แกงเขียวหวาน

หัวใจที่หายไปอยู่ใน ‘แกงเขียวหวานหมู’ (เด้ง)

เสียงนกร้องและฤดูกาล

        ราวต้นเดือนพฤศจิกายน ฤดูหนาวในเมืองใหญ่ได้พัดผ่านมาพอให้หัวใจได้พองโตเพียงสองสามวัน หลังจากนั้นฤดูหนาวก็จากไป อาจจะพบกันอีกครั้งราวสิ้นปีหน้า ฤดูกาลที่มาเพียงชั่วครู่อาจจะไม่ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนมากเท่าไหร่นัก แต่ฤดูกาลและวันเวลาที่ผ่านไปในแต่ละเดือน ส่งผลต่อการมีชีวิตอยู่ของสัตว์เล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในเมือง โดยเฉพาะเหล่านกตัวเล็กอย่างนกกาเหว่าและนกกระปูด สัตว์ป่าที่เปลี่ยนพฤติกรรม และย้ายถิ่นมาอยู่ในเมืองใหญ่ จนทำให้เรามีโอกาสได้ยินเสียงของพวกมันในยามเช้าตรู่ ให้รู้สึกสดชื่นและรับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล

        ยามเช้านี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่ฉันได้ยินเสียงร้อง “กา เว้า กา เว้า” ของนกกาเหว่าที่ดังมาจากพื้นที่รกร้างแต่เต็มไปด้วยป่ากระถินยักษ์ข้างบ้าน เสียงร้องของมันดังกังวาน และรู้สึกว่าจะร้องบ่อยแทบทุกเช้า บางครั้งก็จะได้ยินตอนใกล้มืด

        แม่ของฉันเล่าให้ฟังว่า เมื่อไหร่ที่นกกาเหว่าเริ่มส่งเสียงร้องดังขึ้นและบ่อยมากขึ้น เมื่อนั้นหน้าหนาวกำลังจะมาเยือน เพราะนกชนิดที่ร้องดังก้องในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่พวกมันเริ่มหาคู่ ตัวผู้จะร้องให้ดังเพื่อให้ตัวเมียประทับใจ ก่อนที่จะผสมพันธุ์กัน และออกไข่อีกทีก็อีกสามเดือนข้างหน้า

        แม่ยังบอกอีกว่า ตอนเด็กๆ ชอบเสียงร้องของนกกาเหว่า ฟังแล้วรู้สึกสบายใจ แต่แม่กลับกลัวดวงตาสีแดงก่ำของมันที่เหมือนกำลังโกรธจนเลือดขึ้นหน้า เช่นเดียวกับดวงตาสีแดงของนกกระปูด

        “ถ้าจำไม่ผิด เมื่อเช้าแม่ได้ยินเสียงนกกระปูด แม่จำได้แม่นเพราะมันจะร้องว่า ปูด ปูด ปูด แต่แม่ก็แปลกใจว่าทำไมนกที่อาศัยใกล้ริมหนองน้ำ มาอยู่แถวนี้ที่ไม่มีแหล่งน้ำได้ยังไง” ฉันพยักหน้าเห็นด้วย และคิดว่ามันอาจจะปรับตัวให้เข้ากับเมือง อาศัยป่ากระถินข้างบ้านทำรังและวางไข่มาตั้งแต่ช่วงต้นฤดูฝน ป่านนี้ลูกๆ ของมันก็คงโตแล้ว แม่นกก็คงต้องออกมาหางูหรือสัตว์ตัวเล็กๆ ให้ลูกพวกมันได้กิน

        “ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน นกและฤดูกาลก็แทบจะไม่เปลี่ยนไปเลย เว้นแต่มนุษย์” แม่ทิ้งปริศนาบางอย่างให้กับฉัน     

        ปริศนาของแม่ยังไม่ได้รับการเปิดเผยและเอ่ยถึงอีก ประจวบกับช่วงนั้น ฉันได้ชวนสามีกลับบ้านต่างจังหวัดที่บ้านทุ่งโพธิ์ จังหวัดพิจิตร เป็นเวลาสั้นๆ เพียงสามวันสามคืน แต่เป็นช่วงเวลาที่ดีเหลือเกิน

        อีกไม่กี่นาที นาฬิกาจะบอกเวลาหกโมงเช้า ลูกชายวัยสองขวบของฉันตื่นแล้ว

        “หม่าม้าตื่น หม่าม้าตื่นเถอะ” เขาปลุกฉันด้วยเสียงพูดชัดถ้อยชัดคำ ฉันลืมตาตื่นขึ้น ใบหน้าน้อยๆ แก้มยุ้ยๆ ของเขาก็อยู่ตรงหน้า ดวงตาเล็กๆ กำลังจ้องมองมาที่ฉันพร้อมรอยยิ้ม แล้วพูดว่า “หม่าม้าตื่นแล้ว” – นาฬิกาปลุกที่ดีที่สุดในชีวิตของฉัน

        ฉันพาลูกชายออกจากห้องนอน เขานำหน้าวิ่งไปหลังบ้าน ประตูห้องครัวเปิดแล้ว แสดงว่าย่าของเขาตื่นนานแล้ว และกำลังเตรียมมื้อเช้า ลูกชายตัวน้อยวิ่งไปหาย่า เสียงเล็กๆ ในวัยเริ่มพูดและชอบถามกำลังคุยกับย่าอย่างสนุกสนาน ตรงนั้นฉันนั่งนิ่ง มองบรรยากาศยามเช้ารอบบ้าน

        ฉันชอบฟังเสียงน้ำตกจากฝายหลังบ้าน แว่วเสียงไม้กวาดทางมะพร้าวของเดที่กำลังกวาดใบไม้แห้งอยู่หน้าบ้าน เสียงนกกระจิบตัวเล็ก และเสียงที่เคยได้จากหลังบ้านที่กรุงเทพฯ – นกกาเหว่าร้อง

        ผิดแปลกไปสักหน่อยก็เมื่อฉันเห็นตัวจริงของนกกาเหว่า แต่น่าเสียดายที่ไม่เห็นตัวที่กำลังร้องดัง เห็นแต่ซากนกกาเหว่าตัวกลมสีน้ำตาลลายทางติดอยู่ที่ตาข่ายดักนกพิราบหลังบ้าน

        กาเหว่าโชคร้าย และกำลังหวาดกลัว ไม่ช้าเราจะไม่ได้ยินเสียงของมันอีก เพราะมันเรียนรู้ว่าจะไม่หาอาหารใกล้บ้านหลังนี้อีก และก็เป็นอย่างนั้น ฉันจำได้ว่าเมื่อปลายปีที่แล้ว ฉันไม่ได้ยินเสียงพวกมันยามเช้าจนแปลกใจ และนี่คือคงเป็นสาเหตุสำคัญ, ช่างน่าเสียดาย

ตลาดเช้าริมแม่น้ำน่าน

        นาฬิกาธรรมชาติหมุนไป อากาศที่เย็นสบายในช่วงเช้ามืดก็ค่อยๆ อุ่นขึ้น เสียงนกกาเหว่าเงียบลง แมลงปอออกมาบินหากินพร้อมเหล่าบรรดาผีเสื้อ เมื่อทุกอย่างเริ่มเงียบ ฉันกลับได้ยินเสียงบางอย่างที่ฟังแล้วรู้สึกประดักประเดิดชอบกล – ‘โป๊ก โป๊ก’ เสียงสากกระทบกับครกหินที่ได้ยินมาจากข้างบ้าน

        “สงสัยลูกหลานของยายเริงกลับบ้านมา แกคงเตรียมทำแกงสักหม้อ” แม่สามีคงได้ยินเสียงที่คุ้นเคยนี้เหมือนกัน

        “บ้านนั้นทำแกง บ้านนี้ก็ทำด้วยได้ไหม” สามีของฉันอ้อนแม่ คงเพราะอยากกินแกงเขียวหวานรสมือย่าที่การันตีความอร่อยด้วยความหอมของเครื่องแกงที่โขลกเองกับมือ

          แม่สามีมองท้องฟ้า กำลังเดาเวลา แล้วบอกว่า “ตลาดเช้าน่าจะยังไม่วาย” ย่าจดรายชื่อของที่ต้องใช้ให้ฉัน หลักๆ มีแค่เนื้อปลากรายขูดครึ่งกิโลกรัม กระเทียม พริกหยวก มะเขือพวง พริกขี้หนูเขียวอย่างละ 5 บาท และกะทิคั้นสด 20 บาท นอกนั้นมีพร้อมอยู่ในแปลงผักหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหัวกระชายอ่อนๆ ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด ลูกมะกรูดที่ฝานเอาแต่ผิวนิดหน่อย

        จะว่าไป ฉันชอบไปตลาดเช้าที่ตัวอำเภอตะพานหินใกล้ริมแม่น้ำน่าน ชอบเพราะบรรยากาศโดยรวมน่ารัก คึกคักไปด้วยชาวบ้านที่ส่วนใหญ่ เห็นเป็นวัยกลางคนถึงสูงอายุ ทั้งเป็นแม่ค้าพ่อค้าและคนมาซื้อของ สินค้าที่ขายจำนวนปลาแม่น้ำที่ตกเบ็ดมาได้ ผักผลไม้ตามฤดูกาล มะนาว กล้วยสวน พริก กระเทียม หอมแดง ของสดต่างๆ ปลาแดดเดียว ปลาดุกย่าง กับข้าวแกงถุง ขนมไทยห่อใบตอง ส่วนหนึ่งจะแบกะดิน บางร้านเอาเสื่อมารอง บ้างเอาใบตองมารอง และก็มีหลายร้านที่ตั้งร้านจริงจัง รอบนอกตลาดเช้าจะขายข้าวเหนียวหมูปิ้ง ปาท่องโก๋ น้ำเต้าหู้ น้ำสมุนไพรใส่น้ำแข็ง

        บรรยากาศแบบนี้มีมาตั้งแต่สมัยแม่สามีเรียนอยู่ชั้นประถมสาม แม่เคยเล่าว่า บรรยากาศแบบนี้แทบจะไม่เปลี่ยนไปเลย แม่ค้าพ่อค้าจะมาเริ่มตั้งร้านกันตั้งแต่ตีสามตีสี่ และจะวายก็ตอนประมาณสองสามโมงเช้า (8.00-9.00 น.)

        สมัยก่อนแม่จะออกมาตลาดเช้ากับยายข้างบ้าน ออกมาจากบ้านที่อำเภอบางไผ่ตั้งแต่ตอนตีหนึ่ง ถึงตลาดเช้าตะพานหินก็ประมาณตีห้า เพราะล่องเรือเล็กที่ต้องแวะรับคนรายทางตลอดริมแม่น้ำน่าน แล้วล่องเรือกลับถึงบ้านบางไผ่อีกทีก็พอดีกับตลาดเริ่มวาย

        ตลาดเช้าตะพานหินอุดมสมบูรณ์ มีปลาแม่น้ำมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือปลากราย โชคไม่เข้าข้างฉันเท่าไหร่นัก เมื่อไปช้าแค่ก้าวเดียว เนื้อปลากรายขูดใหม่ๆ หมดลงต่อหน้าต่อตา แม่ค้าเล่าว่า เพิ่งมีคนตกเบ็ดมาขายให้แค่ตัวเดียวเอง ฉันยืนคุยอยู่พักใหญ่ จนได้ความว่า ปลากรายเป็นปลาธรรมชาติ ตกเบ็ดได้จากแม่น้ำน่านบ้าง บ่อน้ำบ้าง ขายสดตามน้ำหนักตัวเริ่มต้นที่กิโลกรัมละ 30 บาทเท่านั้น แต่เมื่อแม่ค้านำมาขูด ก็เปลี่ยนราคากลายเป็นกิโลกรัมละประมาณร้อยกว่าบาท

        สุดท้ายฉันได้หมูเด้งจากแผงขายหมูมาแกงแทนปลากราย, ช่างน่าเสียดาย

แม่น้ำนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ถนนนำพาซึ่งการเปลี่ยนแปลง

        ฉันซื้อของครบตามรายการเรียบร้อย แวะซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้งไม้ละ 5 บาทไร้มัน ไร้น้ำตาลปี๊บ ของโปรดลูกชาย แล้วรีบตรงกลับบ้าน ก่อนที่จะพ้นประตูรั้วหน้าบ้าน ฉันเปิดหน้าต่างรถทักทายยายเริง พร้อมให้ลูกชายยกมือสวัสดี แกยิ้มและยกมือไหว้รับ ก่อนบอกว่า “ยายทำแกงเสร็จพอดี เดี๋ยวตักไปสักถ้วยสิ” ฉันพยักหน้ารับและกล่าวคำขอบคุณ

        กลับมาฉันเล่าเรื่องตลาดให้ฟัง แม่ก็เล่าเรื่องราวในอดีตต่างๆ ให้ฟังอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะตอนล่องเรือไปตลาดทำให้แม่เอ่ยขึ้นมา “นึกแล้วก็รู้สึกสนุกขึ้นมา เหมือนกับว่าได้ย้อนเวลากลับไปตอนเด็กๆ” แม่สามียิ้มอย่างอารมณ์ดี แล้วก็ค่อยๆ คลายยิ้มพร้อมประโยคบอกเล่าที่มีน้ำเสียงราวกับกำลังต่อว่าบางอย่าง

        “สมัยก่อนผู้คนผูกพันกับสายน้ำ แต่สมัยนี้ผู้คนผูกพันกับถนนคอนกรีต”

        เดขยายความว่า สมัยก่อนทุ่งโพธิ์คึกคัก เรียกว่าเป็นตำบลหนึ่งที่รุ่มรวย เพราะเป็นแหล่งปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรัง ทั้งยังโรงสีขนาดใหญถึงสามโรง รวมโรงสีของครอบครัวด้วย มองไปทางไหนก็มีงานและอาชีพมากมายให้ทำ สมัยก่อนไม่มีรถไฟ ไม่มีถนน ผู้คนใช้การเดินเท้า บางก็ใช้เกวียน บางบ้านก็ขี่ม้าในการเดินทางไปไหนมาไหน

        กระทั่งมีรางรถไฟตัดผ่านเข้ามาในตลาดตัวอำเภอตะพานหิน ผู้คนในท้องถิ่นและต่างถิ่นเดินทางเข้าออกง่ายขึ้นก็คึกคัก มีแผงขายอาหาร เครื่องดื่ม สภากาแฟโกปี๊ ร้านหนังสือพิมพ์และแผงขายนิตยสาร เปิดขายจนร่ำรวย บางส่วนก็ยังสัญจรโดยเรืออยู่บ้าง แต่ก็เริ่มน้อย คงไว้เพียงเรือหาปลาและเรือหางยาว เฉพาะฤดูกาลแข่งเรือยาวประจำปี

        ทุกอย่างก็เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อตัดถนนสายหลัก ผู้คนเริ่มมองหาโอกาสทำเงินแหล่งใหม่ที่ใหญ่กว่า นั่นก็คือกรุงเทพฯ ลูกหลานแต่ละบ้าน จากที่เคยนั่งสองแถวระหว่างอำเภอไปเรียนหนังสือ เปลี่ยนเป็นไปสอบเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ บางบ้านก็ย้ายไปทั้งครอบครัว บางอาชีพก็ค่อยๆ หายไปพร้อมกับจำนวนผู้คนที่ถนนพาเดินทางออกจากบ้านเกิดไปจนเกือบหมด แต่กลับกลายเป็นว่า ไม่เคยพาใครกลับมาอยู่ถาวรอีกเลย, ทุกอย่างเงียบสงัด  

        “ยี่สิบปี เวลาที่ถนนทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป แต่น่าแปลกที่หัวใจของคนที่ยังอยู่ กลับไม่เปลี่ยนไปเลย” เดผู้ที่อยู่บ้านทุ่งโพธิ์มาตั้งแต่เกิดจนถึงวัยที่เป็นปู่บอกอย่างนั้น และหัวใจที่ว่าก็คือ อุปนิสัยใจคอที่เป็นมิตร เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจ น้ำจิตน้ำใจ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

 

แกงเขียวหวาน

แกงเขียวหวาน

แกงเขียวหวานและหัวใจที่หายไป

        ได้เวลาความสนุกเมื่อของทุกอย่างครบ แม่คว้าเสียมเพื่อไปขุดกระชายหัวเล็กๆ เดเดินไปหน้าบ้านเด็ดมะกรูด สามีของฉันเตรียมครกและสาก หมายมั่นปั้นมือว่า งานนี้จะโชว์ความเป็นเชฟด้วยการออกแรงโขลก

 

แกงเขียวหวาน

 

        เริ่มกันที่ฝานผิวมะกรูดสักสองสามชิ้น โขลกให้แหลก ตามด้วยข่า โขลกต่อ และตะไคร้ซอย ตามด้วยกระเทียม กระชาย พริกขี้หนู เติมเกลือ ใส่กะปิ โขลกให้ละเอียดจนเป็นเนื้อเดียวกัน จังหวะนี้ละที่สามีของฉันโขลกเท่าไหร่ก็เหมือนจะไม่แหลกและไม่เข้ากันสักที งานนี้ต้องให้แม่จับสากโขลกเองกับมือ

 

แกงเขียวหวาน

 

        “ต้องโขลกแบบนี้ น้ำมันหอมระเหยถึงจะออกมา เครื่องแกงถึงจะหอม บางคนนำไปปั่น ต่อให้วัตถุดิบสดใหม่แค่ไหนก็ไม่หอมเท่าโขลก อยากกินของอร่อย ใจต้องเย็นเข้าไว้”  

 

แกงเขียวหวาน

 

        ด้วยท่าทางที่ทะมัดทะแมง จังหวะจะโคนของการตำเครื่องแกง ทำเอาฉันอดชื่นชมไม่ได้ แม่บอกว่า ที่ทำแบบนี้ได้ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร คงเป็นเพราะแม่ถูกยายฝึกทำกับข้าวมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ดังนั้น การโขลกเครื่องแกงจึงถือว่าเป็นทักษะชีวิตขั้นพื้นฐานไปโดยปริยาย

         “สมัยก่อนชาวบ้านก็โขลกเครื่องแกงกันเองทั้งนั้น เพราะไม่มีใครขาย เครื่องตำก็หาง่ายแค่สวนหลังบ้าน อย่างบ้านเราก็คั้นกะทิเองด้วย เพราะมีสวนมะพร้าวน้ำหอมอยู่ข้างบ้าน แต่ตอนนี้ตายหมดแล้ว ทุกอย่างทำเองได้ แทบไม่ต้องใช้เงินซื้อ แถมทำทีก็ไม่แพง ไม่เหมือนทุกวันนี้ ยิ่งคนเมืองอย่างพวกหนูจะตำทีก็ลำบาก ไหนจะเสียงครกที่ดังรบกวนเพื่อนข้างห้องที่คอนโดฯ ไหนจะต้องซื้อวัตถุดิบทุกอย่าง อย่างละนิดละหน่อยก็หลายตังค์ สุดท้ายจบที่ซื้อแกงถุง”

        แม่เป็นคนหนึ่งที่ไม่เคยซื้อแกงเขียวหวานกิน เพราะมีรสหวานและมันกะทิจนลดทอนความอร่อย

 

แกงเขียวหวาน

 

        เมื่อได้เครื่องแกง แม่ตั้งกระทะใส่หัวกะทิ ผัดให้แตกมัน แม่บอกเคล็ดลับว่า หากใช้กะทิจากมะพร้าวน้ำหอม จะหอมและหวานตามธรรมชาติ ไม่ต้องตัดน้ำตาลเหมือนใช้กะทิจากมะพร้าวทางใต้ ยิ่งคั้นเองด้วยกระต่ายยิ่งอร่อย

        จากนั้นแม่ก็ใส่เครื่องแกง ผัดจนหอม ใส่หมูเด้งที่ต้มสุก ปรุงรสด้วยน้ำปลา และเติมหางกะทิอีกเล็กน้อย ใส่มะเขือเปราะ พริกอ่อนซอย น้ำตาลทราย และรอให้มะเขือเปราะสุก โรยโหระพาเป็นลำดับสุดท้าย ตักใส่ชามโตๆ กินกับไข่เจียวแห้งๆ และข้าวสวยที่หุงเสร็จใหม่ๆ อร่อยกว่าซื้อกินจริงๆ

        “ถ้าเป็นยายแกง จะใส่เนื้อไก่บ้านสาวๆ เนื้อน้อยแต่ไม่เหนียว และไม่มีสารเร่งโต เพราะเลี้ยงกันเองอยู่ที่บ้าน หรือต่อให้ไปซื้อที่ตลาด สมัยก่อนก็ขายแต่เนื้อไก่บ้านกันทั้งนั้น แถวบ้านเราไม่มีใครทำฟาร์มไก่ขาย และก็ไม่มีคนออกไปซื้อมาขายด้วย แต่สมัยนี้มีครบ”

        กลิ่นหอมเครื่องแกงเคล้ากับรสมันจากกะทิ ตามด้วยรสเผ็ดอ่อนๆ ของแกงเขียวหวานหมูเด้งชามนี้ รสชาติกล่อมกลอมและกลิ่นที่หอมนวล ใครจะไปคาดคิดว่าจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาที่ว่าด้วยเรื่องหัวใจที่หายไป หลังกินอิ่มเก็บล้างเรียบร้อย แล้วปล่อยให้ลูกวิ่งเล่น แม่สามีก็นั่งคุยกับฉันไปเรื่อยเปื่อย หนึ่งในบทสนทนานั้นก็คือ เรื่องของฤดูกาล ถนน ผู้คน และนกกาเหว่า ที่จู่ๆ ก็วนกลับมาอีกครั้ง

        “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่ดีที่สุด หรือแย่ที่สุดหรอกนะ”

        แม่บอกว่า ต่อให้มีถนนนำคนออกไป หรือพาใครเข้ามา ต่อให้นกกาเหว่าเลือกที่จะบินมาจนติดตาข่ายหลังบ้าน หรือเลือกบินจากไปหาอาหารที่อื่น รสชาติและขั้นตอนการทำเครื่องแกงเขียวหวานที่ตายตัว หรือแม้แต่ฤดูกาลที่ไม่แน่ไม่นอน รวมไปถึงเสียงร้องของนกกาเหว่าและนกกระปูดในเมืองที่ฉันเล่าให้ฟัง หากสังเกตดีๆ ก็จะพบสิ่งที่ ‘เหมือนเดิม’   

        “กาเหว่าร้องกา เว้า เหมือนเดิม ลมหนาวก็เย็นเหมือนเดิม ถนนก็อยู่เส้นเดิม รางรถไฟก็ไม่ได้ไปไหน แกงเขียวหวานก็ใช้เครื่องแกงเหมือนเดิม สิ่งที่เปลี่ยนคือหัวใจของคน และสายตาที่มองเห็นของแต่ละคนมากกว่า ที่นำพาความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาสู่ตัวเอง ทั้งสิ่งดีๆ หรือสิ่งที่ไม่ดีที่ไม่ตั้งใจให้เกิดขึ้นก็ตาม”

        แม่สามีตักแกงเขียวหวานใส่กล่องเล็กๆ แล้วชวนหลานชายเดินไปหน้าบ้าน เพื่อแบ่งแกงหม้อนี้ให้กับยายเริงข้างบ้าน เช่นเดียวกับยายเริงที่ตักแกงเผ็ดชามโตรอไว้อยู่แล้ว แถมมีขนมถ้วยเล็กๆ ให้ลูกชายของฉันอีก – หัวใจของฉันอยู่ที่นี่อย่างสมบูรณ์แบบ