In the Mood for Love

In the Mood for Love: สมมติว่าเธอไม่รักเขา อยากรู้ว่าเรารักกันได้ไหม

In the Mood for Love ภาพยนตร์ลำดับที่ 7 ของหว่องกาไว ผู้กำกับที่ทำหนังได้เหงาที่สุดคนหนึ่งของเอเชีย โดยครั้งแรกที่ออกฉาย หนังเคยมีโอกาสจะเข้าโรงภาพยนตร์ในบ้านเรา แต่ด้วยการเสื่อมความนิยมของหนังฮ่องกง และปัญหาบางประการทำให้ไม่สามารถเข้าฉายได้ ว่ากันว่าหนังเรื่องนี้เป็นหนึ่งใน Wong Kar-wai Trilogy หนังไตรภาคที่เป็นสารรักของเขาที่มีต่อฮ่องกงและจีน โดยเริ่มจาก Days of Being Wild (1990), In the Mood for Love (2000) และ 2046 (2004) ก่อนที่ต่อมาเขาจะมีหนังเรื่อง The Grandmaster (2013) ที่พูดถึงฮ่องกงในอดีต รวมถึงหนังเรื่องใหม่ชื่อ Blossoms ที่เขาจะนำเสนอเรื่องราวของจีนในยุค 60s เช่นกัน

In the Mood for Love

 

        การได้ดู In the Mood for Love ในโรงภาพยนตร์จึงเป็นเหมือนการรำลึกถึงอดีตของแฟนหนังหว่องไปด้วย สำหรับเรา In the Mood for Love คือการรวมองค์ประกอบทุกอย่างที่เป็นหว่องกาไวเอาไว้ในหนังเรื่องเดียว และการได้เห็นจางม่านอวี้แสดงหนังบนจอใหญ่ๆ แบบเต็มๆ ตาอีกครั้งในโรงภาพยนตร์ก็เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ โดยเนื้อเรื่องนั้นเกิดขึ้นในฮ่องกงช่วงยุค 60s ดำเนินเนื้อเรื่องโดยตัวละครหลักแค่ไม่กี่คน ว่าด้วยความสัมพันธ์ที่ต่างคนก็มีคู่ครองเป็นของตัวเอง 

        หนังจึงออกมาเป็นทั้งงานรวมมิตรและการกลั่นกรองของหนังหว่องในช่วงก่อนหน้านี้มารวมอยู่ด้วยกัน เช่น เมื่อตัวละครต่างรู้ว่าคนรักของตัวเองแอบนอกใจและคบหากันอย่างลับๆ เขาทั้งสองจึงเริ่มสมมติบทบาทว่าถ้าในเหตุการณ์นี้คนของตัวเองนั้นไปทำความรู้จักกันได้อย่างไร มีรสนิยมในการกินอาหารแบบไหน และถ้าจะพูดกับคนคนนั้นด้วยประโยคนี้อีกฝ่ายจะตอบกลับมาแบบไหน ซึ่งตัวละครของหว่องกาไวในหนังเรื่องก่อนๆ ก็จะจมอยู่ในห้วงของการเป็นคนอื่นมาตลอดที่เห็นภาพชัดๆ เช่น เอเยนต์หญิงขายยาที่สวมวิกผมสีทองใน Chungking Express (1994) ตัวละครหนุ่มใบ้ใน Fallen Angels (1995) จอมยุทธที่สู้กับเงาของตัวเองจาก Ashes of Time (1994) หรือหยกไจ๋ชายที่มักบอกกับใครต่อใครว่าเขาคือนกไร้ขาใน Days of Being Wild (1990)

 

In the Mood for Love

 

        แม้แต่ตัวเหลียงเฉาเหว่ยนักแสดงคู่บุญของหว่องกาไว ก็เหมือนว่าเขาเอาตัวละครจากหนังเรื่องก่อนๆ มาหลอมรวมจนออกมาเป็นคุณเชา ชายหนุ่มผู้ที่ต้องเก็บความรู้สึกไว้ในใจตลอดเวลา จนสุดท้ายต้องเอาความลับของตัวเองไปฝากไว้ในโพรงของกำแพง ซึ่งก็เป็นจังหวะเดียวกันจนเกือบเป๊ะกับที่ตัวละครของเขาเองใน Happy Together (1997) ทำเอาไว้ หรือนิยายกำลังภายในที่คุณเชาเขียนขึ้นมาเพื่อพาเขาหนีออกไปจากโลกแห่งความจริง และเพื่อจะได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกับคุณนายชาน (จางม่านอวี้) ให้นานขึ้นอีกนิด ถ้ามาดูตอนนี้ก็เหมือนสัญญาณบางอย่างที่ผู้กำกับเองกำลังจะบอกถึงใน 2046 หนังเรื่องต่อไปของเขา  

 

In the Mood for Love

In the Mood for Love

 

        ส่วนจางม่านอวี้ เราสามารถอนุมานได้ว่าเป็นตัวละครที่เติบโตขึ้นมาจาก Days of Being Wild ก็ได้ เธอยังคงเป็นผู้หญิงที่อ่อนหวาน ขยันขันแข็งในการทำงาน มีความเอาใจใส่ และเก็บความเศร้าตรมเอาไว้ในใจ และที่เป็นเรื่องตลกร้ายคือ เธอคือคนที่อยู่ในห้วงของชีวิตที่ถูกคนรักนอกใจ แต่เธอเองก็เป็นคนที่คอยจัดการสับรางความสัมพันธ์ให้กับเจ้านายของเธอไปด้วย ซึ่งสิ่งที่เธอทำนั้นก็แทบจะไม่ต่างกับตัวละครคู่หูของมือปืนตาชั้นเดียวใน Fallen Angels เลย ซึ่งการแสดงของจางม่านอวี้ในครั้งนี้ หว่องกาไวดึงเสน่ห์ของเธอออกมาได้อย่างเหลือล้น เมื่อรวมเข้ากับชุดกี่เพ้าที่เธอใส่ในแต่ละฉาก องค์ประกอบด้านภาพที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถัน และหยดน้ำตาที่ไหลรินออกมาของเธอ เท่านี้ก็คุ้มค่าต่อการตีตั๋วเข้าไปดูเหลือเกินแล้ว

 

In the Mood for Love

 

        งานด้านภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ ก็ผสมกลมกลืนเข้ากับตัวหนังอย่างแนบเนียน จนหลายฉากที่ถ่ายทำในประเทศไทยนั้น กลายเป็นภาพที่สวยงามและไม่แยกโดดออกมาจากโลเกชันอื่นในหนังเลย แถมยังกลายเป็นซีนสำคัญที่ทำให้เกิดเป็นภาพจำของหนังเรื่องนี้ด้วย ถึงแม้จะไม่มีการใช้มุมกล้องที่ฉวัดเฉวียนก็ตาม แต่ก็ยังโชว์ความเก๋าในการลำดับภาพด้วยความเร็วต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง โดยเฉพาะฉากที่ตัวละครต้องเดินสวนกันไปมาในพื้นที่แคบที่ดูเหมือนจะบีบตัวละครเข้าไว้ด้วยกัน แต่ก็จะมีจังหวะสโลว์และการเฉียดกรายจนเกิดระยะห่างที่ 0.1 มิลลิเมตรได้อย่างงดงาม

 

In the Mood for Love

 

        เพลงประกอบก็เป็นส่วนสำคัญของหนังเรื่องนี้ เราจะได้ยินเพลงที่เคยอยู่ในภาพยนตร์และหนังโฆษณาของหว่องกาไวมาอยู่ในเรื่องนี้หลายเพลง เช่น เพลงประกอบโฆษณานาฬิกา Solvil et Titus ที่หลิวเต๋อหัวเล่นไว้ในปี 1996 กับบทนักเลงข้างถนนที่เคยดูตอนเด็กๆ ก็ทำให้นึกถึงวันวานได้อีกครั้ง และหลายเพลงที่หว่องกาไวเลือกมาก็เข้ากับบรรยากาศภายในเรื่องที่เป็นตัวแทนความของตัวละคร ที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาอย่างเนิบช้า เร่าร้อน มีจังหวะที่ไม่คงที่ และโศกเศร้า เข้ากับภาพลอยควันบุหรี่ที่ลอยฟุ้งไปบนอากาศ สื่อถึงความฝันและความรู้สึกที่เคว้งคว้างสุดเหงา ที่ส่งออกมาจากตัวละคร

 

 

        การดู In the Mood for Love ในวันนี้หลังจากผ่านมา 20 ปี สำหรับเราจึงเป็นทั้งการหวนรำลึกถึงอดีตทั้งในฝั่งของตัวเอง และซึมซับความรู้สึกของผู้กำกับที่มีต่อฮ่องกง ผ่านสิ่งของต่างๆ ที่ประกอบในฉาก การตีความคิดของตัวละครผ่านสัญญะที่อยู่ในหนัง และเฝ้าสังเกตความเป็นไปของพวกเขา ซึ่งในหลายๆ ฉาก หนังพยายามถ่ายทอดให้เห็นว่าคนดูนั้นกำลังแอบดูการกระทำของคุณนายชานและคุณเชา อยู่ในมุมใดมุมหนึ่งของสถานที่แห่งนั้น แม้ว่าทั้งคู่จะบริสุทธิ์ใจ และไม่ได้ทำอะไรผิด แต่ในความสัมพันธ์ที่เกิดนั้นต่างคนก็รู้ว่าเป็นสิ่งที่เมื่อถลำลงไปแล้วก็จะเกิดเป็นความผูกพันที่ไม่ควรมีต่อกัน 

 

In the Mood for Love

In the Mood for Love

 

        แต่เรื่องราวที่หวานขม รันทด และเจ็บปวดจนสุดกล้ำกลืนนี้ ก็เป็นสิ่งที่เราเรียกหาจากหนังของหว่องกาไว และรักในความไม่สมหวังของตัวละครในหนังของเขาทุกเรื่อง 

        เพราะนี่คือความงดงามของการได้อยู่ในอารมณ์ของห้วงรักนั่นเอง