คืนยุติ-ธรรม

คืนยุติ-ธรรม: เมื่อ ‘ตัวร้าย’ ได้รับความนิยม

“สังคมเราไม่ได้ต้องการคนดีหรอก เราแค่ต้องการคนธรรมดาที่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง”

        ประโยคหนึ่งที่ ‘ศิวะ’ ตัวละครเอกจากหนังเรื่อง คืนยุติ-ธรรม พูดออกมา…

 

คืนยุติ-ธรรม

 

        หลังจากที่ดูหนังเรื่องนี้จบ นอกจากอึ้งและอิ่ม ผมยังสามารถพูดเชิงอวยได้อีกว่านี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ดีที่สุดในใจของผม

        ด้วยความรู้สึกกดดันหนักหน่วง อึดอัด บีบคั้น และลุ้นระทึกตั้งแต่ต้นจนจบโดยแทบจะไม่มีเวลาให้พักหายใจ เป็นอารมณ์ที่ถูกถ่ายทอดออกมาจากการแสดงชั้นสูง ส่งตรงมาถึงจิตใจผู้ชมอย่างผม จนต้องนำ Message จากหนังมาคิดทบทวนต่ออีกหลายวัน

        สิ่งหนึ่งที่ทำให้ชอบและอินกับหนังเรื่องนี้เป็นพิเศษคือการเล่าเรื่องโดยอิงกับปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในสังคม เช่น ประเด็นความเหลื่อมล้ำ ช่องโหว่ และข้อบกพร่องในกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้เกิดประโยคที่ว่า ‘คุกมีไว้ขังคนจน’ รวมไปถึงการตีความคำว่า ‘แก้แค้น’ และคำว่า ‘ความยุติธรรม’ ในรูปแบบที่สาแก่ใจผมยิ่ง

        อีกสิ่งที่เป็นจุดเด่นของหนังคือการเล่าถึงประเด็นจิตวิทยา ความบกพร่องทางจิตใจของตัวเอก ความฟั่นเฟือน การพยายามเป็นคนปกติ และการอยู่ร่วมกับคนปกติในสังคมปกติที่ทำให้คนปกติสามารถกลายคนเป็นบ้าได้ทุกเมื่อ

        ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังทำให้ผมนึกถึง Joker หนังรางวัลออสการ์จากค่าย DC ที่เข้าฉายในปี 2019 ซึ่งเล่าถึงจอมวายร้ายคู่ปรับตลอดกาลของแบทแมนอย่างมีมิติ เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้คนกลับมาตั้งคำถามว่าอะไรคือ ‘ความปกติ’ และอะไรคือ ‘ความบ้า’

 

คืนยุติ-ธรรม

 

        ตัวละครวายร้ายอย่าง Joker แม้ว่าจะก่ออาชญากรรมมากมาย แต่กลับกลายเป็นตัวละครที่คนดูเอาใจช่วย

       ก่อนหน้านั้นไม่นาน ในปี 2018-2019 ทางฝั่ง MCU ก็มีหนังเรื่อง Avengers: Infinity War และ End Game ออกมา 2 ภาค จอมวายร้ายมันม่วงอย่างธานอสก็ถูกพูดถึงอย่างมีมิติ ในแง่ของความแน่วแน่ในอุดมการณ์ การยอมเสียสละทุกสิ่งเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือการกอบกู้จักรวาลด้วยวิธีการของเขา

 

คืนยุติ-ธรรม

 

        ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ในแวดวงเพื่อนในโซเชียลมีเดียของผม มีคนโพสต์ภาพหรือเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นภาพของวายร้ายฝ่ายอธรรม ไม่ว่าจะเป็น Joker, Harley Quinn, Loki และ Thanos รวมกันมากกว่าคนที่ใช้ภาพของ Superman หรือ Captain America ที่เป็นฮีโร่ฝ่ายธรรมะเสียอีก

        เมื่อออกจากจอภาพยนตร์กลับมายังโลกที่เราอยู่ ในวงการดนตรีก็เป็นเช่นเดียวกัน ในช่วงหลังมานี้ ผมจะได้ยินเพลงรักอกหักที่มีเนื้อหาประมาณว่า ‘ฉันเป็นแค่วายร้าย’ หรือ ‘ตัวร้ายที่รักเธอ’ ไปจนกระทั่งเพลงที่นำตัวร้ายในวรรณคดีอย่าง ‘ทศกัณฐ์’ มาตีความใหม่ โดยพูดถึงเหตุผลเรื่องความรัก ทำให้ต้องลักพาตัว ‘นางสีดา’ มา

 

 

        ก็แน่สิครับ ยักษ์ชั้นต่ำอย่างทศกัณฑ์คงไม่มีวันได้ครอบครองนางสีดา เยาวมาลย์ชั้นสูงที่ครองคู่อยู่กับเทพอวตารอย่าง ‘พระราม’ ได้ ถ้าทำตัวเป็นคนดีมีเกียรติ และถึงแม้จะชั่วและชุ่ยไปหน่อย แต่การลักพาตัวคงจะเป็นวิธีเดียวที่ทำให้ความฝันของอสูรกายหลายหน้าหลายมืออย่างเขาเข้าใกล้ความจริงได้มากที่สุด

        ซึ่งถึงแม้ทศกัณฐ์จะมีเมียเยอะอยู่แล้ว แต่เมื่อดูให้ดี เมียหลายตำแหน่งของเขาเป็นสัตว์เดียรัจฉาน ปลาบ้าง ช้างบ้าง สูงสุดก็คือ ‘นางมณโฑ’ ผู้เป็นเสมือน ‘ของกลาง’ ที่ถูกฉุดไปฉุดมาระหว่างทศกัณฐ์และ ‘พาลี’ หามีที่ไหนเทียบค่าเท่านางสีดาไม่

        ข้อนี้ผู้เขียนก็ใจร้ายเกินไปนะครับ ฮ่า

        นอกเรื่องไปนิดหน่อย ผมเพียงต้องการจะสื่อให้เห็นว่า แท้จริงแล้วบทบาทของทศกัณฐ์และนางสีดาในรามเกียรติ์นั้นมีความคล้ายคลึงกับ ‘สาย สีมา’ และ ‘รัชนี’ ในนวนิยายเรื่อง ปีศาจ ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ หรือไม่?

        ซึ่งการตีความตัวละครจากวรรณคดีอย่างทศกัณฐ์ในมุมมองใหม่แบบนี้ ทำให้ผมนึกถึงอีกตัวละครในประวัติศาสตร์จีนอย่าง ‘โจโฉ’ ที่มักจะถูกผู้คนตีความว่าเป็นตัวร้าย เป็นจอมเผด็จการ ทรราชผู้ล้มล้างระบบฮ่องเต้ และตีความ ‘เล่าปี่’ ในแง่ของการเป็นวีรบุรุษ เป็นผู้ถือคุณธรรมนำหน้า และยังมีศักดิ์เป็นอาแท้ๆ ขององค์ฮ่องเต้

       โดยจะมีแค่เพียงนักวิชาการ นักรัฐศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์สามก๊กบางคนเท่านั้นที่มองโจโฉเป็นยอดผู้นำ รัฐบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ แต่มาถึงตอนนี้ ผมพบว่าความคิดดังกล่าวนั้นแพร่หลายมากขึ้น อาจด้วยเพราะความก้าวหน้าของวิชารัฐศาสตร์ และการเปิดกว้างให้คิดต่างมากขึ้น ‘โจโฉ’ เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ถูกพูดถึงในหลายแง่ ส่วนเล่าปี่ ในสมัยนี้ถามใคร ใครก็ตอบว่าเล่าปี่เป็นคนตอแหล เสแสร้ง และชอบโหนเจ้า แท้จริงก็มักใหญ่ใฝ่สูงไม่ต่างจากโจโฉ

        สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อ ไม่ใช่ว่าสมัยนี้ผู้คนชื่นชอบตัวละครวายร้ายเพราะความเท่ หรือชอบตามกระแส หากแต่เป็นเพราะการตีความศีลธรรมในสมัยนี้นั้นต่างไปจากเดิม ที่ยึดเอาขนบธรรมเนียม ประเพณีและศาสนาเป็นมาตรฐานของคำว่า ‘สมบูรณ์แบบ’ ยิ่งเราปฏิบัติตนเข้าใกล้กับความสมบูรณ์แบบมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งเป็น “คนดี” มากเท่านั้น

 

        คำถามคือ ‘ความสมบูรณ์แบบ’ นั้นคือความจริงหรือไม่?

        แน่นอนว่าสำหรับคนสมัยนี้ที่ถือคติที่ว่า ‘Nothing is perfect’ ความสมบูรณ์แบบจึงเป็นแค่มายาคติ และค่อยๆ หันมายึดหลักการอื่นๆ เช่น หลักสิทธิเสรีภาพ หลักเหตุผล ความเท่าเทียม กฎหมาย และความยุติธรรม มาเป็นมาตรฐานใหม่ในการนิยามความเป็น ‘คนดี’

       เมื่อผู้คนเริ่มหันมายึดหลักคิดดังกล่าว ตัวละครฝ่ายธรรมะที่เป็น ‘คนดี’ ตามกรอบศีลธรรมแบบเก่าจึงขายไม่ออกอีกต่อไปหากไม่ได้มีหน้าตาดีเป็นจุดขายอย่าง Captain America

        ในขณะเดียวกัน ฝ่ายอธรรมที่ถูกตัดสินว่าเป็น ‘ตัวร้าย’ ด้วยกรอบศีลธรรมแบบเก่า แต่เหตุผลและแรงจูงใจในการกระทำการของเขาคืออุดมการณ์บริสุทธิ์ หรือการพยายามทวงคืนสิทธิ เรียกร้องความยุติธรรม หรือแก้แค้นที่เขาเคยถูกกดขี่ในระบบศีลธรรมแบบเก่า และต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง ตัวละครเหล่านี้ถูกมองอย่างมีมิติ และได้รับความนิยมในหมู่นักวิจารณ์และกลุ่มคนรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อย

        ในตอนที่ดูหนังเรื่อง คืนยุติ-ธรรม เป็นช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกับเหตุการณ์บ้านเมืองมากมาย หนึ่งในนั้นคือการปรากฏตัวของ ‘กลุ่มนักเรียนเลว’ ต้องยอมรับว่าเมื่อผมได้ยินชื่อของน้องๆ กลุ่มนี้เป็นครั้งแรกก็ต้องตั้งคำถามในใจว่าทำไมถึงเรียกตัวเองด้วยคำว่า ‘เลว’ ซึ่งผมก็ได้คำตอบในภายหลังว่า คำว่า ‘เลว’ นั้นไม่ได้หมายถึงการเป็นคนเลวทรามต่ำช้า แต่หมายถึงการ ‘ไม่ใช่คนดีในแบบที่ผู้ใหญ่ต้องการ’ กล่าวคือ น้องๆ มีจุดยืนที่จะปฏิรูประบบการศึกษาที่ล้าหลังในประเทศไทยนั่นเอง

        นี่เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่เลิกที่จะยึดติดกับการเป็นคนดีในระบบศีลธรรมแบบเก่า และออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมในมุมมองของเขา ด้วยวิธีของเขา โดยไม่สนใจว่าจะต้องถูกมองว่าเป็น ‘วายร้าย’ อีกต่อไป

        หลายครั้งที่ในโลกภาพยนตร์ที่มีสุภาพบุรุษหรือวีรสตรีเป็นตัวเอกออกมาแก้ใขปัญหาโดยการต่อกรกับวายร้าย แล้วจบแบบ Happy ending ซึ่งทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีจริง

 

 

        สิ่งที่มีอยู่จริงบนโลกนี้คือปัญหาสังคมอันเป็นเหตุผลที่เอื้อให้เกิด ‘วายร้ายในคราบคนดี’ ที่ไม่มีฮีโร่ออกมาทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างในหนัง มีแต่คนธรรมดาที่เลือกจะ ‘นิ่งเฉย’ ไม่ทำอะไร

        เมื่อภาพยนตร์เลือกที่จะนำเสนอปัญหาเหล่านี้ โดยมีบทบาทของวายร้ายเป็นผู้ถูกกระทำ แล้วพยายามที่จะลุกขึ้นสู้เรียกร้องความเป็นธรรม ความโกรธแค้นต่อสังคมของตัวร้ายจึงเป็นพลังงานที่ส่งถึงจิตใจของคนในปัจจุบันมากกว่าคุณธรรมความดีที่ไม่มีอยู่จริง

        เราจะกล่าวโทษ Joker ได้ไหม เมื่อเขาต้องการทำลายและหัวเราะเยาะสังคมที่เน่าเฟะ เหมือนที่มันทำลายและหัวเราะเยาะชีวิตของเขา

        เราจะกล่าวโทษแก๊งเด็ก ฉลาดเกมส์โกง ได้ไหมที่เขาพยายามทวงคืน ‘ค่าแป๊ะเจี๊ยะ’ และโกงข้อสอบในระบบการศึกษาที่โกงชีวิตของเขา

        เราจะโทษธานอสได้ไหม ที่เขาต้องการจะคร่าชีวิตครึ่งจักรวาลเพื่อรักษาสมดุล เมื่อดาวบ้านเกิดของเขาล่มสลายเพราะจำนวนประชากรล้นดาว

        ทั้งหมดนี้คือเหตุผลที่เกิดจากการวิเคราะห์ตามทัศนคติของตัวผม ว่าทำไมผู้คนในปัจจุบันถึงได้นิยมและหลงเสน่ห์ของตัวละครวายร้ายที่มักจะพ่ายแพ้อยู่เสมอ

        …ดูหนังดูละครแล้วย้อนดูตัวเรา!