The Why Café

‘The Why Café คาเฟ่สำหรับคนหลงทาง’ ว่าด้วยเรื่องราว และบทสนทนาที่นำไปสู่เส้นทางที่คุณปรารถนา

ย้อนกลับไปในปี 2020 เป็นช่วงเวลาที่เรายังหางานทำไม่ได้ จึงลองหากิจกรรมอย่างอื่นทำไปเรื่อยๆ กะว่าอาจได้เจอในสิ่งที่กลายเป็นอีกหนทางของชีวิต ขณะเดียวกันก็ได้ออกไปพบปะเพื่อนๆ ที่เรียนจบมาด้วยกันบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งพวกเขา และเธอต่างกำลังโลดแล่นอยู่กับการเริ่มต้นในเส้นทางอาชีพที่ตัวเองเลือก และมีความสุขกับงาน (เราคิดเช่นนั้น) 

        แต่เปล่าเลย เราพบว่าเพื่อนหลายคนกลับตกอยู่ในภาวะกดดันตัวเองมากเกินไป บางคนจริงจังกับการทำงานหนัก บ้างก็ปวดประสาทกับคนที่ทำงาน จนละเลยที่จะหาเวลาพัก แล้วเริ่มตั้งคำถามกับตัวเอง

        น่าแปลกดี ในบางครั้งต่อให้เราคิดว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือสิ่งที่เราหวังมาตลอด แต่พอเข้าวัยทำงาน บางทีคนเราหลงลืมไปว่า แท้จริงแล้วอะไรคือสิ่งที่ตัวเองต้องการ 

        เช่นเดียวกับ ‘จอห์น’ ชายหนุ่มวัยทำงานผู้ที่เข้าใจว่าตัวเองมีพร้อมทุกอย่าง แต่แล้ววันหนึ่งเขาก็ตั้งใจลาพักร้อนและออกเดินทาง พาตัวเองหลบจากความวุ่นวาย และความขัดข้องใจต่างๆ ตั้งใจว่าจะให้ตัวเองได้ ‘ชาร์จแบต’ อย่างเงียบๆ ตามแผนที่วางเอาไว้ 

        แต่ด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างทางทำให้เขาต้องเปลี่ยนจากถนนเส้นเดิม มุ่งหน้าสู่ถนนเส้นใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และแล้วในขณะที่กำลังหลงทางอยู่บนถนนสายเปลี่ยวนั้น ด้วยความหงุดหงิดจากการตัดสินใจที่ผิดพลาด ร่วมกับความโมโหหิว และน้ำมันที่ใกล้หมด โชคชะตาก็นำพาให้เขาได้พบกับ The Why are you here café ร้านอาหารเล็กๆ ริมทางที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดียวบนถนนไกลปืนเที่ยงเส้นนี้ 

        แม้จะดูน่าสงสัย แต่นี่เป็นหนทางเดียวที่ทำให้จอห์นได้พักเพื่อมีแรงไปต่อ เขาจึงตัดสินใจเข้าไปใช้บริการร้านอาหารแห่งนี้ โดยไม่ได้คาดหวังว่าการแวะระหว่างทางในครั้งนี้จะทำให้เขาได้รู้จักกับกัลณมิตรที่ดีอย่าง ไมค์ เคซีย์ และแอนน์ ผ่านบทสนทนาที่เกี่ยวกับ 3 คำถามชวนขบคิดหลังใบเมนู หลังจากนั้นชีวิตของจอห์นก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปตลอดกาล

เหตุใดคุณถึงมาที่นี่ | เหตุใดฉันถึงมาที่นี่

        หากคิดแบบผิวเผิน คงจะตอบได้ไม่ยาก แต่คำถามนี้ต้องการให้เราคิดอย่างลึกซึ้งว่า ‘ถ้าชีวิตคุณสบายดีอยู่แล้ว เหตุใดจึงหนีออกมาล่ะ’ 

        โดยบทสนทนาระหว่างจอห์น, ไมค์ เคซีย์ และแอนน์ จะพาคุณให้ทบทวนถึงเรื่องราวที่ผ่านมา ปัจจุบัน และอนาคต ถึง ‘เป้าหมายของการชีวิต’ หรือเรียกอย่างย่อว่า ‘ปมช.’

        ประเด็นหลักคือ สุดท้ายแล้วคุณให้ความสำคัญแก่ ‘คุณค่า’ ในเรื่องใดกับชีวิต เช่น สุขภาพ มีชีวิตที่สบาย ได้ช่วยเหลือผู้คน หรือการมีคนที่รัก เมื่อคุณรู้คำตอบ นั่นหมายความว่าคุณได้ระบุถึงเป้าหมายของการมีชีวิตแล้ว 

        เมื่อถึงตรงนี้ทำให้เรานึกถึงวิชาตระหนักรู้ในตนเอง (Self-Awareness) ที่เคยเรียนสมัยปี 4 อาจารย์ได้สอนถึงเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยให้ลำดับว่าเราให้ความสำคัญกับคุณค่าในด้านใดบ้าง หนึ่ง สอง สาม 

        จากนั้นท่านจึงอธิบายว่า ต่อให้คนเราให้ความสำคัญกับคุณค่าที่เหมือนกัน แต่ไม่ได้หมายความว่านิยามของคุณค่านั้นจะเหมือนกัน เช่น อยากรวย มีชีวิตที่สุขสบาย สำหรับเราอาจจะเป็นการทำงานที่ได้เงินเดือนสูง แต่สำหรับใครบางคนคือการหาแฟนที่มีฐานะร่ำรวยก็ได้ ไม่ใช่เรื่องผิด 

        แต่หลายครั้งคนเราก็ต่างดำเนินชีวิตกันไป โดยทำตามความหวังของคนอื่น หรือไม่ก็ถูกชักจูงด้วยคำโฆษณา หรือหาความสุขในระยะสั้นชดเชยความเหนื่อยล้าจากการทำงานไปวันๆ จึงอาจละเลยเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ของตัวเองไปเสียสนิท 

        “เมื่อเราพยายามค้นหาสิ่งที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายของชีวิต ข้อจำกัดในการเข้าถึงเป้าหมายของชีวิตของเราวันนี้จะน้อยลง ในขณะที่วงจำกัดที่เราขีดไว้ให้ตัวเองจะขยายกว้างออกไปอย่างมาก”

คุณกลัวตายไหม

        หลังจากจอห์นเข้าใจความประสงค์ของคำถามแรกแล้ว การพูดคุยของคำถามที่สองจึงเริ่มขึ้น ‘คุณกลัวตายไหม’ ถ้าให้ตอบทันที ใครบ้างที่ไม่กลัวตาย ส่วนใหญ่แล้วใครต่างก็รักตัวกลัวตายกันทั้งนั้น เนื่องจากความตายไม่ได้จบแค่เพียงความตาย แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงมิติอื่นๆ ในชีวิต โดยเฉพาะมิติของจิตใจ จิตวิญญาณ และเป้าหมายของการมีชีวิต เนื่องจากบางคนยังไม่ได้ทันได้ทำในสิ่งที่ตนเองต้องการก็ตายเสียแล้ว 

        สิ่งนี้ได้สะท้อนให้เห็นในหนังอยู่บ่อยๆ บางคนตายแล้วแต่วิญญาณไม่ยอมไปไหน เพราะยังไม่บรรลุเป้าหมายของการมีชีวิต กลับกันสำหรับคนที่กำลังทำในสิ่งที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายของชีวิตในทุกๆ วัน ต่อให้ความตายมาเยือนตรงหน้า เขาและเธอก็สามารถจากไปได้อย่างไม่เสียดายอะไรอีกแล้ว  

        “เราจะไม่กลัวการไม่มีโอกาสทำบางอย่างถ้า ได้ทำไปแล้ว หรือทำมันอยู่ทุกวัน”

คุณพอใจกับชีวิตแล้วหรือยัง 

        ความพึงพอใจของมนุษย์เราแต่ละคนไม่เคยเท่ากัน แต่เราคงไม่อาจตอบคำถามนี้ได้จนกว่าจะบรรลุเป้าหมายของการมีชีวิต หรือกำลังลงมือทำอยู่ ตัดภาพมาที่จอห์น หากเขาพึงพอใจกับชีวิตแล้วจริงๆ คงไม่ต้องหลีกหนีเพื่อหลบมาชาร์จแบตเช่นนี้ ดังนั้น คงต้องย้อนกลับไปที่คำถามแรก เมื่อได้คำตอบแล้วว่า ‘เหตุใดคุณจึงมาที่นี่’ และเริ่มต้นหาวิธีการเดินไปในหนทางที่ทำให้ไปถึงเป้าหมายนั้นได้ เชื่อว่าสักวันคุณจะต้องรู้คำตอบนี้ด้วยตัวเองอย่างแน่นอน 

        แต่คุณไม่จำเป็นจะต้องเคร่งเครียดกับการหาคำตอบให้ครบทั้ง 3 ข้อ เพียงแต่อย่าลืมหาเวลาคุยกับตัวเองบ้าง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกวันนี้ไม่ได้เสียเวลา และพลังงานไปกับสิ่งที่ไม่ได้ทำให้เดินไปสู่เป้าหมายของของการมีชีวิต

The Conclusion

        The Why Café ทำให้เราย้อนกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่า “ฉันพบเป้าหมายของการมีชีวิตจริงๆ แล้วหรือยัง” และพบว่าคงต้องหาคำตอบกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ในฐานะนักเขียน การได้แบ่งปันหนังสือเล่มนี้ให้ผู้คนได้อ่าน และอาจช่วยทำให้เขาได้ลองกลับมาขบคิดกับตัวเองถึงเรื่อง ‘เป้าหมายของการมีชีวิต’ ก็นับว่าเป็นหนึ่งในความพอใจของชีวิต ณ ตอนนี้แล้ว