บ้านเล็กในทุ่งกว้าง
เวลาผ่านไปหลายสิบปี นับตั้งแต่ครั้งสุดท้ายที่ฉันได้มีโอกาสกลับบ้านเกิดของแม่ ตอนนั้นฉันยังเป็นเด็กน้อยวัยเพียงประถมสาม ตัวอ้วนกลม ผิวเข้มจากการเรียนว่ายน้ำ มาพร้อมกับผมสั้นเสมอติ่งหู ตัดหน้าม้าเต่อขึ้นไปจนถึงกลางหน้าผาก ภาพของเด็กน้อยที่ถอดแบบมาจากผู้เป็นแม่ในวัยเด็กได้อย่างไม่มีผิดเพี้ยน
ในความทรงจำ สิ่งเดียวที่อยู่ตรงหน้าของฉันคือ บ้านเก่าที่ทรุดโทรม แต่ถึงอย่างนั้น ฉันกลับรู้สึกได้ถึงความอบอุ่นที่บ้านหลังนี้เคยมอบให้ครอบครัวของแม่มาตลอด บ้านที่เคยมีเสียงเจี๊ยวจ๊าวของเด็กน้อยในวันวาน มีควันไฟจางๆ จากกองฟืน ได้ยินเสียงไก่ขันยามเช้า ได้กลิ่นสาบควายใต้ถุนบ้าน แว่วเสียงคนคุยกันเป็นภาษาอีสาน ที่มีจังหวะการออกเสียงขึ้นจมูกในคำศัพท์บางคำ โดยเฉพาะอักษรตัว ‘ย’ ที่เป็นเอกลักษณ์
“แม่ชอบกลิ่นและเสียงจากบ้านยาย” แม่มักเอ่ยแบบนี้ทุกครั้งหลังจากที่ฉันขอให้เล่าเรื่องบ้าน ชีวิต และกับข้าวอีสานให้ฟังอยู่บ่อยๆ
แม่บอกว่า บ้านหลังนี้สร้างด้วยไม้ไผ่ฝีมือของตา ยกใต้ถุนสูงตามแบบฉบับของบ้านชาวไทยอีสาน พาดด้วยบันไดไม้ไผ่สำหรับขึ้นบ้าน และมุงหลังคาสังกะสี ด้านในไม่กั้นห้องเพื่อให้ลมพัดเข้าออกได้สะดวก ฝาบ้านด้านหนึ่งสามารถเปิดปิดได้ หากช่วงฤดูร้อน อากาศร้อนจัด ก็จะใช้ไม้ไผ่ค้ำทั้งฝาบ้านเพื่อให้ลมโกรก ซึ่งบริเวณนี้จะเป็นที่นอนของทุกคนในบ้าน ถัดไปคือชานบ้าน ที่มีตุ่มน้ำขนาดใหญ่สองตุ่มสำหรับรองน้ำฝนไว้ใช้ดื่ม
“น้ำฝนสมัยก่อนอร่อย ยิ่งอยู่ในตุ่มดิน ตักกินหลายๆ อึก เย็นชื่นไปทั้งหัวใจ” เสียงคำว่าชื่นของแม่ลากยาว
ครัวไฟของยาย
“บ้านไหนไร้ควันจากไฟฟืน บ้านนั้นคงไม่มีคนอยู่” แม่บอกว่านี่คือจุดสังเกตว่าเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงอยู่บ้านหรือไม่ หากอยู่แต่ไม่มีควันทำกับข้าว ก็จะรีบไปดูและถามไถ่ด้วยความเป็นห่วง เพราะคนสมัยก่อนมักเป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ที่ชาวบ้านมักเรียกว่า ‘ไหลตาย’ โดยมีความเชื่อกันว่า นอนตายไปดื้อๆ ก็เพราะ ‘ผีแม่ม่าย’ มารับตัวไป
อีกอย่าง ควันไฟจางๆ ยังแสดงให้เห็นถึงชีวิตที่เรียบง่าย กินง่ายอยู่ง่ายในแต่ละวัน และพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก โดยครัวของยายตั้งอยู่ริมชานบ้าน เป็นครัวไฟที่เรียกกันว่า ‘คีไฟ’ หรือที่สำหรับตั้งเตาหุงต้ม จะทำจากไม้ตีเป็นคอกสี่เหลี่ยม ปูพื้นด้วยไม้ และใช้ดินเหนียวปั้นเป็นก้อนเส้า (เตา) จำนวนสามก้อน (ลักษณะเหมือนการใช้ก้อนหินสามก้อนมาวางในวิชาลูกเสือ) เพื่อให้ตั้งหม้อหรือกระทะได้
เหนือคีไฟขึ้นไป ตาจะทำหิ้งไว้แขวนพริก หอมแดง กระเทียม และหวดนึ่งข้าว หากช่วงไหนมีปลาแดดเดียว กบแดดเดียว ก็จะมาแขวนไว้เหมือนการรมควัน ก่อนนำไปทำกับข้าวต่อ ฝาบ้านด้านหนึ่งจะเหน็บฝาหม้อ มีด และพร้า มีกระทะ หม้อ กระจาด และกระบุงแขวนอยู่อีกด้านหนึ่ง ข้างๆ กันคือตู้กับข้าวไม้ขนาดย่อมๆ ชั้นล่างของตู้จะวางไหปลาร้าใบเล็กๆ ที่ตักแบ่งมาจากตุ่มหมักปลาร้า ขวดน้ำปลา กระปุกผงชูรส โหลใส่เกลือดินที่ยายต้มเองสำหรับหมักปลาร้า ชั้นบนไว้ใส่กับข้าวที่ทำเสร็จแล้วหรือที่กินเหลือ พร้อมกับกระติ๊บข้าวเหนียวใบโตที่ไม่เคยพร่อง เตรียมไว้ให้ทุกคนในบ้านเสมอ
“วันไหนที่เล่นวิ่งแข่งกลับบ้านหลังเลิกเรียนกับเพื่อนๆ เวลาหิวซ่กๆ ได้ข้าวเหนียวสักปั้น จิ้มแจ่วที่เหลือในตู้กับข้าว แค่นั้นก็เป็นตาแซ่บล้ายหลาย แซ่บจนมีแฮง มีความสุขหลาย” (แค่นั้นก็อร่อยมาก อร่อยจนมีแรง มีความสุขมาก)
เกลือดิน หนังควายตากแห้ง และสาโทของตา
แววตาและรอยยิ้มของแม่ไม่เคยโกหกถึงความสุขเล็กๆ ที่เกิดขึ้น เพียงแค่ได้ข้าวเหนียวเย็นๆ ปั้นเดียว ได้วิ่งเล่นกับเพื่อน ได้ช่วยยายทำกับข้าว ความสุขของแม่สะท้อนกลับมาสู่ความรู้สึกของฉัน ความสุขที่เหมือนข้าวเหนียวปั้นเดียวก้อนนั้นคืออะไรกันแน่ – ฉันได้แต่คิด แต่กลับไม่ได้ใส่ใจ เพราะอยากจะฟังเรื่องเล่าของแม่มากกว่า โดยเฉพาะเรื่องฤดูต้มเกลือ ที่แม่เรียกว่า ‘ความสนุกรสเค็ม’
ฤดูต้มเกลือที่บ้านกอกจะเริ่มต้นหลังเกี่ยวข้าวไปแล้วประมาณหนึ่งถึงสองเดือน ช่วงนี้แม่และแก๊งเลี้ยงควายมักจะออกไปวิ่งเล่นแถว ‘นาโคก’ หรือพื้นที่ป่าที่เปลี่ยนให้เป็นนาปลูกข้าว โดยส่วนใหญ่จะมีความแห้งแล้งอยู่ในตัวอยู่แล้ว หากปีไหนไม่มีฝน นาโคกก็จะไม่สามารถปลูกข้าวได้ แต่อาจจะได้ผลผลิตอย่าง ‘เกลือ’ มาแทน
“ข้างๆ นาโคกมักจะเป็นดินเอียด หรือดินที่มีคราบเกลือขุ่นๆ อยู่บนผิวดิน ตอนเด็กๆ แม่จะชอบพกมะขามอ่อน เดินเล่นไป หยิบมะขามอ่อนจิ้มดินเอียด กินเล่นกับเพื่อนไป เปรี้ยวๆ เค็มๆ สนุกสุดๆ และสุดท้ายก็ท้องเสีย ถ่ายเหลวจนปากซีด” แม่หัวเราะจนเกือบหงายหลังให้กับความสนุกของตัวเอง
ดินเอียดของแม่ (และเพื่อนๆ ด้วย) จะค่อยๆ แปลงกายเป็น ‘นาเอียด’ ผิวดินจะเต็มไปด้วยขี้เกลือสีน้ำตาลอ่อนๆ ขุ่นๆ จับตัวขึ้นเป็นแพ มองแล้วคล้ายกับ ‘พรมเกลือ’ ผืนใหญ่ ไม่ช้าก็จะได้เวลา ‘ต้มเกลือ’ กันแล้ว
“แม่ไปช่วยยายต้มเกลือบ่อยจนจำขั้นตอนคร่าวๆ ได้” แม่เล่าว่า เริ่มจากขูดดินเอียดมาผสมกับน้ำ ใส่บ่อพักที่เจาะรูไว้ เพื่อกลั่นให้เป็นน้ำเกลือ ทิ้งไว้ประมาณสองสามวัน เพื่อให้น้ำเกลือใส จากนั้นก็ตักเฉพาะน้ำเกลือใส่ในรางสี่เหลี่ยม หน้าตาคล้ายรางข้าวหมู ต้มจนงวด ตักขึ้นมาตากให้แห้งอีกรอบ แล้วค่อยตักใส่ถุงปุ๋ย ทำทีหนึ่งก็จะได้ประมาณบ้านละสองสามถุง แบ่งๆ กันไป ส่วนใหญ่จะเก็บไว้กินเอง มีบางส่วนนำไปแลกกับสินค้าจากท้องถิ่นอื่นๆ
“เกลือที่ได้ ส่วนใหญ่ยายจะเอาไปหมักปลาร้า ทำกบ ปลา อึ่งอ่างแดดเดียว แต่ทีเด็ดสุดๆ คือหนังควายและหางควายตากแห้ง เคี้ยวแต่ละที แข่ว (ฟัน) แทบหลุด แต่แซ่บล้ายหลาย ยิ่งกินกับแจ่วปลาแดกกับข้าวเหนียวร้อนๆ โอ๊ย! คิดฮอดอิพ่อเด้อจ้า (คิดถึงพ่อจังเลย)”
หนังควายตากแห้ง เป็นเมนูเคี้ยวเพลินที่มีส่วนผสมแค่เกลือและรำอ่อน ตากแดดจนแห้ง เวลาจะกินก็นำไปเผาไฟแล้วทุบเอาคราบไหม้ออก เช่นเดียวกับหางควาย จะนำหางไปต้มและเลาะกระดูกออก ใส่เกลือและรำอ่อน ตากให้แห้ง จะกินก็นำไปเผาและทุบ โดยมีความเชื่อกันว่า การเคี้ยวหนังควายเค็มเป็นการกระตุ้นร่างกายให้อบอุ่น เพราะต้องใช้แรงในการบดเคี้ยวนาน
“ตาชอบกินหนังควายตากแห้งช่วงฤดูหนาว ระหว่างเกี่ยวข้าว ตาจะก่อกองไฟเล็กๆ เพื่อจี่หนังควาย กินคู่กับสาโทหมักเองที่ทำจากข้าวและน้ำตาล หมักทิ้งไว้ตั้งแต่ช่วงหน้าร้อนปีที่แล้ว นำออกมากินในวันที่อากาศหนาวเหน็บในปีถัดไป ตาบอกว่า นี่ละ ‘สุดยอดแห่งความสุข’ ที่แม่เองก็พลอยมีความสุขไปด้วย” แก้มของแม่แดงระเรื่ออีกแล้ว
‘หมกปลาซิว’ ตัวแทนความสุขประจำตัว
“อีกหนึ่งเมนูที่แม่ขอยกให้เป็นสุดยอดแห่งความสุข ก็คือหมกปลาซิวแก้ว” แม่ทำตาโตเหมือนเพิ่งนึกอะไรออก และใบหน้าของแม่เปลี่ยนท่าที เมื่อนั้นเองเราจะได้กินกับข้าวอีสานกันอีกแล้ว
แม่เอ่ยค้างไว้แล้วเดินไปหาป้าน้อย แม่ค้าขายส้มตำข้างบ้าน ฝากให้ช่วยซื้อปลาซิวแก้วให้ครึ่งกิโล ราคาประมาณ 30 บาท ส่วนหอมแดง กระชาย พริกจินดา น้ำปลาร้า กระเทียม ตะไคร้ ต้นหอม และข้าวเบือ (ข้าวเหนียวแช่น้ำโขลกให้ละเอียดใช้แทนแป้งมัน) มีพร้อม ขาดแต่ใบขี้ตู่ (แมงลัก) ผักชีลาวและใบชะพลู ที่แม่เดินไปตลาดข้างบ้านซื้อมา สามกำสิบบาท พร้อมกับใบตองอีกครึ่งกิโลกรัม
ก่อนนอน แม่ซื้อพวงมาลัยมาไหว้รูปตาและยายที่ใส่กรอบไว้เหนือหัวนอน แทนคำบอกกล่าวว่า ลูกสาวคนนี้ยังคงรักและคิดถึง กลางคืนผ่านไป รุ่งเช้าโผล่มาพร้อมกับท้องฟ้าที่ไร้ฝน เมื่อฉันตื่นขึ้นมา ลงไปหาแม่ที่ครัวชั้นล่าง ก็เห็นว่าวัตถุดิบการทำหมกปลาซิวพร้อมปรุงแล้ว
แม่ยกครกหินมารอ จากนั้นก็ใส่หอมแดง พริกจินดา แต่จริงๆ ใส่พริกกะเหรี่ยงจะหอมและเผ็ดกว่า ตามด้วยตะไคร้ซอย กระชายซอย กระเทียม และข้าวเบือ โขลกให้แหลก ก็จะได้เป็นเครื่องสมุนไพร ตักใส่ปลาซิวแก้วที่ล้างน้ำเกลือจนหายคาว ใส่ผักชีลาว ใบแมงลักและต้นหอม เติมน้ำปลา ปลาร้า และเกลือ คลุกให้เข้ากัน รสจะต้องเค็มนำ เผ็ดตาม
“ป้าน้อย ได้เวลาห่อหมกแล้วจ้า” แม่ตะโกนเรียนป้าน้อย ผู้ที่เรายกให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการห่อ ป้าน้อยฉีกใบตองวางซ้อนกันสามแผ่น ตักปลาซิวแก้วที่คลุกแล้ววางลงไป พับครึ่งใบตองเข้าหากัน จับจีบที่ปลายด้านหนึ่งและอีกด้านหนึ่งอย่างคล่องแคล่ว แล้วกลัดด้วยไม้จิ้มฟัน
แม่ยื่นเงินค่าปลาให้ ป้าน้อยส่ายหน้าแล้วบอกว่า “ห่อใหญ่สุด ป้าจองนะ” ป้าน้อยหัวเราะยกใหญ่แล้วเดินกลับร้าน จากนั้นแม่ก็นำห่อหมกปลาซิวแก้วใส่หวดนึ่งจนใบตองเปลี่ยนเป็นสีเข้ม ไม่ช้ากลิ่นใบตองนึ่งที่เคล้าด้วยกลิ่นผักชีลาวและผักชนิดอื่นๆ ก็ลอยฟุ้ง
“ป้าน้อย หมกเสร็จแล้วจ้า” แม่ตะโกนบอกอีกครั้ง ป้าน้อยคว้าข้าวเหนียวห่อเล็กๆ มาด้วย แม่แกะห่อแรกด้วยใจตึกตัก ป้าน้อยปั้นข้าวเหนียว จ้วงปลาซิวพร้อมพริกใส่เข้าปาก เคี้ยวตุ้ยๆ แล้วบอกว่า แซ่บโพด! (อร่อยสุดๆ) แถมชมว่า ทำขายได้เลย ทำเอาแม่ยิ้มแก้มปริ แล้วก็ลองชิมบ้าง ทั้งแม่และป้าน้อย รวมทั้งฉัน ผลัดกันชิมคนละคำสองคำ
หมกปลาซิวแก้วทำให้ฉันรู้แล้วว่า ความสุขเล็กๆ ที่มองหามาเนิ่นนานคืออะไร หากความสุขที่จิ๋วที่สุดของแม่คือข้าวเหนียวโรยเกลือในวันที่เหนื่อยจนเหงื่อซ่ก ความสุขจิ๋วของฉันก็คงเป็นความสุขของทุกคนในครอบครัว เสียงหัวเราะของแม่ คำด่าที่แซวเล่นของพ่อ อาการลั้นลายกมือขึ้นหัวของน้องสาวคนเล็กที่ลูกชายของฉันลอกเลียนมาได้เหมือนเป๊ะ และการยกนิ้วโป้งยอดเยี่ยมแต่ไม่ยอมยิ้มของน้องชายคนรอง
เมื่อรวมกัน ก็ไม่ต่างจากหมกปลาซิว ปลาตัวเล็กที่ใครๆ ก็เปลี่ยนไปทำเป็นเมนูอื่นได้ยาก แต่กลายเป็นกับข้าวแสนง่ายที่ชาวอีสานสามารถนำมาทำเป็นกับข้าวคู่ครัวได้ตลอดทั้งปี
คอลัมน์ ‘รสกับข้าว’ ซีรีส์เรื่องเล่าที่เกี่ยวกับอาหารและความสัมพันธ์ โดยมีตอน ‘อีสานขนานแท้’ เป็นซีรีส์ชุดแรกที่ว่าด้วยเรื่องของวัฒนธรรมการกินของชาวอีสาน ผ่านเรื่องเล่าในวัยเยาว์ของผู้เป็นแม่ ที่แฝงไปด้วยแนวคิดดีๆ ต่อการใช้ชีวิต บทความเผยแพร่ไปแล้วรวมทั้งหมด 9 ตอน 9 เมนูด้วยกัน สามารถติดตามอ่านบทความรสกับข้าวทั้งหมดได้ที่ https://adaybulletin.com/category/life/roskubkao