ในมุมของคนต่างจังหวัด คำว่า ‘บ้าน’ อาจไม่ได้หมายถึงแค่ที่อยู่อาศัย หรือคำว่าครอบครัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความจริงใจ ความเรียบง่าย ความอ่อนโยนต่อกันและกัน ทุกอย่างดูเบาสบาย เอื้อประโยชน์ต่อกัน และยังเป็นที่ที่เหมาะสมต่อการเติบโต ทำให้หลายคนจึงมักจะเอ่ยถึงคำว่า บ้าน ให้เป็นคำกริยาทดแทน เหมือนที่มุนินและปืนเคยบอกกับเราไว้ว่า ร้านหนังสือโฮมเมดของพวกเขาก็คือ ร้านบ้านบ้าน ที่เป็นส่วนหนึ่งของบ้านกับคนบ้านๆ อย่างพวกเขา
สำนักพิมพ์ 10mm. พื้นที่ที่สร้างสรรค์สิ่งที่รัก
ย้อนกลับไปราวๆ 6 ปีที่แล้ว มุนินได้ตัดสินใจเปิดสำนักพิมพ์ 10 มิลลิเมตรขึ้น เพราะเล็งเห็นถึงศักยภาพในเชิงการทำงานสิ่งพิมพ์ของตัวเอง ทั้งในฐานะที่เป็นทั้งนักเขียน นักวาดภาพมืออาชีพ รวมไปถึงการเป็นบรรณาธิการหนังสือ โดยได้รับความรู้มาจากกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ และโรงพิมพ์ เมื่อเห็นกระบวนการทั้งหมดด้วยหัวใจที่ชุ่มฉ่ำ เธอจึงสนุกมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมองไกลไปถึงโอกาสในเชิงธุรกิจที่จะสร้างรายได้ให้กับเธอและครอบครัว ไม่นานเกินรอ สำนักพิมพ์เล็กๆ ของเธอก็เกิดขึ้น ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับวันแต่งงานของเธอและสามี
“เราใช้จังหวะการแต่งงานที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตส่วนตัว และการมีครอบครัวเป็นของตัวเอง ไปรวมกับการเติบโตขึ้นอีกขั้นหนึ่งของการทำงาน ให้ดูมีความมั่นคงมากขึ้น จับต้องได้มากขึ้นในแง่ของอาชีพและรายได้ เพื่อการันตีการอยู่ได้ให้กับครอบครัวของเราที่มองเข้ามา”
มุนินยังบอกอีกว่า หนังสือภาพเล่มแรกของสำนักพิมพ์ 10mm. มีชื่อว่า แต่งเอง เปิดตัวด้วยการทำเป็นของชำร่วยแจกแขกในงาน จนถึงวันนี้หนังสือที่มุนินแต่งและวาดเองมีทั้งหมดราวๆ 28 เล่ม
ร้านหนังสือโฮมเมด พื้นที่ที่ขับเคลื่อนธุรกิจแห่งความฝัน
“พอเราแต่งงานก็กลับมาอยู่ที่โคราชบ้านของปืน” มุนินบอกว่าร้านแห่งนี้มาทีหลังสุด แต่มาด้วยแพสชันที่ต้องการปั้นความฝันอยากมีร้านเป็นของตัวเองให้ได้ และเธอก็ทำสำเร็จในอีก 4 ปีต่อมา
หลังจากแต่งงาน เปิดสำนักพิมพ์เป็นของตัวเอง และย้ายมาอยู่บ้านเกิดของปืนที่โคราช มุนินก็ได้พบกับคาเฟ่ต้นแบบ polar polar CAFE ซึ่งเป็นคาเฟ่เล็กๆ แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติ แต่มีความบ้านๆ ที่สัมผัสได้อยู่ทุกอณู อากาศก็ดี ผู้คนก็ไม่พลุกพล่าน บรรยากาศของร้านเองก็น่ารักและอบอุ่น จนทำให้ทั้งคู่เลือกมาที่นี่จนกลายเป็นลูกค้าประจำ และยังทำให้เธอรู้สึกถึงพลังงานอุ่นๆ ที่เข้าไปทำงานกับจิตใจของผู้คน จนทำให้เกิดสายใยบางๆ ที่เคยชักใยให้ทั้งคู่และคนอื่นๆ มาที่นี่อย่างต่อเนื่องทั้งๆ ที่ไกลจากตัวเมืองค่อนข้างมาก
“เรามาบ่อยจนท้ายสุดก็สนิทสนมกับเจ้าของคาเฟ่จนช่วยเหลือกันในด้านที่เราทำได้ ท้ายสุดทางคาเฟ่ก็กึ่งเชิญชวนกึ่งแค่เปรยเปล่าๆ ว่าอยากให้มาตั้งร้านด้วยกัน” และนี่คือสิ่งที่จุดประกายให้มุนินตั้งต้นสร้างความฝันแบบจับต้องได้ที่เมืองโคราชแห่งนี้
มุนินและปืนจึงเริ่มออกแบบพื้นที่ด้านข้างให้สอดคล้องไปกับคาเฟ่ ร้านหนังสือโฮมเมดไซซ์เล็ก กับรูปทรงของบ้านที่ชวนให้นึกถึงการวาดรูปบ้านสมัยเด็กๆ ที่ดูเรียบง่ายและน่าเข้าไปเยี่ยมเยียน เธอบอกว่า ที่นี่ไม่ได้ขายแค่หนังสือของสำนักพิมพ์ 10mm. เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีหนังสือดีๆ จากหลากหลายสำนักพิมพ์ ที่เป็นมู้ดแอนด์โทนเดียวกันกับ 10mm. วางจำหน่าย ทั้งยังมีมุม selected shop ของกระจุกกระจิกงานออกแบบที่มุนินทำเองและของที่เลือกซื้อมาจากต่างประเทศน่ารักๆ อีกมากมาย มีแมวน้อยให้ได้ถ่ายรูปเล่น มีกาชาปองให้หมุน มีมุมน่ารักให้นั่งถ่ายรูป
“และบางครั้งก็มีผู้จัดการร้านตัวจิ๋วมาให้บริการด้วยตัวเอง” มุนินเอ่ยถึงลูกชายวัยซนของเธอ ที่บางครั้งก็ออกมาตรวจตราร้านหนังสือ ซึ่งเธอชอบที่จะให้ลูกได้เรียนรู้ทุกอย่างที่แม่พ่อทำ อย่างน้อยเธอก็เชื่อว่า พื้นที่ที่เหมาะสมก็สำคัญ แต่การเปิดโอกาสให้ลูกได้มีประสบการณ์ร่วมในพื้นที่จริงย่อมสำคัญกว่า และนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ทั้งคู่ สร้างบ้านติดกับร้านหนังสือ อยู่ในพื้นที่เดียวกันจนกลมกลืน
บ้านหลังน้อย พื้นที่ที่ฟูมฟักครอบครัวให้เติบโต
ด้วยพื้นฐานทางด้านงานสถาปนิกของมุนิน ทำให้เธอและปืนช่วยกันออกแบบบ้าน โดยได้รับคำแนะนำจากเพื่อนๆ สถาปนิกว่า ให้เริ่มต้นที่ ‘อากาศ’
“เพื่อนบอกว่า ให้จินตนาการว่า เมื่อเดินออกจากตัวบ้าน ควรจะต้องเจอกับอากาศก่อนที่จะมาทำงาน เพราะไม่อยากให้เกิดความเฉื่อยจากการกระทำใดๆ ก็ตามที่ต้องอยู่แต่ในบ้านตลอดเวลา” มุนินหัวเราะ ก่อนจะเล่าต่อว่า การจะให้เจออากาศก็ต้องมีพื้นที่เอาต์ดอร์ มีสนามหญ้าและปลูกต้นไม้ ให้ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล และการจะเห็นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้ก็ต้องมีลานไม้กว้างๆ ไว้ให้นั่งและเดินได้อย่างสะดวก ทั้งยังเป็นเสมือนตัวเชื่อมระหว่างบ้าน ซึ่งแบ่งไว้เป็นพื้นที่ส่วนตัวชัดเจน กับห้องทำงานกึ่งไพรเวตที่อยู่ตรงกลาง และร้านหนังสือที่อยู่ด้านหน้าสุด
“นี่คือผังเดิม พอเรามีลูก ก็เลยคิดว่าอยากเพิ่มพื้นที่ให้กับเขา เราจึงยึดลานไม้กว้างนั้น ปรับให้เป็นห้องนั่งเล่นของลูก กลายเป็นว่าทุกวันนี้ห้องนั่งเล่นของลูกกลายเป็นตัวเชื่อมใหม่ระหว่างบ้าน ที่ทำงานและร้านไปโดยปริยาย แต่ยังคงมีพื้นที่สีเขียวอยู่เหมือนเดิม แต่ยุงก็จะเยอะตามไปด้วย” (หัวเราะ)
เราเอ่ยถามถึงน้องโลมา และการได้ใช้พื้นที่ร่วม มุนินบอกกับเราว่า ที่แห่งนี้ ณ เวลานี้ ก็ยังคงเป็นที่ที่ดีที่เหมาะกับวัยของลูก เหมาะกับการเรียนรู้และเล่น ได้พบเห็นผู้คนมากหน้าหลายตา เป็นที่ที่โอบกอดเธอ สามีและลูกชายด้วยงานที่เธอรัก ฟูมฟักครอบครัวให้เติบโตแข็งแรงทั้งด้านร่างกาย จิตใจและรายได้ ก่อนที่วันข้างหน้าเธอและสามีอาจจะต้องขยับขยายหรือออกเดินทางใหม่ หลังจากส่งลูกน้อยไปถึงฝั่งเป็นที่เรียบร้อย
“อีก 30 ปี ที่นี่อาจจะยังคงอยู่ แต่เราอาจจะไม่ได้อยู่” มุนนินหมายถึงว่า พ่อแม่อย่างทั้งคู่และลูกต่างก็ต้องเติบโต มีชีวิตที่เป็นของตัวเอง แต่คำว่าบ้านจะอยู่ที่นี่ตลอดไป บ้านที่หมายถึงความอบอุ่น อุดมไปด้วยความสบายใจตลอดกาล
ภาพโดย มุนินทร์ สายประสาท