“สวัสดี พลทหารโจโจ้ เบซเลอร์ วันนี้นายกำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์แล้ว”
นี่คือสุนทรพจน์ปลุกใจโดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในจินตนาการของโจโจ้ สำหรับการเข้าค่ายฝึกยุวชนฮิตเลอร์วันแรก เพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นทหารรับใช้ชาติในอนาคต
ด้วยจินตนาการ ความฝัน และความลักลั่นของสังคม ช่วยหล่อหลอมให้เด็กชายผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่คนหนึ่งมีมายาคติที่ยกเผ่าพันธ์ุตัวเองขึ้นสูงกว่าคนชาติอื่นผ่านการ ‘เหยียด’ อีกฝั่งให้ต่ำต้อยลงไปอย่างไม่ละอายใจ กลายเป็นเรื่องราวในช่วงเปิดเรื่องของหนังที่ดูหดหู่และชวนทุกข์ใจเหลือเกิน
ยุทธการนาซี แผนการขยี้จิตใจมนุษย์
หลังจากชีวิตในค่ายยุวชนนาซีเริ่มต้นขึ้น โจโจ้ เบซเลอร์ ค่อยๆ ถูกล้างสมองผ่านวิธีการต่างๆ ทั้งการฆ่าสัตว์ที่อ่อนแอ การหัดใช้อาวุธเพื่อแสดงออกถึงอำนาจที่เหนือกว่า รวมไปถึงการตราหน้าผู้แตกต่างว่าเป็น ‘สัตว์ประหลาด’ และจำเป็นต้องกำจัดให้สิ้นซาก
ซึ่งวิธีสร้างสรรค์การล้างสมองของ ไทกา ไวติติ ไม่ได้มีเพียงการใช้กิจกรรมสุดเพี้ยนดังกล่าวเป็นตัวแทนเท่านั้น แต่เขายังแฝงเอาไว้ผ่านการปรากฏตัวของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในจินตนาการ ที่เป็นตัวแทนของ ‘ความเชื่อ’ เพราะไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน ในสังคม หรือ ณ จุดไหนของประเทศก็ตาม แนวคิดสุดเพี้ยนนี้ก็ยังคงติดตรึงอยู่กับทุกคน ผ่านการปลูกฝังและต่อยอดออกมาเป็น โจโจ้ เบซเลอร์ ในปัจจุบันที่พร้อมจะฆ่าชาวยิวได้ทุกเมื่อ โดยเราเชื่อว่าตัวละครทุกตัวในค่ายุวชนนั้นต่างมี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในจินตนาการเป็นของตัวเองทั้งนั้น
แต่แล้วทุกอย่างก็พลิกผันเมื่อโจโจ้อยากเป็นกระต่ายที่กล้าหาญ แต่พลาดไปโดนระเบิดมือในระยะประชิดจนตัวเองเสียโฉม และพิการจนขากะเผลกตลอดชีวิต ดับฝันการเป็นทหารของเขาโดยปริยาย
แม้อุบัติเหตุครั้งนี้ จะเป็นเหมือนบทเรียนที่สั่งสอนให้เขาเข็ดหลาบกับการเป็นทหารลัทธิคลั่งชาติ และเริ่มกลับตัวกลับใจเสียที แต่โจโจ้ก็ยังคงยืนกรานว่าเขาจะเป็นชาวเยอรมันในฐานะผู้คลั่งนาซีจนตัวตาย ผ่านการเป็นบุรุษไปรษณีย์ให้กับทหารนาซี ซึ่งเป็นหน้าที่เดียวที่เขาสามารถทำได้
…แต่ดูเหมือนระเบิดครั้งนั้น จะได้สร้างแผลเป็นบางอย่างให้เขาได้มองเห็นอีกด้านหนึ่งที่ไม่สวยงาม เหมือนที่ตัวเองเคยวาดฝันเอาไว้กับระบอบนาซีได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
กระต่ายผู้กล้าหาญ ที่แหกออกมาจากกรงที่เรียกว่าสังคม
หลังได้รับบาดเจ็บสาหัสจากระเบิดมือระยะประชิด โจโจ้เริ่มใช้ชีวิตอยู่ติดบ้านและเก็บตัวมากขึ้น จนเขาได้พบความจริงบางอย่างว่า บนชั้น 2 ในบ้านของตัวเองถูกสร้างเป็นที่หลบภัยให้กับเอลซ่า หญิงชาวยิวคนหนึ่งผู้ถูกแม่ของโจโจ้เก็บมาอุปการะเลี้ยงดู แน่นอนว่าเขาไม่มีทางเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นภายในบ้าน ในช่วงแรกโจโจ้หาวิธีต่อสู้และกำจัดเธออย่างเอาจริงเอาจัง แต่ก็ไม่สามารถต่อกรกับเธอในแง่ของกำลังและความคิดความอ่านได้ กลายเป็นหนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้เขาเข้าใจว่าชาติพันธุ์ตัวเองไม่ได้ยิ่งใหญ่ไปกว่าใคร โจโจ้จึงเริ่มเจรจาสงบศึกด้วยการอนุญาตให้เธออยู่ร่วมชายคาเดียวกันได้ แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องอธิบายทุกอย่างเกี่ยวกับชาวยิวทั้งหมด
จนกลายเป็นที่มาของการเรียนรู้และได้เข้าใจในภายหลังว่าสัตว์ประหลาดบนโลกใบนี้ แท้จริงคือคนแบบโจโจ้เองต่างหาก
ความน่าสนใจของเส้นเรื่องตรงนี้คือความสมดุลระหว่าง ‘การเปิดใจ’ และ ‘ปิดใจ’ ของโจโจ้ ซึ่งผู้กำกับเลือกใช้การมีอยู่ของฮิตเลอร์เป็นสัญลักษณ์ได้อย่างน่าสนใจ ครั้นที่เขาต้องอยู่กับนายพลเยอรมัน ใจที่เกลียดชาวยิวของโจโจ้จะเริ่มลุกโชนขึ้นมา กลับกัน ตอนที่ใช้เวลาบนชั้น 2 ของบ้านอยู่กับเอลซ่า เขาจะมีหัวจิตหัวใจที่อยากรู้จักเอลซ่าในฐานะเพื่อนร่วมโลกคนหนึ่ง
อีกส่วนที่น่าสนใจคือการใช้สถานที่บอกเล่าเป็นนัยสะท้อนมุมมองของโจโจ้ว่าตัวเขาเองนั้นมองเยอรมนีในแต่ละช่วงเป็นอย่างไร ช่วงที่ยังเป็นเด็กที่มีใจเปี่ยมไปด้วยความรักต่อชาติ ทุกอย่างดูสวยงามไปหมด บ้านเมืองต่างเป็นสีพาสเทลสดใส ทุ่งหญ้าเขียวขจี แม่น้ำลำธารใสสะอาด
แต่จนวันหนึ่งที่เริ่มเติบโตและมองโลกกว้างขึ้น เขาได้เห็นทหารผ่านศึกที่เดินทางกลับยังประเทศบ้านเกิดด้วยสภาพอิดโรย บาดเจ็บ และพิการจากสงคราม ทำให้มุมมองของโจโจ้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือโดยทันที บ้านเมืองที่เคยสวยงามกลับเต็มไปด้วยซากปรักหักพังที่หยอกล้อไปตามสถานการณ์ของสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วยทำให้โจโจ้เริ่มเบิกตากว้างขึ้นและเห็นสภาพสังคมที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร
ลีลาที่จัดจ้านของไทกา ไวติติ
“ตอนนี้การเป็นนาซีมันไม่เท่แล้วนะโจโจ้” ยอร์กี เพื่อนทหารวัยเด็กคนหนึ่งของโจโจ้กล่าวไว้ หลังจากเห็นว่าสงครามและการฆ่าฟันไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น
ซึ่งก็ไม่เท่จริงๆ นั่นแหละ และหนังเรื่องนี้ของ ไทกา ไวติติ โดนนักวิจารณ์หลายคนต่างวิพากษ์ถึงการทำหนังเรื่องนี้ของเขาว่าเป็นการ ‘ล้างตรรกะ’ ที่ถูกต้องและสร้างความชอบธรรมให้การมีอยู่ของลัทธิล้างเผ่าพันธุ์ ที่ทั่วโลกต่างประนามเช่นนี้ให้มีที่ยืนอยู่ในสังคมก้าวหน้าในปัจจุบันได้
โดยส่วนที่โดนวิจารณ์อย่างหนักคือการใช้ฟุตเทจจริงของหญิงสาวที่โบกมือให้แก่ฮิตเลอร์ราวกับเป็นศิลปินก้องโลก เคล้าคลอไปกับเพลง I Want To Hold Your Hand ของวง The Beatles ที่แปลเป็นภาษาเยอรมัน สร้างข้อสงสัยต่อความบ้าบิ่นในตัวผู้กำกับรายนี้เป็นอย่างมาก
แต่เราเองกลับมองว่า ไทกา ไวติติ ตั้งใจจะ ‘เสียดสี’ ถึงการมีอยู่ของกลุ่มนาซีว่านอกจากจะโหดร้ายกับคนภายนอกแล้ว ก็ยังโหดร้ายกับคนในลัทธิด้วยกันเองได้อย่างแยบยล จนถึงขนาดที่สามารถคว้ารางวัลบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ปีล่าสุดมาได้
สุดท้าย หนังเรื่องนี้ก็ยังกลับมาสู่ครรลองที่ควรจะเป็นผ่านการผลักผู้ร้ายให้กลายเป็นสงคราม (ที่แม้จะไม่ได้บอกว่านาซีคือผู้ร้ายในเหตุการณ์นี้โดยตรง) แต่สารในหนังก็มากพอที่จะทำให้โจโจ้เรียนรู้ถึงความเลวร้ายของสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม และสอนให้เขารู้จักวิธีการ ‘แสดงความรักและปฏิบัติต่อเพื่อนมนุษย์’ ผ่านหัวใจที่แท้จริงของตัวเอง ไม่ใช่สิ่งที่สังคมกำหนดดี-ชั่ว ให้ปฏิบัติตาม
ถึงแม้ตอนท้ายโจโจ้จะยังลังเลอยู่เล็กน้อย (สังเกตได้จากการโกหกเอลซ่าตอนแรกว่าเยอรมันเป็นฝ่ายชนะ เพราะยังคงอยากแสดงความเป็นเจ้าของต่อสาวชาวยิวคนนี้อยู่) แต่สุดท้ายเขาก็กล้าพอที่จะเผชิญกับสิ่งที่โลกเป็น และหันหลังกลับมาพร้อมตวาดใส่ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เสียงดังว่า