ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความกลมกลืนของวัฒนธรรมและเทคโนโลยีอย่างสุดโต่ง ในขณะที่ธุรกิจร้านอาหารหรือโรงแรมมีการใช้หุ่นยนต์มาเป็นพนักงานต้อนรับ แต่ในด้านวิถีชีวิต เรื่องของวัฒนธรรม ความเชื่อ มารยาททางสังคมที่เคร่งครัด ยังคงมีอิทธิพลกับชีวิตคนญี่ปุ่นอย่างสูง จนในหลายๆ ด้านก็อดคิดไม่ได้ว่าเป็นความหัวเก่า โบราณ แต่กลับเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้คนญี่ปุ่นนั้นไม่เหมือนใคร และใครๆ ต่างก็ชื่นชมในสิ่งที่คนญี่ปุ่นเป็นในหลายๆ ด้าน ทั้งความทันสมัยและการคงไว้ซึ่งแนวคิดการใช้ชีวิตที่กลมกลืนไปกับธรรมชาติ
แนวคิดที่ว่านี้เราคงรู้จักกันดีจากปรัชญาการดำเนินชีวิตแบบ ‘อิคิไก’ ที่พูดถึงเสาหลัก 5 ต้น เพื่อค้นพบความหมายของการมีชีวิต เมื่อเข้าใจถึงหลักการของอิคิไกทั้งห้าเราก็จะฝึกฝนตัวเอง และมีความสุขกับชีวิตในแบบของตัวเอง ส่วนปรัชญา ‘คินสึงิ’ นั้น ก็สอนถึงการยอมรับในบาดแผลที่เกิดขึ้นจากวัตถุที่แตกกระจายสู่การซ่อมแซมให้กลับมาใช้ได้อีกครั้ง และค่อยๆ ซึมซับสู่การซ่อมแซมบาดแผลในใจที่เจ็บปวดและค้างคา หรือแม้แต่การจัดบ้านแบบ KonMari (คนมาริ) ของ คนโดะ มาริเอะ ต่างก็มีแนวทางเดียวกันนั่นคือ มุ่งมั่นฝึกฝนจัดระเบียบความคิดตัวเอง จนสะท้อนออกมาเป็นภาพการดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่น
สำหรับปรัชญา ‘วะบิ ซะบิ’ นั้นแตกต่างออกไป ในหนังสือ วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ของสำนักพิมพ์ Be(ing) เขียนโดย Beth Kempton แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ (ผู้แปลหนังสือ The Little Book of Ikigai : อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ และ คินสึงิ (Kintsugi) ความงามของบาดแผลแห่งชีวิต) ได้ให้ความหมายของปรัชญาวะบิ ซะบิ ไว้ว่า ‘มันพลิ้วไหวอยู่ในสายลม ร้อนระริกอยู่ในแสงแดด สดชื่นอยู่ในดอกซากุระบาน และตรึงใจอยู่ในริ้วรอยของใบเมเบิลเหี่ยว ทั้งในความสุขและในความทุกข์ ในรูปและในนาม แต่โดยรวมๆ แล้ว มันกำลังบอกว่าทุกสรรพสิ่งล้วน ‘ไม่เที่ยง ไม่สมบูรณ์ และไม่เสร็จสิ้น’ และหากเราต้องการมีความสุข ก็ควรมองโลกด้วยแว่นตานั้น’ ผ่านการอธิบายปรัชญาของวะบิ ซะบิ ไว้ทั้งหมดแปดบท
บทที่ 1: ที่มา คุณลักษณะ สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ของ วะบิ ซะบิ ในทุกวันนี้
บทแรกในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงที่มาของ Wabi Sabi ซึ่งแม้แต่คนญี่ปุ่นรุ่นใหญ่เองก็ยากจะหาคำจำกัดความใดๆ มาให้ความหมายของปรัชญาเก่าแก่นี้อย่างรวบรัดได้ ทำให้ Beth Kempton ผู้เขียน เลือกใช้ที่มาของพิธีชงชามาช่วยในการเล่าเพื่อให้เราเข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งการชงชานั้นมีส่วนหนึ่งของคำว่า ‘วะบิ’ ผสมอยู่ด้วย ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นนั้นสามารถเขียนได้สองแบบ โดยในแบบแรกมีความหมายว่า ‘รสชาติอ่อนๆ’ ส่วนอีกความหมายคือ ‘กลุ้มใจหรือเศร้าใจ’ โดยต่อมาคำว่าวะบิ ถูกนำมาใช้กับพิธีชงชาแบบของริกิว มันจึงแทนความหมายถึงคุณค่าความงามของความเรียบง่าย และในบทนี้ก็กล่าวถึงที่มาของคำว่า ‘ซะบิ’ รวมถึงจุดกำเนิดของ วะบิ ซะบิ ไว้ด้วยเช่นกัน
บทที่ 2: เรียบง่ายและงดงาม
Beth Kempton ผู้เขียนเล่าถึงบทนี้ด้วยเรื่องของการแต่งบ้าน โดยใช้คำว่า ‘เรียบง่ายด้วยใจ’ มาเรียกการเก็บกวาดและตกแต่งบ้านด้วยความรัก โดยที่เราไม่ต้องทำให้มินิมอลแบบเป๊ะๆ ก็ได้ และไม่ต้องใช้ความพยายามมากเกินไป ซึ่งความเรียบง่ายด้วยใจนี้จะทำให้เราทำที่อยู่อาศัยแบบไหนก็ตาม ให้กลายเป็นพื้นที่ที่น่าอยู่มากขึ้น โดยไม่ขึ้นกับขนาดของพื้นที่และงบประมาณในการตกแต่ง โดยเฉพาะการช่วยให้เราไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเวลาเห็นบ้านใครที่ตกแต่งออกมาสวยงาม หรือดูรูปภาพในอินสตาแกรมแล้วนึกอิจฉาที่ตัวเองไม่มีบ้านแบบนั้นได้
บทที่ 3: อยู่กับธรรมชาติ
การอธิบายถึงสัจธรรมของชีวิตเหมือนกับที่ศาสนาพุทธบอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนแต่ไม่จีรังยั่งยืน สำหรับวะบิ ซะบิ นั้นคือการพาตัวเองไปเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ มองหาความงดงามในความเปลี่ยนแปลง พาตัวเองออกมาจากกองงานที่หนักอึ้ง แล้วให้ธรรมชาติเป้นเหมือนกระจกเงาที่สะท้อนตัวตนของเราในอีกรูปแบบที่ไม่ต้องแคร์สายตาของใครในสังคม เพราะเหล่าแมกไม้นั้นไม่สนใจหรอกว่าวันนี้คุณจะเซตผมมาแบบเนี้ยบๆ หรือปล่อยกระเซิง คุณจะใส่เสื้อผ้าแบรนด์อะไร มีเงินเดือนเท่าไหร่ มียอดไลก์ยอดคนติดตามกี่หมื่นกี่พันคน คุณจะทำดีหรือทำผิดมาแค่ไหน ธรรมชาติก็เปิดรับในสิ่งที่คุณเป็นเสมอ
บทที่ 4: ยอมรับและปล่อยวาง
สรรพสิ่งเปลี่ยนผัน นั่นแหละชีวิต บทนี้จะชวนคุณมาทำความเข้าใจกับการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองนั้นว่าเกี่ยวโยงกันมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต เมื่อเรารู้ถึงความเป็นไปของกลไกนี้ ก็จะทำให้เราปล่อยวางความเครียดที่มีอยู่ วางความสมบูรณ์แบบที่ใจคาดหวังไว้ ก้าวออกไปจากเซฟโซนที่เคยอยู่ ออกไปหาพื้นที่ใหม่ๆ และค้นพบพลังหรือความสามารถใหม่ๆ ของตัวเองได้ มิใช่การปลงแล้วใช้ชีวิตไปวันๆ แบบซังกะตายอย่างที่เข้าใจกันผิดๆ
บทที่ 5: ทบทวนความล้มเหลว
ปัญหาหนึ่งของคนเราคือการไม่ยอมรับว่าตัวเองนั้นเคยผิดพลาดและล้มเหลว และมักจะกล่าวโทษคนอื่นหรือสิ่งอื่นเสมอว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาดนี้ ในบทนี้เล่าถึงความเห็นของคนที่ญี่ปุ่นที่มองความผิดพลาดไว้ว่า การทบทวนความล้มเหลวนั้น ไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้ ยอมรับ ปล่อยวาง หรือรักในความล้มเหลวนั้น แต่เป็นการบอกตัวเองว่าจะต้องทำให้ดีที่สุด ทำให้ไม่เกิดความล้มเหลวอีกครั้ง แต่ถ้าไม่สำเร็จก็คือบทเรียนในการรับมือและพยุงตัวเองให้เดินต่อไปข้างหน้า เหมือนกับสุภาษิตญี่ปุ่นที่กล่าวไว้ว่า ‘ล้มลงเจ็ดครั้ง ลุกขึ้นแปดครั้ง’
บทที่ 6: ทะนุถนอมความสัมพันธ์
บทที่เราอยากให้อยู่ตั้งแต่ต้นๆ (ฮา) โดยบทนี้ยังอ้างถึงพิธีการชงชาที่สอดผสานไปกับแง่คิดในเรื่องของความสัมพันธ์ โดยมีหลัก 4 ประการนั่นคือ วะ (ความสอดคล้อง) เคอิ (ความเคารพ) เซอิ (ความบริสุทธิ์) จากุ (ความสงบงาม) หลักการโบราณทั้งสี่นี้ ได้สอดผสานอยู่กับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นมาถึงปัจจุบัน และหล่อหลอมให้เกิดความสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งในตอนปกติและตอนที่มีความขัดแย้งต่อกัน โดยทั้งหมดจะคลี่คลายและเกิดเป็นความกลมเกลียวต่อกันเมื่อต่างคนต่างให้ความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างสอดคล้องไปด้วยกัน มีความเคารพต่อกันด้วยความบริสุทธิ์จริงใจ และใช้ความสงบในการควบคุมอารมณ์ที่ร้อนของตัวเองได้
บทที่ 7: รื่นรมย์บทเส้นทางการงาน
‘ถ้าเราได้ทำงานที่ตัวเองรัก เราก็เหมือนไม่ได้ทำงานเลย’ คำพูดจากหลายคนที่ประสบความสำเร็จในงานของตัวเองได้กล่าวไว้ แต่ก็มีคนจำนวนมากที่อาจจะไม่สามารถพูดได้ว่ากำลังทำงานที่ตัวเองรักอยู่อย่างเต็มปากนัก ด้วยปัจจัยและการดำเนินชีวิตทางสังคมในหลายมิติ ในบทนี้จึงพาเราไปมองให้ลึกกว่าคำว่า ‘การทำงาน’ ด้วยการมองหาข้อดีในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นอาชีพที่เราหวังไว้แต่แรก แต่ในเส้นทางที่ตั้งเป้าหมายนั้น เราจะสามารถพบเจอสิ่งล้ำค่าบางอย่างที่อยู่ระหว่างทางได้ และจากนั้นเมื่อเข้าใจถึงความเป็นไปและความเปลี่ยนแปลงนี้แล้ว เราก็จะสามารถกำหนดทางเดินของชีวิตตัวเองขึ้นตามมาได้ และหลังจากนั้นเราก็อาจจะค้นพบงานหรืออาชีพใหม่ของตัวเองก็ได้ และสามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่า ‘ถ้าเราได้ทำงานที่ตัวเองรัก เราก็เหมือนไม่ได้ทำงานเลย’
บทที่ 8: เก็บรักษาวันเวลาที่ดี
การค้นพบความสมบูรณ์แบบที่แท้จริงของชีวิต ในขณะที่โลกนั้นหมุนไปตลอดเวลา ไม่มีอะไรที่หยุดนิ่ง ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ บางครั้งช้า บางครั้งก็เร็วจนเราหลงลืมอดีต ไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ ณ ปัจจุบัน จนทำให้มองไม่เห็นอนาคต แล้วเราจะรู้สึกเบิกบานกับชีวิตได้อย่างไร หากเรายังใช้เวลาไปกับความเร่งรีบ ตึงเครียด และเก็บกด กับทางเดินของตัวเองที่ไม่ถูกที่ถูกทาง การหยุดคิดและชะลอความเร็วในการใช้ชีวิตสักนิด อาจจะทำให้เราเบิกเนตรและเห็นความจริงบางอย่างซึ่งเป็นคำตอบที่เราสงสัยมานานแล้วก็ได้
Conclusion
ทั้งหมดนี่คือการเกริ่นแบบย่อของปรัชญาวะบิ ซะบิ ในหนังสือเล่มนี้แบบย่อและรวบรัด ซึ่งจะเห็นว่าทั้งแปดบทนั้นสอดคล้องไปกับทุกอย่างของชีวิตมนุษย์ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ การทำงาน การค้นหาตัวเอง ความเข้าใจถึงการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับสูญไป ซึ่งที่เรายกตัวอย่างมานี้เป็นเพียง 5% ของรายละเอียดในหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ถ้าคุณอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกสนใจกับแนวคิดโบราณแขนงนี้ ในหนังสือนั้นยังมีรายละเอียดต่างๆ ของแต่ละบทรอให้คุณได้เปิดอ่าน ซึ่งไม่ซับซ้อน อ่านสนุก เข้าใจง่าย สอดคล้องไปกับแนวคิดนี้อย่างรื่นรมย์แต่ทรงพลังและสมบูรณ์แบบ
เพราะชีวิตนั้นไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบไปเสียหมด
และเราก็สมบูรณ์แบบได้ในอย่างที่เราเป็น
เท่านี้ก็มีความสุขที่สุดแล้ว