The Intern

“เพราะเราต่างก็เป็น intern ในชีวิตจริง” แลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างวัยผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Intern (2015)

จากจุดเริ่มต้นหาภาพยนตร์มาแลกเปลี่ยนกันในประเด็น ‘จิตสาธารณะ’ กันในระหว่างทีม a day BULLETIN รายชื่อภาพยนตร์มากมายต่างถูกส่งเข้ากรุ๊ปเพื่อเสนอขอคะแนนโหวต แต่แล้วผลสรุปท้ายในที่สุดก็ตกเป็นของภาพยนต์เรื่อง ‘The Intern โก๋เก๋ากับเก๋ไก๋’ เนื่องจากตัวละครเอกอย่าง ‘ลุงเบน’ มีลักษณะเป็นเหมือนกับที่ปรึกษาและศูนย์รวมจิตใจให้กับตัวละครคนอื่นๆ ในเรื่อง แต่นอกจากประเด็นนี้สิ่งที่มองเห็นคือ การแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของการทำงานระหว่างคนอีกวัยสู่คนอีกวัยก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ

        ในวงสนทนาครั้งนี้จึงมีเด็กเจน Z อย่าง ‘ไข่มุก’ – คุลิกา แก้วนาหลวง หนึ่งในจูเนียร์กองบรรณาธิการ ร่วมกับเหล่าคนเจน Y ที่เคยทำงานในวิถีคนเจน X และ Baby Boomer ‘ดอกติ้ว’ – วิมุตตา กุลสุวรรณ เลขากองบรรณาธิการ มาพร้อมกับหนุ่มเจน Y ฌอห์ณ จินดาโชติ บรรณาธิการอำนวยการ และแขกรับเชิญเจน Y สุดพิเศษ ‘บอล’ – วิทยา ทองอยู่ยง ก็ที่มาแลกเปลี่ยนความเห็น และประสบการณ์ส่วนตัวผ่านภาพยนตร์เรื่องนี้ในรายการ LIVE With adB 

The Intern โก๋เก๋ากับเก๋ไก๋

        The Intern เป็นภาพยนตร์แนวฟีลกู๊ด ที่ฉายในปี 2015 เรื่องราวของชายวัยเกษียณอายุ 70 เบน วิทเทคเคอร์ (โรเบิร์ต เดอ นีโร ) หรือที่เราเรียกกันว่า ‘ลุงเบน’ หลังจากที่ภรรยาเสียชีวิต ลูกๆ หลานๆ ต่างใช้ชีวิตของตัวเอง ทำให้เขาขาดเป้าหมายในชีวิต กลายเป็นคนวัยเกษียณที่ไม่ค่อยสำราญ ไม่ว่าจะลองทำอะไรก็ไม่รู้สึกสปาร์กจอยสักเท่าไหร่ กระทั่งเขาเลือกไปเป็นพนักงานฝึกงานอาวุโสที่บริษัทขายเสื้อผ้าออนไลน์ของ จูลส์ ออสติน (แอนน์ แฮทธาเวย์) และเบน ได้รับมอบหมายให้เป็นเด็กฝึกงานอาวุโสที่คอยประกบจูลส์ สาวเจ้าของบริษัทรุ่นใหม่ไฟแรงที่แทบจะไม่มีเวลาว่างเลย 

        การได้กลับมาทำงานของเบน ทำให้เขาได้พบกับสังคมใหม่ของคนหนุ่มสาวที่เต็มไปด้วยความเร่งรีบ และสะดวกสบายด้วยเทคโนโลยี ทำให้เขาไม่ได้เป็นเด็กฝึกงานแค่ในเรื่องของการทำงาน แต่ยังเป็นเด็กฝึกงานในการใช้ชีวิตท่ามกลางเด็กรุ่นใหม่ ในขณะที่ตัวเองคือคุณลุงวินเทจที่ยังพกเครื่องคิดเลขเครื่องใหญ่ไว้ติดกระเป๋า แต่ความเป็นคนที่ชอบเรียนรู้จึงทำให้เขาเป็นที่รักของบรรดารุ่นพี่อายุน้อยกว่าได้ไม่ยาก แม้ว่าในตอนแรกจูลส์ยืนกรานว่าไม่ต้องการพนักงานฝึกงานอาวุโสในการช่วยเหลือ แต่สุดท้ายเรื่องราวสุดน่าประทับใจก็เกิดขึ้น เมื่อเบนพยายามเข้าไปช่วยงานของจูลส์ และเข้าไปมีส่วนช่วยให้ทำทุกอย่างในชีวิตที่วุ่นวายของเธอราบรื่นขึ้นมา

The Intern

เรื่องราวเดิมที่มองต่างไปในวันที่เติบโต

        หลังจากการทักทาย วงสนทนาเริ่มขึ้นด้วยประเด็นของความประทับใจจากการได้ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่งมุมมองของทั้ง 4 คนค่อนข้างเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า The Intern เป็นภาพยนตร์ที่สามารถกลับมาดูได้อีกเรื่อยๆ 2 หนุ่มในวงสนทนาจึงพูดออกมาเป็นคำเดียวกันว่า ‘หนังอมตะ’ เพราะพล็อตเรื่องค่อนข้างชัดเจน และเชื่อมโยงกับช่วงเวลาในชีวิตของเราได้ทุกเมื่อ ดังนั้น ไม่ว่าจะกลับมาดูในช่วงวัยไหน ทุกคนย่อมจะได้เห็นมุมมองที่ต่างออกไปตามประสบการณ์ที่เติบโต

        ฌอห์ณ: ตอนเด็กเราอาจจะโฟกัสแค่รายระเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในหนัง เช่น เพลง บุคลิกของตัวละคร แต่พอเราเริ่มโตขึ้นเราก็จะเริ่มมองในเรื่องของบทพูดของตัวละคร มุมกล้อง และการเล่าเรื่อง เรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้มีอะไรเยอะมากกว่าที่เราเคยดูครั้งก่อน และเจ๋งมาก เพราะครั้งแรกเราที่ไม่มีประสบการณ์จะไม่รู้เลยว่าทำไมคนที่เขาเกษียณแล้วถึงอยากกลับไปฝึกงาน อีกทั้งความต่างของวัฒนธรรมที่เราไม่เคยได้สัมผัส และอีกมุมหนึ่งเราจะเห็นว่าเบนคือผู้ให้ที่ใจกว้างสำหรับทุกคนในออฟฟิศ ที่สะท้อนถึงสังคมปัจจุบันนี้คือการมีจิตเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนคนอื่นหรือร่วมงานของเบน เรารู้สึกว่านี้เป็นรายละเอียดที่ดีมาก ผมคิดว่าอีกสักห้าปีมาดูอีกครั้ง เราก็จะได้มุมมองที่แตกต่างอีกเรื่อยๆ แน่นอน

        บอล: ตัวหนังมีคุณค่าความเป็นอมตะที่สามารถสื่อสารให้เรารับรู้มุมมองใหม่ได้เรื่อยๆ ในแต่ละช่วงอายุที่เรากลับมาดูในสถานะที่ต่างกัน ไม่ว่าเราอาจจะเป็นเจ้านายแบบจูลส์ หรือเด็กฝึกงานแบบเบน เราก็จะได้รับความรู้สึกใหม่ในมุมมองเดียวกับเราในตอนนั้น ซึ่งหนังเรื่องเป็นตัวอย่างของบทหนังที่นำมาพลิกแพลงจากบทหนังเดิมให้น่าสนใจ จากเนื้อเรื่องแบบเดิมที่เจ้านายวัยรุ่นกับพนักงานสาวที่พอทำงานด้วยกันจะรู้สึกดีต่อกัน ในฐานะที่เราเป็นคนเขียนบทเรารู้สึกว่าหนังเรื่องนี้น่าดู เราอยากรู้ว่าคนแก่ที่เกษียณแล้วต้องมาเป็นน้องใหม่ในออฟฟิศจะเป็นอย่างไร และการที่เขาต้องเข้ามาเรียนรู้จากรุ่นพี่ในออฟฟิศที่อายุน้อยกว่านี่เองจึงทำให้เกิดซีนสนุกๆ ขึ้นหลายซีน 

        ไข่มุก: เราดูครั้งแรกในช่วงวัยมัธยม ตอนนั้นเราแค่รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้สนุกแต่ยังไม่ได้เห็นประเด็นมากมาย แค่ดูและอินไปตามบทแค่นั้น เรารู้สึกว่าน่ารักดีที่ได้เห็นคนวัยเกษียณกลับมาทำงาน อย่างตายายของเราเขาต่างจากเบนเลยคือ วัยเกษียณของเขาเป็นการเลี้ยงหลาน แต่ต่างประเทศเราจะเห็นได้ชัดว่าคนวัยนี้เขามีกิจกรรมส่วนตัวที่ตัวเองต้องการอย่างชักเจน เลยทำให้รู้สึกแตกต่างมากการที่ได้เห็นว่าผู้สูงอายุวัยเกษียณกลับมาทำงานในถานะเด็กฝึกงาน แต่พอเราได้กลับมาดูอีกทีตอนอายุ 24 รู้สึกว่าเราเห็นประเด็นต่างๆ จากหนังเยอะมาก ไม่ใช่แค่เรื่องความต่างระหว่างวัย แต่มีเรื่องความสัมพันธ์ เรื่องการกดขี่ทางเพศที่แทรกไว้ในทุกๆ มิติของหนัง และอีกเรื่องหนึ่งคือ ได้มุมมองคำว่า Intern ที่กว้างขึ้น เพราะส่วนใหญ่คำว่า ‘เด็กฝึกงาน’ จะถูกเรียกกับนักศึกษาเป็นส่วนใหญ่  แต่ในหนังเรื่องนี้เราจะเห็นมุมใหม่ว่า Intern ใช้ได้กับทุกคนเพราะเราสามารถกลายเป็นเด็กฝึกงานใหม่ ในวิชาสาขาต่างๆ ได้ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม 

The Intern

ตัวละครที่สะท้อนบทบาทชีวิตจริงของคนทำงาน

        ฌอห์ณ: ผมเป็นฟรีแลนซ์มา 13 -14 ปี ตอนนั้นเหมือนเราเป็นเจ้าของบริษัทตัวเอง แต่พอวันหนึ่งเราได้มาทำงานในระบบบริษัท คือการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับทีมงานของ a day BULETTIN เลยทำให้รู้ว่ามีอะไรเยอะมากมีบรรณาธิการ มีอิดิเตอร์ มีฝ่ายกราฟิก คือมีสิ่งให้เราได้เรียนรู้เยอะมาก ผมเลยรู้สึกว่าตัวเองเหมือนกับเบนที่ต้องมาเรียนรู้งานใหม่ และสิ่งไหนที่เราพอจะรู้ก็เอามาแชร์กับเพื่อนร่วมงานเพื่อปรับมุมมอง และกำหนดทิศทางในการทำงานให้ลงตัว ดังนั้น เราจึงได้เรียนรู้ตลอดเวลา แต่ช่วงก่อนหน้าที่เราหาจุดแทนค่าไม่ได้เพราะเราไม่มีตัวละครอ้างอิง แต่วันนี้เรามีตัวละครที่สามารถเชื่อมโยงกันได้เลยโฟกัสกับเบนเยอะมาก 

        บอล: ผมก็รู้สึกว่าตัวเองคล้ายเบนนะ เพราะคนที่ทำงานกับเราส่วนใหญ่เป็นอีกวัยหนึ่งเลย พูดง่ายๆ ตอนนี้เรารับไหว้มากกว่ายกมือไหว้ ขนาดที่ประชุมซูมบางทีผมยังต้องไปบ้านผู้ช่วยอยู่เลย (หัวเราะ) พอดูหนังเรื่องนี้จึงเทียบเคียงกับลุงเบนได้บ้าง อาจเพราะเรากลัวในสิ่งที่เราไม่ชำนาญเท่าเด็กรุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาอินเทอร์เน็ตหลุด และบางที่เราก็อยากเรียนรู้ว่าเด็กรุ่นนี้เขาเล่นเกมแบบนี้กันเหรอ เหมือนลุงเบนที่คอยเรียนรู้คนรุ่นใหม่

        ไข่มุก: ส่วนเรามองว่าตัวเองเป็นผู้ช่วยของจูนที่ชื่อเบกกี้ เพราะคาแรกเตอร์คล้ายกันตรงมีความฟูมฟาย (หัวเราะ) แต่สิ่งที่เหมือนกันระหว่างกองเรากับของจูลส์คือบรรยากาศที่เป็นกันเอง เพราะเรามีโอกาสได้สัมผัสกับออฟฟิศที่จะแบ่งสัดส่วนโต๊ะทำงานของทุกคนชัดเจน แต่ออฟฟิศเราสามารถพูดคุย เฮฮากันได้ โต๊ะทำงานของเรากับบก. ก็ไม่ได้แยกห้องกันเหมือนออฟฟิศจูลส์ เลยทำให้เราผ่อนคลาย บรรยากาศในเรื่องนี้จึงสะท้อนกับชีวิตการทำงานของพวกเรามาก 

        ดอกติ้ว: เราเคยทำงานราชการมาก่อน จะบอกว่าต่างกันเหมือนคนละโลกเลย อีกอย่างคือเราเกิด และเติบโตในครอบครัวราชการด้วย ตลอดที่ดูหนังเรื่องนี้จึงพูดคำว่า ‘ว้าว’ บ่อยมาก ครั้งแรกที่ดูแล้วกลับมาดูอีกครั้งหนึ่งก็ยังรู้สึกว่าว้าวอยู่ เพราะเราเคยอยู่ในสภาพแวดล้อมของลุงเบน แต่ในวันนี้เราก็ได้มาเห็นสภาพแวดล้อมที่เป็นจูลส์จริงๆ เลยรู้สึกว่าถ้าเราไม่เคยอยู่ในครอบครัวที่เป็นเหมือนลุงเบนที่แอนะล็อกมากๆ เราก็อาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งหรือเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของการเปลี่ยนเป็นยุคอีคอมเมิร์ซ หรือดิจิทัล

The Intern

เพราะต่างฝ่ายต่างเติมเต็มซึ่งกันและกัน

        ด้วยประสบการณ์ชีวิต ด้วยวิถีชีวิต และด้วยลักษณะนิสัยระหว่างเบนกับจูลส์นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง พราะในขณะที่จูลส์เติบโตมากับวิถีสมัยใหม่ และเทคโนโลยีทำให้ธุรกิจของเธอเติบโตอย่างรวดเร็ว เธอจึงต้องแบกความรับผิดชอบมากมายเต็มไปหมดด้วยตัวคนเดียว แต่ในขณะที่เบนคือชายวัย 70 ซึ่งสั่งสมประสบการณ์มาแล้วทั้งชีวิต แต่เพื่อหาเป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ในโลกสมัยใหม่ เขาจึงต้องเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตแบบคนสมัยใหม่อีกครั้ง เมื่อเขาและเธอมาเจอกันความต่างนั้นจึงกลายเป็นตัวช่วยที่มาเติมความลงตัวให้กับชีวิตของกันและกันมากขึ้น 

        บอล: สายงานโปรดักชัน ทำหนัง โฆษณา ทำซีรีส์ สำหรับผมการได้พบกับคนต่างวัยเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะผมชอบฟังไอเดียชอบฟังมุมมอง ชอบฟังสถานการณ์ที่เขาเจอมา ในแง่คอนเทนต์ วิธีคิด วิธีตัดสินใจ เดียวนี้เขาฟังเพลงอะไรวะ เขาฮิตอะไรกัน

        ฌอห์ณ: ผมเห็นด้วยกับสิ่งที่พี่บอลคิดนะ ผมรู้สึกว่ายิ่งตอนนี้เราทำงานกับคนรุ่นใหม่ เราต้องฟังเขาเยอะๆ เพราะเขาคือกลุ่มผู้บริโภคปัจจุบันเลย แต่ถ้าในเชิงชีวิตจริงเราต้องหัดฟังกันและกัน เพราะประสบการณ์ชีวิตในอดีตก็เป็นแบบการเรียนรู้ที่เขาก็ต้องเจอกับตัวเอง ทุกความสัมพันธ์ที่เราเลือกล้วนได้รับผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ผมรู้สึกว่าทั้งเบนและจูลส์ต่างซ่อมรูโหว่ของความรู้สึกให้แก่กันและกัน จุดนี้เองที่เป็นแรงดึงดูดให้คนติดตามดูความสัมพันธ์ของพวกเขาตลอดสองชั่วโมง ดังนั้น ฉากการจบฉากที่เบนกำลังรำไทเก๊ก แล้วจูลส์วิ่งมารำไทเก๊กด้วย เหมือนหนังพยายามบอกว่าเธอได้เรียนรู้การปลดปล่อยหรือการปล่อยวางแล้ว

        ดอกติ้ว: เราว่าหนังทำให้คนได้เห็นถึงการเข้าใจตัวเองของตัวละครด้วย อันดับแรกคือ เขาสร้างให้ตัวละครเข้าใจตัวเองก่อนว่าตัวเองต้องการอะไร ขาดอะไร แบบคาแรกเตอร์ของลุงเบนกับจูลส์มาเจอกัน เลยกลายเป็นความสมบูรณ์แบบที่เป็นคู่ตรงข้าม เราว่าคนดูหลายๆ คนได้ส่วนนี้ไปเยอะ เพราะทุกคนล้วนโหยหาคำตอบ ทุกคนล้วนมีคำถามจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ว่าจะมีสักกี่คนที่จะเข้ามาถามตัวเองก่อนว่า ฉันขาดอะไร ฉันต้องการอะไร และฉันควรเติมเต็มสิ่งนั้นด้วยใคร 

        ไข่มุก: ในประเด็นนี้เรารู้สึกว่าตัวเองเหมือนจูลส์ คือถ้าไม่สุดจริงๆ จะไม่ค่อยขอให้ใครช่วย เพราะเราเติบโตมากับการที่ไม่ค่อยมีใครรับฟังปัญหา หรือความต้องการของเราจริงๆ พอไม่มีใครรับฟังเราก็จะพยายามด้วยตัวเองมาตลอด แต่พอมาทำงานแล้วก็ได้เรียนรู้อีกขั้นหนึ่งของชีวิตว่า ในเมื่อแก้ปัญหาด้วยตัวเองไม่ได้จริงๆ ก็ต้องขอความเห็นจากพี่ เพราะเขาอาจจะมีมุมมองที่กว้างกว่าซึ่งเรายังมองไม่ถึงจุดนั้น ช่วงหลังเลยขอความช่วยเหลือจากพี่บ่อย

        ฌอห์ณ: อย่างแรกพี่ว่าต้องทำความเข้าใจกับความแตกต่างให้ได้ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจคอนเซปต์ให้ดี จะกลายเป็นความเกลียด เนื่องจากเราไม่ยอมรับความแตกต่าง แต่ถ้าเราเข้าใจคอนเซปต์ว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแตกต่าง เวลาเราจะร่วมงานกับคนที่ต่างวัยเราจะมองเห็นถึงเหตุและผลที่ทำให้เขาคิดแบบนั้น พูดแบบนั้น ทำแบบนั้น แล้วเราจึงมีวิธีที่เหมาะสมเพื่อเข้าหาเขา ปัจจุบันเราถึงมีการกำหนดเจนฯ เอ็กซ์ วาย หรือซี ก็เพื่อให้เราเข้าใจว่าทุกๆ 10 ปีมีการเปลี่ยนแปลงนะ พี่ว่าวัยไข่มุกเข้าใจคอนเซปต์นี้ดีมาก แต่ว่าเรื่องนี้อาจจะตีกลับมาแก้ที่รุ่นผู้ใหญ่อย่างเรากันเองมากกว่า เพราะสมัยก่อนคอนเซ็ปท์เรื่องความแตกต่างยังมีไม่ค่อยเยอะ

The Intern

Conclusion

        แม้ในภาพยนตร์จะนำเสนอตัวละครที่มีความต่างระหว่างวัยสูง แต่หากใครดูแล้วจะรู้ได้ทันทีว่าความคิด และมุมมองของเบนไม่ใช่คนสูงอายุที่ปฏิเสธวิถีใหม่ แต่เขาเป็นคนที่ยังใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตนเติบโตมาไปพร้อมกับการเรียนรู้วิถีใหม่นั่นอาจเพราะวิถีชีวิตส่วนตัว สิ่งแวดล้อม และสังคมที่เติบโตมาเอื้ออำนวยให้ผู้คนมีอิสระในชีวิต พวกเขาจึงได้เห็นอะไรมากมายกระทั่งแก่ตัวลง ความเปลี่ยนแปลงจึงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น  แต่ในประเทศไทยนั้นปัญหาความต่างทางความคิดระหว่างวัยมีสูงมาก ซึ่งประเด็นสำคัญคือ ต่างฝ่ายต่างไม่พร้อมที่จะเปิดใจรับฟังกัน หรือต่อให้มีฝ่ายหนึ่งเปิด แต่อีกฝ่ายหนึ่งปิดผลลัพธ์ก็คงไม่ต่างกันอยู่ดี และนี่คือหนึ่งในสาเหตุของปัญหาใหญ่ที่คนในสังคมกำลังเผชิญกันอยู่ แต่เชื่อว่าหลายคนสามารถเริ่มที่จะเรียนรู้ถึงความแตกต่างนี้ได้ เพราะเราต่างก็เป็น intern ในชีวิตจริงไม่ว่าจะวัยใดก็ตาม ไม่มีใครแก่เกินเรียน และการเรียนรู้สิ่งใหม่ นำไปสู่ความเข้าใจในสิ่งนั้นเสมอ