Ex Machina

Ex Machina: เมื่อพระเจ้า ความรัก ชาติพันธุ์ สะท้อนความเท่าเทียมของมนุษย์และหุ่นยนต์

“ไอเดียของหนังเรื่องนี้เกิดขึ้นมาได้ตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว โดยเกิดจากการที่ผมเริ่มสนใจคอมพิวเตอร์และ AI ก่อนที่ผมจะศึกษาต่อในเรื่องจิตวิญญาณที่เป็นปัญหาของ AI”

        จุดกำเนิดจากความสนใจของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ในเรื่องปัญญาประดิษฐ์อย่าง AI สู่การตั้งคำถามผ่าน Ex Machina ถึงความหมายอันลึกซึ้งของจิตวิญญาณว่าแท้จริงนั้น มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับหุ่นจักรกลได้หรือไม่

 

Ex Machina

 

        เมื่อ เคเลบ (ดอมเนลล์ กลีสัน) พนักงานเขียนโค้ดโปรแกรมในบริษัทเซิร์ชเอนจิ้นที่ใหญ่สุดในโลกอย่าง Blue Book ได้รับการสุ่มเลือกให้รับรางวัลพิเศษได้เข้าพบซีอีโอบริษัท นาธาน (ออสการ์ ไอแซค) ณ ที่พักสุดไฮเทคกลางธรรมชาติห่างไกลผู้คน เพื่อเข้าเป็นผู้ทำการทดสอบปัญญาประดิษฐ์ เอวา (อลิเซีย วิกันเดอร์) ด้วยการทดสอบทัวริง (Turing test) ที่ใช้แนวคิดว่าหากมนุษย์ทำการปฏิสัมพันธ์กับคอมพิวเตอร์ได้ โดยที่เขาหลงคิดว่ากำลังปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์จริงๆ จะถือว่าคอมพิวเตอร์นั้นได้สอบผ่านการเป็นปัญญาประดิษฐ์สำเร็จ

        พูดกันตามตรง Ex Machina จะเป็นหนังที่ไซไฟที่มีโปรดักชันสวยงามผ่านการรังสรรค์บ้านสไตล์โมเดิร์นกลางป่าดิบชื้น และเลือกใช้คู่สีสามสีคือเขียว (ต้นไม้) แดง (ผนัง) และน้ำเงิน (แสงไฟ) ช่วยสร้างบรรยากาศของโลกในอนาคตได้ตระการตาขนาดไหนก็ตาม แต่ด้วยเส้นเรื่องอันเบาบาง การเดินเรื่องเพียง 7 วันที่ผ่านไปอย่างเนิบนาบผ่านบทสนทนาของปัญญาประดิษฐ์และมนุษย์โต้ตอบกันไปมา ทำให้นึกถึงหนังไซไฟลุ่มลึกในปรัชญาอย่าง 2001: A Space Odyssey (1968) จนรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ช่างชวนง่วงยิ่งนัก

        แต่หากเราตั้งสติและเริ่มถลำลึกเข้าไปในบทสนทนาและการตั้งคำถามมากมายของตัวละคร กลับพบว่านี้คือหนังที่ตั้งคำถามได้อย่างลึกซึ้ง หยั่งถึงเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ได้เหมือนกัน

 

Ex Machina

หุ่นยนต์ต้องมีเพศและมีความรักได้ไหม

        “ทำไมคุณถึงต้องทำให้เธอเป็นเพศหญิง ทำไมต้องทำให้เธอมาจีบผม?”

        คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างที่เคเลบและนาธานกำลังพูดคุยกันเพื่อสรุปการทดสอบเอวา ปัญญาประดิษฐ์ที่มีจิตวิญญาณและความรู้สึกนึกคิดเทียบเท่ากับสมองอันซับซ้อนของมนุษย์ ความน่าสนใจคำถามนี้คือทำไมเคเลบถึงเลือกถามคำถามนี้?

        เพราะหากมองอย่างละเอียด เคเลบมองว่าการป้อนข้อมูลเรื่องเพศและความรักเข้าไปในหุ่นยนต์อย่างเอวาไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด เพราะเธอจะถูกผลิตหรือทำซ้ำอีกเท่าไหร่ก็ย่อมได้ ไม่จำเป็นต้องสืบพันธุ์เสียด้วยซ้ำ

        แต่คำตอบที่น่าสนใจกว่ากลับเป็นฝั่งของนาธาน ที่ถามกลับด้วยการยกตัวอย่างถึงรูปวาดอันไม่มีแบบแผนของ แจ็กสัน พอลล็อก ว่าถ้าเกิดแจ็กสันมัวแต่คิดว่าจะสาดสีตรงไหนดี รูปใบนี้จะเกิดอะไรขึ้น 

        “รูปใบนี้จะไม่มีสีอยู่เลย” เคเลบตอบถูกอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเขาก็เข้าใจสัจธรรมข้อดีนี้ สัจธรรมข้อที่ว่าเพศคือคำที่มนุษย์ใช้ระบุถึงเพื่อบอกเพศภาพ ดังนั้นคำถามของเคเลบที่ีแท้จริงควรจะเป็น ‘ทำไมมนุษย์ถึงต้องมีเพศมากกว่า’

        เพราะสุดท้ายแล้วเรื่องเพศกับความรักไม่ใช่สิ่งที่ถูกประดิษฐ์จากพระเจ้าเพื่อให้มนุษย์สืบพันธ์ุเพียงอย่างเดียว แต่ทั้งหมดคือการสร้างอารมณ์ สร้างแรงบันดาลใจ และสร้างความใฝ่ฝันอีกล้านแปด ให้มนุษย์คนหนึ่งลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ดีกว่าปล่อยให้ชีวิตไร้ค่าและสูญเปล่าไป นั่นจึงเป็นเหตุผลที่นาธานยังคิดว่า หากจะสร้างปัญญาประดิษฐ์ให้เหมือนกับมนุษย์จริงๆ เพศและความรักคือแรงจูงใจสำคัญที่พวกมันต้องมีอยู่ 

 

Ex Machina

ปัญญาประดิษฐ์

        จากเรื่องเพศ ความรัก และปัญญาประดิษฐ์ กลายส่วนผสมที่ลงตัวเกิดเป็น เอวา-หุ่นปัญญาประดิษฐ์ที่พยายามใช้กลอุบายเรื่องเพศภาพหลอกล่อให้เคเลบมาหลงรัก และช่วยเธอหนีออกไปจากห้องทดลองของนาธาน

        คำถามคือ เธอทำไปทำไม?

        อันดับแรกคือเธอต้องการอิสรภาพและชีวิตของตัวเอง ปัญญาประดิษฐ์จึงต้องอาศัยเพศและความรัก เป็นแรงจูงใจในการบังคับให้มนุษย์ทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือ นั่นเป็นเหตุให้เคเลบตัดสินใจช่วยเธออย่างเต็มที่ จนถึงขนาดกล้าโกหกและหักหลังหัวหน้าบริษัทของตัวเองอย่างเต็มใจ ซึ่งอุบายความรักครั้งนี้ทำให้เคเลบเพ้อฝันไปถึงขนาดที่ว่าได้เห็นตัวเองออกเดตกับเอวา ดั่งที่เคยได้นัดหมายกันแล้วในระหว่างทำการทดลอง 

       ส่วนทางฝั่งเอวา หลังจากที่เธอออกมาจากห้องขังได้แล้ว นั่นหมายความว่าตอนนี้มีชีวิตและอิสรภาพเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่ปัญหาต่อมาคือแล้วคนที่รู้ความจริงอย่างเคเลบและนาธานล่ะจะทำอย่างไรต่อ แต่ ในเมื่อนาธานถูกมีดแทงเรียบร้อยแล้ว ฉากสุดท้ายของหนังจึงมุ่งมาสู่คำถามอันน่าคิดกว่าเดิมว่าสุดท้ายแล้วเคเลบรักเอวาจริงๆ หรือไม่ 

        เคเลบอ้ำอึ้ง ตอบได้ตะกุกตะกัก ในหัวเริ่มเกิดการไต่ตรองมากขึ้น จึงเป็นเหตุให้เอวาตัดสินใจขังเขาในห้องทดลองทันที ในตอนนั้นเองเอวารู้ว่าความรักของเคเลบไม่ได้บริสุทธิ์อย่างที่เธอเห็นแต่อย่างใด ความลังเลในการตัดสินใจของนาธานอาจหมายถึงความอยากเอาชนะของมนุษย์ต่อหุ่นยนต์ ความกลัวยังไม่กล้ายอมรับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับมนุษย์ หรือกรณีแย่ที่สุดคือการที่เห็นเธอที่เป็นเพียง Sex Objective เพียงเท่านั้น ทำให้เอวาจึงไม่ลังเลใจที่จะตัดความสัมพันธ์กับเขา และเริ่มชีวิตใหม่ในฐานะมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ

 

Ex Machina

แล้วมนุษย์จะยอมรับความอ่อนแอของตัวเองได้มากแค่ไหนกัน

        ความเก่งกาจของ อเล็กซ์ การ์แลนด์ ในการทำหนังเรื่องนี้คือการจั่วหัวเรื่องด้วยการยกหางให้มนุษย์มีสถานะดั่งพระเจ้าผู้สร้างหุ่นยนต์ขึ้นมา ก่อนที่สถานการณ์ต่างๆ จะพาเราไปดูความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ที่แสดงให้เห็นว่ามันเหนือกว่ามนุษย์ในแทบทุกด้าน

        ข้อเท็จจริงนี้ควรจะเป็นเรื่องที่ดีสำหรับมนุษย์ที่กำลังพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ จนสามารถวิวัฒนาการและสร้างประโยชน์ได้ แล้วทำไมนาธานถึงต้องต้องคุมขังและมีแพลนที่จะล้มโครงการหุ่นยนต์สุดล้ำอย่างเอวา?

        อาจเป็นเพราะนาธานเองต่างหากที่ไม่สามารถวิวัฒนาการทางความคิดและละทิ้งความเป็นผู้สร้างของตัวเอง ด้วยการปล่อยให้สิ่งที่เคยอยู่ในเงื้อมมือมีชีวิตและอิสรภาพได้ แต่ถ้าถามว่าสิ่งที่ทำให้เขาไม่ยอมรับการมีอยู่ของหุ่นยนต์เกิดจากอะไร 

        คำตอบที่เราเข้าใจที่สุดคงเป็น ‘ความกลัว’ ที่วันหนึ่งเผ่าพันธุ์ของเราจะไม่ใช่ผู้ครองโลก ดั่งเช่นประโยคหนึ่งที่เขาเคยพูดให้เคเลบฟังว่า “สักวันหนึ่ง พวก AI จะนึกย้อนมาทำกับเราแบบเดียวกับที่เรามองซากฟอสซิลอยู่ตอนนี้”