มหาสมุด

มหา-สมุด บ้านและสตูดิโอของสองสถาปนิกคู่รัก กับความหมายของพื้นที่ที่เหมาะแก่การเติบโต

“หากผมจะกลับไปอยู่บ้าน ปู่คิดว่าดีไหม” คำถามสั้นๆ แต่แฝงไปด้วยความหมายมากมายที่ ‘เจ’ – เจษฎา แก้วบุดตา เอ่ยถามบุคคลอันเป็นที่รักยิ่งที่อยู่ที่จังหวัดนครพนม วันนั้นปู่ตอบสั้นๆ แค่เพียงว่า “ดี กลับบ้านมาอยู่ดูแลกัน” 

        ไม่นานเกินรอ เจก็ชักชวนภรรยา ‘ทราย’ – จุฑามาศ แก้วเรือนศิลป์ สถาปนิกสาวชาวโคราช ในวันที่เธอกำลังจะเป็นคุณแม่ ให้กลับมาตั้งหลักที่นครพนมด้วยกัน แน่นอนว่าเธอเห็นด้วย และเลือกที่จะอยู่เคียงข้างมาจนถึงทุกวันนี้ 

        “พวกเราพร้อม บ้านพร้อม สิ่งแวดล้อมพร้อม ทุกอย่างพร้อม ลูกก็มา” น้ำเสียงของเจทำให้เรารับรู้ได้ถึงพลังความเชื่อมั่นว่า ที่แห่งนี้จะเป็นบ้านที่ดีให้กับลูกน้อย เป็นแหล่งสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และเป็นชีวิตที่ดีให้กับพวกเขาได้ยาวนาน 

มหาสมุด

บ้านของเรา

        เหตุผลการกลับบ้านเกิดของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน หนึ่งในหลายๆ เหตุผลของเจและทรายคือการได้กลับมาดูแลผู้สูงวัย ได้ใช้ชีวิตในที่ที่คุ้นเคยมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ได้สร้างบ้านของตัวเอง ได้ปลูกผักสวนครัวไว้กิน ทำงานไม้งานช่างได้ และได้ใช้ชีวิตโดยที่ไม่ต้องมีกรอบของเวลามาเร่งรัดมากเท่าไหร่นัก 

        “ก่อนหน้านี้ เราเป็นคนหนึ่งที่ต้องแวะเวียนกลับไปหาปู่ย่าที่บ้านต่างจังหวัดทุกวันหยุดที่มี อย่างทรายเองก็ต้องคอยกลับไปดูแลตายายที่โคราช เราเองก็ต้องกลับหาปู่ที่นครพนม การอยู่ที่กรุงเทพฯ ของพวกเรามีข้อจำกัดมากมาย เราต้องเช่าบ้านอยู่ในพื้นที่แคบๆ การเดินทางไม่ได้สะดวกเท่าไหร่นัก อาหารการกินก็ทำเองไม่ได้ค่อยได้ เพราะสถานที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวย แต่ช่วงแรกๆ ของการทำงาน เราต้องพึ่งกรุงเทพฯ เพื่อหาประสบการณ์ในสายวิชาชีพ และให้ได้ใบประกอบวิชาชีพ จากนั้นเราก็กลับไปอยู่โคราชก่อน จนสุดท้ายก็ลงหลักปักฐานที่นครพนม” 

 

มหา-สมุด

 

        ระหว่างที่เจและทรายทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ที่กรุงเทพฯ ทั้งคู่พยายามหาวิธีลดทอนความอึดอัดของการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ด้วยงานคราฟต์ ทำเครื่องหนังแฮนด์เมด ทั้งกระเป๋า ซองมือถือ หรือแม้แต่สมุดทำมือ จนเกิดเป็นแบรนด์ Mahaasamud และนำสิ่งนี้กลับบ้านมาด้วย ต่อมาจึงสร้างบ้านหลังน้อยเป็นของตัว

 

มหาสมุด

 

        “เราและทรายช่วยกันออกแบบบ้านหลังนี้ให้กลมกลืนไปกับชุมชนที่เราอยู่ เน้นใช้วัสดุที่หาได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้เก่า และสังกะสี เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว ยกพื้น ติดประตูบานเฟี้ยม มีชานหน้าบ้าน อีกส่วนเป็นโรงจอดรถและโรงเก็บของ ส่วนสุดท้ายที่เพิ่งสร้างเสร็จก็คือ สตูดิโอ ถัดไปเป็นบ้านของพ่อ แปลงผัก เขยิบไปหน่อยก็จะมีคอกควาย ที่เหลือก็เป็นพื้นที่โล่ง ซึ่งทุกวันนี้พวกเราก็ยังคุยกันอยู่ว่าจะจัดการพื้นที่ยังไง 

        “ทั้งหมดเราค่อยๆ ทำ เพราะเราไม่ต้องการ ‘หนี้กลับบ้าน’ ซึ่งเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่หลายคนกู้มาสร้างบ้านเมื่อถึงคราวต้องกลับบ้าน พวกเราไม่ต้องการอย่างนั้น บ้านและสตูดิโอของพวกเราจึงค่อยสร้าง ค่อยๆ ต่อเติมไปเรื่อยๆ จนชาวบ้านนี้แซวว่า เราทำอะไรอยู่ ไม่เสร็จเสียที” เจอธิบาย

งานที่รัก

        ก่อนที่ทรายจะตั้งครรภ์ เจและทรายได้เปิดพื้นที่บ้านส่วนหนึ่งให้เป็นคาเฟ่กึ่งไพรเวต มีสโลว์บาร์ทำเครื่องดื่มโฮมเมดทำเอง ดื่มเอง เป็นประจำอยู่ด้านหน้า ตรงกลางเป็นโต๊ะไม้ตัวเตี้ยๆ ปูด้วยเสื่อทอมือจากกลุ่มทอเสื่อนาหว้า การตกแต่งและจัดวางสิ่งของต่างๆ ของที่นี่ช่างน่ารัก อบอุ่น และกลมกลืนเข้ากับบรรยากาศบ้านชนบทได้อย่างไม่ประดักประเดิด แต่ทันสมัยและมีพื้นที่ใช้สอยได้จริง 

 

มหาสมุด

 

        “เราเปิดบ้านเพื่อต้อนรับลูกค้าที่มารับงานเครื่องหนังถึงบ้าน เราไม่ได้ทำคาเฟ่และไม่มีการขาย แต่เราจะเสิร์ฟเป็นเวลคัมดริงก์อย่างคอมบูฉะ หรือกาแฟดริป และมีแมวให้ลูบเล่นมากกว่า” 

        เจยังบอกกับเราว่า แบรนด์ที่ทำคือสิ่งที่อยากทำและความชอบ แต่จริงๆ แล้วทักษะหลายๆ อย่างที่เจและทรายมี ล้วนเป็นทักษะที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กๆ เพราะอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ วิถีชีวิตธรรมดา ที่ชีวิตของคนเราจะต้องมีการฝึกซ้อมอยู่ตลอด 

 

มหาสมุด

 

        “สำหรับเรา นี่คือการซ้อมเพื่อฝึกฝนทักษะการใช้ชีวิต” เจบอกอย่างนั้น นั่นทำให้เขาและทรายลงมือซ้อมกันตั้งแต่ยังอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานคราฟต์ ดริปกาแฟ ทำเครื่องหนัง เย็บจักร ทำบ้าน เมื่อกลับบ้านก็มาทบทวนองค์ความรู้เดิมที่มี ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก ทำอาหาร งานจักสานใดๆ ก็ตามแต่ โดยไม่ได้คาดหวังถึงความสำเร็จที่จะต้องเกิดขึ้นในทันทีทันใด 

        “หลายคนก็อาจจะมองว่า ก็จ้างไปเลย จบๆ แต่เราไม่ได้คิดแบบนั้น อะไรที่ทำเองได้เราก็จะทำ อะไรที่ยังทำไม่ได้จะค่อยๆ ฝึกฝน วันหนึ่งก็จะทำได้ ซึ่งในอนาคตอาจกลายเป็นทักษะใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำว่าเราก็ทำได้ และวันข้างหน้าอาจจะได้ใช้ประโยชน์จริงๆ ก็ได้ อีกด้านหนึ่งก็ถือว่าวิธีนี้เป็นหนทางของการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในวันข้างได้ด้วย” 

กลับบ้าน

        เราถามว่าสิ่งที่ยากที่สุดของการกลับบ้านคือเงินหรือเปล่า เจไม่ได้ตอบ แต่บอกเราว่า “การกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้นั้นมันต้องใช้ความกล้าอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน ถึงจะกล้าทำอย่างอื่นต่อไปได้ ถ้ายังไม่มีความกล้า โดยเฉพาะความกล้าที่จะตัดสินใจอย่างแน่วแน่ ก็จะทำให้ไปต่อไม่ได้ อีกประการหนึ่งที่สำคัญเลยก็คือ ต้องมีฉันทะ” (ความพอใจ ซึ่งเป็นหลักธรรมข้อหนึ่งในอิทธิบาท 4 ที่หมายถึงความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่งๆ ขึ้นไป) 

 

มหาสมุด

 

        ความกล้า การตัดสินใจ และความมุ่งมั่น เมื่อมีแล้วก็พร้อมลุย แต่จะเป็นอย่างไรหากคุณกลับบ้านเพียงลำพัง นี่คือสิ่งที่เราถามเจเป็นข้อสุดท้าย

        “เราคิดไม่ออกเลยว่า หากวันนี้ไม่มีเขาอยู่ข้างๆ แล้วต้องกลับบ้านมาคนเดียวเมื่อราวๆ 4 ปีก่อน ตอนนี้ชีวิตจะเป็นอย่างไร แต่โชคดีที่คู่ชีวิตของเรามีอุดมการณ์เดียวกันและเลือกกลับมาด้วย ทุกอย่างก็เลยง่ายขึ้น โฮมสตูดิโอจึงเป็นรูปเป็นร่าง และเราสองคนก็คงใช้ชีวิตอยู่อย่างนี้กันไปเรื่อยๆ สำหรับเรา การได้อยู่ด้วยกันแม้จะมีแค่สองคน กลับอุ่นใจกว่าเมื่อก่อนเยอะเลย” 

 


ภาพ: เจษฎา แก้วบุดตา