หลังจากที่เลี้ยวรถเข้าสู่ซอยติวานนท์ 46/1 มาจอดรถตามพิกัดจีพีเอสที่ได้ระบุไว้ สิ่งแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่า ที่นี่เหมือนบ้านต่างจังหวัดก็คือ ต้นกาสะลองขนาดใหญ่กำลังออกดอกสีขาวเต็มต้นอยู่ชิดริมรั้วหน้าบ้าน บรรยากาศที่เงียบสงบ มีเสียงนกร้อง ผสมเสียงของห่านสลับกับเสียงเป็ด และแม้ว่าอากาศในวันนั้นจะร้อนอบอ้าวเพราะฝนเพิ่งหยุดหมาดๆ แต่ที่นี่กลับให้ความรู้สึกสดชื่น คงเป็นเพราะพื้นที่สีเขียวส่วนใหญ่ในตัวบ้าน และการต้อนรับที่เป็นมิตรของ ‘น้ำน้อย’ – ปรียศรี พรหมจินดา และหมาบอสซ่า เจ้าของบ้านหลังนี้
บ้านหลังเล็ก เน้นสนามหญ้า
“ที่นี่มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1 ไร่ เดิมเป็นที่ดินรกร้าง และมีสระน้ำ สมัยก่อนคนแถวนี้จะใช้เป็นเส้นทางลัดออกไปสู่ซอยสามัคคี ซึ่งเป็นซอยใหญ่อยู่ห่างไปไม่ไกล จนวันหนึ่งครอบครัวของเราตัดสินใจเปลี่ยนที่นี่ให้เป็นบ้าน เลยกั้นรั้วปิดทางเข้าออก เราคิดว่ามีส่วนทำให้ภูมิทัศน์ของซอยเล็กๆ ดูปลอดภัยขึ้น มีชีวิตชีวามากขึ้น แม้จะปิดประตูใหญ่ก็ตาม”
น้ำน้อยเล่าจุดเริ่มต้นการสร้างบ้าน พร้อมพาเดินชมอาณาบริเวณบ้าน ที่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือ บ้านของน้ำน้อยและโอม ตรงกลางคือ แปลงทดลองปลูกผักของแม่ที่ครึ้มไปด้วยต้นไม้และพืชผักนานาชนิด ซึ่งน้ำน้อยเรียกว่า ‘สนามผู้ใหญ่เล่น’ ส่วนสุดท้ายคือ บ้านของพี่สาวโอม ที่เจ้าเป็ดชอบแอบไปว่ายน้ำในสระน้ำอย่างสนุกสนานอยู่บ่อยๆ
“เดิมทีบ้านของเรายังไม่มีเป็ดและห่าน มีแต่น้องหมาสองตัว ดังนั้น เราจึงอยากมีสนามหญ้ากว้างๆ ไว้ให้หมาของเราได้วิ่งเล่น เราจึงขยับบ้านให้อยู่ด้านหลัง ออกแบบให้ดูมินิมอล เพดานสูงเพื่อให้ดูโปร่ง ติดกระจกบานเลื่อนรอบตัวบ้านเพื่อให้ดูกว้าง มีชานบ้านยื่นออกมา เพื่อให้พวกเราสองคนได้มานั่งดูหมาวิ่งเล่น กินข้าวและจิบกาแฟในยามเช้า” น้ำน้อยเล่าด้วยแววตาระยิบระยับ ทำเอาเรารู้สึกคล้อยตาม
“ดูฟีลกู๊ดดีใช่ไหม ก็ดีจริงๆ นะ ยิ่งตอนช่วงล็อกดาวน์เป็นช่วงเวลาที่พวกเราสองคน รู้แล้วว่าบ้านแบบที่เราต้องการตอบโจทย์ชีวิตในเวลาคับขันได้ดีแค่ไหน แถมยังทำให้เราขี้เกียจมากขึ้น อยากจะอ้อยอิ่งอยู่บ้าน ไม่อยากจะออกไปเที่ยว ขี้เกียจหาห้องพักต่างจังหวัดไปรับบรรยากาศดีๆ เพราะบ้านของเราก็ได้ฟีลดีอยู่แล้ว บางครั้งเราจินตนาการว่ากำลังชมพระอาทิตย์ขึ้นอยู่ที่ตลาดหัวหิน ข้างหลังบ้านของเราคือแนวเทือกเขา ซึ่งจริงๆ แล้วคือโรงเรียน” (หัวเราะ)
เวลานี้สนามหญ้าเฉอะแฉะเพราะฝนเพิ่งหยุดตก น้ำน้อยและโอมจะต้องใส่รองเท้าบูตออกมาต้อนรับ
“หากพวกเรายืนตรงนี้ และนั่งที่แคร่ตรงนี้ แล้วมองผ่านรั้วไทรเกาหลีที่เราปลูกไว้เป็นกำแพงคั่นกลางระหว่างที่จอดรถและสนามหญ้าหน้าบ้าน จะเหมือนกับหนังเรื่อง Parasite เลยนะ” ว่าแล้วน้ำน้อยและโอมก็สาธิตให้เราดู
เป็ดน้อยคอยรัก (และห่านด้วย)
สนามหญ้าแห่งนี้ไม่เคยเงียบเหงา และไม่เคยขึ้นสูง เพราะได้เป็ดตัวเล็กจอมซ่าพันธุ์คอลดั๊ก (Call Duck) สองตัว เป็ดป่าตัวใหญ่พันธุ์แมลลาร์ด (Mallard) อีกสี่ตัว และห่านพันธุ์เอ็มเดน (Embden) อีกสองตัว มาเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลสนามหญ้า บางวันก็ประสานเสียงร้องอย่างสนุกสนาน บางวันเจ้าเป็ดเล็กก็แอบขุดดินเขี่ยหาหนอนกิน บางวันเจ้าห่านใหญ่ก็ทำหน้าที่เป็นยามไล่งูเหลือมแทนหมา ที่นี่จึงมีแต่เสียงร้อง แต่เป็นเสียงที่ทำให้คนอยู่มีความสุข
“พวกเราตัดสินใจซื้อเป็ดไข่พันธุ์บูวีตัวสีขาว และเป็ดแมลลาร์ดสีน้ำตาลหัวเขียว ทั้งหมด 4 ตัว เข้ามาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้านก่อนเซตแรก จุดประสงค์แรกคือ เลี้ยงกินไข่ ซึ่งตอนซื้อมาช่วงแรกๆ มันไม่ยอมออกไข่ เราเริ่มบ่น แต่ผ่านไปได้สักสองสามวัน เราก็เห็นไข่สีอมเขียวอ่อนๆ อยู่ในฟางกก เราดีใจประหนึ่งลูกสอบเอ็นทรานซ์ติด จากนั้นเราจึงซื้อเป็ดคอลดั๊กมาอีกสองตัว เป็นสายพันธุ์ที่ชาวจีนและญี่ปุ่นนิยมเลี้ยง เพราะน่ารักทั้งรูปร่างและอุปนิสัย
“หลังจากนั้นไม่นาน บ้านเราก็มีไข่เป็ดกินอยู่เรื่อยๆ แต่แล้วเราก็เห็นความมีชีวิตภายในไข่ที่ร้าว พวกเราจึงเริ่มคิดว่าบางส่วนอาจจะเริ่มปล่อยฟักให้แม่เป็ดเขากกต่อไป” โอมเสริม
น้ำน้อยพาเราย้อนกลับมาดูเล้าเป็ดที่หน้าบ้านซึ่งเธอและโอมสร้างกันเอง โดยการใช้วัสดุที่หาได้ง่าย ตัวเล้าทำจากไม้ และมีความสูงขึ้น เพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดกลิ่น ติดหลังคากันฝนกันแดด โชคดีที่มีต้นกาสะลองไว้ให้ร่มเงา ติดมุ้งลวดกันงู มีสระน้ำที่ทำจากกะละมังสีน้ำเงินใบย่อมๆ แบ่งที่นอนออกเป็นสองล็อก เป็ดและห่าน มีที่นอนซึ่งทำจากโอ่งเล็กๆ ปูด้วยฟางข้าวให้เป็ดเล็กกกไข่ สร้างที่นอนให้เป็ดใหญ่ด้วยไม้ลังปูด้วยฟาง กลางคืนมีไฟสีส้มเพื่อความอบอุ่นและไม่ทำให้มืดจนเกินไป และไม่ลืมรั้วกั้นที่ทำจากไม้ลังอีกชั้น และมีประตูไม้ที่ขยับเปิดปิดได้สะดวก ทุกอย่างจึงดูเรียบง่าย
“จุดสำคัญที่สุดของการทำเล้าเป็ดคือ ความสะอาด ต้องใกล้กับก๊อกน้ำ และสายยาง เราจะล้างอึทุกวัน หรืออย่างน้อยสามวันครั้ง เพื่อลดกลิ่น ด้วยการใช้วิธีกาลักน้ำ ดูดน้ำที่ปนด้วยมูลทิ้งลงท่อ ไม่ได้ปล่อยให้ไหลออกไปเลย เพราะเราเกรงใจข้างบ้าน หรือบางส่วนที่ดูดขึ้นมาก็จะมาตักไปรดต้นไม้ เพราะนี่คือปุ๋ยอินทรีย์ที่ดี เปลี่ยนน้ำในสระ เพราะเป็ดและห่านจะชอบน้ำใสๆ ที่เพิ่งเปลี่ยน พวกมันจะใช้เวลานี้ผสมพันธุ์กันอย่างฟินนาเล และไม่ช้าเราก็ได้ไข่เป็ดอารมณ์ดีสดๆ มากิน ตอกออกมาทีเป็นวุ้นใสๆ ไข่แดงสีส้มเด้งๆ ทำแค่ไข่ดาวก็อร่อยแล้ว
“ที่เหลือคือ ความสุขของพวกมันที่ได้ลั้นลาอยู่ในสนามหญ้าหน้าเล้าเป็ด และสระน้ำข้างบ้าน” โอมบอกกับเรา
“มากกว่านั้นคือ ความสุขของเรา เล้าเป็ดที่อยู่หน้าบ้าน เรามักจะเรียกพื้นที่ตรงนี้ว่า ‘จุดปล่อยวาง’ หลังจากที่เราจอดรถหน้าบ้านปุ๊บ หันขวาเจอเป็ดและห่าน ความน่ารักและท่าทางที่มีความสุขของพวกเขา ทำให้เราปล่อยเรื่องเครียดที่เจอข้างนอกมาได้ เหมือนทิ้งทุกอย่างลงตรงนี้ แล้วค่อยเข้าบ้าน เหมือน Pet Therapy” น้ำน้อยยิ้มกว้าง แล้วบอกกับเราอีกว่า
“เย็นๆ วันหยุดสุดสัปดาห์ ญาติผู้ใหญ่มักจะชวนกันมานั่งเล่นกันที่แคร่หน้าบ้าน ดูเป็ด ดูห่าน ดูต้นไม้ เล่นกับหมา ให้ความรู้สึกว่าที่นี่คือ ‘Senior Center’ วันไหนที่มีเพื่อนๆ ฃหอบลูกเล็กเด็กแดงมาเล่นกับเป็ด เด็ดผัก ทำกิจกรรมง่ายๆ ก็ให้อารมณ์เหมือน ‘Child Learning Center’ คึกคักมากกว่าที่เราคิดไว้เยอะ”
ผักริมรั้ว และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง
เล้าเป็ดและห่าน เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักของบ้านหลังนี้ ที่เหลือคือเรื่องของการปลูกผักริมรั้ว จากเดิมที่ไม่ค่อยสนใจ แต่เมื่อมีโอกาสและมีพื้นที่ พวกเขาจึงศึกษาและเริ่มต้นกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง
โอมเล่าว่า “คุณพ่อคุณแม่ของน้ำน้อยชอบปลูกผัก ปลูกต้นไม้ เราเลยคิดว่า บ้านเราก็ทำได้ จึงเริ่มต้นกันที่ดงข้าวโพดหวานบริเวณริมรั้วฝั่งขวาของบ้าน ทดลองปลูกแล้วก็ได้ผลผลิต ทำให้เรามีกำลังใจปลูกมากขึ้น เราจึงเริ่มลงฟักทอง มะนาว กะเพราะก้านเขียวและก้านแดง กระเจี๊ยบเขียว มะเขือยาว กล้วย เลมอน ทดลองปลูกไปตามฤดูกาล เรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมให้มากขึ้นอีกนิด ซึ่งได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจมาก
“ยิ่งช่วงโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นแบบนี้ ยิ่งทำให้พวกเรารู้ความสำคัญของ ‘แหล่งผลิตอาหาร’ ยิ่งหากเราทำเองได้ ปลูกเองได้ก็จะยิ่งดี เราจึงนึกถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 และแนวคิดการพึ่งพาตัวเอง ซึ่งสุดท้ายเราได้ลองใช้แนวคิดนี้ ตอนที่ทั้งเมืองหยุดเคลื่อนไหวชั่วคราว แล้วพบว่า พวกเราอยู่ได้ เรามีไข่เป็ดกิน มีผักไว้ผัดกิน วัตถุดิบอื่นๆ ที่ปลูกและเลี้ยงเองไม่ได้ก็ค่อยออกไปซื้อ แต่ยังคงใช้ชีวิตแบบคนเมืองทั่วไป ด้วยการสั่งของกินผ่านออนไลน์ให้มาส่งถึงหน้าบ้าน ซึ่งทั้งหมดทำให้พวกเราได้อยู่บ้านมากขึ้น และได้ทำในสิ่งที่อยากทำมากขึ้นตามไปด้วย”
ทั้งโอมและน้ำน้อยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บ้านหลังนี้ทำให้พวกเขากลายเป็นคนขี้เกียจ ไม่อยากจะออกไปไหน แต่อยากจะทำอะไรต่ออะไรอีกมากมาย ซึ่งยืนยันได้ด้วยการเสิร์ฟขนมปังซาวเออร์โดเปลือกแข็งก้อนใหญ่ และพิซซ่าโฮมเมดหน้าสโมกแฮม ใส่กระเจี๊ยบเขียว และเห็ดนางฟ้าที่เด็ดสดๆ มาจากถุงเพาะ เพิ่มกลิ่นหอมอ่อนๆ จากใบกะเพราก้านเขียวที่ปลูกไว้ข้างบ้าน ซึ่งเป็นงานทดลองชิ้นล่าสุดที่โอมภูมิใจนำเสนอ