ครอบครัวที่มีเชื้อสายจีนคงคุ้นเคยกับธรรมเนียมปฏิบัติสมัยเด็กว่า ทุกๆ วันอาทิตย์ คนในบ้านต้องอยู่กินข้าวเย็นกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา และมีอาหารชุดใหญ่กว่าปกติในวันอื่นๆ โดยถือว่าการกินข้าวเย็นพร้อมกันในวันอาทิตย์คือกิจกรรมของครอบครัว ถ้าบ้านไหนที่เคร่งหน่อยก็อาจจะมีการตามตัวว่าคนนั้นคนนี้หายไปไหน รู้กันดีว่าแนวคิดของคนจีนนั้นให้ความสำคัญกับลูกชายคนโตมากที่สุด (ซึ่งหลานชายคนโตของตระกูลเองก็จะได้รับอานิสงค์นี้ไปด้วย) สำหรับผู้หญิงในตระกูลไม่ว่าจะเกิดก่อนหรือเกิดหลังลูกชายคนแรกจะถูกมองข้ามอยู่เสมอ
ถึงแม้ลูกชายจะมีอภิสิทธิ์เหนือกว่าใครในบ้านก็ตาม สิ่งที่ทุกคนถูกทำให้เท่าเทียมกันคือการต้องมาล้อมวงกินข้าวร่วมกันทุกเย็นวันอาทิตย์ พร้อมกับการพูดคุยที่มักจะถูกตั้งประเด็นโดยพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ของตัวเองซึ่งทำให้อึดอัดใจอยู่หลายครั้ง แต่ในวันหนึ่งเราจะถวิลหาความรู้สึกแบบนั้น โดยเฉพาะตอนนี้ที่ความเป็นครอบครัวของคนยุคใหม่ถูกทำให้เป็นหน่วยย่อยลงไป และการกินข้าวกันแบบพร้อมหน้าพร้อมตากลายเป็นวาระที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักที
อั้งลี่ผู้กำกับเชื้อสายไต้หวัน เคยหยิบประเด็นของการกินข้าวร่วมกันมานำเสนอผ่านความสัมพันธ์ได้อย่างน่าสนใจในหนังเรื่อง The Wedding Banquet (1993) แต่อาจจะเป็นเรื่องไกลตัวของคนดูยุคนั้นไปสักนิด ในหนังเรื่องต่อมาคือ Eat Drink Man Woman (1994) เขาจึงขยับเข้ามา ด้วยการพูดถึงครอบครัวในบ้านของพ่อครัวหลังเกษียณกับลูกสาวสามวัย และเรื่องราววุ่นๆ ที่อยู่ภายในโต๊ะอาหารเย็นวันอาทิตย์ พร้อมกับสะท้อนแนวคิดของคนจีนยุคใหม่ออกมาได้อย่างน่ารักน่าขัน แต่ก็ทำเอาหลายคนคิดถึงบ้านจนน้ำตาซึม
พ่อ / หัวหน้าครอบครัว / อำนาจ / ความเปลี่ยนแปลง
หนังเปิดเรื่องด้วยชายชราคนหนึ่งที่กำลังตระเตรียมอาหารชุดใหญ่อยู่ภายในห้องครัว ซึ่งต่อมาเราได้รู้ว่าเขาคืออดีตกุ๊กในห้องอาหารของโรงแรมระดับห้าดาว โดยอาหารที่เขากำลังเตรียมการอยู่นั้นคือมื้อเย็นที่จะกินร่วมกันกับลูกสาวทั้งสามคนในค่ำวันอาทิตย์ เขาใช้เวลาทั้งวันในการปรุงอาหารมากมาย เป็นปริมาณที่ใครเห็นก็คงคิดเหมือนกันว่าใครจะกินได้หมดแม้จะมีกันถึงสี่คนก็ตาม ซึ่งแน่นอนว่าอาหารเหล่านั้นสุดท้ายก็จะถูกนำไปเก็บไว้ในตู้เย็น โดยอาจจะเป็นอาหารมื้อต่อไปในสัปดาห์
อั้งลี่ใช้ตัวละครของพ่อในการเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสถาบันครอบครัว ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ พ่อนั้นก็คือไต้หวันที่แยกตัวออกมาจากจีน โดยถึงแม้จะมีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเคร่งครัด นั่นคือลูกๆ ต้องกลับมากินข้าวเย็นที่บ้านในวันอาทิตย์ เป็นผู้นำในการพูดคุยเมื่อนั่งอยู่บนโต๊ะกินข้าว และดูจะไม่สนใจเรื่องราวของลูกตัวเองสักเท่าไหร่ มีอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่คือห้องครัวของบ้าน ที่ห้ามใครก็ตามเข้ามาทำอาหารในดินแดนของเขา แต่เห็นแบบนี้ตัวพ่อกลับเป็นคนที่รับมือและมองความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดีที่สุด
ลูกสาวคนโต / ความเชื่อ / แรงขับดัน / การมูฟออน
สำหรับคนจีนหากลูกสาวคนโตครองตัวเป็นโสดถือว่าเป็นเรื่องน่าอับอาย นั่นหมายความว่าเธอไม่มีคุณสมบัติในการเป็นภรรยาที่ดีเพราะไม่มีผู้ชายมาสู่ขอและถูกโยงไปถึงบุพการีว่าเลี้ยงลูกไม่ดี เลี้ยงลูกสาวอย่างไรให้เป็นโสด ยิ่งการที่อั้งลี่นำเสนอภาพของหญิงสาวคนนี้ในแบบของสาวใหญ่ที่มีอาชีพเป็นครู แต่งตัวเชยๆ เคร่งครัดในกฎระเบียบ และต้องทนอยู่กับคำถากถางของคนอื่นเสมอว่าทำไมถึงไม่แต่งงาน จะอยู่อีกนานเท่าไหร่
พี่สาวคนโตของบ้านนี้เป็นเหมือนตัวแทนของคนจีนหลังยุค Baby Boomers ที่เริ่มออกมาตั้งคำถามว่าตัวเองยังมีทางเลือกให้หนีออกจากประเพณีที่น่าอึดอัดของคนจีนได้ไหม และถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการที่ตัวละครเลือกที่จะหันหน้าไปหาศาสนาคริสต์ โดยเธอหวังว่าจะศาสนาจากโลกใหม่จะเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจให้ตัวเอง
แต่สุดท้ายมนุษย์ก็คือมนุษย์ แม้จะมีความเด็ดเดี่ยวแน่วแน่อย่างไรก็ไม่อาจหนีไปจากแรงปรารถนาในใจของตัวเองได้ และความเก็บกดที่สั่งสมมาตลอดก็ระเบิดออกมาเหมือนปฏิกิริยาในวิชาเคมีที่เธอเป็นคนสอน
ลูกสาวคนกลาง / ความทะเยอทะยาน / การรับช่วงต่อ
ในปี 1994 ที่หนังออกฉาย ลูกสาวคนกลางเป็นตัวละครที่สะท้อนภาพของคน Gen X ออกมาได้ดีที่สุด โดยเธอเป็นหญิงสาวหัวก้าวหน้า สามารถผลักดันตัวเองจนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มองเรื่องความสัมพันธ์แบบ open relationship ไม่มีใครต้องเป็นเจ้าของใคร (ทั้งๆ ที่ในใจเธอต้องการจะครอบครองเขาไว้) และเป็นตัวแทนของคนที่อยากย้ายออกไปจากบ้านที่สุด เพราะทนกับวิถีชีวิตแบบเก่าไม่ได้ แต่สุดท้ายก็ต้องพบกับความหลอกลวง ที่ใช้ภาพลักษณ์ของการมีชีวิตที่ดีแบบคนรุ่นใหม่มาหลอกล่อแมงเม่าเหล่านี้ให้บินเข้าสู่กองไฟ
สำหรับเราตัวละครนี้มีมิติและเสน่ห์ที่สุดในบรรดาสามพี่น้อง เพราะเธอได้สะท้อนชีวิตของคนหนุ่มสาวในยุคที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน ทั้งความต้องการที่จะเติบโตในหน้าที่การงานอย่างก้าวกระโดด การพาตัวเองออกไปอยู่นอกบ้าน และความพยายามที่จะทำให้ตัวเองเท่าเทียมหรืออยู่เหนือผู้ชายในบางครั้ง แต่สุดท้ายเธอกลับเป็นคนที่รับช่วงต่อฝีมือการทำอาหารจากพ่อของเธอได้ดีที่สุด โดยความตลกนั้นอยู่ตรงคนที่สอนการทำอาหารให้กลับมาจากเพื่อนสนิทของพ่อตัวเอง
ลูกสาวคนเล็ก / ความเดียงสา / การเติบโต / โลกยุคใหม่
ลูกสาววัยรุ่นคนสุดท้องที่อาจจะไม่ค่อยมีบทบาทนัก แต่เธอกลับเป็นตัวละครสำคัญที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในบ้านให้เกิดขึ้น โดยที่ทั้งตัวละครและคนดูต่างไม่ทันตั้งตัว เธอเป็นเด็กสาวที่ยังไม่ประสากับโลก แต่ก็เป็นคนมองทุกอย่างในแง่ดี เป็นภาพของคนต่างเจเนอเรชันที่ชัดเจนที่สุด ในขณะที่พ่อของเธอเป็นพ่อครัวที่ให้ความสำคัญในการปรุงอาหาร ทุกอย่างคือความพิถีพิถัน แต่เธอกลับทำงานพิเศษในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด และกลายเป็นตัวละครแรกของบ้านที่ย้ายออกไปก่อนคนอื่น
Eat Drink Man Woman
“บ้านของเราสื่อสารกันด้วยการกิน”
หนึ่งในตัวละครหลักเคยพูดเอาไว้ แต่การสื่อสารนั้นถูกคุมไว้ด้วยสถาบันครอบครัวอีกทีทำให้คนในบ้านต่างลืมที่จะเปิดใจฟังกันจริงๆ จนต่างคนต่างเก็บความรู้สึกของตัวเองไว้ลึกๆ ข้างใน
พ่อผู้ที่ถือตัวเองว่าเป็นเสาหลักของครอบครัวจนหลายครั้งก็คิดเอาเองว่าสิ่งที่เขาเลือกให้กับลูกๆ นั้นดีที่สุดแล้ว เขาไม่ยอมให้ลูกสาวคนกลางที่เริ่มโตได้เรียนรู้วิธีการทำอาหาร เพราะกลัวว่าเธอจะเอาดีทางการเป็นแม่ครัว เพราะในโลกของการทำอาหารนั้นอย่างไรก็ตาม ผู้ชายยังเป็นใหญ่อยู่วันยังค่ำ และเมื่อถึงวันหนึ่งเสือที่แก่เฒ่าอย่างเขาถูกท้าทายโดยคนรุ่นใหม่ที่มองว่าเป็นพ่อครัวเก่าแก่แล้วยังไง สุดท้ายอาหารอย่างดีที่เขาทำเมื่อมีเหลือก็ต้องถูกเททิ้งอยู่ดี
ในขณะเดียวกันตัวพ่อเองกลับเป็นคนที่ยอมรับกับความเปลี่ยนแปลงและรู้ตัวเองดีที่สุดว่าต้องการอะไรอย่างไม่น่าเชื่อ เขาไม่ได้รู้สึกเดือดดาลในวันที่ลูกสาวคนเล็กบอกว่าจะย้ายออกไปอยู่กับแฟนหนุ่ม หรือการที่ลูกสาวคนโตมาบอกว่าเธอได้จัดงานแต่งงานไปแล้วเมื่อบ่าย โดยไม่ได้บอกพ่อตัวเองและไม่มีพิธีการยกน้ำชาใดๆ หนำซ้ำยังบอกด้วยว่าจะย้ายออกทันที (เหตุการณ์ทั้งสองนี้นำเสนอผ่านช็อตหน้าเดด และตัดฉึบฉับแบบที่หนังของ เต๋อ นวพล ชอบหยิบมาใช้) ซึ่งคงมาจากอาการที่ลิ้นของเขาไม่สามารถรับรู้รสชาติได้อีกต่อไป เกิดเป็นความเฉยชาต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้น และเขาก็คิดได้ว่าคนแต่ละคนต้องมีทางเดินชีวิตเป็นของตัวเอง โดยที่ผ่านมาเขาไม่ควรไปกำหนดเส้นทางชีวิตให้กับลูกสาวคนกลาง แม้ว่าจะมาจากความหวังดีก็ตาม
ในตอนท้ายคนที่ดูหัวโบราณที่สุด ยึดมั่นในขนบประเพญีอย่างเข้มงวดที่สุด กลับเป็นคนที่ต้องการจะละทิ้งสิ่งเก่าแล้วไปใช้ชีวิตกับสิ่งใหม่เสียเอง เพราะเขาเชื่อว่าในเมื่อชีวิตที่ผ่านมานั้นไร้รสชาติเราก็ต้องตามหารสชาติใหม่ให้กับชีวิต
ทางด้านลูกสาวคนกลางที่เป็นคนต่อต้านความคิดของพ่อทุกอย่าง เธอเป็นคนที่กล้าติรสชาติอาหารที่พ่อตัวเองแสนภูมิใจ แต่เธอเองก็เป็นคนที่ทำให้พ่อนั้นรู้ตัวว่าเขาไม่สามารถตัดสินใครจากความคิดของตัวเองได้อีกแล้ว และเป็นตัวละครเดียวที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างในชีวิต ทั้งเป็นคนที่มีความทุกข์ในใจที่สุดในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการต้องย้ายถิ่นฐาน ความสัมพันธ์ที่ซับซ้อน การถูกต้มตุ๋น (เป็นการหักหน้าที่เธอคิดว่าตัวเองเป็นคนที่สามารถควบคุมทุกอย่างได้) ความระหองระแหงกับคนในบ้าน การไม่ได้ทำตามความฝันของตัวเอง และครอบครัวที่แต่ละคนต่างแยกย้ายออกไปตามทางของตัวเอง (ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นคนแรกที่อยากย้ายออกจากบ้าน) แต่ในที่สุดเธอก็ได้พบกับความสุขในชีวิต นั่นคือการทำอาหารให้พ่อของตัวเองกินได้เสียที แม้จะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่บ้านหลังนี้จะถูกเปลี่ยนเจ้าของไป
แม้หนังจะเต็มไปด้วยความไม่เข้าใจกันในมุมมองของคนต่างวัยในช่วงต้น แต่สุดท้ายหนังก็พาเราไปถึงฉากจบที่ไม่ทิ้งอะไรให้ต้องค้างคาใจอีกแล้วทั้งฝั่งตัวละครหรือคนดู ถ้าจะมีอะไรที่คงเหลือไว้ก็คงเป็นความอบอุ่นละมุนละไมดังน้ำซุปที่ถูกตักออกมาพักในชาม เพื่อรอให้เราได้ซดและสัมผัสถึงความกลมกล่อมนั้น
ความเหินห่างในตอนนี้ ทำให้เราหวนระลึกถึงวันที่ได้รวมตัวกินข้าวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาในเย็นวันอาทิตย์ ก่อนที่ต่างคนจะแยกย้ายไปตามทางของตัวเอง แม้บรรยากาศของการกินข้าวร่วมกันนั้นจะมีความอึดอัดน่าเบื่อเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนแต่ละวัย และการลืมไปว่าเราควรจะเปิดใจรับฟังสมาชิกร่วมโต๊ะกันอย่างจริงจัง
แต่สุดท้ายสิ่งที่มนุษย์ต้องการที่สุดก็คือครอบครัวและรสชาติของการได้กินข้าวด้วยกันอีกครั้ง