muchimore

‘Muchimore’ พื้นที่แห่งการพักใจ ดูแลใจ และสัมผัสใจที่ซ่อนตัวอยู่ในเมืองหลวงอันแสนวุ่นวาย

ขณะที่โลกภายนอกขับเคลื่อนไปด้วยความรวดเร็ว จนบีบรัดให้ชีวิตต้องวิ่งแข่งกับความเร็วเหล่านั้น ‘การอยู่กับตัวเอง’ ที่ดูเหมือนจะทำง่ายที่สุด กลับกลายเป็นสิ่งที่เราหลงลืมที่จะทำมากที่สุด จนหลายครั้งเพื่อนคู่ใจที่ชื่อว่าความเหนื่อย ความเศร้า ความสับสน ก็เผลอคืบคลานเข้ามาอยู่ในชีวิต กระทั่งเพื่อนคนนี้เริ่มกัดกินจิตใจและตัวตนของเราในที่สุด  

        ด้วยหลากปัญหาที่ถาโถมเข้ามาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ Muchimore จึงถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนเมืองเข้ามาพักใจ ดูแลใจ และสัมผัสจิตใจของตัวเองผ่านศาสตร์ Mindfulness 

        Muchimore อยู่บนชั้น 3 ของตึกสไตล์อินดัสเทรียลลอฟต์ซึ่งซ่อนตัวอยู่ภายในซอยพรีเมียร์ 1 ติดกับสวนวนธรรมอันเงียบสงบ ย่านศรีนครินทร์ บริเวณชั้น 1 เป็นพื้นที่ของ ONETHIRD club&cafe ที่มีรูปปั้นกวางตั้งอยู่ด้านหน้า และชั้น 2 เป็นออฟฟิศบริษัทคอนสตรักชัน 

        ‘สนัด’ – ณัฐพงษ์ โสธรวัฒนา ผู้ก่อตั้ง Muchimore เล่าให้ฟังว่า ตึกนี้เป็นของครอบครัว จึงมีการดำเนินธุรกิจที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันในแง่ที่ว่า เมื่อมีร้านกาแฟอยู่ชั้นล่างยิ่งเหมาะกับการมาพักผ่อน จิบกาแฟสักแก้ว แล้วค่อยเดินขึ้นไปทำกิจกรรมที่ Muchimore แถมสถาปัตยกรรมของตึกที่เผยความเป็นเหล็ก ความเป็นปูน ยังช่วยเสริม Muchimore ให้ดูทันสมัยตรงกับกลุ่มเป้าหมายคนเมืองและคนวัยทำงานที่ตั้งเอาไว้  

 

muchimore

 

        สิ่งแรกที่เราสัมผัสได้เมื่อผลักประตูเข้าไปพื้นที่ของ Muchimore  คือความโปร่งโล่งของห้องสี่เหลี่ยมที่อาจจะไม่ได้มีพื้นที่มากนัก แต่ผนังกำแพงสีขาวและพื้นที่ปล่อยเปล่าเปลือยโดยไม่มีพรมหรือเฟอร์นิเจอร์บดบัง รวมถึงกระจกขนาดใหญ่ที่อยู่รอบห้องช่วยให้รู้สึกว่าห้องนี้มีความกว้างใหญ่    

        แสงแดดยามบ่ายแก่ๆ ที่สาดส่องเข้ามา ท่วงทำนองของดนตรีเบาสบายที่เปิดคลอไป และกลิ่นเครื่องหอมอ่อนๆ ที่ลอยโชยมาแตะจมูก ยิ่งเสริมให้รู้สึกผ่อนคลายเป็นกันเอง 

        “โจทย์แรกในการออกแบบที่นี่คือห้องต้องโล่งที่สุด แล้วก็มาหมดเลยว่าต้องเป็นกระจกนะ ต้องเป็นสีขาวนะ อีกอย่างหนึ่งที่เรารู้สึกว่าทำให้ที่นี่ดูชิล คือการนั่งพื้น มันจึงเกิดความเป็นกันเองขึ้นมาทันทีว่าทุกคนอยู่ในระดับเดียวกันหมดเลย ตัวกิจกรรมเราก็พยายามให้นั่งเป็นวงกลม เราที่นำกิจกรรมก็พยายามที่จะเข้าไปอยู่ในวงกลมนั้นด้วย เมื่อทุกคนเท่ากันหมด ก็ทำให้บรรยากาศดูเป็นเพื่อนกัน เล่นอะไรไปด้วยกัน” 

        ความโปร่งโล่งที่เป็นโจทย์สำคัญของการออกแบบที่นี่ โดยส่วนตัวสนัดมองว่าพื้นที่โล่ง ใจก็โล่ง เหมือนเวลาที่ไปเที่ยวต่างจังหวัดที่เรารู้สึกว่าโล่งสบายจากการไม่มีอะไรบดบัง ภายในห้องนี้ก็เช่นกัน เมื่อพื้นที่โล่งก็เหมือนทำให้คนรู้สึกเปิดใจและรู้สึกได้ปล่อยอะไรออกไปให้เป็นอิสระ 

        “เราอยากทำให้ที่นี่เป็นที่ที่ทุกคนสามารถจะเปิดใจพูดอะไรกันก็ได้อย่างสบายใจ ด้วยบรรยากาศที่เราพยายามทำให้ homey และ casual ทั้งตัวสถานที่เองด้วย ทั้งตัวเราเองด้วย เวลาคนเข้ามาเราก็จะพยายามเป็นกันเองให้ได้มากที่สุด เลยทำให้คนเปิดใจได้ง่ายขึ้น เขาอาจจะไม่ได้เปิดใจร้อยเปอร์เซ็นต์อะไรขนาดนั้นหรอก แต่คนที่มาเข้าร่วม เมื่อเขาเข้ามาที่นี่แสดงว่าเขาเลือกแล้วว่าเขาอยากมาเพื่อที่จะร่วมกิจกรรมอย่างเต็มที่ กิจกรรมอยากให้ทำอะไรเขาก็จะอยากทำตามเต็มที่

        “ตัวกิจกรรมเราก็พยายามออกแบบไม่ให้ไปลึกและเร็วมากเกินไป โดยพยายามที่จะโอบอุ้มทุกคน พยายามที่จะให้บรรยากาศเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเขามากที่สุด ลักษณะของกิจกรรมจึงเป็นแบบค่อยไปเรื่อยๆ คนก็จะค่อยๆ คุยกับตัวเองเรื่อยๆ และคุ้นกับการคุยกับคนอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ” 

 

muchimore

 

        อีกความพิเศษของที่นี่คือการมี Video Wall ที่พาจะทุกคนแวบจากโลกแห่งความเป็นจริงเข้าไปอยู่ในโลกจินตนาการที่เรานึกฝัน แรกเริ่มสนัดตั้งใจจะให้เป็นแบบ VR Tour แต่ละคนมีแว่น VR คนละหนึ่งอัน แต่อาจผิดจุดประสงค์ในมุมที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนอื่น จึงกลายมาเป็น Video Wall แทน 

การวิ่งไล่สุนทรียะของชีวิต 

        เดิมทีสนัดเรียนจบด้านบริหารธุรกิจมา แต่ความที่ตัวเองเชื่อเรื่องสุนทรีย์ในการใช้ชีวิต จึงหันเหไปทำงานสายดีไซน์อยู่พักหนึ่ง สุดท้ายเขาค้นพบว่าสุนทรีย์ที่เขาต้องการจริงๆ ไม่ใช่การคลุกคลีกับงานศิลปะ แต่เป็นสุนทรีย์ที่เกิดจากการหาสมดุลของภายในจิตใจ

 

muchimore

 

        “ตอนเด็กเราเป็นเด็กที่ชอบคิด ชอบตั้งคำถามกับโลก เช่น เกิดมาทำไม ตายแล้วไปไหน ทำไมชีวิตเราจะต้องมีแพตเทิร์น สอบ เรียนจบ หางาน  ทำงาน แต่งงาน มีรถ มีบ้าน เรารู้สึกว่าสิ่งนั้นมันมีความสุขแหละ แต่มันมีความสุขอื่นที่วุ่นวายน้อยกว่านั้นไหม เราเลยติดคำว่าสุนทรีย์ในการใช้ชีวิตหรือสมดุลในการใช้ชีวิตมาตลอด อาจจะด้วยความที่เราอยู่ลาดพร้าวมาตั้งแต่เด็กด้วย เมื่อเจออะไรที่วุ่นวายเราเลยคิดอะไรที่มันตรงกันข้าม 

        “พอเรียนจบเรามีโจทย์ในหัวว่าอยากทำอะไรที่มันสุนทรีย์ต่อชีวิต ตอนนั้นก็ให้คำตอบตัวเองว่าควรไปทำงานสายดีไซน์ ซึ่งเราจบบริหารมาไม่ได้จบดีไซเนอร์ จึงพยายามเอาตัวเองเข้าไปในวงการนั้น งานแรกเป็นการทำ Event Design  ในบริษัทเอเจนซีแห่งหนึ่ง ทำอยู่ได้สักพักหนึ่งก็ลาออก พร้อมเขียนเหตุผลในการลาออกว่า ‘ต้องการออกไปค้นหาชีวิต’ ” 

        หลังจากนั้นสนัดก็ก่อตั้งบริษัทเอเจนซีที่ยังคงทำงานเกี่ยวกับ Exhibition Design แต่ไม่นานก็จำเป็นต้องเลิกกิจการ เขาจึงกลับไปทำงานที่เก่าที่ลาออกมา จนกระทั่งบริษัทนั้นต้องเลิกกิจการไปเช่นกัน ที่ทำงานต่อมาจึงขยับมาเป็นสายงานที่เกี่ยวกับการตกแต่งบ้าน และมีเหตุให้ต้องเลิกกิจการอีก เรียกว่าชีวิตการทำงานของเขาอยู่ในช่วงที่บริษัทล้มเลิกกิจการมาอย่างต่อเนื่อง ถึงอย่างนั้นเขากลับไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาอะไร

        “ตอนนั้นเราก็โอเคนะ แต่เรารู้สึกว่าสุดท้ายแล้วงานมันไม่ได้ตอบโจทย์แรกที่เราตั้งเอาไว้ เราก็เลยกลับมาทบทวนตัวเองอีกทีว่า สุนทรีย์ชีวิตนั้นมาจากไหน จากนั้นเราก็ย้อนไปตั้งแต่ตอนที่ตัวเองเป็นเด็กที่ตั้งคำถามกับชีวิต แล้วก็รู้ว่าจริงๆ เราอยู่กับสิ่งที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต เกี่ยวกับการหาความรื่นรมย์ภายในมาตลอด มันก็เลยเป็นจุดที่เราอยากจะเอาเรื่องนี้มาทำเป็นอาชีพ ซึ่งตอนนั้นมันว่างเปล่ามากเลย เพราะว่าเราไม่เคยเห็นคนทำอาชีพแบบนี้ เราเลยไปเข้าเวิร์กช็อปต่างๆ จึงทำให้ได้เห็นว่าคนที่เขาอยากจะมาพักผ่อนก็จะมาเวิร์กช็อปนี่แหละ เราเองก็น่าจะทำได้เหมือนกัน ก็เลยลองเปิดเวิร์กช็อปแรกที่คิดขึ้นมาเอง ไม่ได้มีศาสตร์อะไรรองรับเท่าไหร่ แต่เมื่อเห็นว่าคนไปเข้าร่วมเริ่มอิน เราก็มองว่าน่าจะสามารถทำเวิร์กช็อปแบบเก็บค่าใช้จ่ายได้”

การลองผิด ลองถูก จนกลายมาเป็น Muchimore ในวันนี้ 

 

muchimore

 

        ด้วยความที่ไม่มีความรู้ในด้านนี้มาก่อน การเริ่มต้นของสนัดจึงไม่ต่างอะไรจากศูนย์ สิ่งที่พอจะสามารถเข้ามาเติมเต็มส่วนนั้นได้คือการตระเวนเข้าเวิร์กช็อปต่างๆ เพื่อหาวัตถุดิบให้ตัวเองนำมาต่อยอดต่อได้มากที่สุด จนกระทั่งเขาได้พบกับเพื่อนคนหนึ่งที่จบด้านจิตวิทยามาโดยตรง ทั้งยังเป็นชาวไทยที่เติบโตในต่างประเทศ จึงมีความคิด มีทักษะอะไรต่างๆ ที่เข้ามาเปิดโลกประสบการณ์เขาได้มากขึ้น สุดท้ายเพื่อนคนนี้ได้กลายมาเป็นคนสำคัญอีกคนในการปลุกปั้น Muchimore ขึ้นมา 

        “จากองค์ความรู้ที่เรามีกันอยู่ 2 คน เราเลยคิดว่าสามารถทำอะไรกันได้บ้าง ช่วงนั้นจะออกแนวจิตวิทยานิดหนึ่ง แต่เราก็พยายามจะปรับไม่ให้เป็นการบำบัดจนเกินไป กิจกรรมที่เด่นๆ เลยคือ ‘Sandplay’ เป็นกะบะทรายที่ให้ทุกคนลองเล่นตุ๊กตา ซึ่งหลังจากนั้นก็เริ่มมีคนรู้จักเราบ้าง ต่อมามีอีก 2 คนสำคัญที่เข้ามาร่วมทีมกับเรา คนแรกเป็นนักศิลปะบำบัดอยู่ในโรงพยาบาล แม้จะมาอยู่แป๊บหนึ่ง แต่เราก็ได้อะไรจากเขาเยอะเหมือนกัน จนถึงวันนี้ที่นี่ก็ใช้ศิลปะค่อนข้างเยอะ ส่วนอีกคนเรียน Expressive Art มาจากออสเตรเลีย สรุปว่ามี 4 คนที่มาสุมหัวกันอยู่พักหนึ่งและนำกิจกรรม นำความรู้ นำทักษะของตัวเองมาคิด มาประยุกต์ให้เข้ากับที่นี่ สุดท้ายแล้วตอนนี้เหลือเราอยู่แค่คนเดียว ก็เลยเป็นช่วงที่ลองผิดลองถูกเยอะ เมื่อปีที่ผ่านมาลองผิด ปีนี้ลองถูกแต่มาเจอ COVID-19  เสียก่อน เราก็เลยหายไปช่วงหนึ่ง”

        แม้จะสะสมความรู้มาได้พักหนึ่ง แต่สนัดก็ยังคงไปเข้าเวิร์กช็อปอยู่เรื่อยๆ ด้วยความที่นิสัยส่วนตัวเป็นคนอยู่นิ่งไม่ได้ และมองหาสิ่งที่สดใหม่อยู่เสมอ จึงอยากเปลี่ยนสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดูว้าวมากขึ้น ซึ่งผลจากการเรียนรู้ได้ต่อยอดมาเป็น  3 กิจกรรมหลักของ Muchimore กิจกรรมแรก ‘Self Dating Experience’ ที่ช่วยให้เราได้พักจากความวุ่นวาย กลับมาอยู่กับตัวเองเพื่อมองเห็นและเข้าใจตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้นบนหลักการ Mindfulness 

        กิจกรรมที่สอง ‘Heart Review’ เป็นการทบทวนจิตใจตัวเองด้วยการเขียน  วาด และถามตอบคำถามตัวเองที่จะช่วยเผยให้รู้ว่าเราจะใช้ชีวิตอย่างไรต่อไป ส่วนกิจกรรมสุดท้ายชื่อว่า ‘Mind Space’ ที่ช่วยให้ทุกคนทบทวนหัวใจตัวเองง่ายๆ ผ่านงานศิลปะ ตัวกระบวนเหล่านี้จะช่วยให้เห็นตัวเองชัดเจนขึ้นว่าตอนนี้เราเป็นอะไร คิดอะไรอยู่ หรืออยากทำอะไร ซึ่งกิจกรรมนี้พิเศษในแง่ที่ว่าสามารถวอล์กอินมาและจะกลับเมื่อไหร่ก็ได้ตามสะดวกใจ แต่สองกิจกรรมแรกมีการกำหนดวันในการเข้าร่วมชัดเจน  นอกจากนี้ก็ยังมีกิจกรรมพิเศษที่หมุนเวียนเปลี่ยนกันมาด้วย 

        “เราเชื่อว่าเราไม่สามารถที่จะทำอะไรคนเดียวแล้วมันจะเวิร์กไปหมด เพราะคติของ Muchimore คือคำว่า Find Your Balance แต่สมดุลของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่ามี 100 จะสมดุล 50 ซึ่งการจะเข้าถึงสมดุลของแต่ละคนก็มีความหลากหลายมาก ในเมื่อเราเป็นพื้นที่แบบนี้ เราก็ไม่อยากที่จะใช้กิจกรรมที่มีอยู่จำกัดมาให้เขาหาสมดุลของตัวเอง เราจึงต้องชวนคนที่มีกิจกรรมดีๆ มีแนวทางประมาณนี้มาทำงานร่วมกัน ก็เลยเกิดความหลากหลายขึ้น ต่อไปนี้ก็จะมีกิจกรรมอื่นๆ อีกเรื่อยๆ” 

เป็น ‘ตัวเลือก’ ไม่ใช่ ‘แทนที่’ 

 

muchimore

 

        การมีอยู่ของ Muchimore ทำให้เราตั้งคำถามว่า นี่เป็นสถานที่พักใจที่เป็นมิตรต่อคนยุคใหม่มากขึ้นหรือไม่ เมื่อศาสนาอาจจะไม่ใช่คำตอบของพวกเขาอีกต่อไปแล้ว ขณะที่การมีสถานที่ที่ทำให้คนได้พักจากโลก พักจากความเหนื่อยล้าที่กัดกินจิตใจ พักจากคนวุ่นวายรอบตัวก็ยังคงสำคัญอยู่ 

        “มีคนเรียกเราเหมือนกันว่าเป็นวัดโมเดิร์น แต่อย่างหนึ่งที่เราพยายามไม่เอามาใช้ที่นี่คือความเป็นศาสนาหรืออิงกับศาสนา เพราะเราอยากจะให้มันกลางที่สุด และทุกคนเข้าถึงได้ ตอนนี้เราใช้คำว่าเป็นพื้นที่พักใจ ดูแลใจ สัมผัสใจ เป็นคำที่เหมือนสร้างขึ้นมาเพื่อให้เข้าถึงง่าย แล้วก็บอกครบว่าที่นี่คือที่แบบไหน”  

        “ตัวแก่นของศาสนาเองก็ไม่ได้มีอะไรแย่หรอก แต่ถ้าเราพูดถึงว่าทุกอย่างมีขึ้นมีลง แล้วทุกวันนี้เรากำลังเห็นศาสนากำลังลงอยู่ในหลายบริบท ถ้าจะใช้คำว่าหาตัวเลือกใหม่ก็เป็นไปได้ ถามว่าเราแทนศาสนาเลยได้ไหมอาจจะไม่ได้ขนาดนั้น แต่ก็เป็นตัวเลือกที่ทำให้คนมาดูแลภายในตัวเองด้วยตัวเอง มันอาจจะเป็นคอนเซ็ปต์เดียวกับศาสนาเลยก็ได้ ไปแค่เป็นอีกแนวทางหนึ่งเฉยๆ” 

        ด้วยความที่ Muchimore ตั้งธงว่าเป็นที่แห่งการเรียนรู้ภายในตัวเอง หลายคนที่มายังที่แห่งนี้จึงมีตั้งแต่คนเหนื่อยงาน เหนื่อยชีวิต อกหัก มีความสับสนกังวลอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกอยากล้มตัวพัก ไม่ก็อยากหาคำตอบให้ตัวเอง 

 

muchimore

 

        “เราเป็นที่ที่มีกิจกรรมมาตั้งไว้ให้นะ คุณจะมีความเหนื่อยหรือปัญหาอะไรมา ลองมาทำกิจกรรมนี้คุณจะได้คำตอบไปหรือเปล่าไม่รู้ แต่เรามีพื้นที่นี้ให้คุณได้มาใคร่ครวญ ได้มาแสดงออก ได้มารู้จักตัวเองมากขึ้น เราอยากจะใช้คำว่าเป็นพื้นที่หลบหนีจากความวุ่นวายเหมือนกันนะ เวลาที่เจออะไรที่วุ่นวาย แต่ละคนก็มีวิธีจัดการของตัวเอง อาจจะไปต่างจังหวัด ไปต่างประเทศ ไปดูหนัง ไปกินชาบู เราว่าพวกนั้นเป็นวิธีการหนึ่ง Muchimore ก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง แต่เราพยายามที่จะไม่ใช่แค่การมาที่นี่แล้วก็จบไปเหมือนกับกิจกรรมอื่นๆ เราอยากให้ที่นี่เป็นที่พักและเรียนรู้ที่จะดูแลใจตัวเอง เมื่อมาที่นี่แล้วก็รู้จักตัวเองประมาณหนึ่ง เขาจะได้นำสิ่งนี้ไปใช้ต่อได้ ไม่ใช่ว่ามาที่นี่แล้วหายเครียดกลับบ้านไปเครียดอีกแล้ว กลับที่ทำงานไปเครียดอีกแล้ว”  

 

คุยกับตัวเองเพื่อเป็นตัวเอง

        เมื่อก่อนการคุยกับตัวเองมักจะถูกมองว่าเป็น ‘บ้า’ แต่ความจริงแล้วการคุยกับตัวเองเป็นหนทางหนึ่งในการเริ่มรักตัวเอง เหมือนที่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่าการพูดคุยกับตัวเองจะช่วยให้เรารู้สึกดีกับตัวเองมากขึ้น และทำให้เรามีความมั่นใจในการก้าวผ่านความท้าทายต่างๆ 

        “ทุกวันนี้โลกมันเร็วและทุกอย่างเยอะไปหมด ไม่ว่าจะอาหารการกินหรือข้อมูลข่าวสารต่างๆ มันทำให้เรามีเวลาอยู่กับตัวเองค่อนข้างน้อย หรือถึงมีเวลาอยู่กับตัวเองก็อยู่ได้แบบไม่สุด ซึ่งเราเชื่อว่าการคุยกับตัวเองนั้นมันสำคัญมาก อย่างง่ายๆ แค่จะออกจากบ้าน ถามตัวเองสักหน่อยว่า ‘ลืมอะไรหรือเปล่า’ ถ้าลืมจะได้รีบกลับไปหยิบ แต่ถ้าเราไม่มีคำถามให้ตัวเอง แล้วรีบออกจากบ้านไป เลยสุดท้ายเราก็ลืมของ” 

        “จริงๆ แล้วเราสามารถที่จะคุยกับตัวเองได้ลึกไปกว่านั้นได้อีก เช่น วันนี้ฉันทำอะไรอยู่ และฉันอยากทำอะไร ลองให้เวลาตัวเองอยู่กับ 2 คำถามนี้สัก 15-20 นาที เราอาจจะได้เห็นอะไรบางอย่างที่อาจไม่เคยได้คิดมาก่อนก็ได้ สมมติถามว่าเราต้องการทำอะไร ถ้าเราตอบตัวเองว่าวันนี้สิ่งที่เราทำอยู่มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่คำตอบของเรา เราจะเห็นสิ่งนั้นชัดขึ้นเรื่อยๆ ขั้นต่อไปจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตัวเอง ส่งผลให้เราสามารถเลือกได้ว่าเราได้ทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ แล้วหรือยัง นี่คือตัวอย่างแค่ 2 คำถาม แต่การคุยกับตัวเองมีอีกหลายคำถามและมีหลายระดับ” 

        “การคุยกับตัวเองเยอะๆ มันจะให้ความชัดเจนกับเรา ไม่ว่าจะคุยเรื่องอะไร คุยด้วยคำถามอะไรก็ตาม ลึกหรือไม่ลึก แต่สุดท้ายสิ่งที่จะได้คือ เราว่ามันจะได้ความชัดเจนมากขึ้นๆ สุดท้ายเมื่อคนเราชัดเจนกับตัวเอง เราจะสามารถเลือกชีวิตก้าวต่อไปได้ เราจะสามารถตัดสินใจได้ว่าก้าวต่อไปฉันจะทำอะไร แม้ไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด แต่ที่แน่ๆ มันเป็นตัวเองที่สุดแล้ว เพราะว่าเราคุยกับตัวเอง เราไม่ได้รับมาจากใคร แต่เราเลือกสิ่งนี้เอง” 

        ก่อนที่บทสนทนาจะจบลง สนัดทิ้งท้ายไว้ว่าอยากให้ทุกคนเจอสมดุลของชีวิตตัวเองในทุกๆ จังหวะชีวิต แต่ก่อนที่จะเจอสมดุล เราต้องรู้ตัวเองก่อนว่าชีวิตจะเลือกทำสิ่งไหนที่เป็นสมดุลจริงๆ ซึ่งการรู้ตัวเองเริ่มมาจากการตระหนักรู้ กิจกรรมทุกอย่างของที่นี่จึงมีปลายทางอยากให้ทุกคนตระหนักรู้ เมื่อตระหนักรู้แล้วนำสิ่งนี้ไปหาชีวิตที่เป็นสมดุลของตัวเอง 

        เผลอแป๊บเดียวแสงแดดอาทิตย์ยามบ่าย ถูกแทนที่ด้วยท้องฟ้ายามเย็น เพิ่งสังเกตว่าที่แห่งนี้สามารถมองพระอาทิตย์ตกได้โดยไร้ตึกสูงบดบัง สนัดเอ่ยปากชวนเราเข้าร่วมกิจกรรม Heart Review ที่กำลังจะเริ่มขึ้น หน้าที่ของสื่อจึงถูกวางลง แล้วเข้าสู่การพักใจ ดูแลใจ สัมผัสใจไปกับ Muchimore