มองโลกผ่าน (ประวัติศาสตร์) อาหารเช้า

กินประวัติศาสตร์อย่างเอร็ดอร่อยด้วยหนังสือมองโลกผ่าน (ประวัติศาสตร์) อาหารเช้า

ในเช้าวันรุ่งขึ้นคุณเคยวางแผนกันไหมว่าจะกินอะไร อาจเป็นแซนด์วิซไส้หนาๆ คู่กับกาแฟร้อน หรือข้าวต้มหมูสับโรยต้นหอมผักชีพูนๆ บางคนก็ทำอะไรง่ายๆ อย่างไข่ดาวตรงกลางไม่สุกเคียงคู่กับไส้กรอกสองชิ้น และขนมปังปิ้งสองแผ่น เข้าชุดกับกาแฟดำหรือช็อกโกแลตร้อนข้นๆ บางทีรีบมากๆ คิดอะไรไม่ออกก็ไปจบที่ร้านข้าวแกงเจ้าประจำก่อนถึงออฟฟิศ แต่ไม่ว่าจะเลือกเมนูไหน ‘อาหารเช้า’ คือมื้อที่สำคัญที่สุดของวันเสมอ เพราะไม่เพียงแค่ร่างกายจะได้รับพลังงานและสารอาหารอย่างเต็มที่กว่ามื้อเที่ยงหรือเย็นแล้ว อาหารเช้านั้นยังเกี่ยวพันถึงประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติด้วย

มองโลกผ่าน (ประวัติศาสตร์) อาหารเช้า

 

        “สำหรับผมอาหารเช้าคือมื้อสำคัญมาก ไม่เกี่ยวกับสุขภาพมากนัก แต่เกี่ยวกับความรู้สึก” 

        ประโยคสำคัญที่อยู่ในคำนำของหนังสือ มองโลกผ่าน (ประวัติศาสตร์) อาหารเช้า โดย โตมร ศุขปรีชา ก็จับจิตจับใจเราได้ทันที โดยเฉพาะการเอาเรื่องใกล้ตัวมาบอกเล่าให้เห็นถึงความสำคัญของหลักฐานของมนุษย์นั่นคือการกิน ซึ่งตลอดมาเราก็ไม่ฉุกคิดหรอกว่าอาหารที่เรากัดเคี้ยวแล้วกลืนลงพุงไปแต่ละคำนั้น มีเรื่องราว ที่มา และเชื่อมโยงกับชีวิตของทุกคนจนกลายเป็นประสบการณ์ร่วมกันได้อย่างเหลือเชื่อ 

        แม้โลกจะผ่านมาแล้วกี่สิบปี เทคโนโลยีจะหมุนเปลี่ยนไปสักแค่ไหน แต่อาหารเช้ายังคงอยู่คู่วิถีชีวิตของมนุษย์ อาจจะเปลี่ยนไปบ้างในแง่ของเมนูหรือกระบวนการปรุง แต่ใจความสำคัญของมันนั้นยังคงอยู่ครบถ้วน ไม่ต่างกับที่คนรุ่นปู่รุ่นพ่ออาจกินไข่ลวกพร้อมกับอ่านหนังสือพิมพ์ไปด้วย เหมือนกับเราที่ไถฟีดบนหน้าจอมือถือหรือแท็บเล็ตระหว่างเพลิดเพลินกับมื้อเช้าตรงหน้านั่นแหละ 

มองโลกผ่าน (ประวัติศาสตร์) อาหารเช้า

        หนังสือเล่มนี้ว่าด้วยอาหารเช้าที่เกี่ยวพันกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก โดยบทแรกนั้นเป็นการพูดถึง ‘อาหารเช้าชาวยุคกลาง : เมื่อการรีบกินแต่เช้าเป็นเรื่องของคนจนและคนบาป’ กล่าวคือในยุคกลาง คนที่ต้องกินอาหารเช้านั้นถ้าไม่ใช่พวกผู้ใช้แรงงานก็คือพวกคนตะกละที่ตื่นขึ้นมาก็ไม่คิดเรื่องอะไรนอกจากหาของกิน (อุ้ย!) แต่เรื่องนี้ก็อธิบายได้จากวัฒนธรรมของราชวงศ์ยุโรป ที่มักจะว่าราชการกันบนโต๊ะกินข้าวนี่แหละ และเนื่องจากยุคกลางคือยุคที่บ้านเมืองมีความอุดมสมบูรณ์ มีของให้หยิบกินไปคุยไปตลอดทั้งวัน ดังนั้นผู้ทรงอำนาจทั้งหลายจึงอิ่มหมีพีมันตลอดเวลา มื้อเช้าเลยไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับพวกเขา เอาเวลาไปขี่ม้า ยิงนก ยิงเก้งกวาง ใช้ชีวิตช่วงเช้าแบบสโลว์ไลฟ์เหมือนในหนังย้อนยุคที่เราเห็นกันหลายๆ เรื่อง และเคยตั้งข้อสงสัยว่าคนพวกนี้ว่างกันหรือไงเนี่ย (ฮา) 

        เกริ่นแค่นี้ก็ว่าสนุกแล้ว แต่ยังมีเรื่องสนุกกว่าอีกนั่นคือ เมื่อเป็นคนยุโรปแน่นอนว่าผู้กุมอำนาจจริงๆ ในยุคนั้นคือศาสนจักร ซึ่งหนึ่งในบาปเจ็ดประการของศาสนาคริสต์คือบาปที่ว่าด้วยความตะกละ แต่แอบมีการทำเป็นมองไม่เห็นเหล่าราชสำนักที่กินดื่มกันตลอดเวลา (เอ้า!) ดังนั้น ทุกอย่างจึงมีข้อยกเว้นและการประนีประนอมเสมอ ชาวนาและกรรมกรจึงหยวนๆ ให้กินมื้อเช้าได้ เพื่อที่ตัวเองจะได้มีแรงไปทำงาน ส่วนรายละเอียดที่เหลือคงต้องไปให้ไปอ่านเพิ่มเติมกันเอง เพราะไม่อย่างนั้นจะเป็นการเล่าเนื้อหาของบทแรกเสียหมด อดได้อรรถรสกันพอดี 

 

มองโลกผ่าน (ประวัติศาสตร์) อาหารเช้า

ขนมปังในฐานะอาหารเช้า เขากินมาตั้งแต่สมัยกรีก 

        ในฐานะคนรักแป้งอย่างข้าพเจ้าขอเลือกบทนี้มาแนะนำ เพราะเมื่อก่อนคนไทยกับขนมปังและมื้อเช้าอาจจะไม่ค่อยคุ้นเคยกันนัก (ขนาดปาท่องโก๋ยังเป็นแค่ของกินคู่กับข้าวต้มและโจ๊กเลย) แต่สำหรับชาวกรีกนั้น พวกเขาจะจุ่มขนมปังลงในไวน์ที่เจือจางด้วยน้ำเปล่าแล้วกินเป็นอาหารเช้า (เดี๋ยวต้องลองทำตามบ้าง) ซึ่งวิธีการกินขนมปังแบบนี้ก็สืบทอดและวิวัฒนาการจนเป็นส่วนหนึ่งของพิธีการศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาคริสต์ เป็นวิธีการ ‘เสก’ ให้ขนมปังกลายเป็นเนื้อของพระเยซู เป็นมื้อเช้าที่เพิ่มพลังกาย พลังใจ มีศิริมงคลเวลาออกไปทำงาน ขับไล่ภูตผีที่เข้ามารบกวนการทำงาน ไม่โดนปีศาจมาทำลายสะพานจนทำให้เกวียนและวัวของตัวเองตกลงไปในน้ำ 

        อีกส่วนเล็กๆ ที่ขอหยิบมาเล่าในบทนี้คือ ข้อความที่ จอห์น ล็อก (John Locke) บอกไว้ว่า อาหารเช้าที่เหมาะกับเด็กๆ นั้นคือขนมปังสีน้ำตาลที่ทำอย่างดีและอบอย่างดี บางครั้งอาจกินกับเนยหรือชีสก็ได้ นี่คืออาหารเช้าที่ดีที่สุดสำหรับเด็กๆ โดยในศตวรรษที่ 18 นั้น การกินเนื้อสัตว์จะหนักเกินไปสำหรับมื้อเช้า เพราะจะทำให้เกิดผลเสียทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ

        อ่านบทนี้จบนอกจากจะได้กลิ่นหอมๆ ของขนมปังอบอุ่นๆ เมื่อฉีกออกมาแล้วมีควันกรุ่นๆ ลอยมาแล้ว ยังทำให้เราตัดสินใจหยิบโทรศัพท์มากดสั่งซื้อเครื่องปิ้งขนมปังทันที

ข้าวต้ม : ความซับซ้อนของอาหารเช้า 

        กระดูกหมูเคี่ยวเป็นน้ำซุปจนเข้มข้นๆ ค่อยๆ ตักข้าวที่แห้งแข็งลงไปคนให้อ่อนนุ่ม บางคนก็ย่นเวลาด้วยการใช้ซุปก้อน แต่อย่างไรก็จบด้วยการโรยพริกไทยและผักชีซอย อาจท็อปไข่ลวกลงไปเพิ่มสารอาหารและความอิ่มท้อง ถ้าจะให้หรูหราอีกนิดอาจเปลี่ยนจากหมูสับเป็นกุ้งตัวโตหรือหมึก เป็นมื้อเช้าที่เราคุ้นเคยกันตั้งแต่เด็ก เวลาแม่ทำให้กินทีไรจะหม้อใหญ่แค่ไหนผ่านไปไม่ทันถึงตอนเที่ยงเราก็ฟาดจนเกลี้ยงทุกที 

        แต่สำหรับชาวกรีกนั้น อาหารที่คล้ายๆ กันนี้กลับมีเรื่องราวที่เข้มข้น โดยส่วนหนึ่งที่อยู่ในบทนี้คือชาวกรีกใช้ข้าวบาร์เลย์ทำ ‘ข้าวต้มหมู’ ด้วยการนำไปต้มกับไวน์เรียกว่า ไคคีออน (Kykeon) เป็นอาหารที่หรูหรา และเต็มไปด้วยเรื่องสุดอีรุงตุงนังอยู่ในมหากาพย์โอดิสซีย์ โดยเล่าว่าแม่มดได้ทำไคคีออนขึ้นมา และให้ลูกเรือของโอดิสซีอุสกินจนกลายเป็นหมูไปทั้งลำ ซึ่งถ้าประมวลผลหลักจิตวิทยาเพราะเรื่องนี้อยู่ในมหากาพย์โอดิสซีย์ ก็จะตีความได้ว่า ‘หมู’ ที่ว่านั้นอาจเป็นสัญญะบางอย่างในการควบคุมผู้ชายของผู้หญิง เพราะข้าวบาร์เลย์ที่นำมาทำไคคีออนนั้นมีความชื้นสูง ในข้าวบาร์เลย์อาจจะมีเชื้อราปะปนเกิดขึ้นมา (Ergot Fungus) และสารที่ออกฤทธิ์คล้ายๆ กับ LSD คนที่กินเข้าไปก็จะเกิดอาการประสาทหลอน มีสภาพกลายเป็นหมู ที่ถูกจัดการได้ง่ายๆ และสื่อถึงการถูกลดชั้นจากชายที่อยู่เหนือผู้หญิงให้มีสถานภาพที่ต่ำต้อย พร้อมถูกผู้หญิงย่ำยีหรือล้างแค้นให้สาแก่ใจ 

 

        ที่เล่ามานี่คือส่วนหนึ่งที่เล็กน้อยแต่สนุกสนานของที่มาเมนูอาหารเช้าแบบต่างๆ ของทั้งโลกตะวันตกและตะวันออก หากติดใจและใคร่รู้ว่ายังมีอะไรแทรกซึมเป็นวัตถุดิบสำคัญที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้บ้าง ต้องรีบบึ่งไปจับจองมาอ่านตามร้านหนังสือทั่วไปหรือจะสั่งซื้อออนไลน์จากเว็บขายหนังสือต่างๆ ได้

        แล้วมื้อเช้าของคุณจะอร่อยเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่า โดยเฉพาะถ้าบนโต๊ะนั้นมีเพื่อนๆ ล้อมวงกินด้วยกัน คุณจะมีเรื่องเล่าให้พวกเขาได้ฟังจนไม่อยากหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาก้มหน้าก้มตาเล่นจนลืมรสชาติอาหารแบบที่เคยเป็นกันมาอีกเลย 

 

มองโลกผ่าน (ประวัติศาสตร์) อาหารเช้า

 

มองโลกผ่าน (ประวัติศาสตร์) อาหารเช้า

เขียนโดย: โตมร ศุขปรีชา

สำนักพิมพ์: อมรินทร์

ราคา: 245 บาท

 


ขอขอบคุณอาหารเช้าอร่อยๆ จาก VALA Hua Hin