ผัดมะละกอหมูสับ

‘ผัดมะละกอหมูสับ’ กับข้าวที่แต่งรสด้วยเครื่องปรุงที่เป็นยา ซึ่งเรียกว่า ‘การใช้ชีวิต’

ท้ายฤดูฝนที่กำลังจะชนกับต้นฤดูหนาว  

        และแล้วสายฝนสุดท้ายของปีก็ได้โบกมือลาฤดูกาล หลงเหลือไว้เพียงร่องรอยของความชุ่มฉ่ำ และความเขียวขจีของพืชพรรณธัญญาหาร ฉันชอบช่วงเปลี่ยนผ่านของฤดูแบบนี้ โดยเฉพาะที่บ้านทุ่งโพธิ์ อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร 

        ท้ายฤดูฝนที่กำลังจะชนกับต้นฤดูหนาว ทำให้แปลงนาปีตรงข้ามบ้านเขียวชอุ่ม อุดมไปด้วยต้นข้าวสายพันธุ์หอมมะลิที่กำลังตั้งท้องกลมอวบออกรวงสีเขียว ฝูงผีเสื้อตัวเล็กสีเหลืองบินอยู่เหนือยอดข้าว บางจังหวะก็บินต่ำลงมาเกาะพื้นดินบนคันนา ท้องฟ้าถูกแต่งแต้มให้เป็นลายจุดเล็กๆ ด้วยเหล่าแมลงปอสีทอง ที่ออกมาบินรับแสงอาทิตย์ในช่วงที่อากาศอุ่นกำลังดี

 

ผัดมะละกอหมูสับ

 

        ในขณะที่แปลงนาปรังหลังบ้าน ซึ่งเป็นนาข้าวที่ปลูกได้ปีละสองครั้ง เพราะเป็นแปลงที่เน้นปลูกข้าวสายพันธุ์ กข หรือข้าวเสาไห้ ที่มีลำต้นเตี้ย และใช้เวลาเก็บเกี่ยวสั้นกว่าข้าวหอมมะลิ ก็เริ่มทยอยออกรวงสีเหลืองทอง อีกไม่นานฤดูกาลเก็บเกี่ยวก็จะเริ่มต้นขึ้น เสียงรถเกี่ยวข้าวก็จะเริ่มดังกังวาน สลับกับเสียงเครื่องยนต์ของรถอีแต๋นที่เทียวบรรทุกข้าวไปโรงสีบริเวณใกล้เคียง อีกอึดใจเดียว บ้านทุ่งโพธิ์ก็จะกลับมาชีวิตชีวาและคึกคักอีกครั้ง        

        ปลายฤดูฝนยังทำให้ลำน้ำน่านที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านเท่าไหร่มีปริมาณน้ำที่สูงขึ้น แต่ยังเป็นสีแดงโคลน เด (คำเรียกพ่อในภาษาจีนไหหลำ) บอกว่า แม่น้ำน่านรับน้ำมาจากน้ำป่าที่เกิดจากฝนตกหนัก ในไม่ช้าจะเพิ่มปริมาณที่สูงขึ้นจนน้ำกลับมามีสีน้ำตาลใส ทั้งยังทำให้ลำคลองสายเล็กๆ ข้างบ้านที่เคยแห้งขอดเต็มไปด้วยสายน้ำ ก่อนที่จะไหลมาบรรจบที่ฝายปูนระยะแรกที่หลังบ้านของฉัน จนได้ยินเสียงน้ำซู่ซ่าราวกับมีน้ำตกส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา ยิ่งฟังยิ่งเหมือนจังหวะดนตรี บรรเลงให้ที่นี่ไม่เงียบเหงาในช่วงกลางวัน และขับกล่อมให้เป็นยานอนหลับธรรมชาติในช่วงเวลากลางคืน 

 

ผัดมะละกอหมูสับ

 

        เดเล่าว่า ฝายปูนหลังบ้านอยู่กับที่นี่มาตั้งแต่ก่อตั้งโรงสี ในสมัยเดยังเล็กๆ ฝายแห่งนี้ไม่เคยแห้งแม้ในฤดูแล้ง ช่วงหน้าร้อนเด็กๆ ก็จะพากันมากระโดดเล่นน้ำ ผู้ใหญ่ก็จะพากันอาบน้ำ ล้างจาน ซักผ้า ผู้ชายจะมาดักไซจับปลา หรือขึงตาข่ายตาถี่ไว้ที่ฝาย รอให้ปลากระโดดทวนน้ำเข้ามา 

       สายน้ำที่ไหลแรงก็จะนำพาความอุดมสมบูรณ์ และความสนุกสนานมาให้ผู้คนในหมู่บ้านเสมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงตอนนี้ น้ำจะมาเฉพาะปีที่ฝนตกหนัก บางปีฝายก็ปล่อยทิ้งร้างเพราะน้ำไม่มา 

        “เมื่อไหร่ฝายแห้ง เมื่อนั้นทุกอย่างก็ดูแห้งแล้งจนใจหาย” เดเอ่ยขึ้นเมื่อเดินมาสมทบกับฉันที่กำลังยืนฟังเสียงน้ำ

        เดยังบอกว่า โชคดีที่ปีนี้น้ำมา ฝายก็พาความอุดมสมบูรณ์กลับมาอีกครั้ง แม้จะไม่ใช่เพื่อคนทุกคนในหมู่บ้านเหมือนในอดีต แต่ก็เพื่อธรรมชาติเอง รวมไปถึงดินที่จะชุ่มฉ่ำ ส่งผลให้การเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียงเติบโต รวมทั้งแปลงผักเล็กๆ ข้างบ้านของเราด้วย

 

ผัดมะละกอหมูสับ

 

        ฝายหลังบ้านซ่อนเร้นอยู่หลังรั้วต้นฉำฉาอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี ประมาณ 4-5 ต้น ลำต้นที่สูงเกิน 4 เมตร เรียงเป็นแนวยาวไปตามริมตลิ่ง มีเพียงสะพานไม้บนฝายเท่านั้นที่เชื่อมต่อจากบ้านอีกหลัง ก่อนเข้าสู่รั้วสังกะสีที่เปิดช่องเล็กๆ ให้เข้ามาด้านในสู่อาณาบริเวณบ้าน ที่มีสระขุดขนาดใหญ่กั้นระหว่างตัวบ้านกับพื้นที่นอกสายตาเอาไว้อีกชั้น 

แปลงผักสวนครัว และมะละกอริมสระ  

        เดเล่าว่า สมัยก่อนยังไม่มีระบบประปาหมู่บ้าน บ้านแต่ละหลังส่วนใหญ่จึงมักปลูกใกล้กับแหล่งน้ำ ที่บ้านนี้ก็เหมือนกัน แต่เพื่อความสะดวกในการใช้งาน อากงก็เลยขุดสระน้ำขึ้นมาไว้ในบริเวณบ้าน แล้วต่อท่อเชื่อมกับลำน้ำหลังบ้าน ทุกคนในบ้านก็จะได้ใช้น้ำอย่างสะดวก แต่หลังจากที่มีระบบประปาประจำหมู่บ้าน แต่ยังคงเป็นการขุดเจาะใต้ดิน เพื่อนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ก็ตาม ท้ายสุดท่อนี้ก็ไม่ได้ใช้งาน และแตกไปในที่สุด ดังนั้น ปริมาณน้ำในสระจึงขึ้นอยู่กับบริเวณน้ำในฝายที่จะซึมผ่านชั้นใต้ดินจนเต็มสระแทน

        น้ำที่ซึมจากดินยังช่วยให้ไม้ดอกของเดบานสะพรั่ง แปลงผักสวนครัวของแม่เติบโต เก็บผลกินได้หลายมื้อ ไม่ว่าจะเป็นบวบ มะเขือเปราะ มะเขือม่วง มะนาว ตะไคร้ เตยหอม มะกรูด กระชาย และต้นกะเพราเขียวสายพันธุ์พื้นเมืองที่ขึ้นอยู่ข้างๆ ลานซักล้างข้างบ้าน รวมไปถึงต้นมะละกอของแม่ที่ขึ้นอยู่ขอบสระ และบริเวณใกล้เคียง 

        แม่บอกว่า ต้นมะละกอเป็นไม้ผลที่เติบโตง่าย อยู่ง่าย ทนทานและให้ร่มเงาได้ ไม่จำเป็นต้องปลูกก็ได้ เดี๋ยวนกมาจิกกินมะละกอจากบ้านใกล้เรือนเคียงบินผ่านบ้าน แล้วก็ขี้ลงมา ไม่ช้าต้นไม้มะละกออ่อนๆ ก็จะโผล่ดิน แล้วใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี เราก็จะได้มะละกอผลอวบๆ มากิน ทั้งแบบดิบและแบบสุก

        “ตั้งแต่อดีตจนถึงทุกวันนี้ คนแถวนี้ก็มักจะมีแปลงผักผลไม้ไว้เก็บกินตามฤดูกาลเป็นของตัวเอง ปีไหนออกดอกออกผลดกก็นำมาแบ่งกัน ส่วนมะละกอก็เป็นหนึ่งในของกินยอดนิยมที่ทุกบ้านต้องมี แม้ว่าจะไม่ได้ปลูกเองก็ตาม” พูดจบแม่ก็ชวนฉันเข้าครัว เตรียมทำผัดมะละกอหมูสับ เมนูเด็ดประจำบ้าน 

มะละกอผัดใส่ชีวิต

        ฉันขันอาสาขอเป็นคนสอย แม่เป็นคนชี้พิกัดมะละกอผลใหญ่ทรงเรียวยาว ฉันช้อนตะกร้อครอบมะละกอ ออกแรงดึงเล็กน้อย ไม่ช้ามะละกออวบอ้วนของแม่ก็มาอยู่ในกำมือ

 

ผัดมะละกอหมูสับ 

        แม่นำมะละกอดิบที่ได้มาล้างน้ำ ก่อนกรีดเปลือกมะละกอเพื่อปล่อยให้ยางสีขาวของมะละกอไหลออกมา ล้างน้ำอีกรอบ ปอกเปลือกจนเกลี้ยง ล้างน้ำสุดท้าย แม่คว้ามีดคู่ใจแล้วสับลงไปที่เนื้อมะละกอดังป๊อกๆ จากนั้นก็ใช้มีดปอกเปลือก ขูดให้มะละกอเป็นเส้นฝอยๆ สลับกับการสับไปเรื่อยๆ   

 

ผัดมะละกอหมูสับ

ผัดมะละกอหมูสับ

 

        ชักสนุกแล้วสิ, ฉันขอร่วมวงสับมะละกอด้วยคน

        ระหว่างที่ฉันกำลังสนุก แม่ก็เล่าว่า มะละกอดิบทำได้หลายเมนู อย่างเมื่อก่อนที่เน่ (คำเรียกยายในภาษาจีนไหหลำ) ชอบทำก็คือ แกงส้มปลาช่อนใส่มะละกอ แต่ทำบ่อยสุดเห็นจะเป็น ‘แกงเผ็ดแห้ง’ ใส่ไก่ มะละกอดิบ และใบกะเพรา ที่ขั้นตอนการทำเหมือนแกงเผ็ดทั่วไป แต่ไม่ต้องเติมน้ำ แต่เน่จะทำให้รสชาติเผ็ดน้อย และเค็มอ่อนๆ ตาม 

        “กินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยอย่างนี้เลย” แม่ยกนิ้วโป้งขึ้น 

        พลางบอกว่า ทีเด็ดอีกหนึ่งเมนูก็คือ ทำเป็นเครื่องแนม ด้วยการต้มมะละกอดิบจนนิ่ม ไว้กินกับ ‘น้ำพริกน้ำปลา’ ซึ่งเป็นเมนูน้ำพริกโบราณเฉพาะท้องถิ่น ส่วนผสมประกอบไปด้วยพริกและกระเทียมที่โยนใส่ในขี้เถ้าร้อนๆ ให้เปลือกนอกเริ่มเกรียมเล็กน้อยสังเกตได้จากกลิ่นหอมฉุยที่ลอยออกมาจากเตาถ่าน จากนั้นนำออกมาแกะเปลือกที่ไหม้ออก นำไปตำรวมกันเติมเกลือเล็กน้อย แล้วปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำตาลปี๊บ และมะนาว    

 

ผัดมะละกอหมูสับ

 

        มะละกอฝอยหนึ่งกองพูนเสร็จเรียบร้อย แม่หันไปเปิดเตาแก๊ส ตั้งกระทะ ใส่น้ำมันพืช ตามด้วยกระเทียมไทยทุบพอแตก ผัดกระเทียมให้เหลืองหอม ใส่หมูสับ ผัดจนสุก ตามด้วยมะละกอฝอย เติมน้ำเปล่าเล็กน้อย คลุกหนึ่งรอบ ปรุงรสด้วยน้ำมันหอย และซีอิ๊วขาว ปิดฝา รอให้น้ำเริ่มงวด เพื่อให้มะละกอนิ่มแต่ไม่เละ ซึ่งเป็นสไตล์การผัดที่ได้รับต่อมาจากเน่

 

ผัดมะละกอหมูสับ

ผัดมะละกอหมูสับ

 

        แม่เล่าว่า อากงก็ชอบเมนูนี้ และเคยเล่าให้ฟังว่า ผัดมะละกอหมูสับ ถือเป็นกับข้าวขึ้นโต๊ะสมัยที่อากงอยู่ที่เกาะไหหลำ นานทีปีหนจะได้กินเพราะที่ที่อากงจากมาไม่เอื้อต่อการเพาะปลูก แต่เมื่อมาอยู่เมืองไทยมะละกอปลูกได้ง่าย แถมขั้นตอนการทำก็ไม่ยาก เมนูนี้จึงกลายเป็นกับข้าวที่ทำบ่อย เพื่อให้สมกับชีวิตที่ต้องกินอย่างจำกัดจำเขี่ยมาตั้งแต่ยังเล็ก 

        ความลำบากที่ผ่านมาทำให้อากงและเน่ตระหนี่ ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ก็ไม่ได้ขี้เหนียวจนถึงขั้นไม่ยอมใช้เงิน นั่นเป็นเพราะสมัยก่อนเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนพลังชีวิต เพราะยังไม่มีค่าอะไร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าสังคมต่างๆ นานา แต่สิ่งที่มีค่ามากที่สุดของชีวิตในสมัยนั้นก็คือ ‘การมีชีวิตอยู่’ ต่างหาก

        เพราะการมีอยู่ของชีวิต ทำให้เราได้ทำสิ่งที่อยากทำอีกมากมาย – คงเป็นความหมายที่เน่ทิ้งไว้ 

        สำหรับแม่ ผลมะละกอดิบจึงเปรียบเสมือนหีบใส่ความหมายของชีวิต ที่ทำให้ใช้ชีวิตอยู่ที่นี่แม้จะจากบ้านยายก็แค่ต่างหมู่บ้านเท่านั้น เดก็เช่นกัน เกิดและเติบโตอยู่ที่ทุ่งโพธิ์ ไม่ได้จากไปไหนเลยจนทุกวันนี้

        “แม่คิดว่านี่คือการใช้ชีวิตตามธรรมชาติของชีวิตอย่างหนึ่ง” แม่พูดกับฉัน หลังจากสำรับมื้อเย็นพร่องลง ฉันพยักหน้าเห็นด้วยอย่างหมดใจ

        ยามเช้าตรู่ของต้นฤดูหนาว พื้นบ้านเริ่มเย็นกว่าเดิม สายลมอ่อนๆ เริ่มมีความเย็น พระอาทิตย์ค่อยๆ ขึ้นที่ขอบฟ้าข้างบ้าน ท้องฟ้าแจ่มใส ผีเสื้อหลากสีบินตอมมวลหมู่ดอกไม้หน้าบ้าน สายๆ ฝูงแมลงปอบินเหนือยอดต้นหูกระจง 

        ฤดูกาลใหม่ใกล้เข้ามาแล้ว, วันเก่าๆ ผ่านไป วันใหม่ก็จะผ่านเข้ามา และนี่คือธรรมชาติแสนธรรมดาของชีวิต