ลาบปลาสร้อย

‘ลาบปลาสร้อย’ และ ‘ความรัก’ ที่ไม่เท่ากันของเรา

รสชาติของฤดูกาล

        ที่ประจำของฉันเวลาเขียนต้นฉบับคอลัมน์ ‘รสกับข้าว’ จะต่างจากพื้นที่เขียนงานชิ้นอื่นๆ ฉันชอบนั่งในห้องนอน เปิดประตูฝั่งระเบียงออก เปิดประตูหน้าห้อง ปิดพัดลม และรูดผ้าม่านขึ้นให้ชิดติดขอบหน้าต่างด้านบน ให้อากาศถ่ายเทแทนการเปิดเครื่องปรับอากาศ สัมผัสกับอุณหภูมิตามความเป็นจริง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ร่วมเวลาที่แม่เล่าถึงฤดูกาล แม้ว่าจะไม่ใกล้เคียงเลยก็ตาม

        สายตาของฉันได้ละจากจอคอมพิวเตอร์เป็นบางครั้ง เรื่องราวบางเรื่องทำให้ฉันถอนหายใจและมองออกไปที่นอกระเบียงอยู่บ่อยๆ เสียงนกยามเช้า เสียงเครื่องยนต์ในตอนเย็น ทุกสัมผัสทำให้ฉันเข้าใจชีวิตในแต่ละวันที่เกิดขึ้น แต่อาจจะเข้าใจน้อยกว่าแม่ผู้ผ่านฤดูกาลมาอย่างโชกโชน  

        แม่เคยบอกกับฉันในวันที่รู้สึกว่า ‘ชีวิตมีรสขมปร่า’ ไว้ว่า หากเปรียบฤดูกาลกับรสชาติ แม่ยกรสเผ็ดจี๋ เปรี้ยวจี๊ด เป็นฤดูร้อน ส่วนฤดูฝน คือรสเค็มที่มีรสหวานติดปลายลิ้น ส่วนฤดูหนาว แม่บอกว่า ยกให้กับชีวิตที่บางครั้งก็เจอกับสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นและไม่ค่อยมีคนชอบเท่าไหร่นัก นั่นก็คือรสขม

        “จริงๆ แล้วรสชาติประจำของชาวอีสานคือ เค็มและเผ็ด ไม่ใส่น้ำตาล แต่รู้ไหมว่า บางเมนูก็ต้องนำด้วยรสขมถึงจะอร่อย อย่างที่ตาชอบทำและกินคือ ลาบขม และก้อยเนื้อดิบ ไว้กินกับเหล้าสาโท ชีวิตก็เหมือนกัน ขมอ่อนๆ อร่อยออก วะซั่น” แม่ยิ้มพร้อมขยิบตาให้หนึ่งที

        “ถ้ารู้สึกแย่ แม่จะทำอะไรอร่อยๆ ให้กินเอาไหมล่ะ” แม่ช่างรู้ใจ ผ่านไปสักพัก แม่ตะโกนเรียก กับข้าวเสร็จแล้ว และสิ่งที่ปรากฏตรงหน้าคือ ลาบหมูสับ มาพร้อมข้าวเหนียว ไข่เจียวแห้ง และผักกาดหิ่นสดๆ

        ระหว่างที่ฉันกำลังเอร็ดอร่อยกับกับข้าว แม่ส่งเสียงร้องเพลงขึ้นมา “โอเฮาโอละเฮาโอ้เฮาโอ ขอเหล้าเด็ดนำเจ้าจักโอ ขอเหล่าโทนำเจ้าจักถ้วย…” พร้อมยกไม้ยกมือขึ้นรำ ทำเอาฉันงงว่าเกิดอะไรกับแม่ หรือแม่เหนื่อยเกินไป 

        เปล่าเลย, แม่กำลังทำให้ฉันหัวเราะ แต่ปฏิกิริยาจากฉันกลับตรงข้าม ฉันกลับน้ำตาไหลในความรู้ใจของแม่ที่อัดแน่นไปด้วยความรักและห่วงใยอย่างที่แม่มีให้มาเสมอตั้งแต่ฉันยังเล็ก จวบจนฉันกลายเป็นแม่

        “นี่คือเพลง ขอเหล้าโท เป็นเพลงที่ยายมักจะเริ่มร้องและเซิ้งเพื่อการขอบริจาคในงานบุญ ยายเป็นคนชอบทำบุญมาก และเพลงนี้ก็ทำให้แม่นึกถึงยาย จะว่าไปแม่ก็ขอให้บุญกุศลที่ยายทำนำพาสิ่งดีๆ กลับคืนสู่ยายและพวกเราด้วย” แม่ขยี้ผมของฉันจนฟู เช็ดน้ำตาที่ไหลอาบแก้มให้ แล้วพยักพเยิดให้ฉันกินลาบหมูสับให้หมด

ลาบปลา เมนูแทนรักของตากับยาย

        “สวัสดีจ้า ปลาแดดเดียวของแม่ค้าคนสวยมาแล้วจ้า” เสียงหวานเจี๊ยบแต่ดังมาแต่ไกลของพี่สมปอง แม่ค้าเร่ขายปลาแดดเดียวจากสุพรรณบุรี มาขัดจังหวะความโรแมนติกระหว่างฉันกับแม่

        “พอดีเลย กำลังนึกอยากลาบปลา” แม่ชะโงกหน้ามาดูปลาแดดเดียวในถาดไม้ไผ่ ก่อนจะตัดสินใจเลือกปลาสร้อยแดดเดียวขึ้นมาดู – หากให้ฉันเดา มื้อถัดไปคงหนีไม่พ้นลาบอีกเช่นเคย

        “จะทำลาบหรือเปล่า ถ้าใช่ ฉันมีปลาสร้อยสดติดมาด้วย จะรับสักโลไหมล่ะ” พี่สมปองเดาเก่งและช่างรอบคอบ

        “จะอร่อยกว่านี้ถ้าได้ปลาตอง” แม่ชอบปลาสร้อยน้อยกว่าปลาตอง ปลาที่มีลักษณะคล้ายปลากราย ก้างน้อย เวลาจะนำไปทำลาบต้องขูดเอาแต่เนื้อปลา แล้วนำไปคั่วให้สุก ปรุงเหมือนลาบทั่วไป

 

ลาบปลาสร้อย

 

        “ปลาสร้อยตัวไม่ใหญ่ แต่ก้างเยอะ ต้องสับให้ละเอียด เวลากินนี่ก็เสียวเหลือเกิน เพราะกลัวกางจะตำคอ แต่ไม่รู้ทำไมเหมือนกัน ลาบปลาสร้อยกลับกลายเป็นเมนูที่ตาและยายทำให้กินบ่อยมาก ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วทั้งคู่ รวมทั้งแม่ ชอบกินลาบปลาตองมากกว่า” เสียงของแม่พึมพำสลับกับเสียงสับเนื้อปลาบนเขียงไม้ ผ่านไปได้สักพัก เสียงอีโต้หยุด แม่ก็พูดขึ้นเหมือนเพิ่งนึกอะไรออกว่า

        “ลืมไปว่าปลาสร้อยหาง่ายกว่า ส่วนปลาตองมีค่าเหมือนความรัก หายาก แต่หากได้ลองแล้วจะติดใจ” ฉันเบิ่งตาขึ้นด้วยความคาดไม่ถึงว่าแม่จะกล้าเล่นมุกแบบนี้กับฉัน แล้วแม่ก็หัวเราะเสียงดัง ก่อนหันไปหั่นหอมแดงแก้เขิน

        ฉันจำคลับคล้ายคลับคลาว่า แม่เคยเล่าให้ฟังว่า ยายชอบทำลาบปลาสร้อย แต่ตาชอบกินลาบปลาตอง

        “ลาบปลาตองของตาไม่เหมือนใคร เพราะใส่หยวกกล้วยสับ” แม่ทวนเรื่องที่เคยเล่าให้ฟัง แล้วบอกว่า อาจเป็นเพราะปลาตองหายากมาก ได้มาก็ครั้งละตัวสองตัว ขูดเนื้อออกมาก็ได้ไม่เยอะ ตาจึงเพิ่มปริมาณลาบปลาตองด้วยการสับหยวกกล้วยลงไป เป็นวิธีการกินที่ชาญฉลาด ได้ประโยชน์ และอิ่มนาน

        ในขณะที่ลาบปลาสร้อยเป็นเมนูคู่บ้านอีกอย่างหนึ่ง ยายชอบหรือจริงๆ แล้วจำใจทำ – แม่หัวเราะ แต่แท้ที่จริงแล้วลาบปลาต่างๆ ทั้งปลาสร้อยคั่ว ปลาซิวดิบ ปลาดุกย่าง ปลาตองขูด ล้วนเป็นเมนูที่ตาและยายสลับกันบอกรักผ่านเมนูอาหารนี้อยู่บ่อยๆ เพราะลาบปลาทำไม่ยาก แต่ก็ต้องใส่ใจทำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องก้าง และกลิ่นคาว  

 

ลาบปลาสร้อย

 

        แม่ตักเนื้อปลาสร้อยสับไปคั่วจนสุก เติมพริกป่น พริกจินดา ข้าวคั่ว หอมแดง ต้นหอม กระเทียม เกลือ น้ำปลา น้ำปลาร้า คลุกให้เข้ากัน ชิมให้ออกรสเค็มนัว และเผ็ด ก่อนดับกลิ่นคาวด้วยใบสะระแหน่ และผักชีลาว

 

ลาบปลาสร้อย

 

        แม่ทำกับข้าวสำรับนี้เรียบร้อย คนแรกที่ล้อมวงเข้ามาคือ พ่อของฉัน ผู้ชายลูกครึ่งไทย-จีน ที่เพิ่งจะมาหลงรักอาหารอีสานหลังจากอยู่กินกับแม่มานานหลายปี พ่อจกข้าวเหนียว ตักลาบปลาสร้อยใส่ปาก เด็ดผักตาม ตบท้ายด้วยไข่เจียวแห้ง จบด้วยซดต้มจืดเต้าหู้หมูสับเสียงดังเพื่อความคล่องคอ  

 

ลาบปลาสร้อย

 

        “เป็นไง แซ่บบ่อ้าย” (อร่อยไหมจ๊ะพี่จ๋า) แม่หัวเราะอย่างอารมณ์ดี  

ความรักที่ไม่เท่ากัน แต่ความผูกพันนั้นเท่าเดิม

        รสนัวของลาบปลาสร้อยที่กินยังคงอวลอยู่ในปาก กลิ่นคาวปลาที่ยังคงติดอยู่ปลายจมูก รสและกลิ่นของวันวานนั้น ได้นำเรื่องราวบางอย่างกลับคืนสู่แม่อีกครั้ง โดยเฉพาะปีสุดท้ายในหมู่บ้านเต่า จังหวัดขอนแก่น

        ก่อนที่แม่จะมากรุงเทพฯ ปีนั้นเป็นปีที่แล้งจัด เมื่อเริ่มหว่านกล้าในนา ฝนยังตกดี แต่แล้วก็หายไปดื้อๆ ตอนนั้นตา ยาย และแม่ ก็ต้องออกไปเสี่ยงดวงดำนาแบบแล้งๆ ตาใช้จอบขุดดิน ยายหยอดน้ำให้ดินชุ่ม ส่วนแม่เป็นผู้ปักกล้า ทั้งสามคนพ่อแม่ลูกทำแบบนี้ท่ามกลางแสงแดดร้อนๆ ที่มองไปเบื้องหน้าแล้วเห็นเป็นเหมือนควันจางๆ กำลังเต้นๆ อยู่เหนือผิวดิน ตาถอดผ้าขาวที่คาดไว้บนหัว ซับเหงื่อชุ่มบนใบหน้าให้ยาย

        แม่จำภาพได้ติดตา กับประโยคที่ตรึงใจ “แม่มึงเอ๊ย ปีนี้เหนื่อยหน่อยเด้อ เฮาสิสู้ไปนำกัน ฮักแม่มึงเด้อ” (แม่ของลูก ปีนี้เหนื่อยหน่อยนะ เราจะสู้ไปด้วยกัน รักแม่นะ) ส่วนยายหลบตาด้วยความเขินอายเหมือนสาวแรกรุ่น แต่หลังจากนั้นแม่ก็ไม่เคยได้ยินคำว่า ‘รัก’ ออกมาจากปากของตาอีกเลย

        ตาไม่ได้เป็นคนที่โรแมนติก ออกจะขี้เหล้าเมาหลับด้วยซ้ำ จนทำให้ยายโกรธเคืองอยู่บ่อยครั้ง แม่จำได้ดี มีอยู่ครั้งหนึ่งตาเมาหนัก และกำลังจะลงจากบ้านเพราะเพื่อนมาตะโกนชวนให้ไปตลาด  ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า หมายถึงไปนั่งมองสาวๆ ที่ตลาดมากกว่า ระหว่างที่ตากำลังก้มหน้าหารองเท้า ปากก็ตะโกนกึ่งเหน็บยายว่า จะไปหาสาวคนใหม่ไฉไลกว่ายาย ด้วยความเลือดขึ้นหน้า ยายถีบตากลิ้งตกลงพื้นข้างล่างทันที ตาสลบเหมือด ไม่ใช่เพราะหัวฟาดพื้น แต่เพราะฤทธิ์แอลกอฮอล์

        “ตอนนั้นแม่ก็เป็นห่วง แต่ก็อดขำไม่ได้ สภาพของตาดูไม่ได้เลย” แม่หัวเราะให้กับภาพจำของตาในวันวาน และด้วยความสงสัย ฉันจึงเอ่ยถามออกไปว่า “ยายไม่รักตาเหรอ ถึงกับต้องถีบหัวทิ่มอย่างนั้น” แม่ยิ้มน้อยๆ ทอดสายตาออกไปที่ท้องถนนราวกับกำลังทบทวนอะไรบางอย่าง

        “รักสิ ยายรักตามาก แต่เพราะรักมาก ยายจึงโมโหมาก” เท่าที่แม่ใช้ชีวิตอยู่กับตาและยาย แม่มองว่า ความรักที่ส่งผ่านหากันและกันนั้นไม่เคยเท่ากันเลยสักครั้ง และดูเหมือนจะเป็นตาต่างหากที่เป็นฝ่ายรักยายมากเหนือสิ่งอื่นใด ตาเป็นผู้ชายที่ทำได้ทุกอย่างเพื่อลูกเมีย ตาบอกรักยายผ่านการทำกับข้าว จับปลาที่ยายชอบกิน ดูแลครอบครัวด้วยดีมาโดยตลอด แม้กระทั่งวันที่ตาจากยายไปตลอดกาล

        “ตาจากเราไปด้วยโรคมะเร็งตับ เดาได้ว่าเป็นเพราะการดื่มเหล้าจัด ตาเก็บซ่อนความเจ็บปวดไว้เนิ่นนานเพียงเพื่อไม่ต้องการให้ยายเป็นกังวล และต้องเสียเงินค่ารักษา” ดวงตาของแม่แดงก่ำ น้ำตารื้นขึ้น แต่ไม่ยอมให้ไหล แล้วบอกว่า เพิ่งจะมารู้ว่ายายรักตามากแค่ไหนก็หลังจากจบงานศพของตาได้ไม่กี่วัน พร้อมคำกล่าวว่าจะบวชชีตลอดชีวิต

        การบวชชีของยายไม่ใช่แค่สิ่งที่บรรเทาความปวดร้าวจากการสูญเสีย แต่เป็นสิ่งที่ย้ำเตือนความรักและความผูกพันระหว่างกันและกันตั้งแต่วันแรกที่รัก จวบจนวันสุดท้ายที่ลาจาก เพื่อให้ความรู้สึกผูกพันนั้นโอบกอดกันและกันไว้ให้อยู่ในใจตลอดกาล

        เรื่องราวความรักของตาและยายสะท้อนให้ฉันเห็นถึงอานุภาพของคำว่า ‘รัก’ และ คำว่า ‘ครอบครัว’

        ความทรงจำในอดีตของแม่ ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและแม่ในปัจจุบัน และถ่ายทอดมาสู่ฉัน สามีและลูก

        “เราสามารถรักคนอื่นได้มากมาย แต่เราจะเลือกรักจริงๆ ได้ไม่กี่คนทั้งชีวิต” แม่ย้ำเรื่องนี้กับฉัน แต่ฉันเห็นต่างออกไป ฉันเชื่อว่า คนเราสามารถรักใครก็ได้ทั้งนั้น แต่สิ่งที่ยืนยันความรักจริงๆ คือ ความห่วงใย ใส่ใจ เคารพและเอื้ออาทรต่อกันและกัน สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้ความสัมพันธ์นั้นยืนยาว” – ทั้งหมดแล้วกลิ่นอายของวันวาน และรสชาติของอาหาร ได้บอกกับฉันไว้เช่นนั้น  

 

(จบซีรีส์)