ตือโต๋วต้ม

ตือโต๋วต้ม ยาอายุวัฒนะ กินแล้วร่างกายคึกคัก หัวใจกระชุ่มกระชวย

ลิ้นชักไม้ และรูปใบเก่า 

         ตั้งแต่กงจากไป ฉันก็ไม่เคยฝันถึงกงเลย จนกระทั่งช่วงสิ้นปีที่แล้ว ก่อนจะถึงวันครบรอบหนึ่งขวบเต็มของลูกชายของฉัน ฉันก็ฝันเห็นกงในชุดตัวเก่ง เสื้อผ้าฝ้ายสีขาว กางเกงแพรสีน้ำเงิน สวมสร้อยพระที่มีมากกว่าหนึ่งองค์ ใส่แว่นสายตาทรงกลมที่เอียงกระเท่เร่ สองแก้มทาด้วยแป้งหอมเด็กยี่ห้อฮอลลีวู๊ด กลิ่นอ่อนๆ ที่ลอยมาเตะจมูก ในอ้อมกอดของกงคือเหลนชาย ลูกชายของฉันในวัยแรกเกิด กงค่อยๆ ก้าวลงบันไดมาจาก ‘เหล่าเต้ง’ (หมายถึงชั้นบน ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) ก่อนมาหยุดที่บันไดขั้นที่สี่

         กง…  มาหาอั๊ว (ฉัน) แล้วเหรอ – ในฝันนั้น ฉันตะโกนอย่างสุดเสียง ก่อนจะบอกต่อว่า “รู้ไหม คนที่นี่คิดถึงมาก” กงส่งยิ้มเหมือนทุกครั้ง แล้วบอกว่า “อั๊วรู้ อั๊วก็คิดถึงพวกลื้อ (พวกเธอ) มากเหมือนกัน” สิ้นเสียงนั้น กงก็หายวับไปกับตา เหลือไว้เพียงรูปถ่ายประดับหน้าโลงศพซึ่งตั้งเคียงข้างกับรูปอาม่า อยู่ใกล้กับบริเวณสิ้นสุดทางลงบันไดขั้นสุดท้าย แล้วฉันก็ตื่นขึ้น และนำความฝันนี้ไปเล่าให้คนในบ้านฟัง ทุกคนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ลูกชายของฉันก็คงเป็นกงคนเดิมที่มาเกิดในร่างใหม่ และวันนั้นงานวันเกิดเล็กๆ ของสมาชิกใหม่ก็เต็มไปด้วยความสนุกสนาน

           เวลาผ่านไป 4 เดือนกว่า ไม่รู้อะไรดลใจให้ฉันเปิดลิ้นชักไม้อันเก่า ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นโต๊ะประจำของกง และที่ตรงนั้น ฉันเจอกับกงอีกครั้งผ่านรูปถ่าย กงกำลังอุ้มฉันในวัยขวบกว่า ข้างๆ กันคือซองพลาสติกใสใส่ ‘ฮู้’ (ยันต์ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) สีเหลืองพร้อมตะกรุดอันเก่า และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็พาความทรงจำวัยเด็กกลับมาอีกครั้ง

ฮู้เผา ตือโต๋วต้ม และชุกฮวยฮึ้ง

           โดยเฉพาะฮู้ เครื่องรางประจำกายของกง ซึ่งครั้งหนึ่งกงเคยให้ไว้หลังจากที่ฉันประสบอุบัติเหตุตอนเด็กๆ โดยกำชับว่า ให้พกติดตัวเสมอ เพราะตามความเชื่อของชาวจีน ฮู้คือตัวแทนของเทพเจ้าที่จะช่วยคุ้มครอง และขับไล่สิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้ออกไปจากชีวิต อีกครั้งหนึ่งได้ฮู้แผ่นใหม่ตอนได้ 15 ปี

           ฉันจำได้ว่า ในวันนั้นกงจะซื้อชุดใหม่สีแดงสดให้ใส่ และจะต้องกินต้มเครื่องในหมู จากนั้นกงจะเผาฮู้ใส่ในน้ำแล้วให้ดื่มสามอึก ตามความเชื่อที่ว่า กินแล้วจะปลอดภัย แต่มีเงื่อนไขว่า ในวันนั้นห้ามออกนอกบ้าน

           เมื่อโตขึ้น ป๊าจึงเล่าถึงพิธีนี้ให้ฟังทีหลังว่า ชาวจีนเรียกว่า ‘ชุกฮวยฮึ้ง’ (แปลว่า การออกจากสวนดอกไม้) ซึ่งเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านของวัย จากเด็กสู่วัยรุ่นอย่างเต็มตัว เพื่อเตรียมพร้อมต่อการแสดงความรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเอง เตรียมใจต่อการเปลี่ยนแปลงร่างกายและความคิด เพื่อก้าวต่อไปให้เป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

           ชุกฮวยฮึ้งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันตามหมู่บ้านเกิด อย่างกงมาจากหมู่บ้านโผวเล้ง ที่นั่นจะให้กินกระเพาะหมู ไส้หมู ตามความหมายที่เรียกว่า ‘อั่วตึ่งโต้ว’ หมายถึงการได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ดั้งเดิมจะต้องเชิญญาติๆ มากินข้าวด้วยกัน พร้อมอวยพรและแจกอั่งเปาคล้ายกับวันตรุษจีน แต่สำหรับที่บ้าน ย่นย่อเหลือแค่กินกระเพาะหมู และดื่มน้ำฮู้ที่เผาแล้ว พร้อมกับพกฮู้ที่เหลือจากการเผาติดตัวไว้ตลอด ปัจจุบันฮู้แผ่นดังกล่าวไม่ได้อยู่กับฉันแล้ว เพราะหายไปพร้อมกระเป๋าสตางค์เมื่อหลายสิบปีที่แล้ว แต่ฉันก็รู้สึกได้ว่า ชีวิตที่ผ่านมา เต็มไปด้วยคำว่า ‘โชคดี’ มาตลอด กระทั่งทุกวันนี้

ตือโต๋วสูตรเด็ดของอาม่า

        กระเพาะหมูในพิธีชุกฮวยฮึ้ง ทำให้ฉันนึกถึง ‘ต้มตือโต๋ว’ รสมืออาม่า แม้ว่าจะผ่านไปนานกว่า 24 ปี ตั้งแต่การได้กินตือโต๋วชามสุดท้ายนั้น ฉันก็ไม่กินตือโต๋วต้มที่ไหนอีกเลย จนวันนี้แม่รื้อฟื้นสูตรเด็ดของอาม่าขึ้นมาอีกครั้ง รสชาติแห่งความหลังจึงอบอวลไปทั่วครัว

 

ต้มตือโต๋ว

 

        แม่เล่าว่า การทำตือโต๋วให้อร่อย อยู่ที่ขั้นตอนการล้างทำความสะอาด ตอนแรกจะต้องเลือกตือโต๋วที่สดใหม่ นำมาล้างด้านนอกด้วยน้ำเกลือ กรีดกระเพาะหมู แล้วพลิกด้านในออก ใช้เกลือสมุทรเม็ดใหญ่ถูจนเมือกใสๆ ที่เคลือบด้านในกระเพาะหมูออกจนหมด แล้วใช้มีดขูดไขมันตามขอบกระเพาะหมูออกให้เกลี้ยง จากนั้นก็ตั้งกระทะให้ร้อน กางกระเพาะหมูออกแล้วจี่ให้สะดุ้งไฟพอให้มีกลิ่นกระทะนิดๆ แล้วนำไปต้มในหม้อน้ำเดือด ทุบกระเทียมจีนสัก 10 กลีบ และพริกไทยขาวเม็ดอีกครึ่งกำมือ เพื่อดับคาว

 

ต้มตือโต๋ว

 

        ต้มตือโต๋วสูตรของอาม่าจะต้องใส่ ‘เอียวเล้ง’ (กระดูกส่วนสันหลังของหมู) เพื่อให้ได้ซุปกระดูกหมูที่มีรสหวาน เมื่อเคี่ยวไปนานๆ ก็จะได้เนื้อหมูติดกระดูกที่ทั้งนุ่ม ทั้งเปื่อย เพียงแค่ใช้ช้อนสะกิดก็หลุดมาเป็นของแถม ผสมกับ ‘คาตั๊ง’ (กระดูกหน้าแข้งของหมู) เพื่อให้ได้น้ำซุปที่มีกลิ่นหอม ตุ๋นต่อจนตือโต๋วได้ที่ กินตอนที่ไอร้อนยังลอยวนอยู่เหนือผิวน้ำซุป

 

ต้มตือโต๋ว

 

        ความอร่อยยังไม่หยุดอยู่แค่นี้ เมื่อต้มตือโต๋วเหลือก้นหม้อ ตักใส่ชามนำไปแช่เย็น วันรุ่งขึ้นต้มตือโต๋วจะกลายเป็นวุ้นเด้งดึ๋ง สมัยก่อนอากงจะเรียกเมนูนี้ว่า ‘หมูหนาว’ ตักกินกับข้าวต้มก็ได้ หรือจะโปะลงบนข้าวสวยร้อนๆ รอโดยนับหนึ่งถึงสิบอยู่ในใจ เพื่อให้วุ้นละลายใส่ข้าวแทน 

        อร่อยจนยังไม่อยากตาย – ประโยคนี้ผุดขึ้นในหัวของฉัน คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยได้ยินจากไหน ก็คงเป็นใครไม่ได้ นอกจากกงคนเดิม คนที่มีรอยยิ้มเสมอไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยิ้มแม้กระทั่งในนาทีสุดท้ายของชีวิต

 

ตือโต๋วต้ม

ข้าวหน้าตือโต๋วของฉัน

        เวลาประมาณห้าโมงเย็น ต้มตือโต๋วของแม่ในหม้ออัดแรงดันก็เสร็จเรียบร้อย เวลานี้สมาชิกในบ้านตั้งโต๊ะรอ แม่ตักต้มตือโต๋วชามใหญ่ไว้กลางวง ป๊าตักซดเป็นคนแรก หลังจากนั้นวิธีกินต้มตือโต๋วของแต่ละคนก็ค่อยๆ ละเลงลวดลาย

        เริ่มต้นที่น้องชายของฉันกินกับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปต้มสุก น้องสาวคนเล็กกินแบบ ‘ตือโต๋วม้วย’ (ข้าวต้มกระเพาะหมู) โรยหน้าด้วยขึ้นฉ่าย ไอร้อนของน้ำซุปทำให้ใบหน้าทุกคนแดงระเรื่อ เหงื่อไหลอาบสองแก้ม แต่รอยยิ้มและบทสนทนาเรื่องเก่าผสมเรื่องใหม่ ทำให้ใจของพวกเราเย็นสดชื่น ไม่ต่างจากการได้นอนตากแอร์ในวันที่อากาศร้อนระอุ

        ส่วนฉันทำเป็น ‘ข้าวหน้าตือโต๋ว’ ด้วยการตักน้ำซุปราดลงบนข้าวสวยร้อนๆ พอชุ่ม โปะด้วยตือโต๋วชิ้นหนา โรยหน้าด้วยน้ำจิ้มซีฟู้ดแช่เย็นที่แม่โขลกเก็บใส่กระปุกไว้ เติมหอมแดงเจียวกรอบๆ และต้นหอมซอย เวลากินฉันจะจ้วงข้าวที่อยู่ด้านล่าง แล้วโกยตือโต๋วขึ้นมาให้อยู่บนข้าว เป่าให้คลายร้อนเล็กน้อย ตักใส่เข้าปาก เคี้ยวช้าๆ เพื่อลิ้มรสตือโต๋วทึงของแม่ ที่มีความนุ่ม ใช้ฟันกัดเบาๆ ก็ขาดออกจากกัน แต่ยังคงความเหนียวสู้ฟันเอาไว้หน่อยๆ  

        นี่แหละคืออรรถรสของการกินตือโต๋วต้ม – กงเคยบอกระหว่างที่นั่งกินมื้อเย็นด้วยกัน ทั้งๆ ที่ตอนนั้นกงต้องใส่ฟันปลอมทั้งปาก จนฉันยังเผลอเหน็บไปว่า “ฟันก็ไม่มี ต้องใช้ฟันปลอมแบบนี้จะเคี้ยวให้อรรถรสได้ยังไง” ว่าแล้วกงก็คายฟันปลอมออกมา ยื่นให้ฉันดู แล้วบอกว่าอรรถรสอยู่ที่ใจ ไม่ใช่อยู่ที่ฟันปลอม และแล้วเราทั้งคู่ก็ระเบิดเสียงหัวเราะออกมา มองดูกงที่หัวเราะทั้งๆ ที่ริมฝีปากบนและล่างห่องุ้มเข้าหากัน ก็ทำให้ฉันหัวเราะหนักกว่าเดิม

        เสียงหัวเราะของเราดังขึ้นไปจนถึงเหล่าเต้ง ทำให้น้องชายและน้องสาวคนเล็กของฉันวิ่งลงบันไดมาร่วมวง ทั้งกินข้าว และกินเสียงหัวเราะ 

        อรรถรสจริงอย่างที่กงว่า – ฉันคิดอย่างนั้นเสมอ เพราะระหว่างที่ฉันกินตือโต๋วในวันที่กงไม่อยู่ ฉันและน้องๆ ก็ยังอดหัวเราะใบหน้าของกงตอนนั้นไม่ได้เลย 

        พวกเราสามพี่น้องนั่งคุยกันว่า หากการกินข้าวมื้อเย็นด้วยกันคือตัวแทนของการร่วมทุกข์ร่วมสุขของคนในครอบครัว ต้มตือโต๋วของอาม่า สู่รสมือของแม่ และเต็มไปด้วยเรื่องราวของอากงนั้นคงเป็นตัวแทนของ ‘ยาอายุวัฒนะทางใจ’ ชั้นเลิศ กินกี่ครั้งก็ทำให้ร่างกายคึกคัก แข็งแกร่ง หัวใจกระชุ่มกระชวย ชุ่มฉ่ำ อายุจะมั่น ขวัญจะยืน 

        “อาหารคือยาชุบพลัง หากวันไหนต้องการพลัง แม่จะทำกับข้าวรอ แต่หากวันไหนหมดพลัง แม่จะต้มตือโต๋วให้กินแทน” แม่ยิ้มกว้างอย่างชื่นใจ เมื่อเห็นลูกๆ ซดน้ำซุปเสียงดังสวบสาบ เคี้ยวตือโต๋วเสียงแจ่บๆ ตามด้วยเสียง ‘อ่า’ (ลากเสียงยาว) เมื่อกลืนทุกอย่างพ้นคอ 

        หากเป็นอย่างนั้นจริง ฉันคงต้องผิดศีลข้อที่ 4 เพราะต้องโกหกอยู่บ่อยๆ ว่าพลังหมด ออดอ้อนแม่ต้มตือโต๋วให้กินอยู่เรื่อยๆ อีกนัยยะหนึ่งก็คือ อยากให้แม่มีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง อยู่ต้มตือโต๋วและทำกับข้าวให้ฉันและน้องๆ กินไปอีกนานๆ อย่ารีบด่วนจากพวกเราไป เหมือนครั้งของอาม่า อยู่ให้นานมากพอที่พวกเราจะมีเวลาดูแล และคอยบอกรักเหมือนช่วงเวลาที่กงยังมีชีวิต รวมทั้งช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่กงจะจากพวกเราไปตลอดกาล

        “แม่ต้องอยู่ให้ได้” แม่ยิ้มกว้าง แล้วหันไปหอมแก้มยุ้ยๆ ของหลานชายตัวน้อยที่ทุกคนปักใจเชื่อไปแล้วว่าคือกงกลับมาหาครอบครัว เพื่อมาร่วมวงอาหารด้วยกันอีกครั้ง