เมื่อโลกซีมเศร้า

เมื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อ่านหนังสือ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า’ ของ ศ. สรวิศ ชัยนาม

“อาจเป็นความผิดของคุณที่พ่ายแพ้ แต่คราวหลังลองพยายามให้มากขึ้น เพราะอนาคตอยู่ในมือของคุณแล้ว คุณอาจจะเหนื่อยเกินไปจากวันนี้ พยายามคิดบวกเข้าไว้ ลองหาทางเยียวยารักษาแผลใจด้วยตัวเอง จะมีวิธีอื่นใดที่ดีไปกว่านี้อีกหรือ”

        ประโยคข้างต้นคือสิ่งที่หลายคนมักถูกพร่ำบอกให้เรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับไปกับไอเดียเหล่านี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนทั่วไปถูกสังคมรอบข้างบอกก็ดี หรือผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกบอกโดยนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ก็ดี แต่เชื่อไหมว่านี่ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้องสักเท่าไหร่นัก

        อย่างที่เห็นกันอยู่เนืองๆ สังคมของเรานั้นรายล้อมไปด้วยกลุ่มคนที่มีปัญหาจากโรคเครียด โรควิตกกังวล และโรคซึมเศร้ามีอัตราสูงเพิ่มขึ้นมาเป็นเวลากว่าสามสิบปี สาเหตุของผู้ป่วยสันนิษฐานว่ามาจากความผิดปกติของสารสื่อประสาทในสมองที่ชื่อ ‘เซโรโทนิน’ รักษาได้โดยการปรึกษาพูดคุยกับนักจิตวิทยา ปรับเปลี่ยนแนวคิดให้เอาตัวรอดในแต่ละวันได้อย่างไม่ยากลำบากมากนัก และจ่ายยาโดยจิตแพทย์ เพื่อให้ก้าวข้ามผ่านค่ำคืนที่มักโหดร้ายไปได้ง่ายอีกสเต็ปหนึ่ง ด้วยแก่นหลักที่มักจะโดนบอกเสมอว่า ‘เราเปลี่ยนแปลงปัจจัยภายนอกไม่ได้ ดังนั้น ก็ต้องปรับที่ตัวเอง’ 

        ว่าแต่เราเคยลองตั้งคำถามกลับไปบ้างไหมว่ามันเป็นที่เขาว่าไว้จริงหรือ? โรคซึมเศร้าเป็นเพียงผลมาจากความผิดปกติของเคมีในสมอง และทางแก้มีแค่การปรับวิธีคิดให้ผ่านช่วงเวลาทุกข์ตรมไปได้แต่ละทีจริงหรือ? เคยคิดบ้างหรือไม่ว่ามันคือการโยนความผิดให้เราต้องโทษตัวเอง แก้ไขปัญหาด้วยตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่า คุณอาจรู้สึกดีได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่นั่นไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาเลยสักอย่าง ไม่มีอะไรเปลี่ยนไป นอกจากวิถีความคิดของคุณที่เปลี่ยนแปลงให้ยอมอดทนสู้มันด้วยตัวคุณเองมากขึ้น และมากขึ้น

        หากคุณเริ่มมีความสงสัยใคร่รู้เช่นนั้น หนังสือ ‘เมื่อโลกซึมเศร้า: Mark Fisher โลกสัจนิยมแบบทุน และลัดดาแลนด์’ ของ ศาสตราจารย์สรวิศ ชัยนาม จะช่วยไขคำตอบให้กับคุณ พร้อมเผยให้คุณเห็นถึงเบื้องลึกเบื้องหลังของโรคซึมเศร้าในมิติใหม่ๆ ที่ไม่ได้แอบอิงไปกับการให้เหตุผลทางชีววิทยา แต่ขยายอาณาบริเวณการศึกษาด้วยปรากฏการณ์วิทยา จนท้ายที่สุด เม่ืออ่านหนังสือเล่มนี้จบลง คุณจะไม่สามารถมองโรคซึมเศร้าเหมือนเดิมได้อีกต่อไป มันไม่ใช่เพียงโรคร้ายที่เอาแต่ปัดความรับผิดชอบให้แก่ปัจเจกชน แต่เป็นภาพสะท้อนของโลกที่กำลังเจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาอย่างฉุกเฉิน ก่อนที่จะสายไปมากกว่านี้

“ทุนนิยมตอนปลายกำลังทำลายสุขภาพจิตของเราอย่างรุนแรง”

        ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ต้องการบอกเราว่า ทั้งชีวิต ร่างกาย และสุขภาพจิตของเรากำลังถูกบั่นทอน อย่างรุนแรงมหาศาล โดยทุนนิยมตอนปลายที่เราต่างอาศัยอยู่ตอนนี้ นำเสนอผ่านภาพยนตร์ที่ตีความและมีปฏิสัมพันธ์กับความเป็นจริงของโลกทุนนิยม นั่นก็เพื่อมองสุขภาพจิตเสียใหม่ในทางการเมือง

        ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่อาจลดทอนโรคซึมเศร้าเป็นเพียงแค่เรื่องความไม่สมดุลทางเคมีในสมองเท่านั้น แต่ยังควรพิจารณาถึงปัจจัยทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจร่วมด้วย เราจึงไม่อาจรักษาอาการซึมเศร้าเพียงแค่ปรับสารเคมีในสมอง หรือเข้าคอร์สบำบัดปรับความคิดอย่างที่เคยได้ แต่ควรพิจารณาถึงทุนที่เข้ามาแทรกซึมภายในร่างกาย จิตใจ และสำนึกคิดของเราร่วมด้วย

        ปัญหาคือการพิจารณาโลกซึมเศร้าในปัจจุบัน แม้ว่าจะมองรอบด้านมากขึ้นในแง่ของชีวะ-จิต-สังคม (Biopsychosocial) แต่ยังคงถูกกำจัดความเป็นการเมืองออกไป และใส่ร้ายป้ายสีให้กลายเป็นปีศาจกล่าวอ้างให้เป็นปัญหาส่วนตัว ปัจเจกเท่านั้นที่ต้องรับกรรมในการรักษาตัวเอง ทั้งที่จริง ตัวการอันอหังการ์คือทุนนิยมที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังอุดมการณ์ที่เรียกว่า ‘สัจนิยมแบบทุน’ กลับลอยนวล และไม่เคยถูกดึงมาแก้ไขอย่างจริงจังเสียที ซึ่งเป็นวิธีการที่ผิดฝาผิดตัวอย่างมาก นอกจากจะไม่ช่วยให้การซึมเศร้าดีขึ้นแล้ว มิหนำซ้ำยังเป็นการเลี้ยงไข้ และทำให้อะไรๆ แย่ลงไปอีก

        เนื่องจากการปรับวิธีคิดและกินยาต้านเศร้าอาจพอเยียวยาให้ค่ำคืนที่โหดร้ายผ่านพ้นไปได้ในแต่ละวัน และแก้ไขได้แค่ในระดับปัจเจกบุคคล แต่ยาต้านเศร้าที่แท้จริงสำหรับระดับสังคม/โลก จำเป็นต้องแก้ไขที่ตัวการอย่างทุนนิยม พิจารณาเรื่องประเมินคุณค่าของงาน ลดชั่วโมงการทำงาน เรียกร้องความเป็นธรรม จัดสรรทรัพยากรและความมั่นคั่งสู่สังคม รวมถึงกระทั่งล้มล้างระบอบทุนนิยม นี่คือสิ่งที่หนังสือเล่มนี้เสนอ

“มันไม่มีทางเลือกอื่นใดเป็นไปได้อีกแล้ว นั่นคือโลกสัจนิยมแบบทุน”

        ก่อนที่จะไปดื่มด่ำกับเรื่องสุขภาพจิตกันต่อ หนังสือเล่มนี้ได้พาผู้อ่านไปทำความเข้าใจกับคำว่า ‘สัจนิยมแบบทุน’ หรือ Capitalist Realism ถ้อยคำที่ มาร์ก ฟิชเชอร์ นักทฤษฎีวัฒนธรรมผู้ล่วงลับด้วยโรคซึมเศร้า หยิบยกเอามาใช้ใหม่ในเชิงวิพากษ์ ซึ่งตั้งใจจะหมายความว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ‘ทุนนิยม’ ก็จะอยู่กับเราไปเรื่อยๆ อย่างนี้ต่อไปราวกับเป็น ‘สัจนิยม’ ต่อให้ฟ้าถล่ม แผ่นดินทลาย โลกล่มสลายไป สิ่งที่จะยังคงหลงเหลืออยู่ต่อไปก็คือทุนนิยม

        ความเป็นโลกสัจนิยมแบบทุนเริ่มเด่นชัดก็เมื่อสงครามเย็นสิ้นสุดลงและสหภาพโซเวียตล่มสลาย ตั้งแต่ ฟรานซิส ฟุกุยะมะ ประกาศกร้าวว่านี่คือ ‘จุดจบของประวัติศาสตร์’ ด้วยชัยชนะของประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมและทุนนิยมแบบตลาดเสรี พัฒนาตัวเองเป็นที่สุดทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ ตอกย้ำด้วยคำพูดของ มาร์กาเรต แทตเชอร์ ที่ยืนกรานว่าเราไม่จำเป็นต้องหาระบบอื่นใดมาเป็นทางเลือกอีกต่อไปแล้ว มันไม่มีทางเลือกอื่นอีกแล้ว นั่นไม่ใช่เพราะว่าทุนนิยมเป็นสิ่งดีที่สุด แต่ว่าเป็นความจริงหนึ่งเดียวที่คนเชื่อกันว่าสามารถดำเนินต่อไปได้ก็เท่านั้น

        ตรรกะที่มองว่าเราเปลี่ยนแปลงทุนนิยมได้ยาก หรืออาจเป็นไปไม่ได้เลย เป็นไปในทางเดียวกับการมองว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องธรรมชาติแบบของมันต้องมี เป็นสิ่งที่เอื้อให้ทุนนิยมดำเนินไปได้ตลอดรอดฝั่ง โดยทิ้งให้ผู้ป่วยซึมเศร้ารังแต่ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวปัจเจกเอง ไม่ว่าปรับความคิดหรือสารเคมีในสมอง เพราะมันง่ายกว่าที่จะไปแก้ปัญหาที่สังคม ซึ่งนี่ก็ตอกย้ำแนวทางการรักษาแบบจิตวิทยาที่ว่าไปข้างต้น 

        นั่นเป็นสิ่งที่ฟิชเชอร์โต้แย้งมาตลอด เขาเสนอให้มองสุขภาพจิตเสียใหม่ในทางการเมืองเรื่องทุนนิยม ตรงกับแนวคิดที่อาจเรียกว่า ‘ชีว-จิต-ทุน’ (Biopsychocapital) เป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจผลิตสร้างระบบและโครงสร้างที่ทำให้เกิดผู้ป่วยซึมเศร้าขึ้นมา โดยมีตัวแสดงจำนวนมากได้รับผลประโยชน์ โดยเฉพาะ ‘ทุน’ ที่หลายคนไม่เคยคิดที่จะพูดถึงหรือแก้ไขปัญหาอย่างถูกที่ถูกทาง แต่กลับทำมันอย่างผิดฝาผิดตัว ปล่อยให้ปัจเจกต้องทุกข์ทรมาน เพื่อปกป้องให้ทุนยังคงอยู่และมีอำนาจนำในสังคมสืบต่อไป 

“เลิกทำให้ปัญหาสังคมกลายเป็นเรื่องของใครของมัน หรือหยุดลงโทษตัวเองได้แล้ว”

        ในช่วงครึ่งแรกของหนังสืออธิบายในส่วนเรื่องสังคมและการเมืองเพื่อการปลดปล่อยเป็นหลัก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผู้มีปัญหาทางสุขภาพจิตจำนวนมาก ซึ่งเราไม่อาจละเลยได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม 

        เช่นเดียวกันกับฟิชเชอร์ ยังคงมีนักคิดจำนวนมากมองโรคซึมเศร้าอย่างแยกขาดจากเรื่องสังคม การเมือง และ เศรษฐกิจ โดยขยายความไปอีกว่าสุขภาวะทางจิตของผู้คนเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ทางสังคม และสภาพทางวัตถุที่บ่มเพาะโดยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจจากลัทธิเสรีนิยมใหม่ร่วมด้วย ยิ่งสังคมเหลื่อมล้ำมาเท่าไหร่ ก็ยิ่งปรากฏจำนวนของผู้ป่วยซึมเศร้ามากขึ้นเท่านั้นอย่างมีนัยยะสำคัญ มากกว่าสังคมที่มีความเสมอภาคกันอีกหลายเท่าตัว

        นอกจากนั้น สุขภาพจิตของคุณ เกี่ยวโยงกันกับการงานที่คุณทำอยู่ งานมักจะทำให้คุณเหน็ดเหนื่อย หมดแรง ท้อแท้ รู้สึกสิ้นหวัง แต่ให้ผลตอบแทนมาไม่มากเพียงพอ หรือบางงานที่ให้ผลตอบแทนมากหน่อย ก็มักจะเป็นงานห่วยๆ ไร้ประโยชน์ ซึ่งคุณไม่มีทางเลือกอื่นใดนอกจากทนทำงานสักงานหรืออาจจะหลายงานต่อไป เพราะไม่อย่างนั้นก็อาจอดตาย คุณก็ต้องยอมให้ระบบกัดกร่อนกลืนกินชีวิตและจิตวิญญาณของคุณ กระทั่งป่วยเป็นซึมเศร้า จนต้องหาทางรักษา แต่ท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาทำงานใหม่ พร้อมทั้งฉีกยิ้มรับมันด้วยความปรีดาทั้งที่ภายในจิตใจเต็มไปด้วยน้ำตาหรือความเคียดแค้น วนเวียนไปเช่นนี้ไม่มีที่สิ้นสุดอยู่ดี

“อย่าไปกลัวผี”

        ครึ่งหลังของหนังสือจะเป็นส่วนของการหยิบยกภาพยนตร์เรื่อง ลัดดาแลนด์ มาเล่าให้เห็นถึงความบอบช้ำของตัวละครที่ต้องกดดัน ตึงเครียด และตีแผ่ความทุกข์ทนทรมานกับภาวะบีบคั้นของปัญหาทางจิตภายในโลกเสรีนิยมใหม่ได้อย่างแยบคาย แต่จะกล่าวว่าช่างน่าผิดหวังดีหรือไม่ เพราะในท้ายเรื่องกลับลงเอยแบบโลกนี้ช่างสวยงาม สมาทานปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหมดที่ได้ชำแหละออกมา ทิ้งไว้เช่นนั้นโดยไม่คิดจะแก้ไขอะไรสักอย่างเดียว ตามสไตล์ของการสร้างภาพยนตร์ภายใต้การกำกับของค่ายยักษ์ใหญ่

        นั่นยิ่งตอกย้ำความสัตย์จริงของสัจนิยมแบบทุน ที่ไม่ว่ายังไงก็ตามระบอบทุนนิยมก็ยังจะคงเป็นทางออกเดียวที่เป็นไปได้สืบต่อไป… คำถามคือสมควรแล้วหรือที่ต้องเป็นเช่นนี้

        ภายในหนังสือเล่มนี้ยังไม่จบ ยังคงแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของตอนจบภาพยนตร์เรื่องนี้อีกหลายแนวทาง แต่จะขอไม่เล่าไปมากกว่านี้ เพราะยังมีอะไรอีกมากมายให้คุณไปติดตามอ่าน เราแนะนำให้คุณไปอ่านหนังหนังสือเล่มนี้ด้วยตัวของคุณเอง ดื่มด่ำไปกับความเสน่ห์ของภาษาที่แปลมา เนื้อหาที่เปิดโลกอย่างที่คาดไม่ถึง และการวิเคราะห์วิพากษ์โลกซึมเศร้าได้อย่างเจ็บแสบถึงทรวง รับรองว่าอ่านสนุกจนคุณจะไม่อยากวางหนังสือเล่มนี้สักนาทีเดียว

เมื่อผู้ป่วยโรคซึมเศร้า อ่านหนังสือ เมื่อโลกซึมเศร้า

        ภายหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ เราวางมันลงบนเตียงนอนพร้อมเอามือก่ายหน้าผากและครุ่นคิดอะไรบางอย่าง มีความเห็นถึงความไปด้วยกันไม่ได้ของแนวคิดที่ใช้รักษาทางจิตวิทยากระแสหลัก ซึ่งยึดโยงอยู่กับเรื่องของชีวะ-จิต-สังคม กับแนวคิดทางสังคมศาสตร์แบบฝ่ายซ้าย อย่างน้อยก็หนังสือเล่มนี้ ซึ่งมุ่งมั่นวิเคราะห์ผ่านแนวคิดชีวะ-จิต-ทุน เรียกได้ว่าการดึงเอาทุนมาเป็นตัวแปรในการมองซึมเศร้าแทนสังคมมันสร้างความขัดแย้งอย่างมากต่อการปรับความคิดของผู้ป่วยซึมเศร้าที่กำลังเข้ารักษาอยู่

        ขณะที่ผู้ป่วยซึมเศร้าอย่างเราใช้เวลาและประสบการณ์อย่างหนักหน่วงกับการปรับความคิดให้รับรู้ เข้าใจ และยอมรับความเป็นมาเป็นไปของสังคม พอมาให้อ่านหนังสือเล่มนี้กลับถูกตอกหน้าด้วยความคิดชุดใหม่ที่คว่ำกระจาดความคิดชุดเดิมที่เคยยึดถือ มันคือการปะทะกันอย่างรุนแรงของความคิดทั้งสองทางอย่างที่ไม่อาจต้านทานไหว อาจกล่าวได้ว่าเป็นการต่อสู้ทางการเมืองในระดับความคิดและจิตใจ โดยมีผู้ป่วยซึมเศร้าเป็นตัวแปรของความสัมพันธ์ 

        แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราควรละทิ้งแนวคิดทั้งสองทาง หรือเลือกยึดถือเอาเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ในด้านหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ยังคงเป็นหนังสือที่ดีอย่างมากในการเผยเบื้องหลังของโรคซึมเศร้าในแง่มุมของสังคมศาสตร์ที่นักจิตวิทยาและจิตแพทย์ไม่เคยบอกระหว่างกระบวนการรักษา แต่ในอีกด้านหนึ่ง สำหรับบางคนหนังสือเล่มนี้ช่างบั่นทอนจิตใจเหลือเกิน ขณะที่ผู้ป่วยถูกตอกย้ำว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้นอกจากตัวเราเอง หนังสือเล่มนี้ก็ได้ขยายขอบเขตความเป็นไปได้ว่าทางแก้ไขจริงๆ คือการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

        ‘แต่มันจะทำได้จริงหรือ?’ นั่นคือเสียงของความคิดในหัวที่ได้แต่สงสัย

        ถึงแม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังจะกลับมาเรืองรองอีกครา ภายหลังจากมีการออกมาต่อสู้เรียกร้องเคลื่อนไหวมากมาย แต่ความเป็นจริงกลับตอกย้ำถึงความเป็นไป (ไม่) ได้มากมายที่ผุดขึ้นเต็มไปหมด การปฏิรูปสังคมภายในประเทศไทยยังเป็นสิ่งที่ยากลำบากเนื่องจากมีคนบางกลุ่มเพียงเล็กน้อยได้ผลประโยชน์ หากจะต้องคาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทุนนิยมที่คนจำนวนมากถูกทำให้เชื่อว่าได้ผลประโยชน์ยิ่งริบหรี่ ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาตลอดชีวิตสู้หรือเปล่า หรืออย่างไรทุนนิยมก็ยังจะคงอยู่ตลอดไปแม้โลกทั้งไปจะล่มสลายก็ตาม อย่างที่ใครว่าไว้

        สิ่งที่กล่าวไปไม่ได้คาดหวังให้นักสู้ทั้งหลายหมดหวัง แต่มันเป็นเสียงเล็กๆ จากผู้ป่วยซึมเศร้าคนหนึ่ง

        ทว่าเราก็ยังคงจะต้องสู้กันต่อไป เพื่อค้นหายาต้านเศร้าให้กับโลกที่ซึมเศร้าอย่างแท้จริง