Queen’s Gambit

The Queen’s Gambit: ดูแลตัวเองได้ ชนะเองได้ก็ดี แต่คงดีกว่านี้ถ้าเราร่วมมือแล้วฉลองชัยชนะร่วมกัน

“ผู้เข้มแข็งที่สุดคือผู้ไม่กลัวการอยู่โดดเดี่ยว ผู้คนทั้งหลายจะคอยบอกว่าคุณต้องกังวลเรื่องอะไร พวกเขาจะบอกว่าคุณต้องทำอะไร ต้องรู้สึกอย่างไร คุณทุ่มเททั้งชีวิตตามหาบางสิ่งบางอย่างที่ผู้อื่นบอกให้คุณตามหา แต่วันหนึ่งคุณจะพบว่าชีวิตนั้นโดดเดี่ยว ดังนั้น คุณต้องหาวิธีดูแลตัวเองให้ได้”

        คำพูดไม่กี่คำที่ ‘เบธ’ – อลิซาเบธ ฮาร์มอน (นำแสดงโดย อันยา เทย์เลอร์-จอย) จดจำได้จากแม่ของเธอ แม่ที่เธอใช้ชีวิตร่วมด้วยเพียงเก้าปีก็เสียชีวิตในสิ่งที่ผู้คนบอกกับเธอว่าเป็นอุบัติเหตุ เบธกลายเป็นเด็กกำพร้า พร้อมภาพติดตาในฉากสุดท้ายกับแม่ที่รถบรรทุกกำลังพุ่งชน คำพูดสุดท้ายของแม่ที่วนซ้ำๆ ให้เธอหลับตาซะ รวมทั้งคำสอนไม่กี่คำที่แม่บอกกับเธอว่า “ต้องดูแลตัวเองให้ได้”

        และเบธก็ดูจะทำเช่นนั้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะเมื่อถูกนำมาเลี้ยงที่โรงเรียนเด็กกำพร้า ที่แม้จะมีครูดูแล มีเพื่อนนอนเรียงรายเป็นแถวแน่นเต็มห้องพัก แต่เธอก็ยังรู้สึกว่า เธอ-ต้อง-ดูแล-ตัวเอง-ให้ได้

        จนกระทั่งวันหนึ่งที่เบธถูกครูไหว้วานให้ไปทำความสะอาดแปรงลบกระดานในห้องใต้ดิน ที่นั่นเธอได้พบกับไชเบล ภารโรงที่ประจำอยู่ในห้องใต้ดินนั้นพร้อมกับกระดานหมากรุกที่เขานั่งเล่นทั้งหมากขวา หมากดำอยู่เงียบๆ คนเดียว เบธเดินเข้าไปหา ถามว่านั่นคืออะไร 

        “หมากรุก” ไชเบลตอบ

        และนั่นเป็นครั้งแรกทีเบธได้รู้จักสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล

 

Queen’s Gambit

 

        หลังจากนั้นมาก็ราวกับว่าห้วงคำนึงความคิดเบธจะไม่มีเพียงภาพย้อนหลังคอยฉายภาพสุดท้ายในรถกับแม่ซ้ำๆ อีกต่อไป หมากรุกได้กลายมาเป็นภาพใหม่ที่เธอครุ่นคิดถึงอยู่ทุกวัน เป็นสิ่งที่เธอเฝ้าคอยในแต่ละวันที่จะได้ลงไปห้องใต้ดินเพื่อเล่นหมากรุกกับไชเบล ครูหมากรุกคนแรก – เพื่อนคนแรกของเธอ

        แม้เบธจะห่างจากหมากรุกไปสักพัก หลังจากถูกรับเลี้ยงโดยครอบครัววีตลีย์ แม้เธอจะได้รับการดูแลที่ดี มีห้องส่วนตัวประดับประดาไปด้วยลูกไม้ เบธยังคงโดดเดี่ยวอยู่เสมอ โดดเดี่ยวไม่ต่างจากมิสซิสวีตลีย์ที่สามีไม่เคยไยดี มีแต่เปียโนหลังเก่าเท่านั้นที่ดูจะบำบัดความเศร้าให้เธอได้บ้าง

        ในช่วงนั้น เบธกลายเป็นเด็กปกติทั่วไป ถูกเพื่อนบูลลีว่าไม่เอาไหนจากเพียงชุดสีน้ำตาลทึมๆ ที่เธอสวมใส่ ทว่าเบธเองดูจะไม่แยแสใดๆ สิ่งเดียวที่ทำให้ใจเธอเต้นได้ดูจะมีเพียงเซตหมากรุกที่วางขายในห้างสรรพสินค้า และประกาศรับสมัครแข่งขันหมากรุกที่มิสซิสวีตลีย์บอกว่า ‘เด็กผู้หญิงไม่เล่นหมากรุกกันหรอก’ แต่เบธก็หาทางลงแข่งขันจนได้ การแข่งขันครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่าเธอมีพรสวรรค์หาตัวจับยาก การแข่งขันที่ทำให้เธอเริ่มได้รับเงินรางวัลเป็นครั้งแรก ตามมาด้วยชัยชนะครั้งต่อๆ มา จนมิสซิสวีตลีย์เริ่มเห็นว่าการที่คนคนหนึ่งเชื่อมั่นในตัวเธอเอง แม้คนรอบข้างจะไม่มีใครเชื่อเช่นนั้นก็ตามมันพาคนคนหนึ่งไปได้ไกลแค่ไหน จนทำให้มิสซิสวีตลีย์เริ่มกลับมาลองดูแลตัวเองบ้างอย่างที่เธอได้เห็นจากเบธ กล้าที่จะเล่นเปียโนในที่สาธารณะ เริ่มกลับมาพึงพอใจกับตัวเองได้อีกครั้ง แม้สามีของเธอจะยังคงไม่ไยดีต่อเธอก็ตาม 

 

Queen’s Gambit

 

        เบธ เด็กกำพร้าผู้เติบโตมากับการดูแลตนเองที่มีหมากรุกเป็นโลกอีกใบ และมิสซิสวีตลีย์ หญิงกลางคนในยุคที่ยังเชื่อว่าต้องพึ่งผู้ชายถึงจะรอดได้ ซึ่งมีเปียโนเป็นเครื่องหลบหลีกออกจากโลก กลายเป็นความสัมพันธ์ที่ต่างส่งเสริมกันและกัน ทั้งสองเริ่มสนิทสนมจนถึงขั้นเบธเรียกมิสซิสวีตลีย์ว่าแม่ – แต่ถึงกระนั้น ในวันที่มิสซิสวีตลีย์เสียชีวิตกะทันหัน เบธกลับไม่มีน้ำตาสักหยด 

        อันที่จริงแล้ว เบธดูจะไม่เคยเสียน้ำตาเลยสักครั้ง ไม่แม้กระทั่งวันที่เกมไม่เป็นดั่งใจ ไม่แม้กระทั่งคน (เกือบ) รักของเธอเดินจากเธอไป

        ใช่ ชายทั้งหลายที่เกือบกลายเป็นคนรักของเธอ ทั้งแฮร์รี เบนนี หรือทาวน์ส เพื่อนชายที่เบธได้พบจากการแข่งขันหมากรุกในวาระต่างๆ เพื่อนชายที่ตะลึงกับความสามารถของเธอ ตะลึงในความพิเศษของเธอเมื่ออยู่ในเกม … แต่ไม่ใช่ความธรรมดา ความเย็นชาของเธอในชีวิตจริง และเบธเองก็ไม่เคยมีสิ่งใดที่เธอให้ความสำคัญมากไปกว่าหมากรุกที่อยู่ตรงหน้า แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าเบธเองก็รู้สึกชาๆ เมื่อเห็นว่าสุดท้ายแล้วทุกคนที่เข้ามา ก็จะจากเธอไป 

 

The Queen’s Gambit

 

        อาจเป็นได้ว่าเพราะเธอจดจำภาพหน้าแม่เปื้อนน้ำตาจากพ่อ เห็นมิสซิสวีตลีย์นั่งหม่นหมองอยู่หลังเปียโน และยิ่งหม่นไปใหญ่ทุกครั้งที่มีใครถามถึงมิสเตอร์วีตลีย์ อาจเป็นได้ว่าภาพจำเช่นนั้นทำให้เธอปิดกั้นตัวเองจากการมีความสัมพันธ์กับผู้ใด หรือหากพวกเขาจะเดินจากไป เธอก็จะไม่รั้งไว้ ปล่อยให้เขาไปแต่โดยดี

        แต่อันที่จริงแล้วก็อาจเป็นได้ว่าสิ่งที่เธอตามหาไม่ใช่รักโรแมนติกพรรค์นั้น อันที่จริงแล้วเบธอาจเพียงโหยหารักฉันมิตรภาพ มิตรภาพแบบที่โจลีน เพื่อนในโรงเรียนกำพร้าที่บอกกับเธอว่าเมื่อใดที่เธอต้องการใคร เพื่อนจะอยู่ตรงนั้น เพราะนั่นคือสิ่งที่ ‘ครอบครัว’ ทำให้กัน มิตรภาพแบบครอบครัวที่ไม่ได้มาจากสายเลือด แต่เป็นสิ่งที่เพื่อนเลือกแล้วว่าจะดูแลกัน หวังดีต่อกันอย่างไร้เงื่อนไข หรืออย่างที่ไชเบลได้ทำให้เธอได้รู้สึกถึงความหวังดีที่เขามีให้ ความเชื่อมั่นของเขาที่ทำให้เธอรักตัวเอง ความปรารถนาดีอย่างไม่หวังผลตอบแทนที่ไชเบลมีให้เธอ ความรักบริสุทธิ์เช่นนั้นที่ทำให้เธอกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่ไหวเมื่อได้เห็นว่าภาพข่าวที่ไชเบลได้คอยติดตามชัยชนะของเธอตลอดมา ในวันที่เธอได้กลับไปเยี่ยมโรงเรียนอีกครั้ง 

        มิตรภาพเช่นนั้นที่ไม่ได้สำคัญแค่ในความสัมพันธ์ หากยังส่งผลมหันต์ต่อการเล่นเกมอย่างที่เธอไม่เคยคิดมาก่อน จนกระทั่งได้ยินเบนนีบอกเธอว่าที่ผู้เล่นรัสเซียเก่งฉกาจขนาดนั้นเพราะ “พวกเขาเล่นกันเป็นทีม” ในขณะที่ “เราชาวอเมริกันเล่นคนเดียวเพราะเราช่างเป็นปัจเจกเสียเหลือเกิน”

        เบธฟังแล้วเงียบไป ใครจะรู้ว่าที่จริงแล้วเธออาจไม่ได้คิดถึงการ ‘เล่นด้วยกัน’ ในเชิงกลยุทธ์เท่าไหร่ ไม่เลย เธอไม่ได้มองหาวิธีจะเล่นให้ดีขึ้นอย่างไร เธออาจเพียงหาความหมายว่าเธอทุ่มเทชีวิตทั้งหมดไปกับสิ่งนี้เพื่ออะไร และการมีใครสักคนที่พร้อม ‘เล่นด้วยกัน’ กับเธอ ร่วมยินดีไปกับชัยชนะของเธอดังเช่นที่เธอเห็นชาวรัสเซียช่วยกันให้คำปรึกษาในเกมของกันเสมอ ตรงกันข้ามกับเธอที่เล่นคนเดียว ศึกษาเกมคนเดียว และเมื่อชนะ ก็ชนะคนเดียว

        จนกระทั่งวันหนึ่งที่ทาวน์ส เพื่อนชายที่เคยเป็นคู่แข่งในการแข่งขันวัยเด็กที่กลายมาเป็นนักข่าว ได้มาเจอเธออีกครั้งเพื่อทำข่าวการแข่งขันนัดสำคัญของเธอที่มอสโก แม้เบธและทาวน์สจะเฉียดกันไปเฉียดกันมา แค่มองตาก็รู้ว่าพวกเขาคิดอะไรต่อกัน แต่ก็ไม่เคยมีอะไรชัดเจนในความสัมพันธ์มากไปกว่านั้น แต่สิ่งที่ทาวน์สได้มอบให้กับเบธอาจเป็นสิ่งที่เธอเฝ้ารอมาตลอด นั่นคือมิตรภาพ มิตรภาพที่ทาวน์สช่วยรวบรวมเพื่อนๆ ที่เคยเป็นคู่แข่ง คน (เกือบ) รักมาก่อนทั้งแฮร์รีและเบนนีก็มาช่วยเป็นคู่หูช่วยเธอเอาชนะคู่แข่งคนสำคัญในรัสเซียให้ได้ และก็เป็นไปตามคาดหมายเมื่อเธอได้ชัยชนะในครั้งนั้น ชัยชนะที่ไม่ใช่ครั้งแรกของเธอ แต่เป็นครั้งแรกที่เธอชนะแล้วยิ้มออกมาจากสายตา ไม่ใช่ยิ้มมุมปากแบบที่เราเห็นจากชัยชนะครั้งที่ผ่านมา ชัยชนะที่ต่างออกไปเพราะครั้งนี้ไม่ใช่ชัยชนะของเธอคนเดียว แต่เป็นของพวกเขา ของใครอีกหลายคนทั้งทาวน์ส แฮร์รี เบนนี โจลีนที่สละเงินเก็บออกค่าเครื่องบินให้เธอมามอสโก รวมทั้งมิสเตอร์ไชเบล ครูหมากรุกคนแรก เพื่อนคนแรก มนุษย์คนแรกที่เห็นในความพิเศษของเธอ

 

Queen’s Gambit

 

        ในระหว่างการแข่งขันด่านสุดท้ายกับคู่แข่งตัวฉกาจชาวรัสเซียที่เสนอให้เกมนี้ ‘เสมอ’ กัน ผู้บรรยายเกมพากย์เสียงว่าเธอจะตัดสินใจอย่างไร คาดเดาว่าเธอคงไม่ยอมรับข้อเสนอนี้เพราะเบธนั้นเป็นที่รู้กันว่า ‘ชอบเอาชนะ’ (she loves to win) 

        ใช่ สุดท้ายเบธไม่รับข้อเสนอนี้

        แต่ไม่ใช่หรอก เธอไม่ได้ชอบชนะ 

        อันที่จริง เธอตั้งใจชนะครั้งนี้

        เพื่อที่จะชนะไปด้วยกัน

        กับเพื่อนของเธอ