ซุบมะเขือ

จงเติบโตอย่างตั้งใจให้เหมือน ‘ซุบมะเขือ’

ท้องฟ้า สายฝน และการเอิ้นขวัญ

        ทุกครั้งที่เมฆเทาเข้มเคลื่อนตัวมาคลุมท้องฟ้าจนเปลี่ยนเป็นสีหม่น หากมีลมกระโชกแรงมาเป็นระลอกๆ นั่นแสดงว่า อีกไม่ช้าฝนก็จะตก หยดน้ำที่กำลังพอดี นำความอุดมสมบูรณ์มาสู่ชาวบ้าน รวงข้าวในนาเจริญงอกงาม พืชผักต่างๆ ผลิดอกและแตกใบอ่อน สัตว์กินได้ตัวเล็กตัวน้อยต่างอ้วนพี มีแอ่งน้ำเล็กๆ น้อยๆ ให้ได้กระโดดย่ำโคลนเล่นอย่างสนุกสนาน

        บรรยากาศที่แสนคุ้นชินแบบนี้ แม่บอกว่าตั้งแต่เข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ก็ไม่เคยได้สัมผัสกับสิ่งเหล่านี้อีก ต่อให้มองเห็นเม็ดฝน เห็นพืชผักเล็กๆ ในกระถางข้างบ้าน ได้ยินเสียงนกขุนทองบ้างเป็นครั้งคราว แต่ก็ไม่มีอะไรมาแทนที่ได้

        “นี่คือ ‘การแลกเปลี่ยน’ ระหว่างชีวิตที่ต้องหาเงิน แล้วเดินหน้า หรือชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ แล้วเหมือนย่ำอยู่กับที่” น้ำเสียงของแม่เข้มและหนักแน่น แข่งกับเสียงฟ้าร้องที่ดังเป็นระยะๆ ท่ามกลางสายฝนที่ตกลงมาอย่างไม่ลืมหูลืมตา  

        แต่แม่ก็ไม่เคยลืมชีวิตที่ยึดโยงกับธรรมชาติเหล่านั้นได้เลยสักครั้ง และทุกครั้งที่อากาศเริ่มเปลี่ยน ลมเริ่มพัดแรง หรือฝนเริ่มตก แม่จะเปรยบางอย่างขึ้นเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน แม่เอ่ยถึงท้องฟ้าที่หมู่บ้านเล็กๆ ชื่อว่า ‘บ้านกอก’ ทีไร แม่มักจะย้ำเสมอว่า ต่อให้ฝนตกหนักแค่ไหน ท้องฟ้าของแม่ก็เต็มไปด้วยความสนุกและเรื่องราวดีๆ เสมอ  

        “หากปีไหนมีลูกเห็บตก แม่จะอารมณ์ดีเป็นพิเศษ” แม่ยิ้มแล้วบอกว่า คงเป็นเพราะได้ยินเสียงน้ำแข็งก้อนเล็กๆ กระทบหลังคาบ้านที่มุงด้วยสังกะสีดังปุกๆ เหมือนเสียงคนกำลังตีกลอง ฟังไปสักพักก็ได้เวลาสนุก แม่ก็จะคว้ากะละมังใบน้อยออกไปรองลูกเห็บก่อนที่จะตกลงพื้นดิน เก็บกินเคี้ยวดังกรุบๆ เย็นชื่นใจ

         ความสนุกของแม่มาพร้อมกับความกลัวที่ดี  

        “แม่เคยเห็นฟ้าผ่าในระยะประชิดนะ ลำแสงนั้นผ่าลงยอดต้นมะพร้าวข้างบ้านอย่างรวดเร็ว ทำให้ลำต้นโค่นล้มมาเกือบทับยายที่กำลังก้มหน้าก้มตาเก็บรางน้ำที่หักลงมา เพราะโดนลมพัดแรงจนพัง ส่วนตากำลังง่วนอยู่กับการปิดฝาบ้าน วินาทีนั้นขวัญของทุกคนกระเจิดกระเจิงไปคนละทิศคนละทาง    

        แต่หลังจากที่ทุกอย่างสงบลง ยายปลอดภัยแล้ว แต่กลายเป็นน้องเล็กสุดของบ้านที่ขวัญยังไม่กลับ แม่ยืนตัวแข็งทื่อด้วยความตกใจกลัว ยายโผเข้ากอด พานั่งลงที่ตัก ลูบหัวของแม่ด้วยความรัก แล้วเอ่ยเอิ้น (เรียก) ขวัญด้วยคำว่า “มาเด้อ ขวัญเอย” ซ้ำๆ แบบนี้จนแม่อุ่นใจ ยิ้มได้อีกครั้ง และหลังจากนั้นเป็นต้นมา แม่ก็ไม่เคยกลัวฟ้าร้องและฟ้าผ่าอีกเลย คงเพราะรู้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่กลัว เมื่อนั้นจะมีโอบกอดของยายเสมอ โดยที่ไม่เคยรู้เลยว่าจะมีได้เพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ

 

ซุบมะเขือ

 

        หากการเอิ้นขวัญของยาย ทำให้แม่ใจอุ่น คำเอิ้นขวัญของแม่ถึงฉัน “ขวัญเอ๋ย ขวัญมา แก้วตาของแม่” คงเป็นประโยคปลอบโยนที่ทำให้ใจของฉันแข็งแรง จนวันที่ฉันก้าวมายืนในตำแหน่งเดียวกันกับแม่ แล้วเอิ้นขวัญให้กับลูกชายในทุกๆ วันว่า

        “กอดกัน รักกัน กอดๆ กัน รักกัน” – ฉันเรียกความเชื่อมั่น และเรียกพลังให้ลูกชาย โดยที่ไม่ต้องรอให้ขวัญหนี แล้วค่อยตามขวัญกลับ แต่ไม่ว่าจะยังไง สำหรับฉัน การเรียกขวัญของยาย ของแม่คือ อาหารใจที่ครบหมู่ และเติมได้บ่อยเท่าที่ใจต้องการ แม้ว่าวันหนึ่ง ‘แม่’ จะไม่อยู่ให้เรียกขวัญแล้วก็ตาม

ต้นมะเขือของแม่ และผักริมรั้วของตา

        “แม่” – ฉันเรียกขวัญของแม่ให้กลับมา เพราะดูท่าขวัญนั้นจะล่องลอยออกไปไกลจนแม่เหม่อลอย

        แม่กลับมาพร้อมกับเรื่องเล่ารอบรั้วบ้าน แต่ยังคงอยู่ในช่วงกลางฤดูฝน แม่บอกว่า ช่วงนี้หากไม่มีพายุ บางหมู่บ้านก็จะเกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้น้ำท่วมฉับพลัน บ้านไหนที่ตั้งตัวไม่ทัน ข้าวของก็ลอยไปตามกระแสน้ำ หมู หมา ไก่ เป็น ควาย ที่เลี้ยงไว้ลอยคอกันเต็มหมู่บ้าน แต่ที่หมู่บ้านของแม่ น้ำไม่เคยท่วม

        “โชคดีที่ไม่ท่วม หากท่วมจริงก็คงสงสารแม่ไก่ อิเฒ่า และลูกๆ แย่  อีกอย่างคงทำให้ผักริมรั้วของตา และต้นมะเขือของแม่คงจมน้ำตาย” แม่เป็นห่วงสัตว์เลี้ยงและแปลงผักสุดโปรดที่เฝ้าทะนุถนอมมาอย่างดี แล้วอธิบายถึงความสวยงามของรั้วกินได้รอบบ้านให้ฟังว่า

        “นอกจากจะสานแหเก่งแล้ว ตายังปลูกผักเก่งด้วยนะ” แม่เริ่มวาดตำแหน่งรั้วลงบนกระดาษ แล้วอธิบายไปทีละฝั่ง โดยให้หน้าบ้านหันหน้าเข้าตัวเรา ขีดๆ เขียนๆ แล้วบอกว่า ด้านข้างฝั่งติดทางเกวียน จะปลูกต้นกล้วยน้ำว้า มะพร้าว สับปะรด และต้นมันสาคู โซนนี้ทำเป็นของหวาน อย่างเมนูมันสาคูต้มกินแทนขนมในช่วงหน้าหนาว กล้วยน้ำว้าทำข้าวต้มมัด ส่วนสับปะรดไม่ทันจะได้กิน เพราะเมื่อสุกได้ที่ทีไรเต่าเพ็กประจำหมู่บ้านก็มาแอบกินไปก่อนทุกที่ แต่หากรอดก็จะได้กินสดๆ ไม่ก็เอาไปผัดน้ำมัน กลายเป็นกับข้าวที่อร่อยสุดยอด

        รั้วข้างบ้านอีกด้าน ติดกับยุ้งข้าว จะปลูกต้นน้อยหน่า และต้นขนุน สำหรับกินสด และบางส่วนเก็บไปทำกับข้าว อย่างซุบบักมี่ (ยำขนุนอ่อนสไตล์อีสาน) ส่วนฝั่งหลังบ้านจะเป็นแปลงที่แม่ชอบมากที่สุด ตรงนั้นจะมีพื้นที่ระหว่างบ้านและรั้วไม้ ตาจะยกร่องดินขึ้นเพื่อปลูกมันแกว ชะอม มะเขือเปราะ มะเขือม่วง พริก ตะไคร้ สลับหมุนเวียนกันไป

        แต่ที่แม่หวงน่าดูก็คงเป็นต้นมะเขือ เพราะแม่จะต้องดูแลเพื่อเก็บดอกมะเขือนำไปไหว้ครู พร้อมกับหญ้าแพรก ผลพวงที่ได้ยิ่งอย่างก็คือ ซุบมะเขือ (ยำมะเขือเปราะสไตล์อีสาน) ไม่ใส่พริก กับข้าวฝีมือยายที่แม่กินมาตั้งแต่เล็ก     

ซุบมะเขือ ที่ไม่ใช่ ‘ซุป’

        ฉันคุ้นเคยกับเมนู ‘ซุบ’ ของแม่มานานแล้ว ซุบของแม่ ไม่ใช่ ‘ซุป’ แบบอาหารฝรั่ง แต่มีลักษณะคล้ายกับน้ำพริกผสมกับยำ แต่ก็ใช้วิธีการโขลกในครกไม้ โดยมีส่วนผสมเหมือนกับ ‘ป่นปลา’ น้ำพริกสไตล์อีสาน

        เมื่อฉันถามถึงความหมาย แม่ส่ายหน้าแล้วบอกแค่ว่า “เขาเว้ากันมาจั่งซั่นจังซี่” (เขาพูดกันมาแบบนั้นแบบนี้) ฉันจึงออกไปค้นหาความหมาย ได้ความว่า ซุบในภาษาอีสานหมายถึง อาหารที่ปรุงโดยผ่านการต้ม+คั่ว+ตำ หรือนึ่ง+คั่ว+ตำ ซึ่งวิธีการทำอาหารแบบนี้ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวอีสาน เรียกได้ว่ามีแห่งเดียวในโลก

        “แม่นแล้ว (ถูกต้อง) คือการต้ม คั่ว ตำ เท่ากับซุบบักเขือ (มะเขือ) รวมทั้งซุบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นซุบบักมี่ (ขนุนอ่อน) ซุบหน่อไม้ ทุกอย่างแซบโพด” (อร่อยมาก) แม่เองก็เพิ่งเคยได้ยินคำอธิบายสั้นๆ ที่เข้าใจง่ายแบบครั้งแรก

 

ซุบมะเขือ

 

        และเมื่อซุบมาสะกิดใจ แม่จึงเดินไปตลาดสดข้างบ้าน ซื้อมะเขือเปราะสดๆ มาครึ่งกิโล ราคาประมาณ 19 บาท ปลาทู 1 ตัวราคา 40 บาท สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง ต้นหอมรวมกัน 10 บาท น้ำปลาร้า 1 ถุง 10 บาท ส่วนพริกแดง หอมแดง และกระเทียมไทย มีพร้อมแล้วในครัว

 

ซุบมะเขือ

 

        แม่เริ่มจากการต้มมะเขือเปราะจนสุกนิ่ม คั่วพริก กระเทียมและหอมแดงในกระทะจนแห้ง ซึ่งหากเป็นสูตรของยาย จะโยนของเหล่านี้ลงในขี้เถ้าใต้เตาถ่านที่กำลังย่างปลา ผ่านไปสักพักก็เขี่ยออกมา แล้วนำมาโขลกเลย

 

ซุบมะเขือ

 

        ถัดมาก็ทอดปลาทูพักให้เย็นสนิท แกะเอาก้างออก แต่หากสูตรยายจะใช้ปลาดุกหรือปลาช้อนต้มที่ตาหว่านแหมาได้ หลังจากนั้นก็โขลกพริก หอมแดงและกระเทียมจนแหลก ใส่ปลาทู และมะเขือเปราะ เติมน้ำปลาร้าเป็นลำดับสุดท้าย ชิมรสตามใจชอบ  

 

ซุบมะเขือ

 

        “กับข้าวอีสานต้องเติมผงชูรสนิด เกลืออีกหน่อย จะเพิ่มความแซ่บนัว แล้วก็หยั่วๆ ใส่กัน (ลักษณะการโขลกแบบเบาๆ แต่เร็วๆ) แป๊บเดียว ซุบบักเขือก็เสร็จเรียบร้อย หากกินตอนเสร็จใหม่ๆ จะได้รสแซ่บ เผ็ดนำ เค็มตาม แต่หากนำไปแช่ตู้เย็นสักสองสามชั่วโมง แล้วจกกินพร้อมข้าวเหนียว จะได้รสนัวที่คาดไม่ถึง” – แม่เผยเคล็ดลับที่มารู้ทีหลังเหมือนกัน  

จงเติบโตอย่างตั้งใจ

        หลังจากที่ล้อมวงกินข้าวมื้อเช้าด้วยเมนคอร์สอย่างซุบมะเขือปลาทู เคียงด้วยสะระแหน่ ผักชีฝรั่ง และต้นหอม ได้ไข่เจียวแห้งอีกจานโต ต้มจืดเต้าหู้หมูสับอีกชามโต ท้องอิ่ม ใจอุ่น ยิ้มหน้าบานรับทุกสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

        รวมทั้งสถานการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนให้สะใภ้คนจีนอย่างแม่ หันกลับมาทำกับข้าวอีสานอีกครั้ง

 

ซุบมะเขือ

 

        “สมัยก่อนที่แม่ไม่ทำ เพราะป๊าไม่กิน อีกอย่างอาม่าก็เป็นคนทำกับข้าวเองทุกมื้อ แต่พออาม่าเสีย แม่ก็ต้องเริ่มทำ จนวันที่ป๊าเริ่มแก่ตัว หันมากินน้ำพริกและผักสด ผักลวกมากขึ้น แม่ก็เลยขุดเมนูรสมือยายขึ้นมาลองทำ ปรากฏว่าป๊ากินและชมว่าอร่อย และเป็นจังหวะเดียวกันกับพวกหนูๆ โตขึ้น กินเผ็ด แม่ก็เลยลองชวนกินอาหารอีสาน และลูกของแม่ก็ชอบใจ เวลาที่ลูกเอ่ยชมว่าอร่อย พร้อมยิ้มจนพวงแก้มแทบแตก ใจแม่ก็ฟูเหมือนก้อนเมฆ” แม่ของฉันช่างจินตนาการ

        แม่บอกว่า อาการแบบนี้ ทำให้นึกถึงยายชี ตอนนั้นก็คงรู้สึกไม่ต่างกัน รวมทั้งคำพูดที่มักได้ยินหลังกินข้าวเสร็จอยู่บ่อยว่า “กินเข่าหลายๆ จะได้มีแฮง โตขึ้นเป็นเจ้าคนนายคนเด้อลูก”  (กินข้าวเยอะๆ จะได้มีแรง โตขึ้นเป็นเจ้าคนนายคนนะลูก) — คำกล่าวของยายดังก้องในความรู้สึก เพราะทุกๆ วันเข้าพรรษา แม่พาฉันไปกราบยายที่วัด ยายก็ยังคงเอ่ยคำนี้เสมอ แม้ตอนที่ยายล้มป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล และไม่ได้กลับบ้านอีกเลย

        ตอนเด็กๆ ฉันเข้าใจว่า ยายไม่อยากเห็นฉันใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก หากเป็นนายคนก็คงเป็นคนที่ร่ำรวย แต่เมื่อฉันโตขึ้น ฉันเพิ่งเข้าใจในความหมายอีกนัยของยายได้ว่า จงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีความเมตตาให้สมกับอาหารทุกคำที่แม่ตั้งใจทำให้กิน—น่าจะเป็นความหมายนี้มากกว่าที่ยายตั้งใจจะสื่อสารให้แม่และฉันจวบจนทุกวันนี้