปรับตัวกับมันในตอนแรกๆ อย่างสูง เพราะปุ่ม shift นั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้พิมพ์ผิดพลาดอยู่บ่อยๆ จนช่วงแรกรู้สึกรำคาญตัวเอง และอยากจะเลิกใช้งานด้านการพิมพ์ไปเลย แต่สุดท้ายเมื่อทำความคุ้นเคยกับแป้นพิมพ์สักพักเราก็เริ่มพิมพ์งานได้คล่องขึ้น และพบว่าคีย์บอร์ดของแล็ปท็อปเครื่องนี้ก็พิมพ์ได้เพลินดีเหมือนกัน (แต่ถ้าคุณเลือกรุ่นหน้าจอ 14 หรือเพิ่มเงินอีกนิดเลือกรุ่น 15 นิ้ว ตัวเครื่องทั้งสองรุ่นจะมีคีย์บอร์ดขนาดมาตรฐาน)
ScreenPad 2.0 เหมือนใช้งานสมาร์ตโฟน
เมื่อปรับโหมดมาใช้งานจอทัชสกรีน ซอฟต์แวร์ ScreenXpert ก็จะมีฟังก์ชันต่างๆ ให้เราใช้เหมือนกับจอสมาร์ตโฟน สามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชันอื่นๆ มาใช้งานได้จาก AppDeals และมีโปรแกรมพื้นฐานมาให้ใช้อย่างเครื่องคิดเลขที่เราไม่ต้องมานั่งกดตัวเลขบนคีย์บอร์ด สามารถใช้งานจากจอทัชสกรีนได้เลย หรือระบบ Handwriting ที่มีความแม่นยำอย่างสูง สามารถเดาลายมือของเราได้ว่าเขียนคำว่าอะไรลงไป แต่รองรับแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น หากอยากใช้ภาษาไทยได้คงต้องช่วยกันอ้อนทางไมโครซอฟท์ให้ช่วยอัพเดตระบบการอ่านลายมือภาษาไทยให้พวกเรากันหน่อย ถ้าใครที่ใช้งานเอกสารภาษาอังกฤษบ่อยๆ นี่เรียกว่ายิ้มออก เพราะเอานิ้วเขียนข้อความได้ง่ายๆ เลย
ตัว ScreenPad 2.0 ยังมีฟังก์ชันอื่นๆ ให้ใช้งานตามความต้องการของแต่ละคนอีกเยอะมาก เช่น แตะสามนิ้วเพื่อสลับโหมดไปมา การสลับหน้าต่างระหว่างหน้าจอหลักและหน้าจอ ScreenPad โดย Action menu ฟังก์ชัน Quick Key การใช้งานปุ่ม Hotkey เพื่อความสะดวกสบายในการใช้งาน หรือสร้างปุ่ม Hotkey ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้งานกับโปรแกรมโปรดของคุณ
น้อยแต่ (ใช้งานได้เยอะ) มาก
ถึงตัวเครื่องจะมีขนาดกะทัดรัดแต่ก็มีพอร์ตใช้งานมาให้ค่อนข้างครบ นั่นคือ HDMI 1 พอร์ต USB 3.1 Gen 2 กับ USB 2.0 อย่างละ 1 พอร์ต USB Type-C 1 พอร์ต ตัวอ่าน Micro SD Card และช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. ทำให้เราไม่ต้องพกปลั๊กพ่วงหรือแบตเตอรี่สำรองไปเพิ่มเติม เพราะสามารถใช้แล็ปท็อปเครื่องนี้ชาร์จอุปกรณ์ทั่วไปอย่างสมาร์ตโฟน สมาร์ตวอตช์ได้ และใช้เป็นเพาเวอร์แบงก์ชั่วคราวในกรณีฉุกเฉินได้ด้วย ไม่ต้องกลัวว่าจะใช้งานตัว Asus ZenBook 13 ไม่ได้ เพราะตัวเครื่องสามารถจัดสรรการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การที่เครื่องมีระบบจัดการทรัพยากรที่ดีนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะใช้ซีพียูใหม่จาก intel คือ 10th Generation Intel® up to Core™ i7 ซึ่งแม้เขาจะบอกว่าเอาไว้สำหรับใช้งานพื้นฐานทั่วไป แต่จริงๆ แล้วแล็ปท็อปเครื่องนี้สามารถใช้งานหนักๆ อย่างการแต่งภาพจากไฟล์ RAW ด้วยโปรแกรมโฟโต้ช็อปหรือตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูงได้เหมือนกัน กลายเป็นว่ารู้สึกไม่ผิดหวังเลยที่ตัดสินใจหยิบ ASUS ZenBook 13 มาใช้งานด้วยกัน แค่เพียงต้องทำความคุ้นเคยกันนิดหน่อยเท่านั้นเอง
Asus ZenBook 13 (UX334)
ตัวเครื่อง: มีให้เลือกสองสี Royal Blue และ Icicle Silver มาพร้อมโลโก้สีทองและแถบตกแต่งสี Rose Gold ตัดกันเหนือบริเวณคีย์บอร์ด เพิ่มความหรูหรา บานพับออกแบบด้วยหลักการ Ergolift ที่ช่วยให้การพิมพ์งานสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น พร้อมช่วยระบายความร้อนจากตัวเครื่องได้ด้วย
จอแสดงผล: มีให้เลือกทั้งขนาด 13 นิ้ว 14 นิ้ว และ 15 นิ้ว โดยมีขอบจอบางทั้งสี่ด้าน (Four-sided frameless NanoEdge display) ช่วยเพิ่มอัตราส่วนหน้าจอต่อได้มากถึง 95% แสดงผลที่ระดับ Full-HD
จอสกรีนแพด: ASUS ScreenPad™ 2.0
ซีพียู: 10th Generation Intel® up to Core™ i7
การ์ดจอ: NVIDIA GeForce MX250 (สำหรับรุ่น 13 และ 14 นิ้ว) / NVIDIA GeForce GTX1650 (สำหรับรุ่น 15 นิ้ว)
ฮาร์ดดิส: 512 GB PCIe® SSD (สำหรับรุ่น 13 และ 14 นิ้ว) / 1TB PCIe® SSD (สำหรับรุ่น 15 นิ้ว)
หน่วยความจำ: 8 GB (สำหรับรุ่น 13 และ 14 นิ้ว) / 16 GB (สำหรับรุ่น 15 นิ้ว)
ราคา: เริ่มต้นที่ 29,990 บาท (สำหรับซีพียู Core™ i5)