อากงแห่งเกาะไหหลำ และธุรกิจโรงสีข้าว
ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ท้องนากว้างสุดลูกหูลูกตาในหมู่บ้านทุ่งโพธิ์ จังหวัดพิจิตร ยังคงว่างเปล่า วันไหนที่ฝนตกพอให้ผิวหน้าดินอ่อนนุ่ม เช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นชาวนาก็จะกระโดดขึ้นรถแทรกเตอร์พ่วงด้วยผานเจ็ดหรือผานพรวน (เครื่องมือเตรียมดินชนิดหนึ่ง เหมาะสำหรับการไถเตรียมดินระดับตื้นๆ ในครั้งแรก) จากนั้นก็ขับลงท้องนาเพื่อไถเปิดหน้าดิน ซึ่งชาวนาจะเรียกวิธีนี้ว่าการไถหยาบ จากนั้นก็จะไถละเอียดอีกครั้งด้วยอุปกรณ์ที่เรียกว่าไถลูกกลิ้ง ทั้งหมดเพื่อเตรียมดินสำหรับการหว่านเมล็ดข้าวเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนเต็มฤดูในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า
“ทุกคนต่างภาวนาให้ฝนตกต่อเนื่อง ข้าวจะได้งอก อากาศก็จะได้เย็นลงบ้าง” เสียงเด (คำเรียกพ่อ ในภาษาจีนไหหลำ) เปรยขึ้นหลังจากที่ได้ยินเสียงรถแทรกเตอร์ดังมาจากท้องนาแปลงตรงข้ามบ้าน
ฉันเดาว่าเดน่าจะเล่าเรื่องความเป็นมาของโรงสี ธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวฝั่งสามีให้ฟัง
“ได้ยินเสียงแทรกเตอร์ทีไรก็อดคิดถึงบรรยากาศคึกคักจากโรงสีของเด (อากงของสามี) ตอนที่เดยังเป็นเด็กไม่ได้ ตอนนั้นที่นี่คึกคัก เสียงรถบรรทุกและรถอีแต๊กขนข้าวเปลือกและข้าวสารที่สลับหมุนเวียนกันเข้าออก เสียงจอแจของผู้คนมากหน้าหลายตา ไหนจะเสียงเครื่องสีข้าวที่กำลังทำงานตรงโน้นอีก” เดชี้ไปที่ปล่องอิฐของโรงสีข้าวโบราณที่ตอนนี้เหลือเพียงโครงและเศษซากของฐานปูนตั้งอยู่ข้างๆ ตัวบ้าน
จากนั้นเรื่องราวของโรงสีก็พรั่งพรู ราวกับว่าเดกำลังทบทวนครั้งทรงจำในวัยเด็ก ก่อนที่โรงสีนั้นจะกลายเป็นความหลัง เนื่องจากโดนพิษเศรษฐกิจต้มยำกุ้งจนล้มละลายไม่ต่างจากคนอื่นๆ
เดเล่าย้อนให้ฟังว่า ก่อนจะมีโรงสีที่เคยรุ่งเรืองจนท้ายสุดรุ่งริ่ง กงหนีการเกณฑ์คนให้ไปเป็นทหารในสมัยสงคราม ยอมทิ้งทุกอย่าง ทั้งๆ ที่ตอนนั้นกำลังจะได้เป็นผู้ใหญ่บ้านในวัยเพียง 28 ปี แต่เพราะไม่อยากรบราฆ่าฟันใคร แกเลยหนีออกจากเกาะไหหลำอันอุดมสมบูรณ์ มาหาพี่ชายที่ทำโรงสีอยู่ที่ตำบลบางไผ่ จังหวัดพิจิตร และก็ทำธุรกิจนี้เรื่อยมา จนแต่งงานกับเน่ (คำเรียกยาย ในภาษาจีนไหหลำ) แล้วย้ายมาอยู่ที่ทุ่งโพธิ์ จากนั้นก็มีตาเด (คำเรียกอา ในภาษาจีนไหหลำ) ส่วนเดเป็นลูกชายคนที่สาม แล้วก็มีโกหม่าย (คำเรียกน้าสาว ในภาษาจีนไหหลำ) อีกสองคน
“เท่าที่จำได้ เดก็ไม่เคยเห็นกงกลับเมืองจีนเลยสักครั้ง แต่มีสองอย่างที่กงแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนจีน ก็คือภาษาที่ใช้ และอาหารที่กินเป็นประจำจนเดเห็นจนชินตา ก็คือข้าวต้มมัน” เดพยักหน้าทบทวนเรื่องราว
อากงแห่งซัวเถา และกุลีแบกถังอุจจาระ
ระหว่างที่เดกำลังเล่าเรื่องกงให้ฟัง ฉันก็อดคิดถึงอากงของตัวเองไม่ได้ เพราะกงของฉันก็มาจากประเทศจีนเหมือนกัน ต่างกันแค่ช่วงเวลาและถิ่นฐานบ้านเกิด อากงของฉันหนีความยากจนออกมาจากเมืองซัวเถา มณฑลกวางตุ้ง พร้อมเหล่าม่า (คำเรียกย่าทวด ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) และลูกพี่ลูกน้องหนึ่งคนที่อากงเรียกว่า อาสิบเอ็ดนิ้ว
“ก็อี (สรรพนามบุรุษที่สาม แปลว่าเขา ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) มีนิ้วที่หกงอกออกมาจากนิ้วก้อย ทั้งหมดนับแล้วได้สิบเอ็ดนิ้ว อั๊วเลยเรียกว่าอาสิบเอ็ดนิ้ว เหล่าม่าของลื้อก็เรียกแบบนี้” – ฉันจำสิ่งที่อากงเคยเล่าให้ฟังได้ดี
เพราะตอนที่อากงยังมีชีวิตอยู่ ฉันชอบให้อากงเล่าเรื่องเก่าๆ ให้ฟังทุกเรื่อง จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน
จะว่าไปแล้ว อาสิบเอ็ดนิ้วก็ถือว่าเป็นสิ่งที่การันตีความเป็นลูกหลานชาวแต้จิ๋วขนานแท้ เพราะเป็นหนึ่งในคนที่ปรากฏลักษณะเด่นด้วยการมีนิ้วงอกออกมาเพิ่ม ซึ่งชาวจีนเชื่อกันว่าเป็นเล็บของคนเถื่อน บุตรที่เกิดจากลูกหลานชาวหมิ่นหนานผสมกับชาวจีนฮั่น ก่อนที่จะกลายเป็นชาวแต้จิ๋ว
อากงมาเมืองไทยตอนอายุ 18 ปี ลงเรือสำเภาข้ามทะเลมาแรมเดือน พอมาถึงเมืองไทย อาชีพแรกที่กงทำก็คือการเป็นกุลีหาบถังอุจจาระ ไม่ได้รับค่าจ้างเป็นเงิน แต่แลกกับที่นอนและข้าวปลาครบสามมื้อ ถึงแม้จะเป็นอาชีพที่เหม็นและสกปรก แต่อากงบอกว่าอย่างน้อยก็สุจริต จากนั้นเมื่อท้องอิ่ม ก็มีแรงมากพอที่จะคิดขยับขยายตัวเอง เริ่มด้วยงานรับจ้างที่มีค่าแรง เก็บหอมรอมริบ แล้วผันตัวเองเป็นพ่อค้าขายซีอิ๊ว จนกระทั่งสามารถเช่าตึกแถว เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวได้ในที่สุด
เปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวทั้งๆ ที่ตัวเองชอบกินข้าวต้มเนี่ยนะ – ฉันเคยแย้งอากงด้วยประโยคนี้
ตั้งแต่จำความได้ ฉันก็เห็นกงพุ้ยแต่ข้าวต้มร้อนๆ เสียงสูดลมและข้าวเข้าปากสวบสาบดังไปเจ็ดบ้านแปดบ้าน ส่วนกับข้าวของอากงก็เป็นเมนูง่ายๆ เช่น ผัดผัก ปลาทอด หลังๆ เริ่มเห็นนั่งกินเผือกนึ่งจิ้มน้ำตาลเป็นของหวาน สลับกับซดหอยแครงลวกน้ำเดือดพอสะดุ้ง แกะออกมาแล้วยังเห็นเลือดสดๆ กินคู่กับเบียร์แก้วโต จบด้วยเสียงอ่า (ลากเสียงยาว) ตามด้วยเสียงก้นแก้วกระแทกโต๊ะดังปัง!
กงกินเสียงดังขนาดนี้ กลัวคนอื่นไม่รู้หรอว่าอร่อย – ฉันเคยถามอากงด้วยประโยคที่แสนเหน็บแนม อากงยิ้มแป้น พลางยื่นหอยแครงเลือดซิบๆ มาให้ฉัน พร้อมคำตอบว่า เพราะที่ผ่านมากงได้กินแต่มันต้มแทนข้าว ดูดหินกรวดแช่น้ำเกลือแทนกับข้าว สลับกับกินข้าวต้มบ้าง มีวันตรุษจีนเท่านั้นที่จะได้ข้าวสวยและเนื้อสัตว์
ตอนนั้นฉันจำสีหน้าของกงไม่ได้ แต่กลับจำน้ำเสียงได้ชัดเจน เสียงที่เจือไปด้วยความเจ็บปวด แต่ก็สู้ทนเรื่อยมา น้ำเสียงแผ่วปลายที่ทำเอาใจหวิว ความรู้สึกราวมีรูโหว่ใหญ่พอให้อากาศเย็นๆ ไหลเข้าออกหัวใจได้ง่าย
มันเทศและม้วย ร่องรอยที่เหลือจากคำว่า ‘ขอไปตายเอาดาบหน้า’
ฉันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ หลังจากได้ฟังเรื่องชีวิตและอาหารการกินของอากงทั้งสองบ้าน
อากงไหหลำ ถึงจะอยู่ดีมีสุข แต่ก็ต้องหนีเพราะไม่ต้องการฆ่าคน หนีไปใช้ชีวิตใหม่ โดยที่ไม่มีทางรู้เลยว่าจะรุ่งหรือจะร่วง แถมยังเลือกที่จะหันหลังให้กับเมืองจีนถาวร แต่กลับพกพาความคุ้นชินจากบ้านเกิดด้วยการกินข้าวต้มมันเป็นประจำ แม้จะไม่ได้กินทุกวัน ก็บ่อยมากพอให้เดเห็นและเอ่ยถาม จนรู้ความว่า ในอดีตชาวไหหลำนิยมกินข้าวต้มที่หุงพร้อมกับมันเทศ เพื่อให้อิ่มท้องนาน และเพิ่มความอร่อยให้กับข้าวต้ม สามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องมีกับข้าว
ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับอากงไหหลำหนี อีกราวๆ 10 ปีต่อมา ก็ถึงคราวอากงซัวเถาหนีบ้าง อากงบอกว่า หากถึงเมืองไทยเมื่อไหร่จะกินแต่ข้าว จะไม่กินหัวมันอีกต่อไป มันเทศกลายเป็นตัวแทนของความยากจน การกินข้าวได้กลายเป็นเรื่องแสนพิเศษ ส่วนการกินมันถือเป็นเรื่องปกติที่ไม่ธรรมดา
กงของฉันจึงหนี หนีมัน หนีจน แต่ไม่เคยหนีตัวเอง “ตอนนั้นคิดแค่ว่าไปตายเอาดาบหน้า ดีกว่าตายคาหัวมัน แต่หากจะตายก็ให้ตายคาหัวคิดของตัวเอง ที่คิดแต่ว่าต้องได้กินข้าว” อากงเคยกล่าวไว้พร้อมกับเสียงหัวเราะที่ดังสนั่น
กงเคยบอกว่า ข้าวต้ม ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ‘ม้วย’
ม้วยของชาวแต้จิ๋วมีสองแบบ แบบแรกใช้น้ำเยอะๆ ข้าวน้อยๆ ใช้เวลาเคี่ยวไปเรื่อยๆ จนเละ คนไทยเรียกว่า ‘โจ๊ก’ แบบที่สองคือข้าวเยอะ น้ำน้อย พอสุกแล้วคล้ายแป้งเปียกข้นๆ เรียกว่า ‘กึกม้วย’ แต่จะอร่อยมากขึ้นเมื่อตักกึกม้วยใส่ชามเล็กๆ แล้วเติม ‘แต๊’ หรือน้ำชาที่แช่ทิ้งไว้ให้สีเข้มลงไปเล็กน้อย พอให้มีกลิ่นใบชาแก่ๆ ลอยฟุ้งเหนือจมูกเวลาที่พุ้ยข้าวเข้าปาก หรือจะไม่ใส่น้ำชา แล้วเจี่ยะแต๊ (ดื่มน้ำชา) ตามแทนก็อร่อยไม่แพ้กัน
“หากวันนั้นไม่อดทน วันนี้คงจ้อซิ้ง (ความหมายคือ ตายไปเป็นเซียน) ก่อนเห็นพวกลื้อเกิด” และแล้วม้วยของกงก็กระเด็นออกจากปากอย่างกระจัดกระจาย ไม่แพ้เสียงหัวเราะสุดอร่อยของกงเลยสักนิด
ข้าวต้มมัน อาหารแห่งความอดทน
เสียงหัวเราะและรอยยิ้มของกงดังก้องอยู่ในหัวใจของฉันเสมอแม้ยามที่ใจของฉันห่อเหี่ยว แต่กลับฟูฟองขึ้นได้ด้วยประโยคคำถามที่ได้ยินจนใจอุ่น
“หลีลั้งอา ลื้อเจี่ยะปึ่งบ๋วยอะ? (หลีลั้ง ชื่อในภาษาจีนแต้จิ๋วของฉัน หลานกินข้าวมาหรือยังล่ะ)
ฉันส่ายหน้า น้ำตาไหล ความอ่อนแอที่มีทั้งหมดไหลบ่าลงไปกับอ้อมกอดของอากง ที่กำลังนั่งพุ้ยข้าวต้มรอบดึกรอลูกๆ หลานๆ กลับบ้าน – ฉันจำภาพนี้ได้ดี
“อดทนนะ ใครไม่รักลื้อ กงรักลื้อเสมอ” – น้ำตาของฉันรื้นขึ้น คิดถึงกงจับใจ
ความคำว่าอดทนของกง มาพร้อมกับกึกม้วยไร้หัวมันชามนั้น อดทนให้ทุกอย่างผ่านพ้นเหมือนที่กงเคยผ่าน และเมื่อผสมหัวมันตามสไตล์กงไหหลำด้วยแล้ว ข้าวต้มมันสำหรับฉันจึงเป็นตัวแทนและตัวอย่างของความอดทนได้ดี
ดังนั้น ฉันจึงทำข้าวต้มมันในสไตล์ของฉัน ที่วันนี้เป็นหม่าม้าของลูกชายวัยขวบกว่า เพื่อถ่ายทอดความอดทนของอาเหล่ากง (ปู่ทวด ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) ผ่านอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางใจและเต็มไปด้วยสารอาหารที่ดีๆ ต่อร่างกาย
ฉันเลือกซื้อมันเทศสีส้มมาต้มกับข้าวหอมมะลิ ต้มโดยใช้น้ำน้อย เมื่อเริ่มสุก และน้ำเริ่มงวด ก็ค่อยๆ เติมน้ำซุปโครงไก่ และมันเทศหั่นชิ้นเล็กๆ ต้มต่อจนมันสุก ส่วนข้าวจะฟูและเริ่มเหนียวข้น เติมเกลือเล็กน้อย ข้าวต้มมันเสร็จแล้ว
แต่เพื่อให้ชามนี้ครบโภชนาการ ฉันจึงใส่บรอกโคลีต้มที่หั่นแต่ส่วนดอกฟูๆ ผสมลงไป และแกะเนื้อปลาสลิดแดดเดียวทอดโรยหน้าให้ลูกชายตัวน้อย เพียงเพื่อจะบอกลูกเป็นนัยๆ ว่า ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ขอให้ลูกเป็นผู้ชายที่อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ แข็งแกร่งเสมอยามเจออุปสรรคของชีวิต พึ่งพาตัวเองให้เป็น และอยู่รอดอย่างมีความสุข เช่นเดียวกับความทนทานต่อความแห้งแล้ง อยู่ได้แม้จะมีน้ำน้อย และเมื่อขุดขึ้นมาแล้วก็ยังคงสภาพอยู่ได้นานกว่าพืชผักชนิดอื่นๆ
“หลีลั้ง โตขึ้น ลื้อจงอดทนเข้าไว้ อดทนให้เหมือนอั๊วและมันเทศ” – คำสั่งสอนของกงยังคงชัดเจนจนทุกถึงวันนี้