Our 30 Minute Sessions

Our 30 Minute Sessions: การจำเพื่อลืม และการลืมเพราะยังจดจำ

เราอาจเคยเห็นหนัง Sci-Fi พล็อตแปลก ที่อยู่เหนือตรรกะและโลกความเป็นจริงในภาพยนตร์ญี่ปุ่นมาบ้างแล้ว อย่างไทม์ไลน์ของอดีตและอนาคตที่มาบรรจบกันในเรื่อง Tomorrow with yesterday’s you หรือตัวเอกที่หลุดออกมาจากภาพยนตร์ขาวดำในเรื่อง Tonight at romance theatre

        ถึงแม้การพลิกแพลงหาเส้นเรื่องและพล็อตใหม่แบบเหนือจริง (Surreal) จะมีตัวอย่างให้เห็นอีกเป็นจำนวนมากในวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่น แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ภาพยนตร์เรื่อง Our 30-Minute Sessions ยังสามารถหยิบลูกเล่นของ ‘ตลับเทป’ มาผูกเป็นพล็อตที่แปลกใหม่ เต็มไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวและมีท่วงทำนองที่แตกต่างจากเรื่องอื่นด้วยส่วนผสมของดนตรีได้อย่างสดใหม่

        “เวลาสื่อสารกับใครผ่านดนตรี ช่วงเวลาที่มีอยู่จะเข้มข้นกว่าเดิมเป็นสิบเท่า ในห้วงเวลานั้นเหมือนผมได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งเลย”

        ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Our 30-Minute Sessions (เทปลับ สลับร่างมารัก) เป็นเรื่องราวของเทปปริศนาม้วนหนึ่งที่ ‘โซตะ’ หนุ่มเงียบขรึมคนหนึ่งบังเอิญเก็บได้ในสถานที่ประจำซึ่งเขามักไปอยู่คนเดียว แต่แล้วเรื่องราวสุดประหลาดก็เกิดขึ้นเมื่อโซตะกดเครื่องเล่นเทปม้วนนั้น วิญญาณของเขาก็หลุดออกจากร่างและถูกแทนที่ด้วยวิญญาณของ ‘อากิ’ อดีตนักร้องนำวงดนตรีสุดร่าเริงที่เสียชีวิตไปนานหลายปี ก่อนเวลาจะหมดลงและได้กลับมาเป็นตัวเขาเองเหมือนเดิม นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์และมิตรภาพแปลกประหลาดที่มีระยะเวลาจำกัดรอบละ 30 นาที

        ซึ่งข้อดีที่สุดของเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นส่วนผสมของดนตรีที่ผูกการเล่าเรื่องที่มีเพลงประกอบเป็นอีกตัวละครหลัก และดึงดูดให้ผู้ชมเข้าถึงมวลอารมณ์ของเรื่องนอกเหนือจากบทพูดได้อย่างกลมกล่อม 

 

Our 30 Minute Sessions

*มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง*

ความทรงจำที่ยังมีชีวิตอยู่

        แม้ตัวจะจากไป แต่จิตวิญญาณของ ‘อากิ’ อดีตนักร้องวัยรุ่นผู้ล่วงลับกลับโลดแล่นอยู่ในโลกใบนี้ได้เพราะโซตะกดเล่นเทปเพลงในเครื่องที่เขาเคยใช้อัดเพลงระหว่างอยู่ในวง ซึ่งภาพที่เราเห็นหาใช่วิญญาณที่ยังไม่ไปไหนทั้งสิ้น แต่เป็นตัวแทนของ ‘ภาพความทรงจำ’ ซึ่งเป็นหน่วยที่ถูกบันทึกในเทป และนำกลับมา ‘ฉายใหม่’ อีกครั้ง เขาจึงเป็นเสมือนความทรงจำที่ยังมีชีวิตอยู่ (ฉบับพกพาได้) ที่คอยทำหน้าที่เป็นเครื่องย้ำเตือนให้เห็นภาพความรุ่งเรืองในอดีตที่เคยเกิดขึ้นแล้วทั้งสิ้น เห็นได้จากปฏิกิริยาของเพื่อนร่วมวงที่แยกย้ายออกไปตามทางของตัวเองโดยไม่เกี่ยวข้องกับวงดนตรีเก่าอีก ทั้งเจ้าของคาเฟ่ พนักงานบริษัท พนักงานรับจ้าง และผู้สอนดนตรีผู้สูงอายุ  แต่เมื่อทุกคนกลับมาเจอ ‘อากิ’ ในร่างของ ‘โซตะ’ ความทรงจำอันแสนสุขกับร่องรอยแห่งความฝันที่ทุกคนเคย ‘เก็บซ่อน’ เอาไว้ลึกๆในใจ ก็พลันฉายชัดขึ้นมาใหม่อีกครั้ง

สองขั้ว สองตัวละครหลัก

        ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราพบการสร้างตัวละครโดยใช้สูตรคลาสสิกอย่าง ‘ตัวละครขั้วตรงข้าม’ (Opposite Theory) มาสะท้อนสิ่งที่ต้องการสื่อได้อย่างแยบยล จนคนดูกึ่งอินโทรเวิร์ตกึ่งเอ็กซ์โทรเวิร์ตอย่างเราเองก็แสนจะเข้าใจและสัมผัสได้ทั้งสองฝั่งเช่นกัน ประกอบกับการแสดงของแมคเคนยู ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์ที่เปล่งประกายระยิบระยับเหมาะกับบท ‘อากิ’ นักร้องขวัญใจวัยรุ่นแล้ว การแสดงของ ทาคูมิ คิตามูระ นักร้องนำวง Dish ในบทบาทหนุ่มเก็บตัวก็ทำให้เราประหลาดใจ เพราะขัดกับภาพลักษณ์นักร้องนำที่มีความมั่นใจล้นเหลือบนเวทีของเจ้าตัว และทำให้เราเองเชื่ออยู่สักพักว่าเขาเป็นเด็กหนุ่มธรรมดาๆ ที่เพิ่งเข้ามาเป็นนักแสดงหน้าใหม่เมื่อไม่นานมานี้เอง

เหนื่อยกับสังคมจนมาจมอยู่กับตัวเอง

        ‘โซตะ’ เป็นตัวแทนของจุดสิ้นสุดของวัยรุ่นที่กำลังก้าวข้ามไปสู่วัยผู้ใหญ่ และชีวิตการทำงาน เขาเลือก ‘ปฏิเสธ’ การเข้าสังคมกับทุกคน เอาตัวเองเป็นหลัก ไม่อยากเข้าไปในโลกของคนอื่นและไม่ยอมให้คนอื่นเข้ามายุ่งในโลกของตัวเองแม้กระทั่งพ่อที่อยู่ในบ้านเดียวกันก็ตาม เขาเป็นตัวละครที่คอยสร้างรั้วกั้นเพื่อปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวด และขังตัวเองอยู่ภายใน ‘คอมฟอร์ตโซน’ แม้จะเต็มเปี่ยมไปด้วยพรสวรรค์ทางดนตรี แต่เขากลับกอดเก็บความปรารถนาในการเล่นดนตรีเอาไว้ แล้วเลือกเดินไปตามทางที่สังคมส่วนใหญ่ต้องการ เพราะไม่อยากแลกกับการออกไปยืนเสี่ยงท่ามกลางสปอตไลต์ กลายเป็นที่จับจ้อง วิพากษ์วิจารณ์ และทำให้ตัวเองเจ็บปวด เราจึงเห็นภาพเด็กหนุ่มใส่หูฟังครอบขณะเล่นคีย์บอร์ดเพื่อให้ตัวเองได้ยินเสียงนั้นและสนุกกับมันเพียงคนเดียว โซตะจึงเป็นตัวละครที่มีชีวิตอยู่แต่ไม่อยากเสี่ยงใช้ชีวิต แต่แล้วชีวิตของเขาก็ต้องเปลี่ยนไปเมื่อได้พบกับ ‘อากิ’

 

Our 30 Minute Sessions

Our 30 Minute Sessions

ชีวิตจากไป เป้าหมายยังอยู่

        ‘อากิ’ เป็นตัวละครที่แจกรอยยิ้มสดใสในเรื่องได้อย่างสิ้นเปลืองเหลือเกิน รอยยิ้มของเขามักอยู่บนใบหน้าแม้จะรู้สึกทุกข์ใจ เขาเป็นตัวละครที่อยู่ท่ามกลางสปอตไลต์ เป็นจุดศูนย์รวมความสนใจและจุดศูนย์กลางที่พร้อมจะเสี่ยงเพื่อคนอื่นเสมอ นอกจากนี้เขายังเป็นตัวแทนของหนุ่มสาว ‘วัยรุ่น’ ที่มีเป้าหมายในชีวิตชัดเจนและเข้มข้น เขากล้าเสี่ยงออกจาก ‘คอมฟอร์ตโซน’ ของสภาวะที่เป็นอยู่ เพื่อให้ได้ขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีและมีความสุขกับทุกคนอีกครั้งหนึ่ง ถึงขั้นว่าต่อให้แลกกับอะไรเขาก็ยอม เพราะอากิมีความเชื่อว่าการได้กลับมาอยู่บนโลกใบนี้อีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่เพื่อดำรงอยู่ แต่เป็นไปเพื่อเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จขณะยังอยู่ต่างหาก เขาจึงกลายเป็นฝั่งตรงข้ามของโซตะ เป็นผู้ต้องการใช้ชีวิต แต่ไม่มีชีวิตหลงเหลือให้ใช้แล้ว

ตัวตนที่ขาดหายและได้รับการเติมเต็ม

        เมื่อตัวละครสองขั้วโคจรมาพบกัน การยืมกายหยาบของอากิทำให้โซตะได้ออกไปพบกับสิ่งใหม่ ได้ขึ้นเวที และมีความสุขกับคนอื่นๆ แต่การได้สลับร่างกันไปมากลับสร้างความสับสนใน ‘ตัวตน’ ของทั้งคู่เช่นกัน เมื่อโซตะเห็นว่าอีกฝ่ายเป็นตัวเขาได้ดีกว่าตัวเขาจริงๆเสียอีก ส่วนอากิเองก็มองว่าพรสวรรค์ของโซตะกำลังค่อยๆ คืบคลานเข้ามาแทนที่ตำแหน่งที่เคยเป็นของเขาอย่างรวดเร็ว จึงเกิดเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจที่แฝงอยู่ในความยินดีจากทั้งสองฝั่ง และเป็นจุดที่น่าสนใจเมื่อภาพยนตร์เลือกให้แนวดนตรีของทั้งคู่มีท่วงทำนองและกลิ่นอายที่แตกต่างกัน เห็นได้จากเพลง Stand by me ที่แบ่งเป็นสองเวอร์ชัน และเครื่องดนตรีของโซตะเป็นเปียโนโทนเสียงนุ่ม แต่เครื่องดนตรีของอากิเป็นกีตาร์ทำนองสดใส เช่นเดียวกับความสับสนในตัวตนของวัยเปลี่ยนผ่าน แต่ผลสุดท้ายกลับไม่มีใครดีกว่าหรือเหนือกว่าใคร เพราะทั้งคู่ต่างก็มีเสน่ห์ในแบบของตัวเองโดยไม่สามารถมีใครแทนที่ได้

 

Our 30 Minute Sessions

Our 30 Minute Sessions

การจำเพื่อลืม และการลืมเพราะยังจดจำ

        กิมมิกหนึ่งที่น่าสนใจจากภาพยนตร์เรื่องนี้คือตัวละคร ‘คานะ’ คนรักเก่าของอากิและหนึ่งในสมาชิกของวง ที่ภาพยนตร์เลือกถ่ายทอดในเชิงสัญลักษณ์ผ่านหนังสือคู่มือการทำอาหาร ภาพในปัจจุบัน เรามักจะเห็นเธอหันแผ่นหลัง ก้มหน้าก้มตาง่วนอยู่กับการหั่นผักและทำซุปตามสูตรทุกวัน แม้สีหน้าภายนอกจะดูนิ่งเงียบจนเราเองก็เดาไม่ออกว่าแท้จริงแล้วเธอรู้สึกอย่างไร แต่ภายในเธอกลับเป็นคนที่เก็บกดความเจ็บปวดเอาไว้เยอะที่สุด เพราะคานะต้องแบกรับน้ำหนักการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ราวกับตื่นขึ้นมาพร้อมกับที่คนรักซึ่งเป็นศูนย์กลางในชีวิตจู่ๆ ก็หายไปจากโลกใบนี้ ไม่มีทางได้พบเจออีกต่อไป และไม่สามารถทำอะไรได้อีก

        คานะจึงเบี่ยงไปหาอะไรทำให้มากเข้าไว้ หางานประจำที่หนักที่สุดเพื่อลืมอดีตและคนรักเก่าให้ได้ แม้เราจะเห็นเธอพยายามวิ่งหนีจากความรู้สึกนั้น แต่เหตุผลลึกๆ ก็เป็นเพราะเธอเองไม่เคยลืมเขาได้ หากมีแม้แต่วินาทีเดียวที่กลับมาอยู่กับตัวเธอเอง ความเจ็บปวดก็จะเริ่มคืบคลานเข้ามา

        แต่สุดท้ายการพยายามลืมกลับไม่ใช่คำตอบสำหรับเธอ แต่เป็นการไม่ลืมต่างหาก ในฉากใกล้จบ เธอหยิบเทปเพลงที่อดีตคนรักเคยอัดเอาไว้ เผชิญหน้ากับมัน ร้องไห้ แล้วค่อยๆ หยิบของเหล่านั้นลงกล่องทิ้ง แต่นาทีหนึ่งที่เธอตัดสินใจเผชิญหน้ากับความรู้สึกทั้งรัก คิดถึง และเจ็บปวด ในที่สุดเธอก็หยุด ‘วิ่งหนี’ เพื่อลืมความทรงจำที่คอยตามหลอกหลอน แต่เธอเลือกการ ‘วิ่งไปข้างหน้า’ พร้อมกับความทรงจำครั้งเก่าที่ยังเคยสวยงาม เธอยังออกไปวิ่งตอนเช้าเช่นทุกวัน แต่ถือเอาเทปที่อากิเคยอัดไปด้วยระหว่างทาง นี่จึงเป็นสิ่งที่เธอตัดสินใจใช้เยียวยาจิตใจที่แตกสลายไปพร้อมๆ กับหันหน้าเข้าหาความฝันและอดีตคนรักในความทรงจำเพื่อเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

 

Our 30 Minute Sessions

ตลับเทปกับช่วงเวลา

        ลูกเล่นที่นับว่าเป็นจุดที่น่าสนใจที่สุดและครอบคลุมภาพใหญ่ในเรื่องไว้ คือการเล่นกับเวลาและฟังก์ชันการใช้งานของ ‘ตลับเทป’ แบบครบเซต ทั้งการอัดซ้ำ อัดทับ และไทม์ไลน์ของเทปที่อัดซ้อนของเก่าไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยหายไปไหน เช่นเดียวกับความทรงจำที่สร้างใหม่และซ้อนทับเข้าไปเพิ่ม

        ‘ดวงดาวบนท้องฟ้าเองก็ไม่เคยหายไปไหน เพราะเมื่อถึงเวลา มันจะโคจรกลับมาที่เดิม’

        ซีนภาพที่เราชื่นชอบเป็นพิเศษจึงเป็นภาพที่ปรากฏในตอนสุดท้าย เมื่อใช้ภาพมุมสูงให้เห็นทุกคนวิ่งจากด้านบนจนกลายเป็นเส้นทางเดินที่ซ้อนทับกันไปเรื่อยๆ จนเราเองรู้สึกเหมือนเราได้เห็นภาพจักรวาลและไทม์ไลน์ของช่วงเวลาที่ซ้อนทับกันหลายชั้น  จนเกิดเป็นห้วงเวลา ณ ปัจจุบัน

        หากตีความยุคเปลี่ยนผ่าน กิมมิกของเทปยังสื่อให้เห็นเส้นทางของยุคแอนะล็อกกับดิจิตอลที่กำลังซ้อนทับกันอย่างเห็นชัดเจน เพราะในสิ่งที่ ‘สัมผัสและจับต้องได้’ เช่นเดียวกับตลับเทปที่เหมือนได้จับเพลงอยู่ในฝ่ามือและสามารถมองเห็นเป็นสรณะ เมื่อยัง ‘เห็น’ และ ‘สัมผัส’ ได้อยู่ จึงทำให้เกิดเรายังความรู้สึกกับมัน ทั้งสุข เจ็บปวด และคิดถึง สัญลักษณ์ตลัปเทปจึงกลายเป็นร่องรอยของโลกแอนะล็อกที่ค่อยๆ เลือนหายและเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิตอลยุคใหม่ที่ ‘จับต้องไม่ได้’ ต่อไป

        ร่องรอยของโลกดิจิตอลกับแอนะล็อกจึงเป็นเช่นเดียวกับช่วงเวลาแห่งวัยเยาว์และวัยผู้ใหญ่ ยุคเก่าและยุคใหม่ที่ซ้อนทับถึงกัน แท้ที่จริงแล้วกาลเวลาที่ผ่านเลยเหล่านี้ไม่เคยหายไปไหน แต่มันยังคงติดตัวเราไปตลอดในความทรงจำต่างหาก

        ทุกอย่างต่างมีข้อดีและข้อด้อยด้วยกันทั้งนั้น การอัดเสียงผ่านเทปด้วย ‘ซาวด์อะเบาท์’ อาจจะไม่ได้คุณภาพที่ดีเท่าไฟล์เพลงดิจิตอลจากเครื่องมือในยุค 2000s แต่ข้อด้อยนี้บางทีก็กลายเป็นจุดเด่นของเทปที่ข้อมูลชุดเดิมก่อนถูกอัดทับนั้นจะยังอยู่ เป็นคลื่นเสียงบางๆ ที่ซ้อนทับอยู่ในม้วนเทป แม้หูของเราจะไม่ได้ยินแต่ก็สัมผัสถึงได้ในบางครั้ง และเมื่อไหร่ที่เรามีจังหวะได้พบกับสุ้มเสียงที่หายไปนั้นโดยบังเอิญ ก็เหมือนภาพจำในอดีตได้ย้อนคืนมาอีกครั้ง

        ความทรงจำในอดีตแม้บางเรื่องจะขมขื่น โศกเศร้า ไม่สดใส แต่เมื่อถูกมองอีกครั้งผ่านความทรงจำ ทุกเรื่องราวที่เคยผ่านมานั้นกลับงดงามเสมอ และเป็นสิ่งที่ย้ำเตือนใจเสมอว่าชีวิตต้องดำเนินต่อไป เก็บความเสียใจนั้นไว้เป็นความทรงจำจางๆ และยิ้มรับกับความสุขครั้งใหม่ที่เข้ามา

 


ภาพ: IMDb