บะหมี่เกาหลีโฮมเมด

รสกับข้าว: ‘บะหมี่เกาหลีโฮมเมด’ จากซีรีส์ Crash Landing on You

อีกนิดฉันจะเทิร์นโปร! 

        เชื่อว่าหลายคนจะต้องมีคำนี้อยู่ในใจ เมื่อทุกวันนี้ต้องหันมาจับตะหลิวทำกับข้าวกินเองให้มากขึ้นกว่าเดิม หลังจากการประกาศ Work From Home และล่าสุดกับการประกาศเคอร์ฟิวในช่วงกลางคืน 

        ฉันก็เป็นคนหนึ่งที่คิดเช่นนั้น แต่ทว่าการทำอาหารในครั้งนี้แตกต่างออกไปจากเมนูในแต่ละวัน การเทิร์นโปรของฉันมาพร้อมกับคลังความรู้อิงประวัติศาสตร์นิดๆ ตามเทรนด์หน่อยๆ และเกิดการค้นพบ ‘ยาต้านเฉา’ ผ่านการทดลองทำวัตถุดิบ ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนผสมของอาหารมื้อนั้นๆ ก่อนจะผสมผสานประสบการณ์เข้าครัวแบบมือสมัครเล่น จนได้อาหารหนึ่งจานที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่มาที่ไป และบทสรุปเล็กๆ ที่ฉันค้นเจอระหว่างทาง

บะหมี่ไข่ และสหายผู้กอง 

        ฉันเลือกทำบะหมี่ไข่เป็นสิ่งแรก ไม่ใช่เพราะทำง่ายที่สุด แต่เพราะรู้สึกดีที่สุด หลังจากดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง Crash Landing on You โดยฉากที่ประทับใจก็คือ หลังจากการเจอกันระหว่างสหายผู้กองกับสหายเซรีได้ไม่นาน สหายผู้กองก็ลงมือนวดแป้งเพื่อทำบะหมี่เส้นสด (รสมือผู้ชาย) ให้สหายเซรีกินเป็นมื้อแรก ทั้งๆ ที่ตอนนั้นยังไม่รู้จักกันดี (รู้สึกอิจฉานิดๆ เหลือบตามองบนให้กับความนางเอกหน่อยๆ) 

        ภาพของสหายผู้กองค่อยๆ นวดแป้ง เติมส่วนผสม กดแป้งให้เป็นเส้นยาวๆ ลวกในน้ำซุปร้อนควันพวยพุ่ง ตักเสิร์ฟพร้อมกับไข่เจียวซอย โรยพริกแดงหั่น กินคู่กับกิมจิหัวไชเท้าหั่นเป็นลูกเต๋า ซีนเหล่านี้ทำเอาแม่ครัวสมัครเล่นอย่างฉัน ลุกขึ้นคาดผ้ากันเปื้อน เปิดตู้เสบียง แล้วพบว่าฉันยังไม่พร้อมที่จะลงมือทำบะหมี่ เพราะนอกจากจะไม่มีวัตถุดิบหลักอย่าง แป้งสาลีแล้วสูตรก็ยังไม่มี ประสบการณ์การทำก็ไม่เคยผ่าน ฉันจึงต้องให้เวลาตัวเองในการค้นหาอีกสักวันสองวัน

 

บะหมี่เกาหลีโฮมเมด
Image: Crash Landing On You – Netflix

คัลกุกซู เมนูบำรุงใจ

        ฉันให้นิยามบะหมี่เส้นสดของสหายผู้กองไว้ในใจ เพราะระหว่างที่ฉันค้นหาสูตร ฉันพบเรื่องราวความเชื่อของชาวเกาหลีต่อเรื่องบะหมี่ชนิดนี้ว่า คัลกุกซู มาจากคำว่า คัล (칼- Kal) ที่แปลว่า มีด ส่วนกุกซู (국수 – Guksu) แปลว่า ก๋วยเตี๋ยว รวมกันแล้วหมายถึงเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ถูกตัดด้วยมีด นั่นหมายถึง หากจะทำเมนูนี้ อย่างน้อยเราจะต้องลงมือทำด้วยตัวเอง และมีต้นกำเนิดในสมัยราชวงศ์โชซ็อน ก่อนที่จะถูกค้นพบสูตรนี้ในตำราอาหารโบราณที่เรียกว่า Eumsik Dimibang เขียนโดย Lady Jang ตั้งแต่ ค.ศ. 1670

        ตามธรรมเนียมดั้งเดิม ชาวโชช็อนจะทำกินในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวบาร์เลย์และข้าวสาลี ต้มเส้นในซุปปลาแองโชวีแห้งและสาหร่ายทะเล กินคู่กับกิมจิ หรือข้าวบาร์เลย์ผสมกะหล่ำปลีและซอสถั่วเหลือง แล้วยังจัดก๋วยเตี๋ยวชามนี้ให้พิเศษมากขึ้นเนื่องในการฉลองวันเกิดปีแรกของเด็ก ด้วยความเชื่อที่ว่าจะทำให้เด็กแข็งแรง สุขภาพดี มีคุณธรรมและอายุยืนนาน ในเวลาต่อมา คัลกุกซูและกุกซูทั้งหลายได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคลและแทนการอวยพรให้แก่กัน ทำให้เมนูนี้มักทำขึ้นในงานแต่งงาน งานวันเกิด รวมทั้งงานฉลองอายุครบ 60 ปี นับว่าเป็นอาหารบำรุงใจได้เป็นอย่างดี 

        และเมื่อย้อนกลับมาที่ซีนนี้ ฉันก็เชื่อว่าคัลกุกซูสุดเฮลตี้ที่สหายผู้กองเลือกทำให้สหายเซรี ให้ความหมายที่ดีไม่ต่างจากขนบดั้งเดิมที่เคยเป็นมา ฉันคิดว่าก๋วยเตี๋ยวนี้เป็นตัวแทนของการเปิดใจตั้งแต่ต้นเรื่องของสหายผู้กอง เพื่อบอกสหายเซรีเป็นนัยๆ ว่า หลังจากนี้ผมคงต้องใช้ชีวิตร่วมกับคุณไปอีกยาวนาน ช่างบำรุงหัวใจของเราเหลือเกิน

ครั้งแรก หรือ ครั้งสุดท้าย

        ไม่นานเกินรอ ฉันก็เลือกสูตรที่คิดว่าทำง่ายที่สุด โดยใช้ส่วนผสมเพียง 4 อย่าง คือ แป้ง เกลือ ไข่ไก่ และน้ำเย็น 

 

บะหมี่เกาหลีโฮมเมด

        ตีผสมทุกอย่างให้เข้ากัน

บะหมี่เกาหลีโฮมเมด

         ตักขึ้นมานวด

บะหมี่เกาหลีโฮมเมด

        นวด นวด และนวด

บะหมี่เกาหลีโฮมเมด

        จากนั้นก็พักแป้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วรีดให้เป็นแผ่นบางๆ

บะหมี่เกาหลีโฮมเมด

        พับทบเข้าหากัน แล้วใช้มีดตัดให้เป็นเส้นๆ

บะหมี่เกาหลีโฮมเมด

        โรยด้วยแป้งนวลเพื่อไม่ให้ติดกัน นำไปต้มในน้ำซุปที่เตรียมไว้

บะหมี่เกาหลีโฮมเมด

        ซึ่งฉันเลือกทำซุปกระดูกหมูอ่อนที่หมักกับผงรากผักชี พริกไทยดำบด เกลือและกระเทียม ตุ๋นในหม้อหุงข้าว ระหว่างพักแป้งให้เข้าที่ 

 

        ดูทุกอย่างเหมือนง่ายดาย แต่เมื่อทำจริงๆ แล้วก็เจออุปสรรคที่ชวนท้อตั้งแต่แรก โดยเฉพาะการลงแรงนวด ที่ต้องให้สามีร่างยักษ์มาช่วยนวดอีกแรง และแป้งที่เหนียวหนึบติดมือ ฉันพยายามต่อไปจนได้บะหมี่ไข่มาหนึ่งชุด ฉันต้มเส้นในน้ำเดือดพักใหญ่จนมั่นใจว่าสุก สะเด็ดน้ำและใส่ลงในชามซุป 

        เส้นหนึบๆ แต่กลับไม่สุก – นี่คือเรื่องจริง 

        ความสำเร็จครั้งแรกของการทำบะหมี่ไข่ของฉันเท่ากับศูนย์ แต่อย่างน้อยซุปกระดูกหมูอ่อนก็นุ่มได้ที่ น้ำกระดูกละลายออกมาผสานกับเครื่องปรุงเพียงไม่กี่อย่าง แต่กลับได้รสชาติที่อร่อยกลมกล่อมมาแทน

        บะหมี่ที่พลาดในครั้งนี้ ทำให้ฉันนึกถึงประโยคของใครบางคนที่เคยพูดเอาไว้ว่า ‘รักครั้งแรก’ มักจะไม่ประสบความสำเร็จ แน่นอนว่าสำหรับฉันคือ ใช่ และก็ใช่ในหลายๆ เรื่อง รวมถึงเรื่องการทำกับข้าว เมนูที่ฉันตั้งใจทำ รสชาติที่ฉันตั้งใจปรุง ก่อนจะอร่อยย่อมล้มเหลวและผิดสูตรมานักต่อนัก แต่เพราะการผิดพลาดในแต่ละครั้งกลับไม่ใช่สิ่งที่บ่งชี้ว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้าย แต่ฉันขอนับว่าเป็นครั้งแรกอีกครั้ง และอีกครั้งต่างหาก 

        นี่แหละคือ ‘ยาต้านเฉา’ ในแบบฉบับของคนครัวอย่างฉัน

 


อ้างอิง: www.tasteatlas.com/kalguksu