แกงเลียง

‘แกงเลียง’ กับข้าวแห่งความรัก

ของเล่นธรรมชาติ

        โชคดีที่ข้างบ้านของฉันมีพื้นที่สีเขียวที่กึ่งร้างกึ่งใช้งาน ในอดีตตรงนี้เคยมีบ้านไม้อยู่หลายหลัง และทุกหลังก็คือเพื่อนเล่นแก๊งวัยเด็กของฉัน ที่จะใช้พื้นที่ที่เหลือเล่นด้วยกันตั้งแต่ปีนต้นตะขบ เล่นขายของ โดดหนังยาง วิ่งไล่จับ เป่ากบ ดีดลูกแก้ว และอีกสารพัดที่งัดกันมาเล่น  

        แต่แล้วไม่นานทุกคนก็ย้ายออก บ้านไม้ถูกรื้อทิ้งกลายเป็นที่ดินว่างเปล่า แต่มีต้นกระถิน ต้นรัก ต้นมะละกอ และวัชพืชต่างๆ ขึ้นแทนที่ จนกลายเป็นพื้นที่สีเขียวชอุ่ม เวลาผ่านไปเนิ่นนานหลายสิบปี เจ้าของพื้นที่กลับมาอีกครั้ง รื้อถอนต้นไม้บางส่วน เคลียร์พื้นที่ทำเป็นที่จอดรถแบบง่ายๆ และกลายเป็น ‘สวน’ ประจำบ้านของเรา ที่ทุกเช้าฉันจะพาลูกชายออกมาวิ่งเล่น ให้ร่างกายได้อาบแสงแดดอ่อนๆ สูดอากาศดีๆ สลับกับเล่นเด็ดยอดกระถิน ยอดตำลึง เดินชมนกกระจิบตัวเล็กๆ และเล่นไปกับเขา เพื่อให้เขาได้ออกแรง ใช้กล้ามเนื้อทุกส่วน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรง

 

แกงเลียง

 

        “ตอนเด็กๆ แม่ก็เล่นแบบนี้ เด็ดอะไรไปเรื่อย แต่ส่วนใหญ่กินได้ แถมยังเอาไปฝากยายทำเป็นกับข้าวอร่อยๆ ได้อีกด้วย” – นี่คงเป็นความโชคดีของคนยุคเก่าที่ฉันเองพอจะมีโอกาสได้สัมผัสบ้าง แต่ตรงข้ามกับเด็กรุ่นลูกของเรา ที่ทุกวันนี้การเล่นคือเล่นกับของ ไม่ใช่เล่นกับธรรมชาติอย่างที่เคยเป็นมา   

อึ่งอ่าง กบ เขียด ลูกครอก โปรตีนจิ๋วในฤดูฝน  

        “เอ๊ะ! ฝนลงเม็ดแล้ว พาหลานเข้าบ้านกันลูก” – ทั้งๆ ที่เมื่อครู่แดดยังเปรี้ยง ผ่านไปแค่ไม่กี่นาที ฟ้าครึ้ม แล้วฝนก็เริ่มตก และจากแค่ฝนโปรยปรายกลายเป็นฝนห่าใหญ่ ท่ามกลางเสียงซู่ซ่าของสายฝนสลับกับเสียงฟ้าร้องที่ดังโครมคราม แม่ก็เอ่ยขึ้นว่า

        “นานแค่ไหนแล้วนะที่ไม่ได้ยินเสียงอึ่งอ่างร้องระงมในเวลาที่ฝนตกหนักแบบนี้” – ฉันเห็นด้วย เพราะจำได้ว่าสมัยเด็กๆ ฉันชอบนอนฟังเสียงพวกมันที่ดังมาจากสระต้นกกหลังบ้าน บริเวณนั้นจะเป็นเขตหวงห้าม เพราะรกเรื้อ

        “ลูกๆ พาหลานมาเบิ่งเร็ว อึ่งอ่าง โตไหย่ คักแท้” (ลูกๆ พาหลานมาดูเร็ว อึ่งอ่างตัวใหญ่จริงๆ) เสียงแม่ตะโกนขึ้นด้วยความตกใจจนเอ่ยภาษาท้องถิ่น เพื่อเร่งให้ฉันพาลูกชายมาดูอึ่งอ่างตัวใหญ่ในห้องน้ำชั้นล่าง แล้วแม่ก็เล่าให้ฟังว่า พวกกบ เขียด อึ่งอ่าง คางคก คือวัตถุดิบท้องถิ่นกินตามฤดูกาล ที่สามารถหาได้จากสระน้ำและตามท้องนา

        แม่ชอบตามตาไปจับกบที่นา โดยใช้เบ็ดที่ทำจากไม้ไผ่ และเส้นเอ็น เกี่ยวตัวตะขอตกปลา ล่อด้วยแมลงต่างๆ อย่างจิ้งหรีด จิโป่ม หรือกุดจี่ ปักเอาไว้ตามขอบคันนา เวลาฝนมา กบ ปลาดุก ปลาช่อน ก็จะออกมากินเหยื่อ บางครั้งตาปักเบ็ดไว้ 10 อัน โชคดีก็จะได้กบ 10 ตัว แต่โชคดีกว่าเมื่อได้ปลาช่อนหรือปลาดุกแซมมาด้วย

        ส่วนอึ่งอ่างที่มาพร้อมกับสายฝน พวกมันจะมาผสมพันธุ์และวางไข่แถวริมสระน้ำข้างบ้าน เมื่อไหร่ก็ตามที่เสียงอึ่งอ่างระงม เมื่อนั้นความอร่อยก็จะเริ่มต้นขึ้น ทันทีที่ฝนหยุดตก แม่และเพื่อนๆ ก็จะรู้ดีว่า ได้เวลาสนุกกันแล้ว และเมื่อจับอึ่งเรียบร้อย ก็จะชวนกันไปสอยมะม่วงหลงฤดูกาลที่ยังคงค้างต้น หรือโดนพายุพัดจนร่วงตกพื้นอยู่บ้างประปราย มาจิ้มเกลือแก้ง่วง แวะไปเก็บผักบุ้งแดงที่ขึ้นตามริมหนองน้ำธรรมชาติ บางครั้งก็จะชวนกันพายเรือแจวไปเก็บดอกผักตบชวา และผักพาย เอาไปทำเป็นเมนูเด็ด   

        “ผัดผักบุ้งแดงในน้ำมันหมูเจียวเองฝีมือยาย แซ่บล้ายหลาย (อร่อยสุดๆ) ส่วนดอกผักตบชวาสีม่วงๆ ส่วนใหญ่จะเก็บแบบดอกตูมๆ เอามานึ่งพร้อมปลาดุกหรือปลาช่อน จิ้มกับแจ่วปลาร้า ตัวดอกตูมจะไม่มีรสชาติ แต่จะให้สัมผัสนุ่มๆ ลื่นๆ เวลาเคี้ยวจะเพลินๆ คิดแล้วก็เป็นตาแซ่บ (นึกแล้วน้ำลายสอ)

        “ที่สนุกสุดๆ คือตอนส่อนกุ้งในน้ำ” – ส่อนกุ้งของแม่ก็คือ การจับกุ้งด้วยการใช้แหลากแบบสองคน อยู่คนละฝั่งของแห แล้วลากแหทวนน้ำ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ไม่นานก็จะได้กุ้งฝอยตัวเล็กๆ เอาไปนำลาบกุ้งฝอยใส่พริกป่นที่คั่วเอง

        “กินแบบดิบๆ เด้งดึ๋งอยู่ในปาก แซ่บคัก” แม่ยืนยันด้วยการทำท่ากลืนน้ำลาย ทำเอาฉันเข็ดกรามตามไปด้วย

        จากนั้นแก๊งเด็กก็จะย้อนกลับมาแวะดูควายที่ออกหากินเล็มหญ้าอ่อนๆ หลังฝนตกใหม่ๆ แล้ววนเข้าบ้าน เพื่อส่งอึ่งในถังพลาสติกให้ยาย เตรียมทำเมนู ‘ต้มอึ่ง’ ไข่เต็มท้อง ใส่ ‘ป่งใบ’ หรือใบมะขามอ่อนที่กำลังผลิใบในช่วงนี้

        เป็นเวลาเดียวกันที่ตาไปเก็บเบ็ดแล้วได้กบตัวใหญ่ พร้อมปลาช่อนนามาตัวเท่าแขน แถมยังได้ลูกครอก หรือลูกปลาช่อน เอามาทำ ‘หมกลูกครอก’ ใส่ผักอีตู่ (ใบแมงลัก) ยายจะทำสองแบบ คือรสเผ็ดไว้ให้ตากิน และแบบไม่ใส่พริกสำหรับลูกเล็กที่ยังกินเผ็ดไม่เก่งอย่างแม่  

        เวลานี้ครอบครัวเล็กๆ ของแม่มีกับข้าวเลิศรสมากมายตามช่วงเวลาที่วัตถุดิบธรรมชาติจะเกิดขึ้น บางอย่างก็ต้องถนอมอาหารด้วยการทาเกลือหมักเอาไว้ ตากแดดจนแห้งบ้าง ทั้งหมดก็เพื่อเก็บไว้กินได้หลายมื้อ ไม่ว่าจะเป็นเขียดตากแห้ง ต้มส้มอึ่ง ลาบกบ กบย่างโรยเกลือ ป่นเขียด หรืออ่อมกบใส่ยอดมะระขี้นก เวลากินจกข้าวเหนียวปั้นเล็กๆ ใส่ช้อน ตักน้ำซุปร้อนๆ จากอ่อมกบเคี้ยวพร้อมกัน

        “โอ๊ย… คิดแล้วก็ฮอดอิแม่ คิดฮอดเพื่อนๆ ตอนนั้นทั้งสนุกคักๆ แล้วก็นัวโพดๆ” (นึกขึ้นมาแล้วก็คิดถึงแม่ คิดถึงเพื่อน ตอนนั้นสนุกมากๆ แล้วทั้งรสอาหารที่กลมกล่อมสุดๆ ) – เชื่อแล้วจ้าแม่จ๋า ว่าความทรงจำของแม่อร่อยจริงๆ

 

แกงเลียง

แกงเลียงของแม่

        ระหว่างที่แม่กำลังสนุกกับการเล่าเรื่องเก่าๆ อย่างออกรส ลูกชายของฉันก็เดินมาพร้อมกับยอดตำลึงที่คว้ามาจากข้างบ้าน และยังคงกำไว้อยู่อย่างนั้น

        “เอามาให้ยายหรอลูก” แม่ของฉันยิ้มแล้วแซวว่า นึกว่าจะไม่ยอมปล่อยยอดตำลึงเสียแล้ว ก่อนที่จะพาลูกชายอุ้มขึ้นไหล่ และเริ่มกล่อมนอนตอนกลางวัน แต่เขาก็ไม่ยอม จะให้ฉันอุ้มเข้าเต้าหลับท่าเดียว

        “นึกถึงตอนที่หนูคลอดลูกใหม่ๆ จำได้เลยว่าหนูกังวลเรื่องน้ำนมน้อย จนแม่ต้องต้มแกงเลียง ผัดขิง และต้มน้ำขิงให้กินทุกวัน แต่ด้วยความพยายามอย่างหนักของหนู ถึงตอนนี้เจ้าจิ๋วของลูกยังกินนมแม่อยู่เลย” – ฉันยิ้มอย่างภูมิใจ

        “นี่คงเป็นเพราะพลังรักของแม่ผ่านแกงเลียงและหมูผัดขิงทุกมื้อมาร่วมเดือนแน่ๆ” ฉันพูดจากใจ

        “แน่นอน เพราะยายก็กินแกงเลียงเพิ่มน้ำนมและให้ความอบอุ่นกับร่างกาย มารุ่นแม่ก็กินแบบนี้เหมือนกัน” แม่สมทบความจริง ก่อนจะขอตัวไปเตรียมเครื่องแกงเลียงที่ยังขาดอยู่ เพราะก่อนหน้านี้แม่ได้ผักสดปลอดภัยมาจากวัดสวนแก้ว ย่านนนทบุรี  

 

แกงเลียง

 

        แกงเลียงของแม่ปรับสูตรมาจากแกงเลียงอีสานของยาย แม่จะโขลกกระชาย ปลาแห้ง กับหอมแดง และกะปิเข้าด้วยกัน ตั้งน้ำให้เดือด ทุบเม็ดพริกไทยสักครึ่งกำมือใส่ลงไป ตามด้วยฟักทอง บวบ ข้าวโพดอ่อน เห็ดฟางลูกเล็กๆ เห็ดนางรมหลวง และเครื่องที่โขลกไว้ ใส่กุ้ง ต้มจนสุก แล้วใส่ใบแมงลัก ยอดตำลึง และตีพริกสักสองสามเม็ดใส่เป็นลำดับสุดท้าย ตักใส่ชามโตๆ ซดตอนร้อนๆ กลิ่นหอมของกระชายสดเข้ากันได้ดีกับรสและกลิ่นของกะปิจากจังหวัดระยองที่เค็มกำลังดี มีความเผ็ดซ่าจากเม็ดพริกไทย ซดคำแล้วคำเล่าเท่าไหร่ก็ไม่พอ

 

แกงเลียง

แกงเลียงของยาย

         “แกงเลียงของยายจะไม่ใส่กะปิ แต่จะใส่น้ำปลาร้า คล้ายๆ แกงเปรอะที่ไม่ใส่ข้าวเบือ (ข้าวเหนียวแช่น้ำจนนุ่ม สะเด็ดน้ำแล้วโขลกให้ละเอียด ใช้แทนแป้งมัน) ใส่ผักที่เก็บได้ตามฤดูกาลหลากชนิด รวมทั้งเห็ดที่หาได้ตามคันนาและตอนขึ้นโคก ซดตอนร้อนๆ เวลาเป็นไข้ ได้ผลชะงัด” แม่เผยความลับของแกงเลียง

 

แกงเลียง

 

        “มานั่งนึกแล้วก็เพิ่งเข้าใจถึงความรักที่ตายายมีให้แม่” – แม่ยิ้ม ดวงตาฉ่ำน้ำตาที่คลอแต่ไม่ยอมให้ไหล แล้วบอกว่า ตอนโตจนกลายเป็นแม่คนนี่แหละถึงได้รู้ว่า ความรักของยายส่งผ่านมาพร้อมกับอาหารรสเผ็ดน้อย ผ่านการผิงไฟด้วยกันในหน้าหนาว ผ่านสายลมพัดน้อยๆ ที่ยายพัดให้ตอนนอนในหน้าร้อน หรือแม้กระทั่งการเขวี้ยงสากเมื่อแม่ไปเล่นในที่ที่ไม่ปลอดภัย

        “หากโดนสากขนาดเท่าแขนนั่นเข้าไปที รับรองได้มีเลือดอาบหัวแน่ๆ แต่ก็รู้อยู่แล้วว่าไม่มีทางโดน เพราะยายจะเขวี้ยงแบบเฉียงๆ พอให้เฉียดๆ ให้ยายได้คลายอารมณ์โมโหเท่านั้น” ฟังแม่แล้วก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าแม่เองก็รักยายไม่น้อยไปกว่าใครเลยจริงๆ

         เวลาผ่านไปราวหนึ่งชั่วโมง ลูกชายจอมซนตื่นขึ้นมานั่งยิ้มน้อยยิ้มใหญ่เพราะนอนเต็มอิ่ม แถมยังแอบฟังยายและแม่คุยกัน สักพักก็ขอให้ยายพาลงข้างล่าง ก็ประจวบเหมาะกับเวลาทำมื้อเย็น พวกเราพากันลงชั้นล่างเตรียมทำกับข้าว ส่วนลูกชายก็ให้อยู่กับตา วิ่งเล่นด้วยกันจนเหงื่อซ่ก ส่งเสียงเอิ๊กอ๊ากชอบใจ ก่อนจะสะดุดเท้าตัวเองล้มหน้าทิ่ม แต่ไม่ร้องสักเอะ แค่เอามือถูจมูกเบาๆ แล้วหัวเราะร่วนแทน

        “โถ… เจ้าแกงเลียงของยาย” แล้วทุกคนก็หัวเราะเสียงดัง รวมทั้งเจ้าตัวด้วย