Once Upon a Time in Hollywood

Once Upon a Time in Hollywood: ถ้าครั้งหนึ่งเควนตินจะทำหนังรัก มันก็ต้องเป็นแบบนี้แหละ!

“ฮอลลีวูดมันคือที่พักผ่อนในช่วงซัมเมอร์ที่ดีที่สุดในยุค 60s จริงๆ นะ มันถูกสร้างมาเพื่ออะไรแบบนี้แหละ” เควนติน แทแรนติโน เล่าถึงความรักที่มีต่อฮอลลีวูดและภาพยนตร์เป็นอย่างมาก จากการที่เขาเติบโตมาจากร้านเช่าวิดีโอที่เป็นเหมือนห้องเรียนส่วนตัวที่ช่วยผลักดันให้เขากลายมาเป็นผู้กำกับแถวหน้าและมีผลงานลำดับที่ 9 อย่าง Once Upon a Time in Hollywood ออกมา ซึ่งเขาเคยกล่าวไว้อีกด้วยว่าหนังเรื่องนี้เปรียบเหมือน ‘จดหมายรัก’ ที่เขามอบให้กับวงการฮอลลีวูดเลยทีเดียว

Once Upon a Time in Hollywood
ครั้งหนึ่งเคยเกิดขึ้นที่ฮอลลีวูด

        เพราะหนังพาเราย้อนไปยุค 60s ในช่วงสมัยที่ฮอลลีวูดเฟื่องฟู มีสตูดิโอกว้างขวางเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นผลพวงจากอิทธิพลของผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจกับโรงภาพยนตร์แทนจอโทรทัศน์ ส่งผลให้ ริก ดัลตัน (ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ) พระเอกหนุ่มจากจอโทรทัศน์และ คลิฟฟ์ บูธ (แบรด พิตต์) สตันต์แมนคู่ใจ ต้องกระเสือกกระสนพาชีวิตตัวเองไปอยู่ในโลกภาพยนตร์ให้ได้เพื่อที่จะไม่ให้นักแสดงดาวรุ่งรายอื่นมาเขี่ยพวกเขาให้เป็นดาวร่วงในที่สุด 

        จริงๆ แล้วด้วยเนื้อเรื่องเพียงเท่านี้ก็ดูจะไม่มีปัญหากับตัวหนังเลย เพราะถึงแม้เส้นเรื่องจะดูเบาบางขนาดไหนก็ตาม แต่ด้วยแนวทางที่ดูเหมือนจะ ‘ผ่อนมือ’ ลงของเควนติน ทำให้เกิดช่องว่าง เปิดพื้นที่ให้ 2 นักแสดงหลักได้โชว์ลวดลายสภาวะ ‘จิตตก’ ของนักแสดงอาภัพได้อย่างยอดเยี่ยม ลีโอนาร์โดในบท ริก ดัลตัน ที่เป็นคนรับภาระในส่วนนี้เยอะสุดก็แสดงอาการดิ้นรนของมนุษย์คนหนึ่งออกมาได้อย่างน่าสงสารจับใจ พาลชวนให้เราเอาใจช่วยตัวละครนี้โดยไม่รู้ตัว 

        แต่ที่เซอร์ไพรส์กว่าคงเป็น คลิฟฟ์ บูธ เพราะด้วยบทบาทตัวละครที่ดูจืดชืดไม่น่ามีอะไรมาบิดพลิ้วให้เราเห็นได้ แบรด พิตต์ ก็ยังเฉิดฉายด้วยความเท่ที่ดูดุดันแต่ก็สุขุมไปในเวลาเดียวกัน ตามแบบฉบับสตันต์แมนใกล้เกษียณได้อย่างโดดเด่น จนในหลายฉากเรากลับรู้สึกว่านี่เป็นตัวละครหลักมากกว่า ริก ดัลตัน เสียอีก (จากบทสัมภาษณ์ของเควนติน จริงๆ แล้วบทหนังเริ่มมาจากตัวละครสตันต์แมนอย่างคลิฟฟ์ ก่อนที่จะขยายไปถึงนักแสดงหลักอย่างริกในภายหลัง)

 

Once Upon a Time in Hollywood

ชารอน เทต และกลุ่มแมนสัน อีกหนึ่งเรื่องราวที่คอยตอบคำถามเราว่า “ใครคือผู้กำกับเรื่องนี้”

        ถึงแม้เนื้อเรื่องของสองคู่หูจะดูเพียงพอแล้วก็ตาม แต่หากมีแค่นั้นก็คงไม่สมกับชื่อของเควนติน ที่มีลายเซ็นเป็นความดิบห่ามและเลือดสาดเท่าใดนัก ดังนั้น การเข้ามาของ ชารอน เทต และกลุ่มแมนสัน จึงช่วยเติมเต็มในส่วนนี้เป็นอย่างมาก หากเราลองไปรื้อแฟ้มคดีฆาตกรรม ชารอน เทต แล้วนั้น ขั้นตอนการฆาตกรรมอันอุกอาจที่ถูกอธิบายไว้อย่างละเอียดในเอกสารมันคือ ‘วัตถุดิบชั้นดี’ ที่แทแรนติโนน่าหยิบมาใช้เป็นอย่างยิ่ง 

        ความเก่งกาจของ มาร์โก ร็อบบี ที่รับบทเป็น ชารอน เทต เพื่อนบ้านสาวของ ริก ดัลตัน ในเรื่องนั้น คือการที่เธอสามารถทำให้เราเชื่อว่านี่คือ ‘ดาวรุ่งพุ่งแรง’ ที่สุดในช่วงเวลานั้นจริงๆ เพราะด้วยรูปร่าง หน้าตา และเสน่ห์ที่ถอดแบบมาจากเทตแทบทั้งดุ้นแบบนี้ ช่วยเพิ่มความวูบวาบในพาร์ตของเธอได้เป็นอย่างดี ถึงแม้เธอจะได้แอร์ไทม์ในเรื่องน้อยเกินไปก็ตาม 

        ส่วนกลุ่มแมนสัน แม้จะเป็นเส้นเรื่องรอง (sub-plot) ของเรื่องนี้ ที่ในครึ่งแรกของหนังพวกเขาแทบไม่มีบทบาทแต่อย่างใด แต่พอเส้นเรื่องหลักของสองคู่หูจบเท่านั้นแหละ กลุ่มแมนสันก็เข้ามาเติมเต็มรสชาติที่ ‘เหวอ’ ตามสไตล์ของแทแรนติโนได้สมบูรณ์แบบ ทั้งฉากที่เราถึงกับต้องอุทานว่า WT… หรือจะเป็นฉากเลือดสาด ไปจนถึงการตบมือลั่นโรงให้กับการตัดสินใจอันบ้าคลั่งของตัวละคร สิ่งเหล่านี้ช่วยเติมเต็มให้หนังเรื่องนี้ใกล้เคียงคำว่าสมบูรณ์แบบมากขึ้นไปอีก

 

Once Upon a Time in Hollywood

Tarantino-Esque: สุนทรียภาพสไตล์แทแรนติโน

        นอกจากเส้นเรื่องที่ฉูดฉาดตามสไตล์ของเควนตินแล้ว อีกสิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้คือ tarantino-esque ศัพท์สแลงในวงการภาพยนตร์ที่อธิบายถึงเทคนิคเฉพาะตัวของหนังเควนติน ที่มีตั้งแต่การหยิบยืมฉากดังจากหนังเรื่องอื่นมาใช้ในเรื่องของตัวเอง ความหัวขบถ ไดอะล็อกอันยืดเยื้อ ไปจนถึงการพ่นคำหยาบชนิดที่ไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ดังที่เราได้เห็นมาแล้วในงานเก่าๆ ของเขามากมาย 

        ในส่วนของการหยิบยืมเรเฟอเรนซ์จากงานอื่นในเรื่องนี้แทบไม่ต้องพูดถึง เพราะนี่คือหนังที่เล่าถึงอุตสาหกรรมฮอลลีวูด ดังนั้น หลายสิ่งอย่างที่ปรากฏผ่านตาเราล้วนเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงในวงการแทบทั้งสิ้น โดยส่วนตัวแล้ว เรารู้สึกทึ่งกับการ ‘คุมโทน’ ของหนังในเรื่องตลอดทั้ง 2 ชั่วโมงมาก เควนตินสามารถทำให้เราเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ดูน่าพิศมัยในยุคนั้นจริงๆ 

        แต่ในส่วนไดอะล็อกของหนังที่เป็นจุดแข็งและดูเฉพาะตัวที่สุดของแทแรนติโนอย่างที่เราเห็นได้จากฉากเปิดเรื่องใน Inglourious Basterds (2009) หรือเรื่องเล่าบนภูเขาหิมะใน The Hateful Eight (2015) ที่บีบคั้นและขยี้หัวใจเราได้อยู่หมัด แต่ในเรื่องนี้กลับไม่รู้สึกเช่นนั้นแต่อย่างใด แน่นอนล่ะว่าที่มีอยู่ยังดีตามมาตรฐานของผู้กำกับ แต่ก็เป็นเพียงบทพูดที่ยียวนกวนบาทาที่ ‘ดีพอ’ เพียงเท่านั้น ไม่นำไปสู่อะไรที่น่าสนใจเสียเท่าไหร่ และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้หนังเรื่องนี้ตกอยู่ในสภาพยืดเยื้อไปเล็กน้อยเสียด้วยซ้ำ 

 

Once Upon a Time in Hollywood

 

        สรุปแล้ว Once Upon a Time in Hollywood คือหนังที่ทะเยอทะยานในการหามุมเรื่องมาบิดล้อให้น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งของเควนติน หากนำไปเทียบกับภาพยนตร์อื่นทั่วไป นี่จะเป็นอีกหนึ่งงานในปี 2019 นี้ที่น่าจดจำอันดับต้นๆ ของเราอย่างแน่นอน แต่หากนำมาเทียบกับผลงาน 8 เรื่องที่ผ่านมาของเควนตินเองละก็ เรากลับคิดว่านี่ยังไม่ใช่หนังเควนตินที่รู้สึกแปลกประหลาดและน่าสนใจในแบบตอนที่ได้ดู Pulp Fiction (1994) และ Kill Bill: Vol. 1 (2003) เป็นครั้งแรกอะไรแบบนั้น แต่นี่กลับเป็นหนังที่ดูสร้างมาเพื่อทำให้เรารักและจมปลักอยู่กับ ‘หนังแบบเควนติน’ ยิ่งขึ้นมากกว่า